สมคิด : ปลดชนวนพิษค่าเงิน ปลุกเอกชนลงทุนยุคบาทแข็ง ฝ่าระเบิดลูกใหม่

เศรษฐกิจไทยปี 2020 ท้าทายรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มี “ทีมเศรษฐกิจสามขา” ต่างคนต่างเดิน-ต่างคนต่างทำ เป็น “บททดสอบหิน” ของ “พล.อ.ประยุทธ์” กัปตันทีมเศรษฐกิจ แต่เพียงผู้เดียว

“สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษ 2020 ปีแห่งการลงทุน : ทางออกประเทศไทย จัดโดย “หนังสือพิมพ์มติชน” ในวาระครบรอบ 43 ปี

ระเบิดเศรษฐกิจ 3 ลูก

“สมคิด” ฉายภาพ 3 ปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจไทย-ระเบิดเวลาที่อยู่ “นอกเหนือการควบคุม” คือ ส่งออกติดลบ-เอกชนไม่ลงทุน-เงินบาทแข็งค่า เขายอมรับว่า นอกเหนือจากเศรษฐกิจโลก-สงครามการค้าที่เป็น “ปัจจัยลบภายนอก” แล้ว ยังเกิดจาก “ปัจจัยภายใน” คือ “โครงสร้างเศรษฐกิจ” ที่ไม่ได้รับการปรับแก้โดยเฉพาะภาคการส่งออกที่มีสัดส่วนต่อจีดีพีถึง 70 เปอร์เซ็นต์ “เกินครึ่ง” ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ขณะที่การลงทุนของภาคเอกชน “อ่อนแรง” แม้จะเป็นโอกาสทอง-ฉวยจังหวะจาก “ค่าเงินบาทแข็ง” ในการนำเข้าเครื่องจักร-ปรับเปลี่ยนกำลังการผลิตเพื่ออัพเกรด แต่ก็ “เชียร์ไม่ขึ้น”

“ในช่วงไตรมาส 4 ปีที่ผ่านมา เราเจอพายุเป็นเหมือนระเบิด 2 ลูก ลูกแรกเป็นระเบิดเหนือน้ำ คือ เรื่องการส่งออกที่ค่อย ๆ ชะลอตัวลง จนกระทั่งติดลบถึง -7.7% เมื่อโลกสะเทือนจึงควบคุมไม่ได้ เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการส่งออกถึง 70% ของจีดีพี ดังนั้นเมื่อส่งออกลดลงจะกระเทือนต่อเศรษฐกิจไทยแน่นอน”

ระเบิดลูกสอง คือ “ระเบิดใต้น้ำ” ที่ประกอบด้วยระเบิดลูกเล็ก ๆ หลายลูก เช่น โครงการลงทุนขนาดใหญ่เคลื่อนตัวช้ากว่าแผน งบประมาณแผ่นดินล่าช้า รายจ่ายประจำใช้ได้เพียงครึ่งเดียว ขณะที่ “งบฯลงทุน” เบิกจ่ายแทบไม่ได้เลย ส่งผลให้งบประมาณที่เคยเป็นตัวขับเคลื่อนใหญ่ของประเทศไปไม่ได้

คาดว่างบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 จะสามารถเบิกจ่ายได้ราวต้นเดือนกุมภาพันธ์ งบประจำที่เหลือจะเทเต็มแม็ก รวมถึงงบฯลงทุน ไตรมาส 2 ของปีงบประมาณ 63 (ม.ค.-มี.ค.) ไตรมาสเดียว เม็ดเงินจะลงไป 1 ล้านล้านบาท หรือ 54 เปอร์เซ็นต์ ไตรมาส 3 70 เปอร์เซ็นต์ และเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ ก่อนสิ้นปีงบประมาณในเดือน ก.ย. 63

