ไพบูลย์ : ซามูไร แห่ง พปชร. อาวุธลับ “บิ๊กป้อม” ชูธงแก้ รธน.รายมาตรา

สัมภาษณ์พิเศษ

โดย ณัฐวุฒิ กรัณยโสภณ

ชื่อ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ โผล่ไปทุกแห่งหนในกระดานการเมืองโผล่ไปอยู่ในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 1 ใน 6 โควตาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงขั้นเข้าชิงประธาน กมธ.

โผล่ไปอยู่ใน กมธ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร ที่มี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเสรีรวมไทย เป็นประธาน ในห้วงเวลาที่ กมธ.ชุดนี้ตกเป็นข่าวรายวัน

3 เดือนที่แล้ว “ไพบูลย์” ยื่นให้นายทะเบียนพรรคการเมือง ขอเลิกพรรคประชาชนปฏิรูปที่ตั้งมากับมือ แล้วเขาก็ย้ายสำมะโนครัวมาอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ ท่ามกลางข้อกังขามากมาย

6 เดือนที่แล้ว “ไพบูลย์” ยื่นให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยุติการกระทำของพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) กรณีเสนอแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เมื่อ 8 ก.พ. และส่งผลให้ ทษช.ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค

5 ปีที่แล้ว “ไพบูลย์” เป็นคนแรกที่ลุกขึ้นสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯรอบที่ 2

และก่อนรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 เพียง 15 วัน ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” พ้นตำแหน่งนายกฯรักษาการ จากการโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี ออกจากเลขาธิการสภาความมั่นคงโดยมิชอบ อีกชนวนของการยึดอำนาจ โดย “ไพบูลย์” เป็นผู้ยื่นคำร้อง

ร่องรอยบนถนนการเมืองอันไม่ธรรมดาของ “ไพบูลย์” ประชาชาติธุรกิจสนทนากับเขา ทุกความเคลื่อนไหว เบื้องหลังการยุบพรรคตัวเอง แล้วมาซบอกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และเบื้องหลังเป็นหัวหอกการยื่นยุบพรรค ทษช. ทั้งเบื้องหลังการมาเป็น กมธ.ศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เขาถูกขอให้มาเป็น

ตีตั๋ว กมธ.แก้รัฐธรรมนูญ

แต่ตอนนี้ วาระร้อนที่สุดของ “ไพบูลย์” คือ ทำหน้าที่ในตำแหน่ง กมธ.ศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ชื่อไปโผล่อยู่ในโควตาของ ครม. แต่ไม่ใช่โควตาของ พปชร.

“ผมมีความตั้งใจที่อยากจะอยู่ กมธ.ชุดนี้ ท่านประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ) ต้องการหาคนไปเป็น กมธ.ที่เหมาะสมกับภารกิจนี้ จึงเห็นว่าผมในฐานะ ส.ส.พลังประชารัฐ เคยเป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ 2558 เหมาะสมได้รับแจ้งจากทางพรรคอย่างนั้น”

“ปกติผมคุยกับ พล.อ.ประวิตร เรื่องภาพรวม การทำงานด้านกฎหมาย ซึ่ง กมธ.ศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็เป็นเรื่องกฎหมายรัฐธรรมนูญ จึงได้รับการพิจารณาเสนอให้ทำงาน”

“แต่ท่านพล.อ.ประวิตรไม่ได้ผลักดันให้ผมเป็นประธาน เพราะ กมธ.จะไปพิจารณาในที่ประชุม แต่โดยหลักต้องมาจากฝ่ายที่มีเสียงข้างมากตามหลักประชาธิปไตย คือ ฝ่ายรัฐบาล ประกอบด้วย ครม. 12 คน และ ส.ส.รัฐบาล 18 รวม 30 คน ส่วนฝ่ายค้านมี 19 คน ซึ่งเป็นเสียงข้างน้อย”

“และในซีกรัฐบาล พปชร.ก็เป็นเสียงข้างมาก ประธาน กมธ.ก็ควรมาจาก พปชร. ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม”

