ประยุทธ์ เปิดกล่องครม.นัดแรก 2563 เสนอตัวไทยเป็นเจ้าภาพบอลโลก 2577

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) “นัดแรก” ในปี 2563 ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 2 เปิดศักราชด้วยการเปิดกล่องของขวัญปีใหม่ 2563 ทั้งการอนุมัติงบประมาณ 1.9 พันล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อนุมัติเงิน 81 ล้านบาท เพื่อขยายระยะเวลาโครงการ “1 อำเภอ 1 ทุน” และเก็บตกของขวัญปีใหม่ของกระทรวงอว. เช่น ฝังรากฟันเทียม-เท้าเทียม-ขาเทียม ฟรี ก่อนจะปิดท้ายด้วยการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกในปี 2577

@ ทุ่ม 1.9 พันล้าน ผุดโรงไฟฟ้าชุมชนชายแดนใต้

การประชุม ครม.มีมติอนุมัติงบประมาณเพื่อขับเคลื่อนโครงการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าแบบครบวงจรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน วงเงิน 19,764 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 1.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ จำนวน 359 ล้านบาท/ปี เพื่อใช้ปรับปรุงพื้นที่ สนับสนุนพันธุ์พืช สนับสนุนเครื่องจักรที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำวัสดุเชื้อเพลิง พัฒนางานวิจัย 2.เงินจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน จำนวน 1,437.52 ล้านบาท/ปี และ 3.เงินจากภาคเอกชนเพื่อร่วมลงทุนการจัดตั้งโรงงานไฟฟ้าประชารัฐ จำนวน 2,156.28 ล้านบาท/ปี ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี (ภายหลังจากที่ ครม.มีมติให้ดำเนินการ)

กำหนดสัดส่วนการลงทุน โดยมีผู้ถือหุ้นร่วมกัน 3 ภาคส่วน ได้แก่ 1) ประชาชน/กลุ่มอาชีพ/วิสาหกิจชุมชน/สหกรณ์ของประชาชน ถือหุ้นอัตราไม่เกินร้อยละ 40 (ให้กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานเป็นผู้ถือหุ้นแทนประชาชนไปก่อนจนกว่าประชาชนจะมีความเข้มแข็ง) 2) ภาคเอกชนในพื้นที่ที่มีศักยภาพและทำงานร่วมกับประชาชนในพื้นที่ถือหุ้นในอัตราไม่เกินร้อยละ 30 และ 3) กฟผ./กฟภ./บริษัทเอกชนนอกพื้นที่เป็นผู้ถือหุ้นในอัตราไม่เกินร้อยละ 30

ให้มีคณะกรรมการอำนวยการบริหารโครงการพลังงานไฟฟ้าแบบครบวงจรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน และจัดตั้ง “กองทุนพลังงานไฟฟ้าเพื่อประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้” โดยนำรายได้จากผลกำไรสุทธิไม่เกินร้อยละ 10 ของโรงไฟฟ้า มาเพื่อสนับสนุนทุนการศึกษา ทุนสร้างอาชีพให้กับประชาชน

ทั้งนี้ ที่ประชุมที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาให้ความเห็นชอบให้มีการจัดทำแนวทางการบริหารโครงการฯ และนำเสนอรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ประธานกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ในขณะนั้น) พิจารณาแล้วเห็นชอบให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) นำเสนอ ครม.พิจารณาโครงการดังกล่าวตามขั้นตอนต่อไป

อนุมัติงบประมาณเพื่อขยายกรอบระยะเวลาการดำเนินโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน รุ่นที่ 4 ออกไปอีก 2 ปี จาก ปีงบประมาณ พ.ศ.2556 – 2563 เป็น ปีงบประมาณ พ.ศ.2564-2565 และขอผูกพันงบประมาณสำหรับดำเนินโครงการ จำนวน 81.85 ล้านบาท