“แต่มันก็เหมือนท่อ ถ้าไม่เตรียมการสัญญาจัดซื้อจัดจ้างให้พร้อม เงินก็ไหลไม่ทัน ถึงตอนปลายเงินก็จะถูกพับไป ขณะที่การลงทุนของรัฐวิสาหกิจ เหลืองบฯที่ค้างอยู่แสนกว่าล้านบาทจะไปขอให้ลงทุนเพิ่ม เป็นระเบิดลูกที่ 2 ที่จะต้องแก้”

“สมคิด” เสี่ยงทายว่า “ระเบิดค่าเงินบาท” จะเป็น “ระเบิดลูกใหม่” เนื่องจากไตรมาส 4 ก่อนสิ้นปีེ ค่าเงินบาทแข็งค่า “หลุดกรอบ” 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แม้จะเกิดจากเงินทุนไหลเข้า แต่เขาเชื่อว่า คงไม่ใช่ทั้งหมด

“เงินบาทที่แข็งค่าเกิดจากโครงสร้างเศรษฐกิจไทยขณะนี้ คือ ส่งออกติดลบ การนำเข้าลดลง จึงเป็นช่องว่างทำให้เงินบาทแข็งค่า และยิ่งเอกชนไม่ลงทุน จึงเป็นผลให้เงินบาทแข็งต่อเนื่อง ขณะนี้ภาคเอกชนลงทุนอยู่ที่ 16% ของจีดีพีเท่านั้น เรียกว่า ซึม”

ลงทุน…ทางออกเศรษฐกิจไทย

“สมคิด” ชี้ทางออกว่า การลงทุนจะเป็นทางออกประเทศไทย 1.ถ้าภาคเอกชน-รัฐบาล และรัฐวิสาหกิจลงทุน เม็ดเงินจะช่วยกระตุ้นและประคองเศรษฐกิจ 2.การลงทุนจะทำให้เงินบาทอ่อนค่าลง และ 3.ลงทุนโดยคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุด และทันต่อความเปลี่ยนแปลงของโลกและเทคโนโลยีสมัยใหม่

“การบรรลุเป้าหมายยังไม่พอ ต้องเปลี่ยนโครงสร้างยุคเดิมไปสู่ยุคใหม่ การลงทุนอุตสาหกรรม 10 เป้าหมาย (S-curve) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในอนาคต โครงการพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เกิดแล้ว รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินเดินหน้าแล้ว ท่าเรือมาบตาพุดเดินแล้ว ส่วนโครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก อีก 2 วันจะรู้แล้วว่าใครจะเป็นผู้ชนะการประมูลไปลงทุน ทั้งหมดจะเป็นตัวการันตีให้นักลงทุนมั่นใจว่า ไม่ใช่แค่ราคาแค่คุย แต่ทำจริง”

รวมถึงเขตพัฒนาพิเศษภาคใต้ (SEC) เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (NEC) ในอีก 5-6 ปีข้างหน้า ต้องมีการลงทุนไทยต่อเนื่อง เรื่อง 5G ต้องประมูลให้ได้ในเดือนกุมภาพันธ์ หรือมีนาคม ต้องเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร เน้นสตาร์ตอัพเกี่ยวกับท่องเที่ยวและบริการ ให้ความสำคัญกับ creative economy

“ในช่วง 5 ปี คือ เศรษฐกิจฐานราก สมาร์ทฟาร์มเมอร์เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) รัฐวิสาหกิจ เช่น ปตท. การประปา การไฟฟ้า-โรงไฟฟ้าชุมชน การท่องเที่ยวเมืองรอง สนับสนุนเทคโนโลยี โดยเอกชนที่ลงทุนในชุมชน บีโอไอจะให้สิทธิประประโยชน์พิเศษ”

เข็นเอกชนลงทุนยุคบาทแข็ง

“คณะกรรมการร่วมเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ต้องคิดใหม่ จะร่วมลงทุนอย่างไร บทบาทของบีโอไอต้องกล้าหาญ ต้องเฉียบแหลม เป็นหางเสือคัดท้ายประเทศ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ที่ต้องผ่าตัดเพื่อทำงานเชิงพัฒนาร่วมกับบีโอไอ”

