สุรชาติ : ต้องปฏิรูปกองทัพ โลกประชาธิปไตยไม่มีรัฐซ้อนรัฐ

สัมภาษณ์พิเศษ

ตั้งแต่รัฐประหาร 2549 ถึงรัฐประหาร 2557

ผ่านมา 11 ปี การเมืองไทยยังอยู่ยุคทหาร ขณะที่นักวิเคราะห์-โหรการเมือง ทำนายไปในทำนองเดียวกันว่า แม้มีการเลือกตั้ง มีรัฐบาลแต่ก็ยังเป็นรัฐบาลใต้ร่มเงาทหาร ทั้งที่แม่น้ำ คสช.ปักธงว่ายุคนี้เป็นยุคแห่งการปฏิรูป แต่กลับไม่มีการพูดถึงการ “ปฏิรูปกองทัพ”

“ประชาชาติธุรกิจ” สนทนากับ “สุรชาติ บำรุงสุข” นักวิชาการด้านความมั่นคง จากรั้วจามจุรี วิเคราะห์โจทย์ปัจจุบัน โจทย์อนาคต ว่าเหตุใดจึงไม่มีการพูดถึงเรื่องปฏิรูปกองทัพ

Q : ทำไมรัฐประหาร 2557 ถึงอยู่ยาวกว่ารัฐประหาร 2549 

รัฐประหาร 57 เป็นผลสืบเนื่องรัฐประหารปี 49 เพราะปีกอนุรักษนิยมที่เปิดการเคลื่อนไหวใหญ่ล้มรัฐบาลเลือกตั้งปี 49 เหมือนกับยังไม่สิ้นสุดในตัวเอง แต่ปี 57 เป็นความพยายามที่จะสุดซอยและปรากฏผลชัดเจนด้วยการออกมาตรการต่าง ๆ ใช้สื่อ กลไกต่าง ๆ สร้างพลังทางสังคมให้เกิดการสนับสนุนรัฐบาลทหาร พยายามออกแบบสังคมการเมืองไทยในอนาคตผ่านรัฐธรรมนูญ หลังการเลือกตั้งจะมีสมาชิกวุฒิสภาแต่งตั้ง 250 เสียง จะกลายเป็นฐานเสียงหลักของพรรคทหารในอนาคต แต่สิ่งที่ใหญ่กว่าคือกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ตีกรอบอนาคตของไทย เท่ากับกำหนดวาระรัฐบาลเลือกตั้ง 5 รัฐบาล ดังนั้นการเลือกตั้งในอนาคตจะไม่มีสถานะรัฐบาลแท้จริง รัฐบาลอาจถูกบังคับให้ล้มโดยไม่ต้องรัฐประหาร

Q : ผ่านมา 3 ปี ทำไมทหารมีแต้มต่อมากกว่านักการเมือง 

ฝ่ายทหารมีกระบวนการทำลายภาพลักษณ์ของพรรคการเมืองและนักการเมืองว่าการเมืองแบบการเลือกตั้งเป็นสิ่งที่เลวร้าย ไม่มีความชอบธรรม รัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจดีกว่ารัฐบาลเลือกตั้ง ที่ท้าทายคือนักการเมืองหรือพรรคการเมือง จะฟื้นความเชื่อมั่นในหมู่พี่น้องประชาชนได้อย่างไร