“ดังนั้น ผมบอกกับพรรคไปว่า ยินดีที่จะดำรงตำแหน่งใดก็ได้ ที่รัฐบาลและพรรคเห็นว่าเหมาะสม เชื่อว่าปฏิบัติได้ ทำหน้าที่ได้ ยินดีทุกตำแหน่ง”

แต่ข่าวอีกกระแสซึ่งปรากฏชื่อ “สุชาติ ตันเจริญ” รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ยังมีสิทธิที่จะเป็นประธาน กมธ. “ไพบูลย์” เหมือนตอบแทน “คู่ชิงเก้าอี้ประธาน กมธ.” ว่า “ท่านสุชาติอาจจะยังห่วงในฐานะรองประธานสภา ยังพิจารณาเรื่องเกี่ยวกับภารกิจเป็นรองประธานสภา แต่สุดท้ายรอให้ญัตติเสนอ ท่านอาจจะตัดสินใจสุดท้ายว่าจะมาร่วมกับ กมธ.หรือไม่…ก็สุดแล้วแต่”

ดักฝ่ายค้าน แก้ รธน.ทั้งฉบับ

ปลายทางการศึกษาแก้รัฐธรรมนูญ “ไพบูลย์” มั่นใจว่า จะมีผลเป็นรูปธรรม

“ถ้า กมธ.ศึกษาแล้วมีปัญหา มาตราไหนมีปัญหา และเป็นความเห็นร่วมกันของผู้ที่เกี่ยวข้อง ถึงเวลาที่จะต้องแก้ไขก็สามารถแก้ได้ แต่ถ้ามาตราไหนมีความขัดแย้งของผู้เกี่ยวข้องเยอะ ถ้าแก้แล้วมีความขัดแย้งก็แก้ไม่ได้ เป็นเรื่องธรรมดา เพราะรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องกติกาของประเทศ การจะแก้ต้องมีความเห็นพ้องต้องกัน ผมเชื่อว่าเราเห็นพ้องต้องกันได้ในบางประเด็น”

ที่ฝ่ายค้านเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เปิดช่องให้สามารถตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นมาแก้ไขทั้งฉบับนั้น “ส่วนตัวยังนึกภาพไม่ออกว่าจะทำความเข้าใจ กมธ.ท่านอื่นให้เห็นพ้องต้องกันได้อย่างไรว่าจะรื้อทั้งฉบับ เป็นการพูดไฮด์ปาร์กมากกว่า ก็ต้องบอกมาว่าแก้ทำไม มาตรา 256 ไปตั้ง ส.ส.ร. แล้ว ส.ส.ร.คือใคร ที่บอกว่ารัฐธรรมนูญแก้ยาก แต่บางมาตราก็แก้ได้โดยไม่ต้องแก้ 256 ด้วยซ้ำ”

“สุดท้ายต้องมีการสรุปผลการศึกษา แล้วไปรับฟังความคิดเห็นของประชาชน จากนั้นจะเสนอรัฐสภา เชื่อว่าต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นเป็นรูปธรรม และเป็นนโยบายของรัฐบาล ยืนยันว่าไม่ใช่เตะถ่วงอย่างที่ฝ่ายค้านตั้งข้อสังเกต ซึ่งมีอคติมากไป”

ขณะเดียวกันใน กมธ.ป.ป.ช.ที่กำลังมีปัญหา “ศึกภายใน” ระหว่าง “สิระ เจนจาคะ-ปารีณา ไกรคุปต์” 2 ส.ส.พลังประชารัฐ กับประธาน กมธ. “พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์” ไพบูลย์ก็ถูกดึงเข้าไปช่วยเสริมทัพ เขาบอกว่าเป็นหน้าที่

“ในฐานะที่เป็นนักกฎหมายในพรรค พปชร. ทำให้ผมมีหน้าที่ต้องทำหลายหน้าที่ บังเอิญ กมธ. 2 ชุดนี้ อยู่ในความสนใจของประชาชนก็เท่านั้น เป็นเรื่องปกติมากเลยนะ โดยเฉพาะ กมธ.ศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่มีชื่อผมสิแปลก”

