ทบ.แจง เรือเหาะ 340 ล้าน ปิดฉาก เหตุเป็นผ้าใบเจออากาศร้อน หมดอายุ ต้องปลดระวาง

วันนี้ (15 ก.ย.) พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก ชี้แจงกรณี ผู้บัญชาการทหารบก เปิดเผยว่าเรือเหาะหมดอายุการใช้งานแล้ว และจะไม่ซื้ออีก ส่วนอุปกรณ์ต่างๆ ก็นำไปใช้ประโยชน์ รวมถึงนำไปประมูล โดยสังคมมีการวิจารณ์อย่างหนัก เรื่องการใช้งานที่ไม่คุ้มค่า และไร้คนรับผิดชอบ

โดยระบุว่า กรณี ทบ.จะจำหน่ายหยุดใช้งานเรือเหาะ ซึ่งที่ผ่านมาตัวเรือเหาะเป็นส่วนหนึ่งของโครงการระบบเฝ้าตรวจทางอากาศด้วยเรือเหาะ และอากาศยาน ถือเป็นยุทโธปกรณ์เครื่องมือพิเศษ นำมาเสริมประสิทธิภาพให้กับ จนท. ในระบบเฝ้าตรวจของพื้นที่ จชต. ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในช่วงนั้นคือเพื่อลดการสูญเสียกำลังพล เพิ่มขีดความสามารถในเรื่องการมองเห็น มีคุณสมบัติในทางยุทธวิธี แต่งต่างจากเครื่องบิน หรือยูเอวี คือมีความเงียบในการเคลื่อนที่สามารถบินช้าและลอยตัวได้นาน ลักษณะการจัดหามาใช้งานมีลักษณะเป็นระบบ มีองค์ประกอบหลักของระบบโครงการนี้มีอยู่ 2 รายการ ซึ่งใช้วงเงินรวมราว 340 ล้านบาท

รายการแรกคือ ระบบเฝ้าตรวจทางอากาศด้วยเรือเหาะ ใช้วงเงิน 209 ล้านบาท มีองค์ประกอบอยู่ 4 ส่วน คือ ส่วนตัวเรือเหาะ ใช้วงเงินจัดหา 66.8 ล้านบาท (คิดเป็นสัดส่วนมูลค่า 19%) ส่วนที่สอง คือระบบกล้องตรวจการณ์คุณภาพสูง 2 ชุด พร้อมระบบควบคุมและส่งสัญญาณ วงเงิน 87 ล้านบาท ส่วนที่สามคือระบบสถานีรับสัญญาณ แบบสถานีประจำที่ และสถานีเคลื่อนที่ด้วยรถหุ้มเกราะ วงเงิน 40 ล้านบาท ส่วนที่สี่คือ โรงเก็บเรือเหาะและอุปกรณ์บริภัณฑ์ภาคพื้น วงเงิน 9 ล้านบาท

สำหรับรายการที่สองคือ ระบบเฝ้าตรวจทางอากาศด้วยอากาศยาน (ฮ) ใช้วงเงิน 131 ล้านบาท มีระบบกล้องตรวจการณ์คุณภาพสูง 3 ชุด พร้อมระบบควบคุมและส่งสัญญาณ 3 ชุด เพื่อใช้ติดตั้งกับอากาศยานที่มีอยู่แล้วในอัตราปกติของ ทบ.

โดยที่ผ่านมาภาพรวมของระบบมีเพียงตัวเรือเหาะที่มีปัญหาขลุกขลักบ้างในระยะแรกๆ รวมถึงเคยมีการชำรุดหนักเนื่องจากการลงจอดฉุกเฉินรุนแรงด้วยสภาพอากาศแปรปรวน เมื่อช่วงปลายปี 54 แต่ ทบ.ได้ดำเนินการจนกระทั่งเรือเหาะสามารถกลับใช้งานได้ แต่ด้วยตัวเรือเหาะ มีลักษณะเฉพาะบางอย่างที่แต่งต่างจากเครื่องบิน หรือ ยูเอวี ตามที่กล่าวแล้วข้างต้น เช่นมีความเงียบ หรือสามารถลอยตัวได้นาน แต่ด้วยที่มีวัสดุทำตัวเรือเหาะมีลักษณะเป็นผ้าใบ จึงอาจมีข้อจำกัดบ้างในเรื่องของอายุการใช้งาน โดยเฉพาะเจอสภาพอากาศร้อนชื้น ซึ่งในอนาคตกรณีมีการหยุดงดใช้เรือเหาะในภารกิจของระบบตรวจการณ์และติดตามเป้าหมายแล้ว ตัวระบบหลักที่เหลือมีสัดส่วนอีก 80% ยังคงอยู่ในสภาพสมบูรณ์ใช้งานได้ โดยอาจเน้นไปใช้ระบบตรวจการณ์และติดตามเป้าหมายโดยทางอากาศยานเป็นหลัก

 

ที่มา : มติชนออนไลน์