“ประยุทธ์” ปลุกเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดชายแดนใต้ “สมคิด” สั่งอัดยาแรง-คืนภาษีเอกชน 100%

เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2563 ที่มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ จ.นราธิวาส น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการ กลุ่มภาคใต้ชายแดน 3 จังหวัด ได้แก่ นราธิวาส ยะลาและปัตตานี ว่าครม.เห็นชอบข้อเสนอการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน โดยอนุมัติให้เร่งรัดโครงสร้างพื้นฐาน ทางถนน เส้นทางเชื่อมยะลา – เบตง – สนามบินเบตง เนื่องช่วงกลางปี 2563 สนามบินเบตงจะเปิดให้บริการ คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1 ล้านคน/ปี มีรายได้มากกว่า 4,000 ล้านบาท/ปี โดยเร่งรัดโครงการจากปี 2565-2566 เป็น 2564 จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ 1.ทางหลวงแผ่นดินทางเลี่ยงเมือง จ.ยะลา (ด้านตะวันตก) 4 ช่องจราจร 2.ทางหลวงหมายเลข 410 และ 4326 ตอนตะบิงติงงี – สนามบินเบตง จาก 2 ช่องจราจร เป็น 4 ช่องจราจร และ 3.ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4326 ตอนเบตง – บ้าน กม.17 จาก 2 ช่องจราจร เป็น 4 ช่องจราจร ไปยังสนามบินเบตง และจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมชายแดนใต้ จ.ยะลา วงเงิน 20 ล้านบาท

เส้นทางเชื่อมเขตเศรษฐกิจพิเศษ-ด่านชายแดน จากด่านศุลกากรไปยังมาเลเซีย จำนวน 5 โครงการ 1.ขยายถนนทางหลวงหมายเลข 42 (สายเก่า) ตอนทุ่งคา-ปลักปลา อ.ยี่งอ-อ.เมือง จ.นราธิวาส 2.ถนนผังเมือง จ 1. และส่วนต่อขยายทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 42 (ใหม่) 3.ศึกษาการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำบางนรา (สะพานเชื่อมต่อหาดนราทัศน์-เขตเมือง-อ่าวมะนาว จ.นราธิวาส) 4.ขยายทางหลวงหมายเลข 4056 สายเขากง-สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส 46 กิโลเมตร และ 5.เร่งรัดโครงการก่อสร้างถนนสาย ค.2 ผังเมืองรวมสุไหงโก-ลก

เส้นทางเชื่อม 3 จังหวัด 3 โครงการ 1.เร่งรัดโครงการสำรวจและออกแบบทางแยกต่างระดับจุดตัดทางหลวงหมายเลข 42 กับทางหลวงหมายเลข 43 (แยกดอนยาง) อ.หนองจิก จ.ปัตตานี 2.สำรวจและออกแบบสะพานข้ามทางหลวงหมายเลข 410 ตอนปัตตานี-ยะลา พร้อมปรับปรุงอาคารระบายน้ำ 3.เห็นชอบโครงการก่อสร้างด่านตรวจและซุ้มประตูเมืองเข้าจังหวัดชายแดนภาคใต้

เส้นทางสายรองเชื่อมสายหลัก 2 โครงการ 1.เพิ่มมาตรฐานชั้นทาง ทล.4071 ตอน โกตาบารู – วังพญา เป็นมาตรฐานทางชั้น 1 จ.ยะลา 2.เพิ่มมาตรฐานชั้นทาง ทล.4272 ตอนยือนัง – คลองชิง จ.ยะลา

เชื่อมสุไหงโก-ลก ทะลุมาเลเซีย-สิงคโปร์

ทางราง 2 โครงการ เพิ่มระยะทางวิ่งขบวนรถไฟทักษิณารัถย์จากสิ้นสุดที่สถานีชุมทางหาดใหญ่ ไปสิ้นสุดที่สถานีสุไหงโก-ลก และเพิ่มจำนวนตู้รถไฟเส้นทางกรุงเทพ – สุไหงโก-ลก และกรุงเทพ – ยะลา 2.เร่งรัดศึกษาการก่อสร้างทางรถไฟทางคู่จากสถานีสุไหงโก-ลก ถึงสถานีหาดใหญ่ 300 กิโลเมตร วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท และให้เจรจากับมาเลเซียเพื่อเชื่อมสถานีสุไหงโก-ลก ไป อ.ปาเสมัส รัฐกลันตัน 20 กิโลเมตร เพื่อเชื่อมต่อไปยังสิงคโปร์ ทั้งนี้ ให้เร่งมหาดไทยเจรจาเพื่อก่อสร้างสะพานข้ามไทย-มาเลเซีย แห่งที่ 2 วงเงิน 4,000 ล้านบาท