แม้ “ไพบูลย์” ปฏิเสธว่าไม่ได้เป็น “บริการเสริม” ของ “พล.อ.ประวิตร” แต่ถ้าเป็นงานด้านกฎหมายก็ต้องนึกถึงเขา

“ท่านเป็นประธานยุทธศาสตร์ เป็นผู้ใหญ่ของพรรค ต้องมองคนที่ไปทำงานเรื่องที่จำเป็นของพรรค ด้านกฎหมายมองผมก็ให้ผมไปทำ เลือกตั้งซ่อมก็ให้คนอื่นไปทำ ส่วนการดำเนินการเรื่องนั้น เรื่องนี้ ย่อมให้นโยบายกับพรรค การบริหารจัดการในสภา ต้องหารือกับประธานยุทธศาสตร์”

เหตุที่ “บิ๊กป้อม” ไว้ใจ

กับคำถามว่า พปชร.ก็มีนักกฎหมายมากมาย เหตุใด “พล.อ.ประวิตร” เลือกใช้บริการ “ไพบูลย์” ให้ไปทำเรื่องสำคัญ

“ความไว้วางใจต่าง ๆ ก็ต้องดูว่าผมทำอะไรมาบ้าง ปี”57 ยื่นศาลรัฐธรรมนูญกรณีนายกฯยิ่งลักษณ์ จากนั้นก็ไปอยู่ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ยังมีประเด็นที่ไปตรวจสอบเรื่องวงการสงฆ์ การทุจริตเงินทอนวัด และผมก็ไปยื่นคำร้องให้หยุดการกระทำของพรรค ทษช. ในการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ต่อ กกต. เราได้ยินข่าวมาก่อน และได้รับแจ้งจากพรรคพวกที่อยู่ในการเมือง ต้องให้ กกต.หยุดการกระทำของ ทษช.ทันที ผมเขียนคำร้องขึ้นเช้าวันนั้นให้ยุบ ทษช.”

“ใน พปชร.มีนักกฎหมายอยู่เยอะ แต่นักกฎหมายในระดับที่ผมทำ ก็อาจจะยังจำเป็นให้ผมทำในบางเรื่อง”

“ซามูไร” แห่ง พปชร.

“ไพบูลย์” บอกว่า กฎหมายในศตวรรษที่ 21 เป็นทั้ง “อาวุธและเกราะป้องกัน”

“แม้ว่ากฎหมายเป็นหลักการ แต่ตอนนี้เป็นเสมือนหนึ่งเป็นอาวุธและเกราะป้องกัน การที่จะดำเนินการใด ๆ ต้องใช้กฎหมาย เช่น ผมไปดำเนินการกับรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ เมื่อใช้กฎหมายถูกต้อง รัฐบาลทั้งรัฐบาลก็ล้มไป หรือขณะนี้มีอยู่พรรคหนึ่งให้ความสำคัญกับกฎหมายน้อยไป ดำเนินการด้านโซเชียลเน็ตเวิร์ก และภาพลักษณ์มากไป ไม่ให้ความสำคัญกับกฎหมายมากเท่าที่ควร กลายเป็นว่าพรรคการเมืองนั้นฝ่าฝืนกฎหมายมากมายหลายเรื่อง ทั้งที่เรื่องไม่ควรจะเกิด”

ถาม “ไพบูลย์” กลับว่า คนถืออาวุธกฎหมายใน พปชร.มีหลายคน แต่นักแม่นปืนมีไม่กี่คน หนึ่งในนั้นคือตัวเขา

“ไม่ทราบ… แต่ผมไม่ใช่นักแม่นปืน ผมเป็นซามูไรด้านกฎหมาย เพราะซามูไรมีศิลปะ ละเอียดอ่อน เป็นนักรบ มีวินัย และจิตวิญญาณอยู่ด้วย และซามูไรใช้กฎหมายคุ้มครองคนสุจริต ช่วยเหลือประชาชน เป็นซามูไรที่มีคุณธรรม”

ยุบพรรค ซบ “ลุงตู่”

