พลังประชารัฐ สับเปลี่ยนกำลัง เคลียร์ 6 มุ้งใหม่ “สุริยะ” คุมเชิงต่อติดทุกก๊ก

ความพยายามของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่ต้องการ ครอบมุ้งใหญ่-คุมหัวใจพรรค ผ่านการปรับ-รื้อโครงสร้างคณะกรรมการบริหารพรรค ด้วยการบังคับให้กรรมการบริหารพรรคชุดเก่าลาออกยกชุด แต่ไม่เป็นผล ทำให้ “เกมยึดพรรค” ในยกแรกแพ้ฟาล์ว

1 วันก่อนประชุมกก.บห.พรรค (21 ธันวาคม 2562) “สมคิด จาตุศรีทักษ์” หัวหน้าก๊วนนินจาดำ เรียกนายอุตตม-สนธิรัตน์ หัวหน้าและเลขาธิการพรรค และ “วิเชียร ชวลิต” นายทะเบียนพรรค หารือในทำเนียบรัฐบาลนานกว่า 2 ชั่วโมง ก่อนงัดข้อบังคับพรรคข้อที่ 12 – วาระการดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคต้องครบ 4 ปี เป็น “ท่าไม้ตาย”

หมาก “เกมยึดพรรค” ของพล.อ.ประวิตร ถูกทีมสมคิด “รู้ทัน” ตั้งแต่ เดิน “หมากตัวแรก” ก่อนที่นายสุริยะ จึงรุงเรืองกิจ จะหอบร่าง-โรคกระดูกทับเส้นประสาท ร่วมวงประชุมคัดสรรกรรมการบริหารพรรค ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ คอนเวนชั่น กทม. “ปิดจ็อบ” ก่อนที่ “บิ๊กป้อม” จะปิดห้อง “มัดมือ” แกนนำ 6 ก๊ก 15 นาทีเสียอีก

วรรคทองตีกัน-ขั้นสุดของนายสุริยะ ระบุก่อนลงมติ “วันนี้ต้องมาร่วมประชุม เพราะถือว่ามีความสำคัญมาก ต้องคัดเลือกกรรมการบริหารพรรคเพิ่มเติม ต้องมีส่วนผสมทั้งนักการเมืองและนักวิชาการเข้าไปอยู่ด้วย จะไม่มีการเปลี่ยนตัวหัวหน้าและเลขาธิการ พล.อ.ประวิตร บอกเป็นประกาศิตมาแล้วให้นายสนธิรัตน์ เป็นเลขาธิการพรรคต่อไป นายอนุชาก็เห็นด้วย”

สำหรับตัวแทนกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ “ชุดใหม่” จำนวน 34 คน แบ่งเป็นก็ก-ก๊วน ดุลอำนาจ 6 มุ้งใหญ่ ดังนี้

1. “กลุ่มบิ๊กป้อม” ได้แก่ 1.นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ หรือ “อาจารย์แหม่ม” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ดูจะ “ขึ้นหม้อ” ที่สุด ภายหลังย้ายเข้า “สังกัดวงษ์สุวรรณ” เดินตามติด พล.อ.ประวิตร เข้านอก-ออกในทุกวงประชุม เป็นทีม “wallpaper” ทุกอีเวนต์

2.นายไพบูลย์ นิติตะวัน ลงทุน “ยุบพรรคตัวเอง” มาขอ “พึ่งใบบุญ” พล.อ.ประวิตรจน “ได้ดิบได้ดี” มีตำแหน่งแห่งหน ขึ้นชั้นรองหัวหน้าพรรค-ควบเก้าอี้คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 โควต้าคณะรัฐมนตรี

3.ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ผู้ที่เปรียบตัวเองเป็น “เส้นเลือดใหญ่” ของรัฐบาล เคยรับมอบหลายบทบาท เป็น “มือกาว” ประสานสิบทิศ แจกกล้วย-จ่ายค่าโรงแรมให้กับพรรคเล็กที่ออกมา “ตีรวน” เป็นประธานอนุกรรมการการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำ ที่พล.อ.ประวิตรแต่งตั้ง

4.นายวิรัช รัตนเศรษฐ ที่เบียด “สุชาติ ตันเจริญ” นั่งเก้าอี้ประธานวิปรัฐบาล และเป็น “หน่วยขึ้นตรง” พล.อ.ประวิตร 5. นายสุชาติ ชมกลิ่น “เสี่ยเฮ้ง” ประธาน ส.ส.- ลูกหม้อบ้านใหญ่คุณปลื้ม

6.นายนิโรธ สุนทรเลขา 7.นายสัมพันธ์ แทนทรัพย์ 8.นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์

2. “กลุ่มสี่กุมาร”

โดยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี มีตำแหน่งอย่างไม่เป็นทางการ คือ “ที่ปรึกษาทางใจ” “ทัพหน้า” – นั่งร้านตั้งแรกเริ่มของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ภาคต่อ ตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง ได้แก่
1.นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค
2.นายสนธิรัตน์ สนธิจิรธิวงศ์ เลขาธิการพรรค
3.นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รองหัวหน้าพรรค
4.นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการบริหารพรรค
5.นายวิเชียร ชวลิต นายทะเบียนพรรค
6.นายพรชัย ตระกูลวรานนท์ เหรัญญิกพรรค
7.นายชวน ชูจันทร์ ผู้ก่อตั้งพรรค
8.นายสันติ กีระนันทน์
9.นายไผ่ ลิกค์ ตัวแทนกลุ่มกำแพงเพชรของ “วราเทพ รัตนากร” ที่ทำงานกับนายสมคิด เป็นมือ-ไม้ในกรรมาธิการงบประมาณ 2563

