เห่า 7 ตัว สองพรรคฝ่ายค้าน กำลังตกที่นั่งลำบากพรรคแรก งูเห่า 3 ตัวจากเพื่อไทย 1.พรพิมล ธรรมสาร ส.ส.จังหวัดปทุมธานี 2.พลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ ส.ส.กทม. 3.ขจิตร ชัยนิคม ส.ส.อุดรธานี หลังจากตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง
กรณี ส.ส.ของพรรคไม่ปฏิบัติตามมติของพรรคและพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่มี พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ เป็นประธานใช้เวลากว่า 1 เดือนครึ่ง ได้ข้อสรุปว่าในราย “พรพิมล” ที่อยู่แสดงตนเป็นองค์ประชุมให้ฝ่ายรัฐบาล ในการประชุมสภา คว่ำญัตติตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาผลกระทบคำสั่ง คสช. และมาตรา 44 ของฝ่ายค้าน เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2562 และโหวตเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ให้ฝ่ายรัฐบาล เมื่อ 11 ม.ค. 2563
ผลการสอบสวนพบว่า “พรพิมล” ได้แสดงพฤติกรรมและท่าทีชัดเจนว่า มีเจตนาและแสดงออกอย่างเปิดเผยในการฝ่าฝืนมติพรรค แม้ในครั้งแรกจะยังมิได้มีมติไปสนับสนุนรัฐบาล แต่ก็ไปแสดงตัวเป็นองค์ประชุมอย่างเปิดเผย ซึ่งขัดต่อมติของพรรค
“และเมื่อช่วงการอภิปรายงบประมาณ 2563 วาระ 2-3 ยังแสดงตนโหวตสวนมติพรรคอย่างเปิดเผย โดยมิได้สนใจและนำพาต่อมติของพรรคแต่อย่างใด”
“ประกอบกับหลักฐานแวดล้อมหลายกรณีตามบันทึกการสอบสวนเห็นว่า ส.ส.พรพิมลได้จงใจฝ่าฝืนมติพรรค โดยเชื่อได้ว่า เป็นการได้รับการร้องขอและมีประโยชน์ตอบแทนส่วนตนถือว่าเป็นการกระทำความผิดวินัยพรรคอย่างร้ายแรง ซ้ำซาก”
บทลงโทษทางวินัยในระดับภาคทัณฑ์และใช้มาตรการทางปกครองที่เด็ดขาด คือ ไม่ให้เข้าร่วมกิจกรรมของพรรค และไม่ส่งสมัครในการเลือกตั้งครั้งต่อไป โดยไม่มีเงื่อนไขผ่อนปรนใด ๆ ทั้งสิ้น รายที่ 2 “พลภูมิ” อยู่แสดงตนเป็นองค์ประชุมให้ฝ่ายรัฐบาล ในการประชุมสภา คว่ำญัตติตั้งคณะกรรมาธิการศึกษา
ผลกระทบคำสั่ง คสช. และมาตรา 44 เมื่อ 4 ธ.ค. 2562 และไม่ประสงค์ลงคะแนนให้ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย 2563 ให้ฝ่ายรัฐบาล เมื่อ 11 ม.ค. 2563 แทน “งดออกเสียง” ตามมติฝ่ายค้าน
จากการตรวจสอบและสอบสวนชี้ชัดว่า ส.ส.พลภูมิได้มีพฤติกรรมและการกระทำที่ฝ่าฝืนมติพรรค แม้จะอ้างเหตุผลด้วยความจำเป็น และเหตุผลส่วนตัว ก็ไม่สามารถนำมาเป็นข้ออ้างหักล้างแนวทางของพรรค และจริยธรรมทางการเมือง และไม่อาจใช้เป็นเหตุผลในการกระทำที่ขัดต่อมติของพรรคได้
“จึงเห็นควรใช้มาตรการทางปกครองให้พิจารณาความผิดโดยให้ภาคทัณฑ์ และไม่ให้เข้าร่วมกิจกรรมของพรรคเป็นเวลาหนึ่ง และพิจารณาไม่ส่งเป็นผู้สมัครของพรรคในการเลือกตั้งครั้งต่อไป เว้นแต่จะสามารถพิสูจน์ให้พรรคมั่นใจ หรือมีการกระทำที่น่าเชื่อถือว่าจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตนเองให้อยู่ในระเบียบวินัยของพรรค”
ในรายของ “ขจิตร” อยู่แสดงตนเป็นองค์ประชุมให้ฝ่ายรัฐบาล ในการประชุมสภา คว่ำญัตติตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาผลกระทบคำสั่ง คสช. และมาตรา 44 ของฝ่ายค้าน เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2562 ผลการสอบ ถือว่าได้กระทำผิดวินัยร้ายแรงเช่นกัน ข้ออ้างและเหตุผลที่ชี้แจงถือว่าฟังไม่ขึ้น แต่พฤติกรรมคือเพียงแสดงตนให้เป็นองค์ประชุม แต่ในความประพฤติต่อมายังไม่เห็นแจ้งชัดว่า ยังจงใจที่จะกระทำผิดเช่นเดิม จึงเสนอให้ดำเนินการภาคทัณฑ์ ไม่ให้เข้าร่วมกิจกรรมพรรคในระยะเวลาหนึ่ง และพิจารณาไม่ส่งลงเลือกตั้งในครั้งต่อไป จนกว่าจะมีข้อเสนอหรือพิจารณาเป็นอย่างอื่น