ระบบป้องกันน้ำท่วมและระบายน้ำในพื้นที่ชุมชน จ.นราธิวาส 3 โครงการ และการบริการสาธารณสุขเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต 3 โครงการ อาทิ ก่อสร้างอาคารผู้ป่วยนอก 10 ชั้น โรงพยาบาลศูนย์ยะลา

นอกจากนี้ยังเห็นชอบขยายวงเงินและปรับปรุงหลักเกณฑ์โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) 10,000 ล้านบาท จากวงเงินเดิม 25,000 ล้านบาท ปัจจุบันมีวงเงินคงเหลือ 1,000 ล้านบาท โดยขอขยายวงเงินเพิ่มเป็น 35,000 ล้านบาท และต่ออายุออกไปอีก 5 ปี หรือ สิ้นสุดโครงการในปี 2570 ทั้งนี้ โครงการเดิมจะสิ้นสุดลงในปี 2565 และปรับปรุงเงื่อนไขเพื่อให้ผู้ประกอบการรายใหม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ทันที จากเดิม 1 ปี โดยคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1.5 ต่อปี

ทั้งนี้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี สั่งการให้ส่งเสริมการค้า การลงทุนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยการ “อัดยาแรง” เพื่อจูงใจภาคเอกชนลงทุน เช่น การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยนำไปหักค่าใช้จ่ายได้ 100 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงการแก้ไขระเบียบกระทรวงการคลังที่ยังเป็นอุปสรรคในการลงทุน

โค่นยางปลูกปาล์ม 1.8 หมื่นไร่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภาคเอกชนขออนุมัติพื้นที่ 18,000 ไร่เพื่อนำไปปลูกปาล์ม แบ่งออกเป็น พื้นที่ปลูกยางพาราและพื้นที่ว่างเปล่า และขอส่งเสริมพันธุ์ปาล์มให้เกษตรกร โดยเอกชนเสนอว่า โรงบีบน้ำมันปาล์มใน อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ไม่เพียงพอ

ปลุกเขตพัฒนาพิเศษจะนะ 1.8 หมื่นล้าน

นอกจากนี้เห็นชอบในหลักการของแผนเร่งด่วนการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ซึ่งประกอบด้วย 1)ด้านผังเมือง (พื้นที่ใน 3 ตำบล ได้แก่ นาทับ ตลิ่งชัน และสะกอม 2) ด้านโครงข่ายการขนส่งทางน้ำ (โครงการท่าเรือน้ำลึกสงขลา) 3) ด้านโครงข่ายการขนส่งทางบก (แผนแม่บทจราจรเชื่อมทางหลวง ทางหลวงชนบท ถนนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 4) ด้านพลังงาน (โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติ/ชีวมวล/แสงอาทิตย์/ลม)

เพื่อขับเคลื่อนสู่เป้าประสงค์การพัฒนาให้เป็นเมืองต้นแบบที่ 4 “เมืองอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” เนื่องจากในพื้นที่4 จังหวัดชายแดนใต้ยังไม่มีนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่สามารถรองรับแรงงานในพื้นที่ที่มีอยู่มาก และเป็นพื้นที่ทีมีความพร้อมด้านกายภาพ เป็นพื้นที่ชายฝั่ง จึงมีความเหมาะสมที่จะดำเนินการท่าเรือน้ำลึก เพื่อให้นิคมอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นสามารถใช้ประโยชน์จากการนำเข้าและส่งออกสินค้าได้อย่างสะดวก ในภาพรวมโครงการ มีเนื้อที 16,753 ไร่ ใช้เงินลงทุนประมาณ 18,680 ล้านบาท

โดยคาดว่าจะก่อให้เกิดการจ้างงานประมาณ 1แสนอัตรา มีกิจกรรม 6 ประเภท 1) พื้นที่เขตอุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมเบา จำนวน 4,253 ไร่ 2) พื้นที่อุตสาหกรรมหนัก จำนวน 4,000 ไร่ 3) พื้นที่เขตอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้า จำนวน 4,000 ไร่ จำนวน4 โรง กำลังผลิตรวม 3,700 เมกะวัตต์ 4) พื้นที่เขตอุตสาหกรรมต่อเนื่องกับกิจกรรมหลังท่าเรือ จำนวน 2,000 ไร่ 5) พื้นที่เขตอุตสาหกรรมศูนย์รวมและกระจายสินค้า จำนวน 2,000 ไร่ และ 6) พื้นที่ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จและแหล่งที่พักอาศัย จำนวน 500 ไร่