“สมคิด” ต้องการความร่วมมือในการลงทุน ทั้งรัฐบาล เอกชน และรัฐวิสาหกิจ ไม่ใช่การกระตุ้น เศรษฐกิจไทยอยู่ไม่ได้ด้วยการกระตุ้น แต่ต้องสร้างอนาคตข้างหน้า ผมฝันอยากเห็นธุรกิจที่ยืนอยู่บนขาของนวัตกรรม สร้างสตาร์ตอัพที่ยืนอยู่ด้วยตัวเอง ไม่พึ่งพาอุตสาหกรรมรถยนต์ หรืออุตสาหกรรมขนาดใหญ่

“สมคิด” เตรียมหารือกับกรมสรรพากรและกรมศุลกากร แท็กทีมกับบีโอไอ-สภาพัฒน์ เพื่อเตรียมผลักดัน-ขับเคลื่อน “ปีแห่งการลงทุน” เพราะรัฐบาลต้องการให้ภาคเอกชนลงทุนใน “ยุคบาทแข็ง” เช่น การเปลี่ยนเครื่องจักร โดยบีโอไอจะออกแพ็กเกจจูงใจให้ลงทุนภายใน 6 เดือน และให้ติดตั้งภายใน 1 ปี การลงทุนในอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ หรือ BCG จะได้รับสิทธิประโยชน์พิเศษ

“แม้กระทั่งนักการเมืองก็ต้องช่วยกันสร้างบรรยากาศ ปีนี้เป็นปีแห่งการลงทุน แต่ถ้าการเมืองยังตีทุกวัน นักลงทุนไปแน่นอน ทุกคนต้องร่วมมือกัน ไม่อย่างนั้นอย่าไปโทษใคร”

ปั้นทีมเศรษฐกิจขาใหญ่

“สมคิด” ออกตัวทุกครั้งว่า “ไม่ใช่หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ” เพราะหลังจากมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและมีรัฐบาลใหม่ เงื่อนไขหลายประการเปลี่ยนไป-องค์ประกอบแตกต่างจากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 1-ยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการเคลื่อน “ทีมเศรษฐกิจ” ได้ทั้งองคาพยพ

“ถ้าไม่จำเป็นไม่อยากบรรยายที่ไหน เนื่องจากข้อจำกัดการบริหารจัดการ ไม่สามารถทำได้อย่างที่พูดทุกอย่าง ประเทศไทยขณะนี้หาคำตอบที่เหมาะสมไม่ได้ อยู่ในช่วงที่สำคัญมาก ต้องบริหารให้ดี ประเทศไทยไม่ได้ดีและไม่ได้แย่ แต่ต้องอาศัยการบริหารจัดการ ต้องอาศัยความสามัคคี”

จาก “ข้อจำกัด” ทำให้ “สมคิด” เตรียมตั้ง “คณะกรรมการพิเศษ” ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผู้จัดการ ธ.ก.ส. เลขาธิการอีอีซี เลขาธิการบีโอไอ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ท่องเที่ยว รวมทั้งความร่วมมือกับบริษัท ปตท. และรัฐวิสาหกิจภายใต้กำกับของกระทรวงการคลัง เป็นกรรมการ
โดยมี “ศิษย์ก้นกุฏิ” นายอุตตม สาวนายน “ขุนคลัง” เป็น “หัวหอก” ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเชิงพื้นที่ เชื่อมกับเศรษฐกิจระดับเอสเอ็มอี และเศรษฐกิจฐานราก

“ผมจะตั้งคณะทำงานที่กระทรวงการคลัง จะทำ ธ.ก.ส.ให้มีบทบาทใหญ่ เทียบกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปั้นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ ให้เกิดให้ได้สัก 3-4 แสนราย แต่ไม่ใช่เอาเงินไปแจก ไปจ่ายประกันรายได้ แม้จะได้ดูเศรษฐกิจขาเดียว แต่จะทำให้ขาใหญ่ขึ้น”

จากหัวหน้าทีมเศรษฐกิจขาเดียว กลายเป็น “ทีมเศรษฐกิจขาใหญ่”