พานทองแท้ พ้นผิดทุจริตยกที่ 1 ทักษิณ ซุ่มซ่อน พลังพิเศษกู้ชีพ “ชินวัตร”

รายงานพิเศษ

ที่สุดแล้ว “พานทองแท้ ชินวัตร” บุตรชายของ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี คนที่ 23 ก็พ้นมลทินยกที่ 1

เพราะศาลอาญาแผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้ตัดสินยกฟ้อง คดีทุจริตการปล่อยสินเชื่อของธนาคารกรุงไทย ให้ธุรกิจเครือกฤษดามหานคร คดีหมายเลขดำ อท.245/2561 ที่พนักงานอัยการคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง

ในความผิดฐานร่วมกันฟอกเงินและสมคบกันฟอกเงิน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 5, 9, 60 และ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2558 มาตรา 10 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91

สืบเนื่องจากอัยการ ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง “พานทองแท้” เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2561 จากกรณีรับโอนเงินเป็นเช็ค จำนวน 10 ล้านบาท เข้าบัญชี ธ.กรุงเทพ สาขาบางพลัด ซึ่งมีการกล่าวหาว่า เงินนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำจากการทุจริตปล่อยกู้สินเชื่อระหว่างธนาคารกรุงไทยกับเอกชนกลุ่มกฤษดามหานคร ที่มีนายวิชัย กฤษดาธานนท์ ผู้บริหารกฤษดามหานคร กับนายรัชฎา กฤษดาธานนท์ ลูกชายของนายวิชัย และอดีตคณะผู้บริหารธนาคารกรุงไทย ตกเป็นจำเลย ซึ่งนายวิชัย กับนายรัชฎา ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุกไปแล้ว

“พานทองแท้” กล่าวสั้น ๆ ท่ามกลางวงล้อมของ “คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร์” ผู้เป็นแม่ และน้องสาว 2 คน หลังฟังคำตัดสินของศาลทุจริตว่า “ขอบคุณครับ” ขณะที่ “คุณหญิงพจมาน” กล่าวว่า “ก็สบายใจขึ้น”

กุญแจโอ๊คพ้นผิด

แหล่งข่าวจากทีมทนาย “พานทองแท้” วิเคราะห์กุญแจสำคัญที่ทำให้ “พานทองแท้” พ้นผิดว่า ในการพิจารณาคดีของศาลเรื่องฟอกเงิน “ในคดีอาญา” กับฟอกเงิน “ในคดีแพ่งต่างกัน” โดยคดีอาญาภาระพิสูจน์ความผิดตกอยู่กับฝ่ายโจทก์ คือ อัยการ เนื่องจากเป็นผู้กล่าวหาจำเลย ต่างกับคดีแพ่งที่ภาระพิสูจน์ความผิดอยู่กับฝ่ายจำเลย

ดังนั้น ในกรณีของ “พานทองแท้” โจทก์นำสืบพยานคือ ตัวแทนจาก ปปง. ปากเดียว ซึ่งไม่สามารถยืนยันต่อศาลได้ว่า จำเลยมีความผิดเข้าเกณฑ์ความผิดฐานฟอกเงินหรือไม่ ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน 2542 มาตรา 5 ที่ระบุว่า

(1) โอน รับโอน หรือเปลี่ยนสภาพทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเพื่อซุกซ่อนหรือปกปิดแหล่งที่มาของทรัพย์สินนั้น หรือเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นไม่ว่าก่อน ขณะ หรือหลังการกระทำความผิด มิให้ต้องรับโทษหรือรับโทษน้อยลงในความผิดมูลฐาน

(2) กระทำด้วยประการใด ๆ เพื่อปกปิดหรืออำพรางลักษณะที่แท้จริงการได้มาแหล่งที่ตั้ง การจำหน่าย การโอน การให้สิทธิใด ๆ ซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด

“ในหลักเกณฑ์ฟอกเงินต้องมีองค์ประกอบความผิดเหล่านี้ ดังนั้น เมื่อนายพานทองแท้รับเงินต่อมาเป็นทอดที่ 3 คือจากนายวิชัย กฤษดาธานนท์ (อดีตผู้บริหารกฤษดามหานคร) ที่ได้สินเชื่อจากธนาคารกรุงไทยร่วม 9,900 ล้านบาท ผ่านบริษัท โกลเด้น เทคโนโลยี อินดัสเทรียล พาร์ค และผ่านบริษัทหลักทรัพย์แห่งหนี่ง ก่อนสั่งจ่ายเช็ค จำนวน 10 ล้านบาท ให้นายพานทองแท้ แล้วนายพานทองแท้นำไปเข้าบัญชีของธนาคาร ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ ไม่มีการปกปิด ไม่มีพฤติกรรมอำพรางซ่อนเร้น ศาลจึงยกคำฟ้อง” แหล่งข่าวระบุ

ดังนั้น เมื่อศาลรับฟังพยานหลักฐานของทั้งสองฝ่ายจึงเห็นว่า เนื่องจากเห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์ยังไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า “พานทองแท้” ได้รู้ที่มาของเงินจำนวน 10 ล้านบาท ที่นายวิชัย กฤษดาธานนท์ โอนเข้าบัญชี ว่านายวิชัยได้มาจากการกระทำผิดทุจริตการปล่อยกู้แบงก์กรุงไทย ซึ่งขณะที่รับโอนเงิน จำเลยมีอายุเพียง 26 ปี และขณะนั้นมีเงินรายได้จากหุ้นในบริษัทอยู่แล้วถึง 4,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเงิน 10 ล้านบาทแล้ว คิดเป็น 0.0025 เปอร์เซ็นต์ จากยอดเงินดังกล่าว ขณะที่โจทก์นำสืบได้เพียงว่าขณะรับโอนหุ้น “พานทองแท้” เป็นบุตรชายของนายทักษิณ ชินวัตร และมีความสนิทสนมกับครอบครัวของนายวิชัยเท่านั้น

