รัฐสภานัดถกด่วน พิษเสียบบัตรแทนลงมติ พ.ร.บ.งบ’63 ชงส่งศาลรธน.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 22 มกราคม 2563 ประธานสภาผู้แทนราษฎร จะนัดประชุม ส.ส. เพื่อถกวาระด่วน กรณีมีการเสียบบัตรแสดงตนและการกดคะแนนแทน เพื่อลงมติ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563

ทั้งนี้ มีแนวโน้มว่า จะมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสมาชิก จำนวน 75 คน เข้าชื่อกัน เพื่อส่งเรื่องให้ประธานรัฐสภา แล้วส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งระหว่างนี้จะชะลอกระบวนการส่งให้นายกรัฐมตรี ส่งขึ้นทูลเกล้าฯ ไว้ก่อน

ในกรณีที่นายนิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ อดีต ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ แถลงที่รัฐสภา เมื่อ วันที่ 20 ม.ค. 2563 ตรวจสอบพฤติกรรมของ​ นายฉลอง เทอดวีระพงศ์ ส.ส.พัทลุง พรรคภูมิใจไทย ที่ให้บุคคลอื่นเสียบบัตรแสดงตนและกดลงคะแนนแทน ในระหว่างการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 วาระสอง ตั้งแต่มาตรา 39 วันที่ 10 มกราคม เวลา 20.30 น.​จนถึงการลงมติวาระสาม วันที่ 11 มกราคม เวลา 17.34 น. เนื่องจากมีหลักฐานพบว่าช่วงระยะเวลาดังกล่าว นายฉลอง ไม่อยู่ในห้องประชุมสภาฯ เพราะเดินทางไปยัง จ.พัทลุง เพื่อร่วมงานวันเด็กของเทศบาลตำบลอ่างทอง อ.ศรีนครินทร์ และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ชะมวง อ.ควนขนุน ซึ่งปรากฎภาพในเฟซบุ๊กขององค์กรท้องถิ่นดังกล่าวด้วย

นายนิพิฎฐ์ กล่าวว่าเรื่องนี้ถือว่าเป็นการกระทำของ ส.ส. ที่ไม่ชอบและฝ่าฝืนบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ รวมถึงจะส่งผลให้ร่างพ.ร.บ.งบประมาณ พ.ศ.2563 ที่สภาฯ ลงมติวาระสองและเห็นชอบวาระสามนั้น เป็นโมฆะเมื่อเทียบกับคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญที่ชี้ขาดว่าร่างพ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ.​เป็นโมฆะ เพราะตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมายเนื่องจากพบพฤติกรรมของ นายนริศร ทองธิราช สมัยเป็น ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย ใช้บัตรแสดงตนและออกเสียงแทน ส.ส.คนอื่น แต่กรณีของ นายฉลอง นั้นถือว่าร้ายแรงกว่ากรณีของ นายนริศร มาก

“ผมไม่ต้องการสร้างปัญหาให้กับรัฐบาล หรือสร้างความขัดแย้งกับพรรคร่วมรัฐบาล แต่เรื่องนี้ต้องทำให้ถูกต้อง เพราะจะมีปัญหาต่อการนำร่างพ.ร.บ.งบฯ 63 ขึ้นทูลเกล้าก่อนการประกาศใช้ได้” นายนิพิฎฐ์ กล่าว

วันนี้(21 ม.ค.2563)  เมื่อเวลา 13.30 น. นายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงผลการตรวจสอบคณะกรรมการกฎหมาย กรณีนายฉลอง เทอดวีระพงศ์ ส.ส.พัทลุง พรรคภูมิใจไทย มีชื่อลงมติร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 แต่ไม่ได้อยู่ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ว่า ทีมกฎหมายได้ประชุมเพื่อพิจารณาข้อกล่าวหาตามที่นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาให้สัมภาษณ์ พบว่า 1.ข้อกล่าวหาดังกล่าวเป็นความจริง โดยได้เชิญเจ้าหน้าที่จากสำนักชวเลขมาตรวจสอบ ซึ่งพบว่าในมาตรา 31-55 และข้อสังเกตมีชื่อนายฉลองร่วมลงมติจริง

2.ได้เรียกเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวกับการเก็บรักษาบัตรลงคะแนนในห้องประชุมมาให้ข้อมูล ปรากฏว่าบัตรนายฉลองเบิกไปใช้จริงและลงมติในวันที่ 8-11 มกราคม โดยไม่ได้มีการส่งบัตรคืนเจ้าหน้าที่ และพบอีกครั้งว่าบัตรเสียบค้างไว้ที่เครื่องลงคะแนนในวันที่ 11 มกราคม

และ 3.ได้เรียกฝ่ายเทคนิคมาช่วยตรวจสอบช่องเสียบบัตรลงคะแนน แต่ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าเสียบบัตรในตำแหน่งใด อีกทั้งกล้องของฝ่ายเทคนิคไม่ได้จับภาพบุคคล ทั้งนี้ คณะกรรมการจึงมีความเห็นว่า ข้อกล่าวหาเป็นจริง ทำให้ผลการลงมติตั้งแต่มาตรา 31-55 และข้อสังเกต ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น กระบวนการที่จะทำให้ถูกต้อง คือต้องทำตามข้อบังคับการประชุม ข้อที่ 139 ที่ให้ประธานสภาชะลอร่างไว้ 3 วัน เพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกของรัฐสภาไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 หรือ 75 คน เสนอประธานสภาให้ส่งเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่าเป็นร่างกฎหมายที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แต่ข้อสังเกตของคณะกรรมการเห็นว่ากรณีนี้ไม่ทำให้ร่างกฎหมายต้องตกไป

“ถือว่าเป็นเพียงแค่เสียงเดียว แต่คณะกรรมการก็เคารพการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ทุกอย่างถูกต้องตามกระบวนการ ทั้งนี้ ได้แจ้งผลการตรวจสอบดังกล่าวให้นายชวน หลีกภัย ประธานสภา ทราบแล้ว เรื่องนี้ต้องนำไปหารือในที่ประชุมสภาในวันพรุ่งนี้(22 ม.ค.) เพื่อดูว่าที่ประชุมสภาจะมีความเห็นเป็นอย่างไร อาจจะเห็นไม่ตรงกับทีมกฎหมายก็ได้” นายสรศักดิ์กล่าว

ทางด้านนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา กล่าวว่า เรื่องนี้ผู้รับผิดชอบโดยตรง คือสภาฯ ซึ่งเข้าใจว่าสภาฯกำลังดำเนินการอยู่ ร่างกฏหมายนี้ส่งมาอย่างเป็นทางการยังวุฒิสภาก็ต้องถือว่าร่างที่ส่งมาถูกต้อง อีกทั้งวุฒิสภาคงไม่มีอำนาจวินิจฉัย หรือดำเนินการว่าร่างกฏหมายนี้ถูกหรือผิด แต่ถ้าระหว่างนี้สภาฯบอกว่า ขอให้รอไว้ก่อน เราก็ต้องรอ เราต้องดำเนินการตามกฏหมายและข้อบังคับ คือพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 20 วัน ส่วนร่างกฏหมายจะเป็นโมฆะหรือไม่ ไม่ใช่ความผิดของวุฒิภา เพราะวุฒิสภาไม่มีอำนาจหน้าที่วินิจฉัยหรือไปก้าวก่าย วุฒิสภาก็ต้องพิจาณาไปตามที่สภาฯยืนยันมาว่าถูกต้อง