‘พุทธิพงษ์’ คอนเน็กชั่นพันธุ์พิเศษ ตีฝ่ายค้านแตก ต่อท่อ ‘ประชาธิปัตย์พลัส’

พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์

สัมภาษณ์พิเศษ

โดยปิยะ สารสุวรรณ

ปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองศักราชใหม่ แหลมคม ทุกคม ทุกดอก ต้องอาศัยวิทยายุทธ์-ความโหดเหี้ยมทางการเมืองกำชับ-กำราบพรรคร่วมรัฐบาล-มือปริศนา

“ประชาชาติธุรกิจ” สนทนาพิเศษ “พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ ด้วย “คอนเน็กชั่นพิเศษ” สายตรง พล.อ.ประยุทธ์-พล.อ.ประวิตร-นายสมคิด และสายสัมพันธ์กับ “คนพันธุ์พิเศษ” ได้รับ “ภารกิจต่อท่อ” กับประชาธิปัตย์ คุมเกม-ดึงเสียงในสภา

Q : ความเสียหายที่เกิดจากพรรคประชาธิปัตย์จะให้คืน-ใช้คืนอย่างไร

ที่ผ่านมาถือว่าผ่านไปแล้ว จากนี้ไปทุกคนจะเริ่มกระชับ ส.ส.ของตัวเองให้ดีขึ้น ซึ่งแต่ละพรรคมีกระบวนการคาดโทษภายในพรรค ต้องพยายามขันนอต พูดคุย

Q : ภายในพรรคประชาธิปัตย์มีกลุ่ม-ก๊วนไม่สามารถควบคุมได้

เป็นภาระของผู้บริหารแต่ละพรรคต้องหาวิธีทำให้ได้ เพราะการร่วมรัฐบาลและสัดส่วนการให้โควตารัฐมนตรีในสถานการณ์การเมืองขณะนี้ พิจารณาจากจำนวน ส.ส. ถ้าสภาเดินไม่ได้ แน่นอนด้วยเสียงที่ปริ่มน้ำอย่างนี้ คุณเอาโควตารัฐบาลและรัฐมนตรีไปแล้ว ต้องทำให้ได้ ถ้าไม่ได้ไม่รู้ว่าจะเอาโควตาไปทำไม

ยังไม่พูดถึงเรื่องริบโควตารัฐมนตรีคืน แต่เชื่อว่าวันนี้ ทุกพรรคพยายามไปพูดคุยกับสมาชิกของตัวเอง

Q : นายกฯกำชับอะไรเป็นพิเศษกับภารกิจไม่ให้สภาล่ม

ท่านบอกว่าไม่ควรจะเกิดขึ้นอีก เพราะหมายถึงประสิทธิภาพในการบริหารของรัฐบาลและเสถียรภาพของสภา หากเกิดสภาล่มบ่อย ๆ จึงต้องตัดปัจจัยความเสี่ยงของฝ่ายนิติบัญญัติให้การเมืองนิ่ง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นเรื่องเศรษฐกิจ

Q : เสียงของรัฐบาลคงที่ ทำอย่างไรให้เสียงนอกรัฐบาลเสถียร

เชื่อว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น แต่ขณะนี้ท่านนายกฯยังไม่มีแนวทางที่จะปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่อาจจะเห็นเพื่อน ๆ ส.ส.บางคนเห็นด้วยกับนโยบายรัฐบาล อย่าไปเรียกว่าอะไรเลย (งูเห่า) ไม่ได้ต่อรองว่ามาแล้วต้องเป็นรัฐมนตรี มาทำงานด้วยกันก่อน

Q : ถือว่าตีด่านฝ่ายค้านแตก

เป็นเอกสิทธิ์ของ ส.ส. แต่ยืนยันว่า มีมาแน่นอน

Q : มีมาแน่นอน แต่ความเป็นรูปธรรมเรื่องย้ายพรรค

วันนี้ย้ายพรรคยังทำไม่ได้ ยกเว้นถูกขับ หรือยุบพรรค

Q : เรียกสถานภาพนี้ในทางการเมืองว่าอย่างไร

เป็นเอกสิทธิ์ ส.ส. มติของพรรค ไม่เกี่ยวกับมติพรรคฝ่ายค้าน

Q : มือของเศรษฐกิจใหม่ (ศม.) แบเบอร์ เป็นเสียงของรัฐบาลแน่นอน

ต้องดูต่อไป ครั้งที่แล้วเขาโหวตให้

Q : เป็นเสียงโหวตมัดจำไว้แล้ว ครั้งต่อไปเป็นโหวตเอาจริง

เป็นไมตรีที่ดีต่อกัน แต่ยังไม่การันตีในทุกเรื่อง

Q : ข้อต่อรองของคุณมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ อดีตหัวหน้า ศม. คืออะไร

วันนี้พี่มิ่งและลูกพรรคยังไม่ไปทิศทางเดียวกัน ได้พูดคุยในฐานะพี่น้องเท่านั้น ผมยังไม่มีอำนาจไปต่อรองตำแหน่ง

