“ระบอบประยุทธ์” ตั้งรับภัยการเมือง สารพัดม็อบ วิ่งไล่มาราธอน ปักธงล้มรัฐบาล

รายงานพิเศษ

เสร็จจากศึกงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้าน “รากเลือด” 4 วัน 3 คืน ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 253 งดออกเสียง 196 เสียง ไม่มีเสียงไม่เห็นด้วย ก่อนถึง “วันซักฟอก” การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจหลังตรุษจีน-กุมภาพันธ์ 63

แม้ “เกมในสภา” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี-รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะ “เอาตัวรอด”ได้ไม่ยากเย็น เพราะมีเสียง “งูเห่า” เป็นตัว “พลิกเกม” ทว่า “รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์” ยังต้องเผชิญกับวิกฤตรอบด้าน ทั้งการเมือง-เศรษฐกิจ และการบริหารอารมณ์คนเมืองจากปัญหาฝุ่นพิษ

วิ่งไล่ลุง-เดินเชียร์ลุงลามทุ่ง

ปรากฏการณ์ “วิ่งไล่ลุง” ที่สวนวชิรเบญจทัศ หรือ “สวนรถไฟ” และ “เดินเชียร์ลุง” ที่ “สวนลุมพินี” ของกลุ่มหนุน-ต้านรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ “ยกแรก” เมื่อวันที่ 12 มกราคม “วัดพลัง”เชิงปริมาณ ต่างเกทับ-บลัฟกันเรื่องจำนวนตัวเลขผู้เข้าร่วมกิจกรรมใกล้เคียงกัน 13,000 คน

นอกจากกิจกรรม “มินิมาราธอนการเมือง” ในพื้นที่กรุงเทพมหานครแล้ว “วิ่งไล่ลุง” ยังปฏิบัติการ “ดาวกระจาย” 30 จังหวัดทั่วประเทศ บ่มเพาะเชื้อต่อต้านรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์-เติมฟื้นขับไล่ “ระบอบลุงตู่” ที่อยู่ยงในการเมืองตั้งแต่ยุค คสช.

Advertisment

“ยกที่สอง” แกนนำผู้จัดกิจกรรม-นายธนวัฒน์ วงศ์ไชย นิสิตคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนัดออกสตาร์ต “วิ่งไล่ลุง” สนามที่ 2 อีกครั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ที่จังหวัดเชียงใหม่

ส่วนกลุ่ม “เดินเชียร์ลุง” แม้ยังไม่กำหนด วัน ว. เวลา น. จัดกิจกรรมคู่ขนาน สนับสนุน-ให้กำลังใจ พล.อ.ประยุทธ์ แต่พร้อมปลุก “กองหนุนลุงตู่” ให้ลุกขึ้นมาแสดง “พลังเงียบ” ทั้งในพื้นที่ออนไลน์-ออฟไลน์

Advertisment

“ตนไม่ได้เป็นศัตรูกับใคร ใครจะเชียร์ จะไล่ จะอะไร ก็ตามสบาย แต่ทุกคนควรร่วมมือกัน ขับเคลื่อนประเทศชาติไปข้างหน้า ดีกว่ามาเสียเวลากับเรื่องเหล่านี้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่จะทำให้ประเทศเดินหน้าไปได้มากนัก แต่ก็เคารพความคิดของทุกคน” พล.อ.ประยุทธ์กล่าวช่วงเป็นประธานเปิดโครงการยุวชนสร้างชาติ

ชนวนยุบพรรคอนาคตใหม่ “คดีล้มล้างการปกครอง” ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยในวันที่ 21 มกราคม อาจจะทำให้การวิ่ง-เดินเพิ่มดีกรีความเข้มข้น สะสมระยะทางการวิ่ง-การเดิน ก่อนถึงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ก็เป็นได้

ตั้งวอร์รูมสู้วิกฤตภัยแล้ง

นอกจาก “ภัยการเมือง” ที่รุมเร้ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์รอวัน “สุกงอม” และสุ่มเสี่ยงที่จะนำไปสู่ “ความขัดแย้งรอบใหม่” แล้ว รัฐบาลยังต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติ-วิกฤตภัยแล้งในรอบ 60 ปี จนพล.อ.ประยุทธ์ต้องตั้ง “วอร์รูม” เกาะติด-แก้วิกฤต ภายใต้โครงสร้าง 3 ระดับ

ระดับ 3 ภาวะวิกฤต (คาดว่าจะเกิดวิกฤต) แนวโน้มความรุนแรงสูงขึ้นในพื้นที่มากกว่าร้อยละ 60 ภายใต้ “ศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจ” มี พล.อ.ประยุทธ์-นายกรัฐมนตรี เป็นผู้บัญชาการ อำนาจ-หน้าที่ 1.ควบคุม สั่งการ บัญชาการและอำนวยการแก้ไขปัญหาวิกฤตน้ำเป็นการชั่วคราว จนกว่าปัญหาวิกฤตน้ำจะผ่านพ้นไป

2.ออกคำสั่งเพื่อการป้องกัน แก้ไข ควบคุม ระงับ หรือบรรเทาผลร้ายจากความเสียหายที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที และประกาศคำสั่งในราชกิจจานุเบกษา และ 3.บัญชาการร่วมกับกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) ในกรณีที่เป็นสาธารณภัยด้านทรัพยากรน้ำหรือวิกฤตน้ำ