@ ฝังรากฟันเทียม-เท้าเทียม-ขาเทียม ฟรี

เห็นชอบดำเนินโครงการ/กิจกรรมของกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ 2563 มอบให้แก่ประชาชน ได้แก่ 1.ฝังรากฟันเทียมราคาพิเศษ บริการฝังรากฟันเทียมราคาพิเศษ จำนวน 4,000 ราก จากปกติราคา 50,000-100,000 บาทต่อราก ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.tcels.or.th ได้ตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม – 28 กุมภาพันธ์ 2563 สถานที่ 36 โรงพยาบาลทั่วประเทศ

2.คูปองรักษาแผลเรื้อรังสำหรับผู้ป่วยเบาหวานด้วยนวัตกรรมไทย จำนวน 10,000 คูปอง ผ่าน 14 โรงพยาบาล ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.tcels.or.th ได้ตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม – 28 กุมภาพันธ์ 2563

3.นวัตกรรมเท้าเทียมไดนามิกส์เอสเพส S-Pace และ 4.นวัตกรรมเบ้าอ่อนขาเทียมแบบถุงซิลิโคน สำหรับผู้พิการที่ถูกตัดขาระดับใต้เข่า ระยะเวลาทั้ง 2 โครงการ ตั้งแต่วันนี้ – พฤษภาคม 2563 สถานที่ รพ.พระนั่งเกล้า สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ โรงเรียนกายอุปกรณ์สิริธร คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทลับมหิดล รพ.หัวหิน รพ.อุดรธานี รพ.มหาราชนครศรีธรรมราช รพ.พระมงกุฎเกล้า รพ.ทหารผ่านศึก รพ.เวชชารักษ์ ลำปาง

@ ปลดล็อก Pick up counter ดิวตี้ฟรีดอนเมือง-สุวรรณภูมิ

มติเห็นชอบแนวทางแก้ไขปัญหากรณีสมาคมร้านค้าปลอดอากรไทยร้องเรียนให้มีจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากรสาธารณะของบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เพื่อเป็นการแก้ปัญหาดังกล่าว คณะกรรมการทอท. ได้เสนอแนวทางแก้ปัญหา ซึ่ง ครม.ได้พิจารณาอนุมัติ ดังนี้

ภายหลังการสิ้นสุดสัญญาการเช่าพื้นที่ (สนามบินสุวรรณภูมิ กันยายน 2563 และสนามบินดอนเมือง กันยายน 2565) ให้มีการทำสัญญา 2 รูปแบบ ได้แก่ ทอท.ให้บริการเคาท์เตอร์ส่งมอบสินค้าปลอดอากรแบบสาธารณะด้วยตนเอง และ ทอท.ให้สิทธิเอกชนให้บริการเคาท์เตอร์ส่งมอบสินค้าปลอดอากรแบบสาธารณะ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการจำหน่ายสินค้าปลอดอากรในเมืองทุกรายสามารถส่งมอบสินค้าปลอดอากร ณ สนามบินในความรับผิดชอบของ ทอท.

นอกจากนี้ ในการทำสัญญาครั้งต่อไป ทอท.จะแยกสัญญาใหญ่ออกเป็น 3 สัญญา ได้แก่ 1.กิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร 2.กิจกรรมเชิงพาณิชย์ (ร้านค้าปลีก อาหารและเครื่องดื่ม บริการต่าง ๆ ธนาคาร) และ 3.กิจการให้บริการเคาท์เตอร์ส่งมอบสินค้าปลอดอากร โดยเน้นเปิดกว้างให้มีการแข่งขันอย่างเสรี

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากสมาคมร้านค้าปลอดอากรไทยได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 60 ให้วินิจฉัยเรื่องการขอเช่าพื้นที่สนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิ ของบริษัท ล็อตเต้ ดิวตี้ ฟรี (ไทยแลนด์) เพื่อใช้เป็นจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากรสาธารณะ (Pick up counter) แต่ทอท.แจ้งว่าไม่สามารถจัดสรรพื้นที่ได้ เนื่องจากบริษัท คิงพาวเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด และบริษัท คิงพาวเวอร์ ดิวตีฟรี จำกัด ได้รับสัมปทานโดยวิธีการประมูลแล้ว

ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงเสนอแนะให้ทอท.ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่พิจารณาจัดหาและกำหนดจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะให้แก่ผู้ประกอบการร้านค้าปลอดอากรขาออกในเมืองรายอื่น เพื่อใช้ในการส่งมอบสินค้าเรื่องจากหากมีการกำหนดจุดส่งมอบสินค้าเพื่อเป็นบริการสาธารณะจะมีการแข่งขันอย่างเสรี เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคและดีต่อเศรษฐกิจในภาพรวม

@ เพิ่มมูลค่าค้าไทย-บังกลาเทศ 2 พันล้านเหรียญยูเอส ปี 64

เห็นชอบท่าทีประเทศไทยสำหรับการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (JTC) ไทย-บังกลาเทศ ครั้งที่ 5 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 8 – 9 มกราคม 2563 ณ กรุงเทพฯ ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ

สาระสำคัญที่ฝ่ายไทยจะผลักดันในการประชุมครั้งนี้ คือ 1.การค้าและการลงทุน หารือแนวทางการส่งเสริมการค้าและการลงทุน รวมถึงการขจัดอุปสรรคทางการค้าของทั้งสองฝ่าย เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันเป็น 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2564

2.ความเป็นไปได้ในการจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-บังกลาเทศ โดยให้ทั้งสองฝ่ายแลกเปลี่ยนผลการศึกษาการจัดทำ FTA ระหว่างกัน

3.การให้สิทธิพิเศษในการยกเลิกภาษีนำเข้าและโควต้า (DFQF) ซึ่งไทยอยู่ระหว่างดำเนินการต่ออายุโครงการ DFQF ที่จะหมดลงในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 โดยจะมีการพิจารณาทบทวนรายการสินค้าและกฎถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้โครงการดังกล่าว ซึ่งไทยจะนำสินค้าที่บังกลาเทศร้องขอเพิ่มเติมมาพิจารณาด้วย

4.ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ไทยพร้อมให้ความร่วมมือกับบังกลาเทศในด้านต่างๆ ได้แก่ ด้านอุตสาหกรรม พิจารณาร่างบันทึกความเข้าใจ (MOU) ด้านการรับรองระบบงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยและบังกลาเทศ โดยไทยขอทราบขอบเขตความร่วมมือภายใต้ MOU ดังกล่าวจากบังกลาเทศ

ด้านเกษตร ไทยพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดประชุมคณะทำงานร่วมด้านการเกษตร ครั้งที่ 1 ณ ประเทศไทย เพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือและความช่วยเหลือด้านเกษตรระหว่างกัน ซึ่งคาดว่าจะสามารถจัดขึ้นภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2563

ด้านการประมงและปศุสัตว์ พิจารณาร่างบันทึกความเข้าใจ (MOU) ความร่วมมือด้านการประมงและปศุสัตว์ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยและบังกลาเทศ โดยพร้อมให้การสนับสนุนด้านวิชาการและเทคโนโลยีการประมงกับบังกลาเทศ โดยเฉพาะด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

ด้านการบริการสุขภาพและสาธารณสุข ขอให้บังกลาเทศส่งรายละเอียดความร่วมมือที่บังกลาเทศสนใจให้กับกระทรวงสาธารณสุขเพื่อพิจารณาต่อไป

การเชื่อมโยงทางคมนาคม สนับสนุนความร่วมมือด้านการเชื่อมโยงทางคมนาคมทั้งทางบกและทางทะเล ซึ่งทั้งสองฝ่ายอยู่ระหว่างการจัดทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) ด้านความร่วมมือระหว่างท่าเรือระนองของไทยและท่าเรือจิตตะกองของบังกลาเทศ