กับข้อสงสัยทำไมจึงยุบพรรคประชาชนปฏิรูป แล้วมาซบอกพลังประชารัฐ “ไพบูลย์” ตอบว่า “พอดำเนินการพรรคไป ผลการเลือกตั้งออกมาเราได้เพียง ส.ส.คนเดียว คือ ผมในฐานะหัวหน้าพรรค ส่วนกรรมการบริหารพรรคทั้ง 31 คน มี 10 กว่าคนหวังว่าจะได้เป็น ส.ส. แต่พอไม่ได้เป็น ส.ส.หลายคนมีภารกิจที่ต้องทำจึงลาออก หลายคนก็จะลาออกต่อ ถ้าปล่อยไปอีกไม่นานก็ต้องผิดกฎหมาย พรรคจะถูกเลิก ถ้าไม่เลิกตอนนี้วันข้างหน้าจะยุ่งไปอีก เพราะมีเงินกองทุนพัฒนาพรรคการเมืองเข้ามาอีก ดังนั้นเมื่อตัดสินใจเลิกตอนนี้ ก็คืนเงินทุกบาททุกสตางค์กลับคืนไป”

“เป็นเรื่องธรรมดามาก หัวหน้าพรรคทำงานคนเดียวไม่ได้ แล้วผมก็ต้องย้ายไปพรรคพลังประชารัฐอยู่แล้ว เพราะนโยบายตรงกันหมด เช่น นโยบายสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ มวลชนที่เลือกเรา มาร่วมอุดมการณ์กับเรา ก็นิยมชมชอบ พล.อ.ประยุทธ์ ดังนั้นการไปอยู่พลังประชารัฐจึงถูกต้อง และไปอยู่ไม่ต้องทำงานธุรการ แต่ไปทำเรื่องกฎหมาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ชอบอยู่แล้ว”

ส่วนข้อสังเกตของเซียนกฎหมาย-นักการเมือง ที่ตั้งข้อสังเกตว่า การที่ “ไพบูลย์” ยุบพรรคตนเอง แล้วไปเป็น “ไส้ติ่ง” อยู่ในบัญชีรายชื่อของ พปชร. จะเกิดปัญหาทางกฎหมายหากวันใดวันหนึ่งมีการคำนวณ ส.ส.พึงมีใหม่

เขาตอบว่า “เป็นความคิดเห็นของบุคคล คิดไปได้หมด แต่ที่ผมทำมันถูกอยู่แล้ว กกต.ก็รับรองแจ้งไปยังสภา สภาก็ลงทะเบียนไว้แล้วว่า ผมเป็น พปชร.สมบูรณ์ทุกอย่าง ดังนั้น ความคิดเห็นของคนอื่นไม่ได้เกี่ยวข้องอะไร”

“ไพบูลย์โมเดล” จึงกลายเป็นตัวอย่าง หากเกิดกรณี “อนาคตใหม่” ถูกยุบพรรค 50 ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ก็สามารถย้ายสลับขั้วอำนาจได้

“ไม่อยากพูดชื่ออนาคตใหม่ เดี๋ยวเขาหวาดเสียว (หัวเราะ) ถ้าพรรคการเมืองใดถูกยุบพรรคโดยศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการบริหารที่เป็น ส.ส.จะถูกตัดสิทธิทางการเมือง และพ้นจากการเป็นส.ส. ถ้าเป็นบัญชีรายชื่อก็พ้นไป จะเลื่อนใครแทนไม่ได้ เพราะไม่มีบัญชีพรรคมาเลื่อน ส.ส.บัญชีรายชื่อ สภาจะมี ส.ส.ลดลง”

“ส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ ส.ส.เขตที่ไม่ถูกตัดสิทธิ์ ก็ต้องไปหาพรรคใหม่ภายใน 60 วัน ไปหาพรรคไหนก็ไปได้ ส่วนหนึ่งก็มา พปชร. ส่วนหนึ่งอาจไปพรรคอื่น หรือตั้งพรรคใหม่มารองรับ”


ไพบูลย์ฉายภาพปิดท้าย หากอนาคตใหม่ถูกยุบพรรคขึ้นมาจริง ๆ ในวันข้างหน้า