ระดับ 2 ภาวะรุนแรง (คาดว่าจะรุนแรง) มีแนวโน้มความรุนแรงสูงขึ้นในพื้นที่มากกว่าร้อยละ 30 ภายใต้ “กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ” มี “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้อำนวยการ

อำนาจ-หน้าที่ 1.บริหารจัดการน้ำซึ่งอยู่ในเกณฑ์วิกฤตน้ำรุนแรง หรือคาดการณ์ว่าจะรุนแรง 2.ติดตาม วิเคราะห์แนวโน้ม ควบคุม กำกับ ดูแลสถานการณ์น้ำ รวมถึงประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องเพื่อบริหารจัดการน้ำ เพื่อประกาศแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำต่อ บกปภ.ช. และสร้างการรับรู้ให้แก่สาธารณชน โดยบูรณาการร่วมกับ บกปภ.ช. เพื่อพิจารณาระดับความรุนแรงสถานการณ์ภาวะวิกฤตน้ำ

ระดับที่ 1 แนวโน้มรุนแรงเพิ่มขึ้น-เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีความรุนแรงในพื้นที่มากกว่าร้อยละ 10 ภายใต้ “ศูนย์อำนวยการน้ำเฉพาะกิจ” มีเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.) เป็นผู้อำนวยการอำนาจ-หน้าที่ 1.อำนวยการ บริหารจัดการ รวบรวม บูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลสารสนเทศทรัพยากรน้ำ 2.ติดตาม วิเคราะห์แนวโน้ม ควบคุม กำกับ ดูแลสถานการณ์น้ำ รวมถึงประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องเพื่อบริหารจัดการน้ำ

3.วิเคราะห์สถานการณ์ รายงานกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ แล้วแจ้งเตือนไปยังกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) เพื่อรับทราบข้อวิเคราะห์คาดการณ์พื้นที่เป้าหมายในการปฏิบัติการ รวมทั้งแนวโน้มความรุนแรงเป็นการล่วงหน้า

ทั้งนี้ ในภาวะปกติ ให้ใช้โครงสร้างภายใต้ผู้อำนวยการน้ำแห่งชาติ (เป็นหน่วยงานภายใน สทนช.) ในการติดตาม/เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำของประเทศ ทั้งภาวะน้ำท่วม/น้ำแล้งอย่างใกล้ชิด

ล้างฝุ่นพิษ PM 2.5

ขณะที่ปัญหาฝุ่น PM 2.5 สูงเกินค่ามาตรฐาน-เข้าขั้นวิกฤต ถึงแม้ดูเหมือนว่าเป็นปัญหา “ขี้ผง” ของรัฐบาลประยุทธ์ แต่อาจส่งผลถึง “อารมณ์คนเมือง” กระทบชิ่งการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ของพรรคแกนนำรัฐบาล-พลังประชารัฐ และการบริหารจัดการปัญหาไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาล

ที่ผ่านมาในยุค คสช.-รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 1 ออกมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2562 เรื่องแนวทาง-มาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ใน กทม.-ปริมณฑล และในพื้นที่จังหวัด 3 ระยะ ระยะเร่งด่วน ระยะปานกลาง (2562-2564) และระยะยาว (2565-2562) แต่ปัญหา “แก้ไม่หายขาด”

ล่าสุด สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ภายใต้การนำของ “พล.ต.ต.ยงยุทธ สาระสมบัติ” ในฐานะ “ตัวตั้งตัวตี” ออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. …. เตรียมเสนอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา เพื่อตั้ง “คณะกรรมการอากาศสะอาด” โดยมี พล.อ.ประยุทธ์เป็นประธาน

สาระสำคัญของอำนาจ-หน้าที่ของคณะกรรมการอากาศสะอาด อาทิ การกำหนดนโยบาย-ยุทธศาสตร์ กำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศสะอาด เสนอแนะมาตรการด้านการเงิน การคลัง ภาษี และการส่งเสริมการลงทุนต่อ ครม. รวมทั้งแผนปฏิบัติการการพัฒนาคุณภาพอากาศของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด

ตั้งรับ ศก.ขาลง-ค่าบาทแข็ง

อีก 1 ปัญหาที่เข้าขั้นวิกฤต คือ เศรษฐกิจขาลง-ค่าเงินบาทแข็ง ที่มาจากปัจจัยจากเศรษฐกิจโลก-สงครามการค้าซ้ำเติมด้วยความไม่แน่นอนจากแนวโน้มการเกิดสงครามสหรัฐ-อิหร่าน ทำให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ “ลงนามเด็ดขาด” ตั้ง “คณะกรรมการที่ปรึกษาเสถียรภาพการเงิน” ประกอบด้วย กระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อแก้ปัญหาค่าเงินบาทอย่าง “ใกล้ชิด”

โดย พล.อ.ประยุทธ์เตรียมเรียกประชุม “ครม.เศรษฐกิจ” ในวันที่ 31 มกราคม เตรียมออก “มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ” เพื่อประคอง-รับมือสารพัดปัจจัยลบทางเศรษฐกิจทั้งในประเทศ-ต่างประเทศ รวมถึงการ “เรียกความเชื่อมั่น” จากปัจจัยทางการเมืองที่คอย “บั่นทอน” ซ้ำเติมเศรษฐกิจช่วงขาลง