10 มกรา สู่ ประชาธิปัตย์พลัส รวมดาวกบฏสีฟ้า ซบพรรคคู่แข่ง

73 ปีแห่งการดำรง-คงอยู่ของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ผ่านจุดสูงสุดเสียดฟ้า-ตกต่ำสุดขีด ในวังวนศึกนอก-ศึกใน บนวัฏจักร โต-แตก-ดับ

การเลือกตั้ง 24 มีนาคม 62 ปชป. แพ้ย่อยยับเป็น “พรรคต่ำร้อย” เข้าร่วมรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์-พลังประชารัฐ (พปชร.) แต่เบอร์ใหญ่หนีจากพรรคกว่า 15 ชีวิต สถาปนา “ประชาธิปัตย์พลัส” เป็นก๊กใหญ่ใน พปชร.

15 ประชาธิปัตย์พลัส ประกอบด้วย นายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ อดีต ส.ส.ชลบุรี กรรมการบริหาร นายชาญวิทย์ วิภูศิริ ส.ส.กทม. กรรมการบริหาร นายอัฏฐพล โพธิพิพิธ ส.ส.กาญจนบุรี นายธรรมวิชญ์ โพธิพิพิธ ส.ส.กาญจนบุรี เขต 4 นายทศพล เพ็งส้ม มือทำคดีหุ้นสื่อ

นางกัลยา รุ่งวิจิตรชัย ส.ส.สระบุรี พล.ต.ท.พิทักษ์ จารุสมบัติ อดีต ส.ส.ฉะเชิงเทรา นายบุญเลิศ ไพรินทร์ อดีต ส.ส.ฉะเชิงเทรา นายวิชัย ล้ำสุทธิ อดีต ส.ส.ระยอง นายธวัชชัย อนามพงษ์ อดีต ส.ส.จันทบุรี และนายแสนคม อนามพงษ์ อดีต ส.ส.จันทบุรี เป็น “สายแข็ง” ที่มี “พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์-ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ-สกลธี ภัททิยกุล” เป็นแกนนำ และ “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” อดีตคู่ชิงหัวหน้า ปชป. คนที่ 8 ขึ้นแท่นเป็นที่ปรึกษานายกฯ เป็น “เลือดไหลออก” หลังจาก “หมอวรงค์” นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ผู้แพ้ศึกชิงหัวหน้าพรรคกับ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ที่ลาออกไปอยู่กับ “พรรคลุงกำนัน” สุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย ที่เป็น “เบอร์ใหญ่” เป็นนั่งร้านให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็น “ปรากฏการณ์ใหม่” ที่พรรคแกนนำรัฐบาล ดึง-ดูด พรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเองให้ เป็นปรากฏการณ์ที่ “พรรคเก่าแก่” ไม่มีภูมิคุ้มกันมาก่อน

การ “ถ่ายเลือดใหม่” บันทึกเป็นประวัติศาสตร์ กรณี “กลุ่ม 10 มกรา” และ “กลุ่มวาดะห์” โดยมี “เฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์” อดีตเลขาธิการพรรค คนที่ 7 เป็นหัวหน้ากลุ่ม และ “วีระ มุสิกพงศ์” เลขาธิการพรรคในขณะนั้น เป็นแกนนำเป็นการปราชัยชิงเก้าอี้หัวหน้า-เลขาธิการพรรค ระหว่างกลุ่มของนายเฉลิมพันธ์-หัวหน้ากลุ่ม 10 มกรา ให้กับกลุ่มของนายชวน หลีกภัย ที่เสนอชื่อ “พิชัย รัตตกุล” เป็นหัวหน้าพรรค โดยมี “เสธ.หนั่น” พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ เป็นเลขาธิการพรรค “รอยร้าว” ในครั้งนั้น ส่งผลสะเทือนถึงรัฐบาล พล.อ.เปรม เมื่อ “กลุ่ม 10 มกรา” ยกมือโหวตสวนไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์และสิทธิบัตร ทำให้ พล.อ.เปรม ตัดสินใจยุบสภา

กลุ่ม 10 มกรา-กลุ่มวาดะห์ ยกคณะกว่า 40 ชีวิต ลาออกและก่อตั้ง “พรรคประชาชน” กวาด ส.ส. 19 เก้าอี้ ขณะที่
“กลุ่มวาดะห์” นำโดย “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” และ “เด่น โต๊ะมีนา” ลาออกไปตั้งพรรคความหวังใหม่ “เบอร์ใหญ่” กลุ่ม 10 มกรา อาทิ นายจาตุรนต์ ฉายแสง ส.ส.ฉะเชิงเทรา นายถวิล ไพรสณฑ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช นายธวัชชัย อนามพงษ์ ส.ส.จันทบุรี นายพีรพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร นายสุชาติ ตันเจริญ ส.ส.ฉะเชิงเทรา พล.อ.หาญ ลีนานนท์ ส.ส.กรุงเทพมหานคร

นอกจากนี้ยังมี “เบอร์ใหญ่-เรียงเบอร์” ทยอยลาออกอย่างต่อเนื่อง “ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง” อดีต ส.ส. ปชป. ปี 2526 เมื่อความอาวุโสภายในพรรคเป็นขวากหนามเส้นทางการเมือง จึงลาออกไปก่อตั้งพรรคมวลชน “สมัคร สุนทรเวช” อดีต ส.ส.กทม. ปชป. 2 สมัย ลาออกไปตั้ง “พรรคประชากรไทย” นายอุทัย พิมพ์ใจชน ส.ส.ชลบุรี ค่าย ปชป. “อายุน้อยที่สุด” ลาออกไปตั้ง “พรรคก้าวหน้า” หลังอกหักจากหัวหน้าพรรคให้กับกลุ่มของนายชวน ที่สนับสนุน พ.อ. (พิเศษ) ถนัด คอมันตร์ นายประจวบ ไชยสาส์น อดีตรองหัวหน้า ปชป. ลาออกไปเข้าค่ายชาติไทย

ภายหลัง “มารุต บุนนาค” แพ้เลือกตั้ง หัวหน้าพรรคต่อนายชวน “สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล” อดีต ส.ส. เชียงใหม่ “สลับขั้ว” 360 องศา มาซบพรรคทักษิณ-ไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน-เพื่อไทย “นพดล ปัทมะ” อดีต ส.ส.กทม.ปชป. เป็น รมว.ต่างประเทศ ในรัฐบาลพรรคพลังประชาชน

แม้การแข่งขันชิงเก้าอี้หัวหน้า-เลขาธิการพรรคเก่าแก่ จะ “ดุเดือด-เลือดสาด” แต่ไม่ทำให้เกิด “บาดลึก” เสมอไป การชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรคระหว่าง “กลุ่มผลัดใบ” ของ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” และ “สุเทพ-ผู้จัดการรัฐบาล” ที่ต้องแพ้ครั้งแรก ให้กับ “กลุ่มทศวรรษใหม่” ที่มี “บัญญัติ บรรทัดฐาน” และ “ประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์” เป็นการทอนกำลัง ก่อนเป็น “ปึกแผ่น”