Q : จุดแข็ง ศม. คือ เศรษฐกิจ โควตารัฐมนตรีเศรษฐกิจยังขยับตรงไหนได้อีก

อะไรก็เกิดขึ้นได้ ด้วยโควตาที่จัดสรรลงไปตามสัดส่วนจำนวน ส.ส.แต่ละพรรคและเงื่อนเวลา เช่น ปัจจัยทีมเศรษฐกิจ โควตารัฐมนตรีพรรคแกนนำ หรือพรรคร่วมรัฐบาลจะแลก หรือจะถือโอกาสเปลี่ยนซะเลย เป็นเรื่องอนาคต

Q : ตีทั้งหน้าด่านของฝ่ายรัฐบาลตีทั้งด่านของฝ่ายค้าน

พลังประชารัฐจริงใจ ท่านนายกฯใจกว้างและยุติธรรมมาก พูดคำไหนคำนั้น ยึดมั่นในข้อตกลง ท่านย้ำตลอดว่าผลงานรัฐบาล นโยบายต่าง ๆ ต้องทำในนามรัฐบาล ข้อตกลงคือรับผิดชอบร่วมกัน เชื่อว่าพรรคร่วมรัฐบาลจะยึดมั่นและจริงใจ เหมือนกับพลังประชารัฐ

Q : บุคลิกพลังประชารัฐคล้ายคลึงกับความเป็นประชาธิปัตย์ จะดึงคนประชาธิปัตย์มาเป็นปึกแผ่นมากขึ้น

ไม่ก้าวก่าย แม้จะเคยอยู่ประชาธิปัตย์ มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ประชาธิปัตย์มีความเป็นประชาธิปไตยภายในพรรค แต่เชื่อว่าสุดท้ายแนวทางที่ร่วมรัฐบาลด้วยกัน จะหาวิธีให้ไปด้วยกันได้

Q : สายแข็งจากประชาธิปัตย์จะเข้ามาอยู่กับพลังประชารัฐ

คงมีบ้าง เป็นไปได้ อย่างพี่พีระพันธ์ุ (สาลีรัฐวิภาค อดีต ส.ส.ปชป.) ท่านเป็นคนเก่ง มีความสามารถ เข้าใจกฎหมาย

Q : เข้ากับพลังประชารัฐได้หรือไม่

ก็น่าจะได้นะ เร็ว ๆ นี้จะเห็นชัดเจนว่า ท่านจะเข้ามาช่วยงานท่านนายกฯอะไรได้บ้าง ยอมรับว่าเป็นความสัมพันธ์ของผมที่เคยอยู่ร่วมกันมา ไม่ได้ไปดึงมา แต่เป็นความประสงค์ส่วนของท่านพีระพันธ์ุ

Q : คุณกรณ์ (จาติกวณิช ส.ส.ปชป.) มีคอนเน็กชั่นกันมานานกับคุณสมคิด

สนิทกัน แต่วันนี้พี่กรณ์ยังอยู่ในสถานะ ส.ส. และสมาชิกประชาธิปัตย์ มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน เป็นพี่น้องกันมาเป็นสิบปี หลายอย่างขึ้นอยู่กับเวลา ท่านพีระพันธ์ุมาแล้ว เดี๋ยวก็ค่อย ๆ มีมา ทุกคนรู้กรอบเวลา มีเป้าหมายก็มาได้ แต่ไม่ได้ดูด เราไม่ได้ยื้อยุดฉุดมา

Q : แค่มีตำแหน่งที่ดี ๆ ให้

ไม่ใช่ เขาต้องมีปัญหาของเขาก่อน มีใจอยากจะออกมา มาช่วยงานรัฐบาลก่อน

Q : มีตำแหน่งว่างพอดี

มีความรู้ความสามารถ

Q : กลายเป็นที่รวมบุคลากรรุ่นกลาง ๆ หลากหลายจะบริหาร Culture อย่างไร

การเมืองวันนี้เปลี่ยนไปจากเดิมมาก หนึ่ง บริบทการเมือง สอง โหวตเตอร์ สาม ปัญหาประเทศ คนรุ่นกลาง ๆ อาจจะเป็นทางออกของประเทศ ที่มีทั้งความใหม่ ประสบการณ์ที่ไม่สุดโต่งเกินไป

Q : ยุทธศาสตร์ Chapter ต่อไปของพรรค โซนไหนจะบุกเพิ่มและสัประยุทธ์กันดุเดือด

พรรคเริ่มเดินยุทธศาสตร์ควบคู่ไปกับนโยบายของรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาแต่ละพื้นที่ เช่น ภาคใต้ ผลักดันราคาผลผลิตสินค้าเกษตร ได้แก่ ปาล์ม ยางพารา

Q : ยุทธศาสตร์ภาคใต้ต้องไปรบกับพรรคร่วมรัฐบาล 3 พรรคใหญ่

เป็นเรื่องปกติเมื่อเลือกตั้ง แต่วันนี้เป็นพรรคร่วมรัฐบาล นโยบายที่ลงไป ไม่ใช่เป็นนโยบายของพรรคใด เป็นของรัฐบาล ภายใต้การนำของท่านนายกฯคนเดียวกัน

