สภาล่มซ้ำซาก! รัฐบาลแพ้โหวตครั้งที่ 4 ไร้มือ-เสียงไม่พอฝ่าด่านหินตั้ง กมธ.ล้างพิษ ม.44

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เช้าวันนี้ (28 พฤศจิกายน 2562) ที่รัฐสภา การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ต้องล่มและปิดประชุม และแพ้การลงมติอีกครั้ง เป็นครั้ง ที่ 4 หลังจาก เคยแพ้โหวตครั้ง 1 วาระพิจารณาร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. …เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2562 ครั้งที่ 2 วันที่ 14 สิงหาคม 2562 วาระร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. … และ ครั้งที่ 3 เมื่อวานนี้ (27 พฤศจิกายน 2562) วาระตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบจากการกระทำ ประกาศ และคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และการใช้อำนาจของหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44

ในวันนี้ประธานสภาผู้แทนราษฎร สั่ง “ปิดประชุม” หลังเปิดประชุมได้เพียง 1 ชั่วโมงเศษ และแพ้โหวตเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 2 วัน หลัง ส.ส. ฝ่ายค้าน “วอล์กเอาต์” เป็นวันที่ 2 เนื่องจากไม่ต้องการให้มีการนับคะแนนใหม่ในญัตติขอให้สภาตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบจากการกระทำ ประกาศ และคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และการใช้อำนาจของหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44

โดยนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เปิดเข้าสู่วาระเพื่อพิจารณาประเด็นที่ฝ่ายรัฐบาลลงมติโหวตแพ้ฝ่ายค้านเรื่องการตั้งกมธ.ศึกษาผลกระทบจากการใช้มาตรา 44 และวิปรัฐบาลขอใช้สิทธิ์ให้มีการนับคะแนนใหม่ พรรคฝ่ายค้านไม่ยอม และวอล์กเอาต์ จนทำให้ที่ประชุมสภาฯล่มเมื่อคืนวันที่ 27 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

ทั้งนี้ เมื่อนายชวน ได้ดำเนินการประชุมต่อเพื่อพิจารณาญัตติการขอนับคะแนนใหม่ ทางส.ส.พรรคฝ่ายค้านขอยืนยันจุดยืนเดิม คือ ไม่ขอส่งตัวแทนเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการนับคะแนน รวมทั้งไม่ร่วมในทุกกระบวนการของการนับคะแนนใหม่ จากนั้นนายชวน จึงเริ่มดำเนินการประชุมฯต่อ แต่เมื่อให้สมาชิกแสดงตนต่อที่ประชุมฯ ปรากฎว่าองค์ประชุมฯ มีส.ส.อยู่ในห้องประชุมไม่ถึง 240 คน ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนส.ส.ทั้งหมด ทำให้นายชวน ได้สั่งปิดประชุมฯ ส่งผลให้ที่ประชุมสภาฯล่มเป็นครั้งที่ 2 ต่อเนื่องจากการประชุมสภาฯเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการประชุมสภาฯล่มครั้งที่ 2 ของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการประชุมสภาฯที่มีองค์ประชุมไม่ครบ จนต้องสั่งเลิกการประชุมเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 ระหว่างการเตรียมนับคะแนนใหม่ ว่าจะตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาและผลกระทบ จากการใช้ประกาศคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่ชาติ (คสช.) ว่า การขอให้มีการนับคะแนนใหม่เป็นสิทธิตามข้อบังคับการประชุมสภาฯ ข้อที่ 85 เมื่อมีผลคะแนนห่างกันไม่เกิน 25 คะแนน แต่ตามข้อบังคับกำหนดให้การนับคะแนนใหม่ ต้องใช้วิธีการขานชื่อลงคะแนน ซึ่งบรรยากาศอย่างนี้มีทุกสมัย แต่นี่เป็นครั้งแรก ตอนพักการประชุมก็พยายามเจรจากันว่าจะจบลงด้วยดีอย่างไร แต่ก็ตกลงกันไม่ได้ ฝ่ายรัฐบาลไม่ยอมถอน อีกฝ่ายเลยเดินออกจากห้องประชุม ทั้งหมดเป็นไปตามกระบวนการข้อบังคับ

เมื่อถามว่า ต้องตำหนิใครเป็นพิเศษหรือไม่ นายชวน กล่าวว่า “ต้องไปถามคนที่ไม่ลงชื่อครับ” เมื่อถามต่อว่า ต่อไปฝ่ายรัฐบาลอาจใช้วิธีการนี้แก้เกมครั้งต่อไป หากมีการแพ้โหวตอีกหรือไม่ นายชวน กล่าวว่า ตนว่าไม่ใช่ฝ่ายรัฐบาลแล้ว ฝ่ายค้านเขาก็มีสิทธิ สมมติฝ่ายค้านเห็นว่าคะแนนห่างกันไม่เกิน 25 คะแนน เขาก็ขอนับคะแนนใหม่ อันนี้ คือสิ่งที่คาดการณ์กันว่าจะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต

เมื่อถามว่า หากมีการใช้วิธีการกันแบบนี้บ่อยครั้ง จะมีผลให้การทำงานของสภาเดินหน้าไปได้ช้าหรือไม่ นายชวน กล่าวว่า ปกติเขาก็ใช้ ปกติก็ไม่ค่อยใช้ แต่นี่เป็นครั้งแรกของสภาฯนี้ นับตั้งแต่มีการเปิดสมัยประชุมมาที่มีการใช้การนับคะแนนใหม่

“เมื่อวานนี้ผมถึงย้ำว่ายืนยันไหม ว่าจะให้มีการนับคะแนนใหม่ เพราะผมไม่อยากให้นับคะแนนใหม่ เพราะทำให้เสียเวลาเยอะเลย แต่ฝ่ายรัฐบาลยังยืนยัน เมื่อยืนยันก็ไม่มีทางทำอย่างอื่นได้นอกจากจะนับคะแนนใหม่ พอนับคะแนนใหม่ฝ่ายค้านก็เดินออก องค์ประชุมก็ไม่ครบ ต้องมานับกันใหม่วันนี้ เรียกชื่อกันวันนี้” นายชวน กล่าว

สำหรับเรื่องปัญหาเครื่องการลงคะแนนนั้น นายชวน กล่าวว่า “โดยทั่วไปปัญหาไม่ได้มีมาก เพราะให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบแล้วปรากฎว่าบัตรของส.ส.บางคนสกปรก เมื่อเอามาทำความสะอาดก็ใช้ได้ปกติ ได้ให้เจ้าหน้าที่ไปดูทุกจุดและรายงานมาอย่างที่ได้กล่าวข้างต้น จะไปโทษเครื่องทั้งหมดไม่ได้”