Q : การไม่มีชินวัตรอยู่ในประเทศจะทำให้พื้นที่การเมืองของทหารมีมากขึ้นหรือไม่

ปฏิบัติการจิตวิทยาที่เกิดขึ้นไม่มีอะไรมากไปกว่าการปลุกผีทักษิณกับผียิ่งลักษณ์ ที่เป็นเป้าหมายการทำลายของปีกอนุรักษนิยม แต่ถ้ายกปัญหาให้พ้นตัวบุคคล สิ่งที่เห็นทั้งหมดคือการสู้กันระหว่างกระแสเสนานิยม กับ เสรีนิยม ปัจจุบันปีกอนุรักษนิยมเชื่อมั่นในกระแสเสนานิยมแล้วผลักดันกระแสเสนานิยมให้เป็นกระแสหลักของการเมืองไทย และปฏิเสธกระแสเสรีนิยม โดยเชื่อว่ากระแสเสรีนิยมเป็นกระแสที่จะสร้างปัญหาให้กับผลประโยชน์หรือปีกอนุรักษนิยม ดังนั้น กระแสประชาธิปไตยไทยในช่วงหลังมีอาการขึ้น ๆ ลง ๆ เป็นประชาธิปไตยที่ไม่มีจุดจบ คือไม่สามารถนำไปสู่รัฐบาลประชาธิปไตยที่มีความเข้มแข็ง และนำมาสู่การรัฐประหาร เมื่อการเลือกตั้งเกิดขึ้น จะเห็นการเผชิญหน้าระหว่างกระแสสองชุดนี้อย่างชัดเจน

Q : ด้วยกลไกต่าง ๆ ที่เข้าทางฝ่ายทหาร คิดว่าจะปฏิรูปกองทัพได้หรือไม่ 

หลังจากการยึดอำนาจ เราไม่เห็นโจทย์การปฏิรูปกองทัพ สังคมไทยพยายามจะสร้างว่ากลไกรัฐเป็นเหมือนกลไกอิสระที่ฝ่ายการเมืองเข้าไปแตะต้องไม่ได้ ผู้นำทหารที่มาจากการยึดอำนาจก็เป็นนักการเมืองในอีกรูปแบบหนึ่ง ภาษารัฐศาสตร์เรียกว่า politician in uniform แล้วโจทย์ปฏิรูปกองทัพอยู่ตรงไหน หรือเราเชื่อว่ากองทัพสมบูรณ์ทุกอย่างแล้ว ไม่ต้องการปฏิรูป

Q : ถ้าจะปฏิรูปกองทัพต้องเริ่มจากอะไร

1.การเป็นทหารอาชีพ ถ้าเดินทางไปไม่ถึงจุดนั้นการปฏิรูปจะไม่มีความหมายเลย 2.เราอยากเห็นกองทัพที่มีประสิทธิภาพ ทั้งในแง่การบริหารกำลังพล การใช้ทรัพยากร การสร้างบุคลากร 3.กองทัพจะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างไร

ในทางรัฐศาสตร์ ทหารอาชีพคือทหารที่ไม่ยุ่งกับการเมือง เมื่อไหร่ก็ตามที่ทหารไปมีบทบาททางการเมือง เราถือกันในดัชนีทางรัฐศาสตร์ว่า ทหารได้ละทิ้งการเป็นทหารแล้ว ถ้าอยู่ในระบอบคอมมิวนิสต์ พรรคคุมปืน การเมืองคุมกองทัพ ถ้าอยู่ในบริบทโลกประชาธิปไตย การเมืองอยู่เหนือการทหาร หรือกองทัพอยู่ภายใต้ควบคุมของพลเรือน ไม่มีสถานะเป็นรัฐซ้อนรัฐ

Q : จำเป็นหรือไม่จะต้องปฏิรูปกองทัพก่อน จึงจะปฏิรูปการเมืองได้

การปฏิรูปกองทัพทำฝ่ายเดียวโดยปราศจากการปฏิรูปการเมืองไม่ได้ เช่นเดียวกัน การปฏิรูปการเมืองที่ละเลยการปฏิรูปกองทัพก็จะประสบปัญหาในอนาคต

Q : ทำไมปฏิรูปการเมืองกับปฏิรูปกองทัพต้องเดินไปด้วยกัน

ถ้ายอมรับโดยหลักการพื้นฐานว่า กองทัพเป็นกลไกในนโยบายของรัฐบาล กองทัพไม่มีสถานะเหนือรัฐ ถ้าพูดอย่างนี้ สังคมไทยอาจรับไม่ได้ เนื่องจากคุ้นเคยอยู่กับสภาวะที่เรียกว่ากองทัพเป็นอิสระจากการเมือง

สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ไม่เคยเกิดในประวัติศาสตร์โลก คือสภาวะที่เรียกว่ากองทัพมีสถานะเป็นรัฐซ้อนรัฐ หรือไม่ยอมรับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เช่น ญี่ปุ่น เยอรมัน แต่แปลกที่โจทย์แบบนี้เกิดกับการเมืองไทยในโลกสมัยใหม่ ในหลายประเทศเป็นโจทย์ที่จบลงแล้ว และจบลงด้วยการตั้งรัฐบาลประชาธิปไตย แต่ของเราเป็นสภาวะเกิดแล้วไม่จบ สภาวะของความเชื่อหรือวาทกรรมที่กองทัพเป็นอิสระจากรัฐ ถอนไม่ออกจากสังคมไทย เมื่อไหร่ที่มีปัญหา คำถามที่ตามมาคือเมื่อไหร่จะยึดอำนาจ ไม่เคยยอมรับว่าจริง ๆ แล้วกองทัพเป็นกลไกรัฐ

Q : จะถอดสลักความเชื่อนี้ เพื่อปลดล็อกปฏิรูปกองทัพได้อย่างไร 

เป็นเหมือนกับปัญหาที่พันอยู่กับสังคมไทยโดยที่เราไม่สามารถสลัดมันทิ้งได้ สังคมไทยต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะต้องตอบคำถามว่า ตกลงอนาคตของสังคมไทยจะอยู่กับรัฐประหารต่อไปอีกนานเท่าไหร่ จะยอมรับว่ารัฐประหารยังเป็นเครื่องมือของการแก้ปัญหาทางการเมืองใช่หรือไม่ ถ้ายังอยู่ภายใต้วาทกรรมชุดนี้ ว่ากองทัพเป็นอิสระจากรัฐ และกองทัพเป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหาทางการเมือง ถ้าเป็นอย่างนี้รัฐประหารจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาในสังคมไทย

Q : คสช.จะดำรงอยู่ได้ในอนาคต เพราะสังคมอ่อนแอและยอมรับรัฐประหาร

คสช.อาจเผชิญแรงกดดันบ้าง แต่เมื่อเปรียบเทียบกับคนรุ่นผมที่โตมากับ 14 ตุลา 16 กระแสที่ไม่ตอบรับรัฐบาลทหารสูงมาก กระแสชุดนี้สามารถผนึกกำลังขนาดใหญ่ได้ จินตนาการแบบปี 14 ตุลา 16 อาจหลายเงื่อนไข อาจเกิดไม่ง่าย เพราะปัจจุบันยังมีความอ่อนแอทางการเมืองค่อนข้างมาก

แต่เราเห็นตัวแบบที่เป็นข้อเตือนใจเสมอ คือบทบาทของกองทัพในละตินอเมริกา แม้ว่าเราจะเห็นกองทัพมีความเข้มแข็ง หลังจากการรัฐประหาร 1960-1964 แต่ท้ายที่สุดเมื่อทหารนำเสนอโครงการทางเศรษฐกิจ เสนานิยมในอเมริกาใต้จบลงด้วยหนี้สินขนาดใหญ่ คือจุดสุดท้ายที่บอกว่ากองทัพต้องออกจากการเมือง การพากองทัพเข้าไปมีบทบาททางการเมืองอาจเป็นสิ่งที่ทำลายกองทัพ

Q : บทเรียนนี้สะท้อนอะไร

คสช.ดูเหมือนเข้มแข็ง ทั้งหมดไม่ใช่กระแสทหารอย่างเดียว แต่เป็นกระแสเสนานิยมและกระแสอนุรักษนิยม แล้วกระแสเสนานิยมชุดนี้อยู่ด้วยปีกอนุรักษนิยมในสังคมไทย แต่ปีกอนุรักษนิยมก็อยู่บนความเปราะบางของอำนาจ กระแสอนุรักษนิยมไทยกลัวการเลือกตั้ง ขณะที่กระแสขวาในยุโรปหรืออเมริกาไม่กลัวการเลือกตั้ง ในบริบทอย่างนี้ ปีกอนุรักษนิยมไทยจะปรับตัวอย่างไร เพราะการเมืองไทยปฏิเสธกระแสในเวทีโลกไม่ได้