3. “กลุ่มสามมิตร”

และเป็น “พันธมิตรหลักกลุ่มสี่กุมาร” อาทิ 1.นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ 2.นายสมศักดิ์ เทพสุทิน 3.นายอนุชา นาคาศัย (ซึ่งโยกไปอยู่สาย พล.อ.ประวิตร เฉพาะกิจในสงครามตัวแทนชิงเก้าอี้เลขาธิการพรรค) 4.นายพงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ 5.นายสัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ 6.นายสุรชาติ ศรีบุษกร

กรณีของ “เสี่ยแฮ๊งค์”– อนุชา ที่ถูก “ชูชึ้นมาเชือด” ในตำแหน่ง “พ่อบ้านคนใหม่” เพื่อให้เกิด “แรงกระแทก” รื้อโครงสร้างกรรมการบริหารพรรคทั้งกระบิได้มากที่สุด เพราะนายอนุชา เคยออกฤทธิ์ทวงเก้าอี้รัฐมนตรีใน “ครม.ประยทธ์ 2/1” สะเทือนเก้าอี้เลขาธิการพรรคมาแล้ว

ภาพของนายอนุชาที่เข้าหา-เข้าถึงบิ๊กป้อม จนได้เป็นรองประธานยุทธศาสตร์พรรค-รองหัวหน้าพรรค “ปลอบใจ” แต่จะถึงขั้นย้ายก๊ก-ย้ายเหล่า จากมุ้งเล็กในมุ้งใหญ่-บิ๊กป้อมขายขาดเลยหรือไม่ อำนาจ-ตำแหน่งที่รออยู่ข้างหน้าเท่านั้นเป็นคำตอบ

4. “กลุ่ม กทม.-กปปส.” ที่สถาปนาเป็น “กลุ่มประชาธิปัตย์พลัส”

ถึงแม้จะเป็นกลุ่มก้อนเล็กกว่าทีมสมคิด+สามมิตร และมุ้งบิ๊กป้อม แต่เป็นกลุ่มที่สามารถ “พลิกเกม” ได้มากที่สุด เพราะล้ำลึก-เดินหมากหลายชั้นและมีคอนเน็กชั่นพิเศษทั้งกลุ่มบิ๊กป้อม-กลุ่มสมคิด แกนนำกลุ่มนี้ขึ้น-ลงตึกไทยคู่ฟ้า ได้บ่อยที่สุด กว่า 15 คน

1. นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 3 เป็นกรรมการบริหาร ประธานยุทธศาสตร์ กทม. และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส)
2. นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 เป็นรองหัวหน้าพรรค และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
3. นายสกลธี ภัททิยกุล กรรมการบริหารพรรค รองผู้ว่าราชการ กทม.
4. นายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ อดีต ส.ส.ชลบุรี กรรมการบริหาร
5. นายชาญวิทย์ วิภูศิริ ส.ส.กทม.เขต 15 กรรมการบริหารพรรค
6. นายอัฏฐพล โพธิพิพิธ ส.ส.กาญจบุรี เขต 5
7. นายธรรมวิชญ์ โพธิพิพิธ ส.ส.กาญจนบุรี เขต 4
8. นางกัลยา รุ่งวิจิตรชัย ส.ส.สระบุรี เขต 1
9. นายทศพล เพ็งส้ม มือกฎหมาย-ทำคดีหุ้นสื่อ
10. พล.ต.ท. พิทักษ์ จารุสมบัติ อดีต ส.ส. ฉะเชิงเทรา
11. นายบุญเลิศ ไพรินทร์ อดีต ส.ส. ฉะเชิงเทรา
12. นายวิชัย ล้ำสุทธิ อดีต ส.ส. ระยอง
13. นายธวัชชัย อนามพงษ์ อดีต ส.ส. จันทบุรี
14. นายแสนคม อนามพงษ์ อดีต ส.ส.จันทบุรี
15. นายพีระพันธ์ สารีรัฐวิภาค ว่าที่ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560

5. “กลุ่มบ้านใหญ่ชลบุรี” ของ “สนธยา คุณปลื้ม” ที่มีคอนเน็กชั่นพิเศษกับผู้บริหารเหล่าทัพ ได้แก่ นายอิทธิพล คุณปลื้ม

6. “ชนกลุ่มน้อย” แยกเป็นอิสระ สั่งสมกำลังเพื่อสร้าง Power ต่อรอง อาทิ นางประภาพร อัศวเหม แห่งบ้านอัศวเหม จากกลุ่มสมุทรปราการก้าวหน้า นายนิพันธ์ ศิริธร ส.ส.ตรัง จากภาคใต้ตอนบน นายสัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ ตัวแทนจากกลุ่ม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นายสันติ พร้อมพัฒน์ จากกลุ่มเพชรบูรณ์ นายสุพล ฟองงาม กลุ่มอุบลราชธานี

การสับเปลี่ยนกำลังในกรรมการบริหารพรรค นับเป็นระฆังยกแรกของการประลองกำลังใน 6 ก๊กหลัก ก่อนรับมือการอภิปรายไม่ไว้วางใจ และตามด้วยการปรับคณะรัฐมนตรี ที่มีไทม์ไลน์ในช่วงเมษายนปีหน้า