ดัน ‘เนติบริกร’ คนสุดท้อง ลูกน้อง ‘มีชัย-บวรศักดิ์’ โควตาแก้ รธน.

เสียงปี่-กลองการแก้รัฐธรรมนูญฉบับสืบทอดอำนาจรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์-คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ดังขึ้นเป็นสัญญาณโหมโรงเข้าสู่โหมดการเมืองเขย่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 2

ทว่าเพียงแค่ “ยกแรก” ในขั้นเสนอญัตติตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาและแก้ไขรัฐธรรมนูญ เกิดการชิงไหว-ชิงพริบกันตั้งแต่การคัดเลือกโควตา กมธ.ของคณะรัฐมนตรี (ครม.)-พรรคร่วมรัฐบาล-พรรคฝ่ายค้าน โดยเฉพาะการชิงเก้าอี้ประธาน กมธ.

สำหรับโควตาครม. 6 คน ที่เขย่าแล้วเขย่าอีก-ชิงถอนตัวของ “คีย์แมน” ในวุฒิสมาชิก (ส.ว.) อย่างนายสมชาย แสวงการ และ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม เป็น “ใบสั่ง” จาก “ผู้มีอำนาจ” ที่ไม่ต้องการให้ ส.ว.มีส่วนร่วมเพราะต้องการ “ดึงเกม” การแก้รัฐธรรมนูญออกไปให้นานที่สุด เพราะ “ด่านแรก” ของการแก้ไขรัฐธรรมนูญในสภา ต้องได้เสียงสนับสนุน ส.ว. จำนวน 1 ใน 3 หรือ 84 เสียง

“โผสุดท้าย” 6 รายชื่อ ก่อน ทำคลอดจาก ครม. ถูกแบ่งออก 4 สาย

สายที่ 1 เรียกว่า “สายมีชัย” เป็นอดีตคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ชุดที่มีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน คือ นายปกรณ์ นิลประพันธ์ ว่าที่เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เนติบริกรคนสุดท้อง นายอุดม รัฐอมฤต อดีต กรธ.

กมธ.สายมีชัย ได้รับการติดต่อจาก “ผู้ใหญ่” คนหนึ่งให้ร่วมวง วางจ็อบเดสคริปชั่นชัดเจน ให้มาอธิบาย “ข้อดี-เหตุผล-ความจำเป็น” แต่ละมาตราของรัฐธรรมนูญ 2560

ปกรณ์ นิลประพันธ์

สายที่ 2 มาจากอดีตคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ชุดที่ “บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” เป็นประธาน ส่ง นายวุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ

สายที่ 3 จากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายกฤษ เอื้อวงศ์ กกต. หน่วยปฏิบัติการด้านกฎหมาย การเลือกตั้งของ กกต. ถูกส่งมาแทน “จรุงวิทย์ ภุมมา” เลขาธิการ กกต.

สายที่ 4 สายธุรกิจ คุณหญิงณัฐิกา วัธนเวคิน อังอุบลกุล ประธานสหพันธ์สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทย

ขณะที่โควตาของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) จำนวน 4 คน รายชื่อ “ไม่นิ่ง” จนถึง “วันสุดท้าย” ที่จะต้องเคาะรายชื่อเพื่อเสนอญัตติในสภา ตามสไตล์ “เขี้ยวลากดิน” มีเพียงชื่อ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” อดีตหัวหน้าพรรคเท่านั้น “ส่งเข้าประกวด” ชิงตำแหน่ง “ประธาน”

ชื่อของ “อภิสิทธิ์” ถูก “ล็อกสเป็ก” ให้มานั่งเก้าอี้ประธาน กมธ. ด้วย “ไฟต์บังคับ” ว่า “เกมแก้รัฐธรรมนูญ” ประชาธิปัตย์จะ “แพ้ (อีก) ไม่ได้” จึงทำให้ถูก “เตะสกัด” จากพรรคพลังประชารัฐ ที่ตั้งแท่น “พิทักษ์รัฐธรรมนูญ”

แต่สุดท้ายเมื่อไม่มีเครื่องการันตีว่า “อภิสิทธิ์” จะได้นั่งหัวโต๊ะ ทำให้ต้องถอย

ทำให้โควตา 4 คน ที่อยู่ในโผ-ลิสต์รอเคาะจากพรรค เข้าทำนอง “คนอยากเป็นไม่ได้เป็น คนไม่อยากเป็นกลับได้เป็น” ได้แก่ 1.นายบัญญัติ บรรทัดฐาน นายนิพิฐ อินทรสมบัติ นายสุทัศน์ เงินหมื่่น และนายเทพไท เสนพงศ์

นอกจากนี้ยังแบ่ง “โควตากลาง” จากครม.มาได้ 1 คน คือ นายชินวรณ์ บุญยเกียรติ

สเป็ก กมธ.ของประชาธิปัตย์-กำหนดให้ต้องเป็นคนที่ “แม่นกฎหมาย” เข้าใจถึง “ข้อบกพร่อง” ของรัฐธรรมนูญอย่าง “ถึงกึ๋น”

การผ่านเข้ารอบ-แหกด่าน “พรรคนักกฎหมาย” มาเป็นตัวแทนของพรรคประชาธิปัตย์ จึงต้องแบกชื่อเสียง-เกียรติยศที่ “ลดฮวบ” ไปหลังเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 และอนาคตของ “พรรคเก่าแก่” ที่ยอมกลืนเลือดเข้าร่วมรัฐบาล โดยมีเงื่อนไขการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเดิมพันต้องผลักสุดแรง

ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ ได้รับโควตา 8 คน ส่งชื่อ “สุชาติ ตันเจริญ” และ “ไพบูลย์” เข้าชิง-เบียดนายอภิสิทธิ์ ขณะที่โควตาอีก 7 คนที่เหลือ อาทิ นายวิเชียร ชวลิต ส่วนโควตา ครม. 6 คน ที่เกลี่ยมาให้พลังประชารัฐ จะเป็น “คนนอก” ที่มี “บารมี” เป็น “ตัวแทน” จากทำเนียบมูลนิธิบ้านป่ารอยต่อ 5 จังหวัด

พรรคเพื่อไทย มีลุ้นว่าจะส่งชื่อ “โภคิน พลกุล” ชิงตั๋วประธาน กมธ.