ขีดเส้นยื่นอุทธรณ์เวลา 30 วัน

ภายหลังศาลพิพากษายกฟ้อง “พานทองแท้” ได้ 1 ชั่วโมง “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าทีมกฎหมายรัฐบาล กล่าวว่า “ถ้าเป็นศาลชั้นต้นตัดสิน อัยการสามารถอุทธรณ์ได้”

ตามกระบวนการ อัยการในฐานะโจทก์สามารถยื่นอุทธรณ์ ตามมาตรา 39 ประกอบมาตรา 41 ของพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 ระบุว่า การอุทธรณ์คําพิพากษาหรือคําสั่งของศาลชั้นต้น ในคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ให้อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยยื่นต่อศาลชั้นต้นภายในกําหนด 1 เดือน นับแต่วันอ่านหรือถือว่าได้อ่านคําพิพากษาหรือคําสั่งนั้นให้คู่ความฝ่ายที่อุทธรณ์ฟังดังนั้น ขึ้นกับว่าอัยการจะยื่นอุทธรณ์ หรือยุติไม่ดำเนินการต่อ

ทักษิณก็รอดคดีกรุงไทย

ทั้งนี้ คดีทุจริตปล่อยกู้กรุงไทย เป็นผลพวงจากการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ที่ตั้งขึ้นหลังรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 ต่อมา คตส.ตั้งคดีที่ผู้บริหารและบอร์ดกรุงไทย พิจารณาปล่อยกู้เงิน 9,900 ล้านบาทให้กับผู้บริหารกลุ่มกฤษดามหานคร ต่อมาเมื่อเรื่องถึงชั้นศาล อัยการได้ยื่นฟ้อง “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯเป็นจำเลยที่ 1 ในฐานะที่สั่งให้ผู้บริหารธนาคารกรุงไทยอนุมัติสินเชื่อให้บริษัท โกลเด้น เทคโนโลยี อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือกฤษดามหานคร พร้อมกับจำเลย 26 คน แต่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก็ยกฟ้อง “ทักษิณ” เช่นกัน เพราะเห็นว่าหลักฐานของอัยการยังไม่มีน้ำหนักที่จะเอาผิด เมื่อ 30 ส.ค. 2562

โอ๊ครอดเดี่ยว

อาจกล่าวได้ว่า “พานทองแท้” เป็นบุคคลในครอบครัว “ชินวัตร” ที่พ้นความผิดและไม่ต้องถูกตัดสินจองจำทั้งทางอาญาและคดีการเมืองเป็นคนแรกในบรรดาเครือญาติที่ต้องขึ้นศาล

เพราะคนแรก “ทักษิณ” ผู้เป็นพ่อ ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สั่งพิพากษาจำคุก 2 ปี ด้วยข้อหาผลประโยชน์ทับซ้อน ในคดีทุจริตซื้อขายที่ดินรัชดาภิเษก จำนวน 33 ไร่ มูลค่า 772 ล้านบาท

โดยคำพิพากษาตอนหนึ่งระบุว่า “ขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 (ทักษิณ) ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้รับมอบหมายไว้วางใจให้บริหารราชการแผ่นดินเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ทางราชการและประชาชน แต่จำเลยที่ 1 กลับฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมาย ทั้งที่จำเลยที่ 1 เป็นหัวหน้ารัฐบาล ต้องกระทำตัวให้เป็นแบบอย่างที่ดี ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ประพฤติตนในสิ่งที่ดีงามตามจริยธรรมของนักการเมือง ให้เหมาะสมกับที่ได้รับการไว้วางใจในตำแหน่งหน้าที่อันสำคัญยิ่ง จึงไม่สมควรรอการลงโทษ และพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 100 (1) วรรคสาม และมาตรา 122 วรรคหนึ่ง ให้ลงโทษจำคุก 2 ปี”

ขณะที่ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกฯคนที่ 28 ต้องต่อสู้ในชั้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยอัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ในความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบฯ ผิดกฎหมายอาญา มาตรา 157

และความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 กรณีละเลยไม่ดำเนินการระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งทำให้รัฐเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท มีอัตราจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี

“ยิ่งลักษณ์” ใช้เวลาต่อสู้คดีมากว่า 2 ปี 4 เดือน วิ่งขึ้นศาล 26 นัด แต่สุดท้ายศาลฎีกาก็พิพากษาตัดสินจำคุก 5 ปี โดยไม่รอลงอาญา กลายเป็นนักโทษหนีคดี ตาม “ทักษิณ”

รายต่อมา “ชยิกา วงศ์นภาจันทร์” ลูกพี่ลูกน้องของ “พานทองแท้” อดีตนายทะเบียนสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ แม้ไม่ถูกศาลสั่งจำคุกในคดีที่พรรคไทยรักษาชาติถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค จากกรณีเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี แต่ก็ถูกจองจำทางการเมือง ไม่สามารถเล่นการเมืองได้ไปอีก 10 ปี นับตั้งแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค

พานทองแท้ จึงรอดเดี่ยว “ทักษิณ” จึงหยุดเคลื่อนไหวทางการเมือง “คุณหญิงพจมาน” จึงปรากฏตัวเคียงข้างลูกชายวันตัดสินคดี