ประโยชน์ที่ได้จากการประชุมในครั้งนี้ 1) จะช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับบังกลาเทศ เพื่อบรรลุเป้าหมายการค้าระหว่างกันที่ 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2564  2) ขยายโอกาสในการเพิ่มมูลค่าการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับบังกลาเทศอย่างเป็นรูปธรรม  และ 3) ขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนไปยังประเทศสมาชิกองค์การความร่วมมืออิสลาม (Organization of Islamic Cooperation : OIC) ซึ่งบังกลาเทศมีศักยภาพในการเป็นประตูทางการค้ากับประเทศสมาชิก OIC กว่า 57 ประเทศ

@ ฟื้น FTA ไทย-อียู

รับทราบรายงานผลการเจรจาการค้ากับประเทศตุรกี เยอรมนี และสหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 ของกระทรวงพาณิชย์ ดังนี้ ประเทศตุรกี มีการลงนามกับผู้ประกอบการไทยกับบริษัทผู้นำเข้าตุรกี จำนวน 10 ฉบับ มูลค่า 3,516 ล้านบาท เช่น ยางพารา จำนวน 6 หมื่นตัน มันสำปะหลังและมันสำปะหลังอัดเม็ด 1.5 แสนตัน และข้าว

นอกจากนี้ยังมีการจับมือกับนักธุรกิจไทยและตุรกี และนำไปสู่การลงนามอีก 2 ฉบับ เพื่อสั่งซื้อหมอนยางพารา จำนวน 17 ล้านใบ รวมถึงวัตถุดิบผลิตหมอนยางพารา 1.2 หมื่นล้านบาท โดยจะมีการส่งมอบหมอนยางพาราลอตแรก และลอตที่สองกลางเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 2563

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตีว่าการกระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายการเจรจาการค้าเสรี (FTA) ไทย-ตุรกี ให้เสร็จภายในปี 2563 ซึ่งจะทำให้ลดอุปสรรคเรื่องกำแพงภาษีสินค้าเกษตร ซึ่งในปัจจุบัน มันสำปะหลัง ภาษี 9 เปอร์เซ็นต์ ข้าว 45 เปอร์เซ็นต์

เยอรมนี เป็นสักขีพยานลงนามเอ็มโอยูระหว่างผู้ประกอบการไทยกับผู้นำเข้าเยอรมนี จำนวน 2 ฉบับ มูล 238 ล้านบาท ได้แก่ ข้าว ปริมาณ 5 พันตัน และเครื่องดื่ม ทั้งนี้ ตั้งเป้าเจรจา FTA ไทย-อียู ให้มีความคืบหน้าให้เร็วที่สุด

สหรัฐอเมริกา เน้นการเจรจาธุรกิจด้านดิจิทัลคอนเทนต์  อุตสาหกรรมภาพยนตร์ เช่น Netflix ในงาน “อเมริกันฟิล์ม มาร์เก็ต 2019”เพื่อให้นำภาพยนตร์ไทยเข้าสู่การให้บริการด้านอินเทอร์เน็ตเพิ่มเติมจากช่องทางธุรกิจในรูปแบบเดิม ทั้งนี้ มีผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมงาน 8 บริษัท คิดเป็นมูลค่า 2 พันล้านบาท

@ เสนอตัวเป็นเจ้าภาพบอลโลก 2577

เห็นชอบแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ดังนี้ 1. แต่งตั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์) เป็นกรรมการโดยตำแหน่งในคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ และ 2.แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน คนร. จำนวน 5 คน ดังนี้ 1 นายกานต์ ตระกูลฮุน 2.นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ 3.นายปรีดี ดาวฉาย 4.นายประสัณห์ เชื้อพานิช และ 5.นายเทวินทร์ วงศ์วานิช

ปิดท้ายด้วยการรับทราบประเทศไทยเสนอตัวเป็นเจ้าภาพการจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกในปี 2577