กอบศักดิ์ : ฝ่าเศรษฐกิจขาลง “ทรัมป์…จะใช้สงคราม-การค้าเป็นเครื่องมือ”

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

สัมภาษณ์พิเศษ

โดย ปิยะ สารสุวรรณ

ปี 2563 จุดตัดของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หนีไม่พ้นปัญหาเศรษฐกิจ ท่ามกลางปัจจัยทางการเมืองที่ยังคงรุมเร้าทั้งในสภา-นอกสภาและในศาล

“ประชาชาติธุรกิจ” สนทนาเศรษฐกิจไทย-เศรษฐกิจโลก และการทำงาน”ไม่เข้าขา” ของทีมเศรษฐกิจและปัจจัยการเมือง กับ “กอบศักดิ์ ภูตระกูล” รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง กูรูเศรษฐศาสตร์ ประจำการตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล

วัฏจักรขาลงเศรษฐกิจโลก 63

“กอบศักดิ์” มองเศรษฐกิจปี 63 ว่า ยังอยู่ในช่วง “วัฏจักรเศรษฐกิจโลกขาลง” ที่ต่อเนื่องมา 2-3 ปี และยังคงเป็นอยู่อีกระยะเวลาหนึ่ง ภาพรวมเศรษฐกิจอ่อนตัวต่อเนื่องอีก 1 ปีเป็นอย่างน้อย หลังจากเศรษฐกิจไทยผ่านช่วงเศรษฐกิจโลกขาลงมาประมาณครึ่งทาง ส่งผลกระทบด้านลบต่อการส่งออก-ราคาสินค้าเกษตร

“สงครามการค้าโลกไม่จบลงง่าย เพียงพักรบชั่วคราว จึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นต่อเนื่อง อย่าเพิ่งตายใจ ปี 63 เป็นปีของการเลือกตั้งอเมริกา ถ้าโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ คับขัน เขาพร้อมใช้สงครามการค้าเป็นเครื่องมือในการสร้างคะแนนนิยม ต้องทำใจ เพียงแค่ทวีต 1 ครั้ง ดังนั้น ความผันผวนจึงยังคงอยู่”

นอกจากนี้เรื่อง Disruption จะแรงขึ้นเรื่อย ๆ อนาคตจะมีผลกระทบแบบอัตราเร่ง หลายโรงงานสามารถผลิตโดยไม่ใช้แรงงานคน แขนกลทำงาน 24 ชั่วโมง ปี 63 ผลกระทบจะเห็นเป็นรูปธรรมขึ้น เทคโนโลยีจะเปลี่ยนโลก

ปีแห่งการเก็บกวาด

“กอบศักดิ์” มองโลกในแง่ดี เห็นโอกาส-จังหวะเศรษฐกิจที่อยู่ในวัฏจักรขาลง เช่น การย้ายฐาน การประมูล 5 จี เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานใหม่ ดังนั้นในปี 63 จึงเป็นการหยิบฉวยโอกาส เมื่อเทรดวอร์สิ้นสุด คนย้ายฐานจะลดลง ต้องตักตวงให้ได้มากที่สุด “ฝูงปลากำลังมา ถ้าไม่จับตอนนี้จะไปจับตอนไหน”

“วิกฤตครั้งนี้มีสิ่งที่ดี ๆ หลายเรื่อง เป็นโอกาสจากสงครามการค้ามาเป็นประโยชน์ในการย้ายฐาน ยิ่งทะเลาะ เทรดวอร์ยิ่งดี ยิ่งจะ (ย้ายฐาน) มาหาเรา เพียงแต่ว่า เราต้องเปิดประตูบ้านให้กว้าง เรื่อง disruption เป็นโอกาสของคนรุ่นใหม่ในการทำ Digital access ขึ้นอยู่กับว่าจะหยิบมาได้มากน้อยแค่ไหน”

แม้เศรษฐกิจไทยจะอ่อนตัว แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่ทำอะไร ยิ่งช่วงขาลงต้องทำเยอะ ยิ่งต้องมองหาโอกาส นายกรัฐมนตรีสั่งตั้งคณะกรรมการดูแลนักลงทุน ซึ่งเดือนมกราคม ปี 63 จะประชุมขับเคลื่อนเพื่อรับนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาประเทศไทย

“ปี 63 ช่วงที่ขายของไม่ได้ก็ต้องเก็บกวาดบ้าน เพื่อสร้างโครงสร้างใหม่รองรับเศรษฐกิจที่จะกลับมาดีในปีถัดไป ปี 63 อาจจะชะลอตัวอยู่ แต่ปี 64 จะเริ่มดีขึ้น จะทำให้ขับเคลื่อนไปได้”