เห็นชอบกรอบแนวทางการพัฒนาเพื่อเสริมความมั่นคงผ่าน “โครงการตำบลมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ของศูนย์อำนวยการบริหารจัดการจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต.) โดยให้มี “สภาสันติสุขตำบล” เป็นกลไกในการบริหารราชการระดับตำบล ขับเคลื่อนโครงการฯ โดยให้นายอำเภอมีอำนาจแต่งตั้งสภาสันติสุขตำบล ประกอบด้วย 5 ภาคส่วน ได้แก่ 1) ภาคส่วนราชการที่เป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในตำบล เช่น ปลัดอำเภอ ทหาร ตำรวจ พัฒนากร 2) ผู้ปกครองท้องที่ เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน 3) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 4) ผู้นำศาสนาหรือองค์กรศาสนาทุกศาสนาในพื้นที่ตำบล 5) ภาคประชาชน เช่น ปราชญ์ชาวบ้าน ตัวแทนกลุ่มเยาวชน กลุ่มสตรี โดยสภาสันติสุขตำบลมีหน้าที่ในการให้ข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็นในการจัดทำแผนพัฒนาโครงการตำบลฯ นำไปสู่การส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก เชื่อมโยงเศรษฐกิจชุมชนกับระดับจังหวัด และพัฒนาสังคมและทรัพยากรมนุษย์ ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้

เห็นชอบแผนการขับเคลื่อนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษนราธิวาส ซึ่งเป็นแผนบริหารจัดการที่ดินสำหรับการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนราธิวาส ให้ศอ.บต.เป็นหน่วยงานรับผิดชอบจัดซื้อที่ดินเอกชน (บริษัทสวนยางไทย) จำนวน 1,683 ไร่ ในพื้นที่อำเภอยี่งอ และอำเภอเมืองนราธิวาส ในกรอบวงเงิน 390 ล้านบาท การบริหารจัดการที่ดิน แบ่งเป็น สามส่วน ได้แก่

ส่วนที่ 1 ให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเช่า จำนวน 600 ไร่ ในพื้นที่ตำบลละหาร อำเภอยี่งอ เพื่อจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม ตามอำนาจหน้าที่ของการนิคมแห่งประเทศไทย ส่วนที่ 2 ให้เอกชนเช่า เนื้อที่รวม 1,003 ไร่ โดยกรมธนารักษ์เปิดประมูลเพื่อสรรหาผู้ลงทุนตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด และส่วนที่ 3 เป็นพื้นที่สำหรับใช้ประโยชน์ของทางราชการในพื้นที่ตำบลละหาร อำเภอยี่งอ พื้นที่รวม 79 ไร่ เช่น สร้างศูนย์อบรมพัฒนาทักษะแรงงานเพื่อรองรับนิคมอุตสาหกรรมและการลงทุนและการพัฒนาและส่งเสริมนักธุรกิจรุ่นใหม่ยุค 4.0

จัดสรรที่ดินทำกิน 1,855 ไร่

เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินทำกิน 3 ฉบับ ได้แก่ 1.ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดิน ในท้องที่ตำบลปูโยะ และตำบลมูโนะ อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ. ….

2.ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดิน ในท้องที่ตำบลปะลุรู ตำบลโต๊ะเต็ง และตำบลริโก๋ อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ. ….

3.ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดิน ในท้องที่ตำบลบางปอ อำเภอเมืองนราธิวาส และตำบลดุซงญอ ตำบลช้างเผือก ตำบลจะแนะ อำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ. ….

เพื่อเป็นไปตามเป้าหมายที่รัฐบาลต้องการให้เกษตรมีที่ดินทำกิน โดยกำหนดเขตที่ดินในท้องที่จังหวัดนราธิวาสตามพระราชกฤษฎีกาทั้ง 3 ฉบับ ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เนื่องจากเกษตรกรจำนวนมากในจังหวัดนราธิวาสไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเองหรือมีที่ดินไม่เพียงพอต่อการครองชีพ หรือต้องเช่าที่ดินของผู้อื่นทำเกษตรกรรม

สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินฯ แต่ละฉบับ สรุปได้ดังนี้ 1.ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดิน ในท้องที่ตำบลปูโยะ และตำบลมูโนะ อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ. …. เป็นการกำหนดเขตที่ดินในท้องที่ดังกล่าวเป็นเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจาณาตัดที่ดิน น.ส. 3 ก. เลขที่ 2468 ตำบลปูโยะ อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส เนื้อที่ 4-0-53 ไร่ จำนวน 1 แปลง เนื่องจากมีการยกเลิกเสนอขายที่ดิน ทำให้คงเหลือเนื้อที่ประมาณ 542–2-53 ไร่ เพื่อให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) สามารถจัดซื้อที่ดินและนำมาจัดสรรให้แก่เกษตรกรผู้ไร้ที่ดินทำกินหรือมีที่ดินไม่เพียงพอต่อการครองชีพ หรือต้องเช่าที่ดินของผู้อื่นทำเกษตรกรรมโดยการเช่าหรือเช่าซื้อต่อไป