ทั้ง 3 พรรคเพื่อไทยไม่ “ขับออกจากพรรค” อาจเปิดช่องให้ “งูเห่า” ยกมือหนุนฝ่ายรัฐบาลได้อย่างเปิดเผย แต่ก็ต้องยกมือด้วยความทรมาน ขณะที่ “พลภูมิ” ยังได้รับการให้กำลังใจจากกลุ่ม “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” เจ้าแม่ กทม. จากเหตุผลทางคดีแจ้งบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จที่ไปตกลงกับผู้มีอำนาจให้ช่วยคดี กระทั่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองยกคำร้องเพราะ ป.ป.ช.ส่งคดีไม่ทันตามกำหนด รอดด้วยเทคนิคเห็น ๆ
ขณะที่งูเห่า 4 ตัวของพรรคอนาคตใหม่ ประกอบด้วย นางสาวศรีนวล บุญลือ ส.ส.เชียงใหม่ เขต 8, นายจารึก ศรีอ่อน ส.ส.จันทบุรี เขต 2, พ.ต.ท.ฐนภัทร กิตติวงศา ส.ส.จันทบุรี เขต 1 และ น.ส.กวินนาถ ตาคีย์ ส.ส.ชลบุรี เขต 7 ยังลูกผี-ลูกคน เพราะหลังจากถูกพรรคมีมติขับออกจากพรรค 16 ธ.ค. 2562 ทั้ง 4 คนจะต้องหาพรรคใหม่สังกัดภายใน 30 วัน ปรากฏว่า “ศรีนวล” ไปซบอกภูมิใจไทย “พ.ต.ท.ฐนภัทร” ไปสวมเสื้อคลุมพลังประชารัฐ ส่วน “จารึก-กวินนาถ” ไปอยู่พลังท้องถิ่นไท
ปัญหามีอยู่ว่า การเคลียร์เอกสารการประชุมพรรค เพื่อมีมติตัดขาดการเป็นสมาชิกพรรคของ 4 คน อาจยังไม่สมบูรณ์ ทำให้ทั้ง 4 ไปสังกัดพรรคใหม่ไม่ทันเส้นตาย 30 วัน ซึ่งครบกำหนดเมื่อ 16 ม.ค.ที่ผ่านมา เท่ากับว่าทั้ง 4 จะยังเป็นสมาชิกพรรคอนาคตใหม่อยู่หรือไม่
ในรายของ “ศรีนวล” ไปซบอกภูมิใจไทย กับ “พ.ต.ท.ฐนภัทร” ที่ประกาศตัวอยู่พลังประชารัฐ อาจยังไม่มีปัญหาน่าปวดหัวเพราะทั้ง 2 ไปแต่ตัว ยังไม่สมัครเป็นสมาชิกพรรคใหม่ แต่ในรายของ “จารึก-กวินนาถ” ส่อมีปัญหา เพราะดันไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังท้องถิ่นไทแล้ว อาจเข้าข่ายเป็นสมาชิกพรรค 2 พรรคซ้ำซ้อนกัน อาจหลุดจากการเป็น ส.ส. ทั้งจารึก-กวินนาถ-ศรีนวล แยกทีมกันไปขอความชัดเจนจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ดีไม่ดีเรื่องอาจถึงศาลรัฐธรรมนูญ
แต่แหล่งข่าวในวงการเลือกตั้งชี้ช่อง 2 ทาง เคลียร์ปัญหาวุ่น ๆ หนึ่ง ยึดเจตนาการขับออกจากพรรค คือ 16 ธ.ค. ถ้า ส.ส.งูเห่าไปประกาศตัวสังกัดพรรคใหม่ภายใน 30 วัน แล้วเคลียร์เอกสารทีหลัง สอง หาก กกต.ยึดเอกสาร แนวทางออกจะต้องมีเอกสารจากพรรคเดิม พรรคใหม่จึงจะรับสมัครสมาชิกพรรคได้ แต่ขึ้นอยู่กับที่ประชุม กกต.จะว่าอย่างไร
สอดรับกับความเห็นของ “ชำนาญ จันทร์เรือง” รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ยืนยันว่า ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (9) ระบุว่า หากไม่สามารถหาสังกัดพรรคใหม่ภายใน 30 วัน หลังจากมีมติถูกขับออก ให้ถือว่าสิ้นสุดสมาชิกภาพนับจากวันที่มีมติ ดังนั้นใน 4 รายที่จะหาสังกัดพรรคใหม่ไม่คิดว่าจะมีปัญหา เป็นแต่เพียงแค่เคลียร์เอกสารทางธุรการให้เรียบร้อยเท่านั้นชะตากรรมงูเห่า ต่างจาก “งูเห่า” 5 ตัวของเศรษฐกิจใหม่ ไม่ใช่เป็นงูเห่าในพรรค แต่เป็นงูเห่าในซีก “พรรคร่วมฝ่ายค้าน” ยังอยู่ดีมีสุข เตรียมแต่งตัวร่วมรัฐบาล ต่างจาก 7 งูเห่าข้างต้นแบบสุดขั้วเหลือเพียง “มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์” เท่านั้นที่ถูกลอยแพ เกาะขบวนฝ่ายแค้น