ปี 64 ผ่านพ้นการเลือกตั้งสหรัฐ ทีมงานใหม่-โครงการใหม่ ที่สำคัญธนาคารกลางทั่วโลกเห็นตรงกัน ทุกคนพร้อมใจกันอัดฉีดเงินและลดดอกเบี้ย ทำให้ผลกระทบบรรเทาไปได้มาก ถ้าธนาคารกลางเห็นภาพตรงกันแบบนี้ แสดงว่าเศรษฐกิจโลกขาลงได้อีกไม่นาน

“เรื่องบริหารวัฏจักรนักเศรษฐศาสตร์ทำได้ ขออย่าให้เป็นวิกฤต ครั้งนี้ขาลงปกติ ประเทศไทยได้ประโยชน์ มั่นใจว่าไปได้”

ภาคธุรกิจผ่านวัฏจักรขาขึ้น ขาลงตลอดเวลา เป็นเรื่องปกติ ช่วงขาลงขายของไม่ค่อยได้ ยอดไม่โต แต่ไม่ใช่ไม่ทำธุรกิจ หลายคนใช้ช่วงนี้ลดต้นทุน ปรับเปลี่ยนเครื่องจักร ลงทุนเรื่องคน เรื่องอนาคต แม้กระทั่งเรื่องส่งออกเป็นโอกาสที่จะปลดล็อกเรื่องพรมแดน เมื่อวันที่ก๊อกน้ำไหล ก็จะไหลได้สบาย

คิกออฟแก้จน (อีกครั้ง)

แต่ปัญหาความยากจน-เหลื่อมล้ำสูงที่ “ซุกอยู่ใต้พรม” จนไทยติดกับดักประเทศรายได้ปานกลาง แม้จะถูกพูดถึงทุกครั้งตั้งแต่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ 1-ยุค คสช. แต่คำมั่น “คนจนหมดประเทศ” ยังไม่ถูกทำตามสัญญา

“กอบศักดิ์” บอกว่า สภาพัฒน์จะขับเคลื่อนเรื่องนี้ ได้หารือกับธนาคารโลก เตรียมทีมงานและเตรียมตั้งตามคำสั่งคณะกรรมการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่มีพล.อ.ประยุทธ์เป็นประธาน ขณะนี้ติดอยู่ที่กฤษฎีกา ต้นปี 63 จะขับเคลื่อน และการลงไปกระทุ้งสภาพัฒน์ของ “สมคิด” เรื่องเศรษฐกิจฐานรากเข้มแข็ง

“ต่อจากนี้จะมีคนมาทำ ติดตาม นโยบายใส่ใจฐานรากมากขึ้น และทำให้เศรษฐกิจฐานรากเข้มแข็ง ต้องเปลี่ยนแนวคิด จากหวังว่าข้างบนจะไหลลงล่าง จากเมืองสู่ชนบท แต่ตอนนี้เห็นชัดเมืองวิ่งฉิว แต่ชนบทถอยหลังต่อเนื่อง”

ความคิดเดิมที่หวังจะพึ่งว่าหัวรถจักรในเมืองเป็นตัวฉุดลากชนบท ไม่จริงอีกต่อไป นโยบายที่ถูกต้องเริ่มต้นจากการสร้างฐานรากให้เข้มแข็ง เมื่อคนข้างล่างเข้มแข็ง ยืนขึ้นได้ ธนาคารชุมชน วิสาหกิจชุมชน ป่าชุมชน ร้านค้าชุมชน ชาวบ้านทำเองทั้งหมด และที่เข้มแข็งจริง ๆ เขาไม่ง้อรัฐบาล”

การขับเคลื่อนฐานราก คนฐานล่างเป็นผู้นำ รัฐบาลเป็นผู้ส่งเสริม ตอนนี้เริ่มเห็นโมเดลนี้ชัดขึ้นเรื่อย ๆ ปี 63 จะเป็นปีแห่งการขับเคลื่อนฐานราก สอดคล้องกับนโยบายลดความเหลื่อมล้ำที่รัฐบาลจะทำ โดยมีฐานล่างเป็นหัวหอกในการเดินหน้า ปี 63 จึงจะเป็นปีแห่งการปฏิรูปและการขับเคลื่อนฐานราก