2.ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดิน ในท้องที่ตำบลปะลุรู ตำบลโต๊ะเต็ง และตำบลริโก๋ อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ. …. และ 3.ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดิน ในท้องที่ตำบลบางปอ อำเภอเมืองนราธิวาส และตำบลดุซงญอ ตำบลช้างเผือก ตำบลจะแนะ อำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ. …. ซึ่งทั้ง 2 ฉบับ เป็นการกำหนดเขตที่ดินในท้องที่ดังกล่าวเป็นเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โดยคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) มีมติเห็นชอบการจัดซื้อที่ดินและอนุมัติวงเงินการจัดซื้อที่ดินในท้องที่ของอำเภอสุไหงปาดี จำนวน 5 แห่ง รวมเนื้อที่ประมาณ 266-3-30.3 ไร่ วงเงินรวม 22.84 ล้านบาท และในท้องที่ของอำเภอเมืองนราธิวาส และอำเภอจะแนะ จำนวน 25 แปลง เนื้อที่รวมประมาณ 1,047 – 1 – 28.9 ไร่ วงเงินประมาณ 65.09 ล้านบาท

ทั้งนี้ พระราชกฤษฎีกาฯทั้ง 3 ฉบับ จะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรในจังหวัดนราธิวาสทำให้มีที่ดินทำกินเพียงพอต่อการครองชีพ ส่งผลให้มีความมั่นคงทางอาชีพและมีแรงจูงในการพัฒนาอาชีพต่อไป รวมทั้งสามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาการถูกชักจูงให้เคลื่อนไหวก่อความไม่สงบเรียบร้อยได้ในระดับหนึ่ง

เดินหน้า 9 ด่านชายแดนใต้

โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีสั่งการเร่งเดินหน้าพัฒนาด่านชายแดนไทย-มาเลเซีย (9ด่าน) ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการปักปันเขตแดนและเจรจากับประเทศเพื่อนให้ได้ข้อยุติ คาดว่ามูลค่าการลงทุน 7 แสนล้านบาท

ขณะที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์รายงานต่อครม.ว่า วันที่15-16ก.พ.นี้ จะมีการประชุมร่วมกับภาคเอกชนทุกฝ่ายเพื่อหารือแนวทางแก้ปัญหาการค้าชายแดนไทย-มาเลเซีย ซึ่งรวมถึงการพบปะกับกลุ่มธุรกิจมุสลิมในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ด้วย มากไปกว่านั้นจะพบกับรมต.พาณิชย์ มาเลเซีย และ จัดการพูดคุยระหว่างผู้ประกอบการไทยและนักธุรกิจรุ่นใหม่มาเลเซีย ในส่วนของสนามบินเบตง คาดว่าจะปิดให้บริการในครึ่งปีหลังนี้ จะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ปีละประมาณ 1.5ล้านคนต่อปี

คมนาคมขอผูกพัน 1.7 แสนล้าน

รวมถึงเห็นชอบให้กระทรวงคมนาคมขอตั้งงบประมาณปี 2564 จำนวน 46 โครงการ ระยะเวลาดำเนินการปี 2564-2567 วงเงิน 179,671 ล้านบาท โดยเป็นงบปี 2564 จำนวน 36,384 ล้านบาท และเห็นชอบให้การรถไฟแห่งประเทศไทยกู้เงินเพื่อบรรเทาการขาดสภาพคล่องในปีงบประมาณ 2563 วงเงิน 10,910 ล้านบาท และเงินกู้ระยะสั้น 800 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังเห็นชอบให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) เพิ่มทุนจาก 60,000 ล้านบาท เป็น 80,000 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 20,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ธ.ก.ส.จ่ายสินเชื่อให้เกษตรกรได้ 12 เท่า หรือ 240,000 ล้านบาท เพิ่มจีดีพีร้อยละ 0.1065 เป็นจีดีพีภาคเกษตรร้อยละ 1.31 หรือ 17,429 ล้านบาท

ทั้งนี้ ยังเห็นชอบงบประมาณเพื่อจัดซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬาระดับชาติ 5 รายการ อาทิ กีฬาโอลิมปิก โตเกียว 2020 วงเงิน 480 ล้านบาท แบ่งออกเป็นงบประมาณรายจ่ายประจำปี 240 ล้านบาท และจากกองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติ 240 ล้านบาท