ป.ป.ช.แจงยิบ เหตุตีตก “มาร์ค-ปู” ทำน้ำท่วมปี’54 เผย”ปู”รอด ไม่เกี่ยวจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน

ป.ป.ช. แจงตีตกข้อกล่าวหา มาร์ค – ปู ทำน้ำท่วมปี 54 ชี้ ไม่ใช่ความผิดใคร เหตุการณ์ธรรมชาติ เผย “ปู” รอดครั้งนี้ ไม่รวมโครงการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน

เมื่อวันที่ 15 กันยายน นายวรวิทย์ สุขบุญ รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รักษาราชการแทนเลขาธิการ ป.ป.ช. แถลงกรณี ป.ป.ช.ตีตกข้อกล่าวหา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายธีระ วงศ์สมุทร พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร อดีตผู้ว่ากรุงเทพมหานคร (กทม.) กรณีเก็บกัก ควบคุม ระบาย หรือการบริหารจัดการน้ำ เป็นเหตุให้เกิดมหาอุทกภัยปี 2554

นายวรวิทย์กล่าวว่า จากการไต่สวนได้ความว่า ในปี 2554 ในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ที่อยู่ในความดูแลของกรมชลประทานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้ถูกพร่องน้ำโดยการจัดสรรน้ำสำหรับกิจกรรมการใช้น้ำในภาคส่วนต่างๆ ในฤดูแล้งที่ผ่านมา โดยเมื่อต้นฤดูฝนต้นเดือนพฤษภาคม 2554 มีปริมาณน้ำในเขื่อนเหลือเพียง 45%, 50%, 27% และ 38% ตามลำดับ ซึ่งอยู่ต่ำกว่าเกณฑ์กักเก็บน้ำต่ำสุดทุกเขื่อน ต่อมาในช่วงเดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา ประเทศไทยได้รับอิทธิพลของพายุโซนร้อนจำนวน 5 ลูก ทำให้พื้นที่ทั่วทุกภาคของประเทศไทยมีปริมาณน้ำฝนมากผิดปกติ โดยในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางมีปริมาณน้ำฝนมากกว่าค่าเฉลี่ยถึง 42% 24% 26% ตามลำดับ โดยมีปริมาณฝนตกในภาคเหนือสูงสุดตั้งแต่กรมอุตุนิยมวิทยาได้เคยเก็บข้อมูลมา และฝนตกในภาคเหนือสูงกว่าค่าเฉลี่ย 30 ปี เป็นผลทำให้มีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มากที่สุดตั้งแต่เริ่มเก็บกักน้ำ ถึงแม้ว่าจะทำการพร่องน้ำไว้รองรับสถานการณ์ตั้งแต่ก่อนเข้าฤดูฝน แต่ไม่สามารถรองรับน้ำที่มีจำนวนมหาศาลได้ทั้งหมด จำเป็นต้องระบายน้ำออกบางส่วนเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับความมั่นคงของตัวเขื่อน โดยการบริหารจัดการน้ำเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ จะร่วมกันพิจารณา โดยคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ ประกอบด้วย 10 หน่วยงาน ดังนี้ กรมชลประทาน กรมอุตุนิยมวิทยา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร กรมทรัพยากรน้ำ กรมอุทกศาสตร์กองทัพเรือ สำนักการระบายน้ำกรุงเทพมหานคร กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมโยธาธิการและผังเมือง และสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

นายวรวิทย์กล่าวว่า ประเด็นที่ 1 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้ดำเนินการกักเก็บน้ำไว้ในเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ไว้ก่อนที่จะเกิดอุทกภัยไว้จำนวนมาก ไม่มีการบริหารจัดการระบายน้ำ จนเป็นเหตุให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่ภาคเหนือ 14 จังหวัด และไหลลงมาท่วมบริเวณพื้นที่ภาคกลาง หรือไม่ ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ในฐานะนายกรัฐมนตรี มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินการ กำหนดปริมาณน้ำที่จะระบายหรือเก็บกักไว้ในเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ แต่อย่างใด แต่เป็นหน้าที่ของคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ ซึ่งต้องเป็นไปตามมติ ของคณะกรรมการในการดำเนินการปล่อยน้ำและเก็บกักน้ำ อีกทั้งเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2554 น้ำในเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำต่ำกว่าเกณฑ์กักเก็บน้ำต่ำสุดทุกเขื่อน ดังนั้น จะเห็นได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 มิได้ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการบริหารจัดการน้ำในเขื่อน อันเป็นสาเหตุให้เกิดอุทกภัยครั้งนี้ และกรณีการกระทำของคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ นั้น จากการไต่สวนไม่ปรากฏพฤติการณ์ และพยานหลักฐานว่าคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ข้อกล่าวหาในประเด็นนี้ไม่มีมูล จึงเห็นควรให้ข้อกล่าวหาเป็นอันตกไป

