มาตรการกู้หน้า วิปรัฐบาล เช็ก ส.ส.ทุกฝีก้าว กันแพ้โหวตรอบ 4

เสียงในสภา
ปรากฏการณ์สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฟากรัฐบาลแพ้โหวต ให้กับซีกฝ่ายค้าน ด้วยเสียง 236 ต่อ 231 เสียง เมื่อวันที่ 27 พ.ย. ในญัตติตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบจากการกระทำประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และการใช้อำนาจของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติตามมาตรา 44

เป็นผลให้สภาล่ม 2 วันติด สะท้อนภาพรัฐบาลปริ่มน้ำได้อย่างดียิ่ง รวมถึงฝีมือการทำหน้าที่วิปฝ่ายรัฐบาลที่ยังมีปัญหา เพราะการแพ้โหวตครั้งล่าสุดเป็นการแพ้โหวตญัตติสำคัญที่ 7 พรรคฝ่ายค้านตั้งใจยื่นญัตติร้อนแรง ทิ่มกล่องดวงใจของฝ่ายรัฐบาลสืบทอดอำนาจ ด้วยการตั้ง กมธ.ศึกษาผลกระทบคำสั่งหัวหน้า คสช.และ ม.44

เมื่อวัดเสียงในสภา ฝ่ายรัฐบาล มี 253 เสียง ฝ่ายค้าน 7 พรรคมี 244 เสียงต่างกัน 9 เสียง มีไทยศรีวิไลย์-ประชาธรรมไทย 2 เสียงที่ไม่อยู่ขั้วไหน แต่ถึงคิวโหวตจริงฝ่ายรัฐบาลมีเสียงโหวตแค่ 231 เสียง หายไปถึง 13 คน ทั้งที่หักเสียงของประธานสภา ผู้แทนราษฎรและรองประธานสภา 3 เสียง และหักเสียง ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ 6 เสียง ที่ยื่นญัตติให้ตั้ง กมธ.ศึกษาผลกระทบ ม.44 รวม 9 เสียง ก็ควรจะเหลือเสียงอย่างน้อย 244 เสียง แต่ปรากฏว่าฝ่ายรัฐบาลเหลือแค่ 231 เสียงเท่านั้น แม้ว่าเสียงฝ่ายค้านจะหายไป 8 เสียง เช่นกัน

6 ชั่วโมงก่อนโหวต ส.ส.รัฐบาลยังมั่นใจว่า จะผ่านฝ่ายค้านได้ไม่ยาก เพราะด้วย “ตัวเลข” จำนวนเสียงในสภาที่มากกว่าฝ่ายค้าน ประทับตราความมั่นใจด้วยมติวิปพรรคร่วมรัฐบาลว่าจะไม่มีการตั้ง กมธ.ศึกษาผลกระทบมาตรา 44

แต่ความมั่นใจลดลงเหลือ 0 เมื่อผลคะแนนปรากฏชื่อต่อหน้าต่อตาฝ่ายรัฐบาลว่าแพ้โหวตพรรคฝ่ายค้าน วิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานวิปรัฐบาลจึงยกมือให้ประธานสั่งนับคะแนนใหม่ โดยอ้างเหตุ “ความสับสน” ใช้ข้อบังคับการประชุมสภา ข้อที่ 85 เมื่อมีผลคะแนนห่างกันไม่เกิน 25 คะแนน การนับคะแนนใหม่ ต้องใช้วิธีการ “ขานชื่อลงคะแนน”

หลังสภาล่ม 2 วันติด “วิรัช” กล่าวถึงการทำหน้าที่ประธานวิปรัฐบาลของตนเองว่า “เหตุการณ์เมื่อวันที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมา ไม่ได้ถือว่าล่ม เป็นเพียงอุบัติเหตุทางการเมืองเท่านั้น”

เมื่อถูกนักข่าวจี้ถามว่า หากการประชุมสภาล่มและควบคุมเสียงไม่สำเร็จจะทบทวนการทำหน้าที่ประธานวิปรัฐบาลของตัวเองหรือไม่ “วิรัช” กล่าวว่า “ไม่เป็นไร พร้อม”

อย่างไรก็ตาม การพ่ายศึกในสภา ครั้งนี้ถือเป็นการพ่ายฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 3

ครั้งแรก วันที่ 8 ส.ค.การประชุมสภาผู้แทนราษฎร วาระพิจารณาร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มาตรา 9 เรื่อง หน้าที่และอำนาจสภาของประธานสภา ส.ส.ฝ่ายค้านลงมติชนะ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลด้วยเสียง 205 ต่อ 204 เสียงที่ฝ่ายค้านต้องการให้เติมคำว่า “และต้องวางตนเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่”

ครั้งที่สอง 14 ส.ค.เป็นการพิจารณาข้อบังคับการประชุมสภา ที่เกี่ยวกับการพ้นจากตำแหน่งของคณะกรรมการประสานงานร่วมสภาผู้แทนราษฎร (1) สภาสิ้นอายุ หรือสภาถูกยุบ หรือไม่มีสภาเพราะเหตุอื่นใด ซึ่งฝ่ายค้านต้องการให้ตัดถ้อยคำว่า

“หรือไม่มีสภาเพราะเหตุอื่นใด” เนื่องจากเป็นคำที่สะท้อนให้นึกถึงการยึดอำนาจหรือการรัฐประหาร ที่สุดแล้วซีกฝ่ายค้านชนะด้วย 234 ต่อ 223 เสียง

ครั้งที่ 3 เมื่อ 27 พ.ย.เรื่องการตั้ง กมธ.ศึกษาคำสั่ง คสช.และ ม.44

“วิเชียร ชวลิต” ส.ส.บัญชีรายชื่อพลังประชารัฐ ในฐานะรองประธานวิปฝ่ายรัฐบาล มองความเสี่ยงเกมสภาของฝ่ายรัฐบาลในชอตต่อไปมี 3 ปัจจัย

ชอตที่ 1 พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2563 ที่ต้องทำให้เสร็จภายในสิ้นธันวาคม สองที่ 2 การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล เป็นภาระที่รัฐบาลจะต้องชี้แจงทำความเข้าใจ และชอตที่ 3 เรื่องการตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

“การโหวตทุกครั้งรัฐบาลเหนื่อยทุกครั้ง เสียงในสภาของฝ่ายค้านกับรัฐบาลใกล้กัน การเตรียมความพร้อมก็ต้องพร้อมร้อยเปอร์เซ็นต์ในทุกชอต เราก็เห็น ๆ กันอยู่ แต่เนื้อ ๆ ในงานของฝ่ายรัฐบาลไม่มีปัญหา แต่ต้องละเอียดรอบคอบ เพราะเสียงเรามันก้ำกึ่ง ใกล้เคียง

ดังนั้น การเช็กชื่อต้องละเอียด ใครจะไปไหน ทำอะไร เพราะไม่มีกำลังเยอะที่จะเหลือให้มีช่องว่างได้ ต้องเตรียมให้พร้อม 100 เปอร์เซ็นต์ในทุกชอต”

เพื่อไม่ให้ฝ่ายรัฐบาลแพ้โหวตฝ่ายค้านรอบ 4