Q : ภาคอีสานจะไปขยายฐานเดิม หรือต่อสายกับพรรคอื่น

ครั้งที่แล้วมีผู้สมัครดี ๆ หลายคน แต่พลาดไปเยอะ แต่ครั้งนี้ภาคอีสานเริ่มแบ่งพื้นที่ละเอียดขึ้น เริ่มลงมาจำกัดพื้นที่ความรับผิดชอบของ กก.บห.มากขึ้น เริ่มจากการเลือกตั้งซ่อม ขอนแก่น เขต 7

Q : อีสานเลือกตั้งครั้งหน้าอาจไปต่อไปง่าย เพราะมีการต่อท่อไว้พอสมควร

อาจจะมี ส.ส.บางคน จากบางพรรคที่ตอบรับนโยบายของรัฐบาลมาอยู่กับพลังประชารัฐ บางคนอยู่พรรคอื่นอาจจะเห็นมาทำพื้นที่ร่วมกัน คงมีไปเรื่อย ๆ

Q : ภาคกลางกับกรุงเทพมหานครจัดความสำคัญพื้นที่ไหนมากกว่ากัน

กทม.ต้องสู้แน่นอน คนกรุงเทพฯให้โอกาสมี ส.ส.มากที่สุดจากทุกพรรค ต้องดูกระแสของคนกรุงเทพฯอยากได้อะไร ปัญหากรุงเทพฯเปลี่ยนไปเยอะมาก เป็นปัญหาใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้น ผู้ว่าฯ กทม. ส.ก.ต้องเป็นคนที่เข้าใจปัญหา

Q : จะทำอย่างไรให้ได้ชัยชนะเด็ดขาด เป็นขั้วเดียวกันกับรัฐบาล

พลังประชารัฐมี ส.ส.กทม. 12 คน ไม่ถึงครึ่งของ ส.ส.กทม.ทั้งหมด 30 เขตการแก้ไขปัญหากรุงเทพฯ มี ส.ส.อย่างเดียวไม่พอ ถ้าได้ผู้ว่าฯ กทม.มาผลักดัน และเป็นในนามพรรค ปัญหาของคนกรุงเทพฯคราวนี้ คนกรุงเทพฯจะได้เห็น ส.ส. ผู้ว่าฯ กทม. ส.ข. และ ส.ก. เป็นพรรคเดียวกันให้ได้ เพื่อเร่งแก้ปัญหา

Q : การปรับโครงสร้าง กก.บห. พรรคใหม่ มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะเปลี่ยนหัวหน้า-เลขาธิการพรรค

สามารถเกิดขึ้นได้ แต่ผมตอบคนเดียวไม่ได้ เมื่อองค์ประกอบของพรรคเปลี่ยนไป จึงต้องเปลี่ยน กก.บห. ตำแหน่งสำคัญอาจต้องเปลี่ยนเพื่อให้ยึดโยงระหว่าง กก.บห.กับ ส.ส. ด้วยสถานการณ์ การมีส่วนร่วมของ ส.ส.ในพื้นที่ ปัญหาการเข้าถึง เข้าใจ ส.ส.

Q : จะเร่งเร้าให้ความเป็นก๊ก-เหล่าเฟื่องฟูขึ้นหรือไม่

จะดีขึ้น กก.บห.ที่จะเข้ามาใหม่จะเป็นแกนหลักของ ส.ส.ในหลายภาค การตัดสินใจในนโยบายและยุทธศาสตร์จะเข้มแข็งขึ้น การตัดสินใจมิติการเมืองรวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์

Q : คนที่เป็นเบอร์ 1 คุมทุกก๊กได้ต้องมีบารมี

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประธานยุทธศาสตร์พรรค จะทำให้เป็นเนื้อเดียวกัน เพราะ กก.บห.จะเป็นกรรมการยุทธศาสตร์พรรคด้วย ซึ่ง กก.บห.ชุดปัจจุบันเกินครึ่งไม่ได้เป็น ส.ส. บางคนเป็นคนนอกที่ถูกเชิญมา ทำให้นโยบายที่พรรคหาเสียงไม่ถูกทำเป็นนโยบายรัฐบาล

Q : รัฐมนตรีของพลังประชารัฐตะลุมบอนงานรูทีน-งานเก่าเกินไป

หลังมีประธานยุทธศาสตร์ มีการปรับโครงสร้าง กก.บห.ใหม่ นโยบายพรรคที่หาเสียงไว้จะถูกผลักดันมากขึ้น

Q : จะออกจากกับดักการแก้ปัญหาเศรษฐกิจอย่างไร

1.การเรียกความเชื่อมั่น 2.การผลักดันการใช้งบประมาณของรัฐ 3.การแก้ปัญหาค่าเงินบาท เศรษฐกิจปัญหาของทั้งโลก ต้องคอยหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ท่านสมคิดพยายามผลักดันนโยบาย

Q : ท่านสมคิดบอกว่าท่านไม่เป็น

เป็นสิ ผมยังเชื่อมั่นในตัวท่าน