นายวรวิทย์ กล่าวว่า ประเด็นที่ 2 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 นายธีระ วงศ์สมุทร ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 ได้ละเว้นไม่ดำเนินการผันน้ำจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ไปทางตะวันออกและทางตะวันตกโดยเฉพาะจังหวัดสุพรรณบุรี ตามแผนการการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2553 – 2557 จนเป็นเหตุให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่ภาคเหนือ 14 จังหวัดและไหลลงมาท่วมบริเวณพื้นที่ภาคกลาง ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า แผนการการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2553 – 2557 ดังกล่าวได้กำหนดขั้นตอนและหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับการบริหารจัดการสถานการณ์อุทกภัยและดินโคลนถล่ม โดยแผนดังกล่าวได้กำหนดขั้นตอนและวิธีการในการป้องกันและบรรเทา สาธารณภัยในภาพรวม แต่มิได้มีการระบุถึงรายละเอียดการผันน้ำ โดยในการผันน้ำจากทางภาคเหนือไม่ว่า ในกรณีใด ๆ ต้องกระทำให้เป็นไปตามสถานการณ์ในขณะประสบเหตุซึ่งในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องพบว่า เป็นไปตามหลักการและตามเหตุการณ์เฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ แม้จะมีการผันน้ำในทางตะวันออกและตะวันตกก็ไม่อาจจะบรรเทาความเสียหายจากปริมาณน้ำที่ไหลผ่านบริเวณภาคกลางตอนล่างได้ กรณีนี้จึงฟังไม่ได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ถึงผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 ได้ละเว้นไม่ผันน้ำตามแผนการป้องกันและบรรเทา สาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2553 – 2557 ข้อกล่าวหาในประเด็นนี้ไม่มีมูล จึงเห็นควรให้ข้อกล่าวหาเป็นอันตกไป

นายวรวิทย์กล่าวว่า ประเด็นที่ 3 พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 ในฐานะผู้อำนวยการ ศูนย์อำนวยความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ละเว้นไม่ดำเนินการตามแผนป้องกันและบรรเทา สาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2553 – 2557 เพื่อทำการประเมินและแจ้งเตือนอุทกภัยให้ประชาชนทราบ หรือไม่ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 ได้ดำเนินการให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการต่าง ๆ มีการเตือนภัยและให้การเยียวยาช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยและได้แจ้งเตือนประชาชน ในพื้นที่เตรียมการป้องกันรับมืออุทกภัยผ่านสื่อต่าง ๆ และมีประกาศให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาในท้องที่ ที่เกิดอุทกภัย และมีสายด่วนรับแจ้งเหตุตลอดจนสอบถามข้อมูล 24 ชั่วโมง พร้อมแจ้งจังหวัดทุกจังหวัดให้ทราบถึงสถานการณ์ปัจจุบันและแนวทางการดำเนินการทั้งการป้องกัน แก้ไข และเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย ทั้งก่อนเกิดภัย ขณะเกิดภัยและหลังจากเกิดภัย จึงเห็นว่าข้อกล่าวหาในประเด็นนี้ไม่มีมูล เห็นควรให้ข้อกล่าวหาเป็นอันตกไป

นายวรวิทย์กล่าวว่า ประเด็นที่ 4 ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ถูกกล่าวหาที่ 6 ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ออกนโยบายป้องกันพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยดำเนินการสร้างคันกระสอบทรายและแนวกระสอบทรายยักษ์ (Big Bag) โครงสร้างรูปตัวแอล เพื่อป้องกันอุทกภัยให้แก่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยมีเจตนาให้ประชาชนที่อยู่อาศัยในเขตพื้นที่จังหวัดปทุมธานีและพื้นที่โดยรอบได้รับความเสียหาย หรือไม่ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาที่ 6 เป็นการดำเนินการส่วนหนึ่งในการบริหารจัดการน้ำในภาพรวมตามแนวทางที่รับมาจาก ศปภ. ซึ่งมีความจำเป็นที่หน่วยงานของรัฐต้องดำเนินการไปในทางที่เป็นการรักษาประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ ถึงแม้จะมีพื้นที่รอบนอกกรุงเทพมหานครได้รับผลกระทบก็ตาม แต่มิได้มีเจตนาให้ประชาชนที่อยู่อาศัยในเขตพื้นที่จังหวัดปทุมธานี และพื้นที่โดยรอบได้รับความเสียหายแต่อย่างใด จึงเห็นว่าข้อกล่าวหาในประเด็นนี้ไม่มีมูล จึงเห็นควรให้ข้อกล่าวหาเป็นอันตกไป

นายวรวิทย์กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม เรื่องที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติให้ข้อกล่าวหาตกไปนั้น เป็นคนละกรณีกับเรื่องกล่าวหาน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรกับพวก กรณีการดำเนินโครงการเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศ วงเงิน 350,000 ล้านบาท ซึ่งในขณะนี้อยู่ในระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช.

 

ที่มา : มติชนออนไลน์