ปี 63 ผ่านจุดต่ำสุด

ปี 63 ที่นักเศรษฐศาสตร์-นักการเมืองโลกไม่สวย นิยามเศรษฐกิจไทยปี 62 เป็นเพียง “เผาหลอก” ปี 63 จะเป็นการ “เผาจริง” จริงหรือไม่ “กอบศักดิ์” มองโลกสวยตามเคย

ปีหน้าจะเป็นช่วงของการชะลอตัวต่อเนื่อง ถ้าเราคิดว่าขาลงประมาณสามปี ปี 63 จะเป็นจุดสุดท้ายของขาลง หรือ เลยไปถึงต้นปี 64 เล็กน้อย ปี 63 จะเป็นอีกปีที่มีผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกสู่เศรษฐกิจไทย แต่พอผ่านปลายปี 63 สัญญาณต่าง ๆ จะเริ่มดีขึ้น คนจะมีกำลังใจและไปต่อได้

“พอคนเห็นว่ามรสุมเริ่มผ่านไป เริ่มเห็นฝนเพลา ๆ ลง แม้จะยังตก แต่มีกำลังใจนะ เพราะรู้ว่ามีที่จบ มีที่สิ้นสุด ตอนมรสุมมา เริ่มต้นหดหู่ มืดฟ้ามัวดินไม่รู้ว่าจะจบเมื่อไร แต่ช่วงที่ตกหนักที่สุด อาจจะเป็นช่วงที่มีกำลังใจก็ได้ เพราะกำลังจะแผ่วลงแล้ว”

“กอบศักดิ์” มีความหวังว่าหลังปี 63 เศรษฐกิจไทยจะเป็นปีที่ฟ้าส่องแสงทองผ่องอำไพ “หวังว่าอย่างนั้น” (หัวเราะ)

“ปี 63 จะเป็นปีที่วุ่นวายอีกปีหนึ่ง จริง ๆ นักธุรกิจเขาถามว่า ผ่านจุดต่ำสุดหรือยัง นั่นคือ หัวใจ ผมว่าปี 63 จะชัด แล้วเมื่อเห็นว่าจุดต่ำสุดมันผ่านไปแล้ว คราวนี้ทุกคนจะเริ่มเตรียมการ วิ่งไปข้างหน้า ไม่จำเป็นต้องรอให้ผ่านช่วงไซเคิล ขอให้ผ่านจุดต่ำสุดก็จะเริ่มมีกำลังใจขึ้นอีกเยอะ รออีกนิดหนึ่ง”

ศก.ขาเดียว-การเมืองบั่นทอน

ทว่าความ “โชคร้าย” ของเศรษฐกิจไทย “ซ้ำเติม” เศรษฐกิจโลกขาลง คือ ความพิกลพิการของรัฐธรรมนูญฉบับปี 60 ที่ทำให้มีรัฐบาลผสม 18 พรรค 3 แม่ทัพเศรษฐกิจ ที่มาจาก 3 พรรคการเมือง ชิงเหลี่ยม-เฉือนคม ทำให้การบัญชาการเศรษฐกิจไม่ราบรื่น ไม่เป็นอย่างใจคิด ขับเคลื่อนไม่ไปทั้งองคาพยพ

“หัวใจ คือ ฐานรากทำด้วยตัวเขาเอง หลายเรื่องที่สำเร็จไม่ได้พึ่งพารัฐบาล รัฐบาลเป็นเพียงส่งเสริม จึงไม่กังวลใจว่าจะมีฝั่ง มีฝ่าย แค่เราทำงานใกล้ชิดกับพี่น้องประชาชนและอนุเคราะห์สิ่งที่เขาอยากจะได้ จะทำให้ไปได้ ขึ้นอยู่กับว่าเราเข้าใจเขาหรือเปล่า”

“กอบศักดิ์” เปิดมุมมองในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ สิ่งที่ต้องจับตาในปี 63 คือ ปัจจัยทางการเมือง การยุบพรรคอนาคตใหม่ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมถึงการโหวตวาระสำคัญ เช่น พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี การยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลยังเป็นตัว “บั่นทอน” ความเชื่อมั่นของรัฐบาล

“รัฐบาลเตรียมโครงการต่าง ๆ เพื่อประคับประคองให้ผ่านจุดนี้ไปให้ได้ โชคดีที่มีก๊อกต่าง ๆ เตรียมไว้แล้ว โครงการลงทุนขนาดใหญ่ รถไฟ รถไฟฟ้า นโยบายสำคัญมีพร้อมเพียงพอในปี 63 เมื่อขับเคลื่อนจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงและมีภูมิต้านทาน สร้างสมดุลจากการส่งออกที่ลดลงและเศรษฐกิจโลกที่มีปัญหา”