“ประยุทธ์” ตั้ง “สมคิด” ล้วงลูกลงทุน กรรมการพิเศษเจรจาดึงเอกชนเร่งเมกะโปรเจ็กต์

เครดิตภาพ : thaigov

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2563 มีมติรับทราบตามคำสั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เสนอเป็นวาระ “ด่วนที่สุด” ให้แต่งตั้ง คณะกรรมการขับเคลื่อนการเจรจาการค้าและการลงทุน โดยให้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

ทั้งนี้ สาเหตุมาจากสถานการณ์เศรษฐกิจไทยส่งสัญญาณชะลอตัวลงอย่างชัดเจน และโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศที่มีอัตราการพึ่งพิงการส่งออกอยู่ในระดับค่อนข้างสูง อีกทั้งยังมีความอ่อนไหวต่อปัจจัยเสี่ยงภายในและนอกประเทศ

กรรมการชุดนี้มีอำนาจหน้าที่ กำหนดแนวทางหรือมาตรการด้านการเจรจาระหว่างประเทศด้านการคลัง การส่งเสริมการลงทุน รวมทั้งมาตรการด้านการร่วมทุนและมาตรการในการเชิญชวนภาคเอกชนเข้าร่วมลงทุนในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ กำกับและเร่งรัดการขับเคลื่อนแผนการลงทุนภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ ในช่วงปี 2563-2564 ให้แล้วเสร็จตามเวลาที่กำหนด

จัดทำโครงการและมาตรการด้านการเงินการคลัง พร้อมทั้งแผนปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจระยะเร่งด่วนและมาตรการด้านการร่วมทุน และมาตรการในการเชิญชวนภาคเอกชนเข้าร่วมลงทุน ในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐและรัฐวิสาหกิจต่อนายกรัฐมนตรี

คณะกรรมการชุดนี้ประกอบด้วย 25 คน ประกอบด้วย

1.รองนายกรัฐมนตรี ที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์  เป็นประธาน

2.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รองประธานกรรมการ

3. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม  กรรมการ

4. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กรรมการ

5. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กรรมการ

6. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน  กรรมการ

7. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กรรมการ

8. รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝายการเมือง (นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล) กรรมการ

9. ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ

10. ปลัดกระทรวงพาณิชย์

11. เลขาธิการคณะรัฐมนตรี

12. เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน

13.เลขาธิกาสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

14.เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ

15. ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ

16. ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ

17. ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ

18. ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

19. อธิบดีกรมเจรจาการระหว่างประเทศ

20. อธิบดีกรมบัญชีกลาง

21. เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

22. รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

23. ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ

24. ผู้แทนสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ผู้แทนกรมบัญชีกลาง

25. ผู้แทนสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

ทั้งนี้ นายกฐมนตรีอาจแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิตามที่เห็นสมควรเป็นกรรมการก็ได้

ที่ประชุมครม. ในวันดังกล่าว ยังเห็นชอบแผนเร่งด่วนการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เนื้อที่ 16,753 ไร่ เงินลงทุน 18,680 ล้านบาท เกิดการจ้างงาน 1 แสนอัตรา และแผนการขับเคลื่อนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษนราธิวาส (การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม) โดย ศอ.บต.จัดซื้อที่ดินเอกชน (บริษัทสวนยางไทย) จำนวน 1,683 ไร่ ในพื้นที่อำเภอยี่งอ และอำเภอเมืองนราธิวาส วงเงิน 390 ล้านบาท

เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินทำกิน 3 ฉบับ เนื้อที่ 1,855 ไร่ ในพื้นที่ จ.นราธิวาส ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน ได้แก่ 1.ตำบลปูโยะ และตำบลมูโนะ อำเภอสุไหงโก-ลก 2.ตำบลปะลุรู ตำบลโต๊ะเต็ง และตำบลริโก๋ อำเภอสุไหงปาดี 3.ตำบลบางปอ อำเภอเมืองนราธิวาส และตำบลดุซงญอ ตำบลช้างเผือก ตำบลจะแนะ อำเภอจะแนะ

นอกจากนี้ยังรับข้อเสนอการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน เช่น การเร่งรัดงบประมาณให้เกิดขึ้นในปี 2564 ในโครงสร้างพื้นฐานทางถนนเพื่อรองรับสนามบินเบตงจะเปิดให้บริการในช่วงกลางปี 2563 และทางรางเพื่อเชื่อมต่อการค้า การลงทุนไปยังมาเลเซียและสิงคโปร์ อาทิ เร่งรัดศึกษาการก่อสร้างทางรถไฟทางคู่จากสถานีสุไหงโก-ลก ถึงสถานีหาดใหญ่ 300 กิโลเมตร วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท และให้เจรจากับมาเลเซียเพื่อเชื่อมสถานีสุไหงโก-ลก ไป อ.ปาเสมัส รัฐกลันตัน 20 กิโลเมตร เพื่อเชื่อมต่อไปยังสิงคโปร์ ทั้งนี้ ให้เร่งมหาดไทยเจรจาเพื่อก่อสร้างสะพานข้ามไทย-มาเลเซีย แห่งที่ 2 วงเงิน 4,000 ล้านบาท

ขยายวงเงินและปรับปรุงหลักเกณฑ์โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) 10,000 ล้านบาท เดิม 25,000 ล้านบาท เพิ่มเป็น 35,000 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1.5 ต่อปี และต่ออายุออกไปอีก 5 ปี หรือ สิ้นสุดโครงการในปี 2570 (สิ้นสุดปี 2565) และปรับปรุงเงื่อนไขเพื่อให้ผู้ประกอบการรายใหม่เข้าร่วมได้

ทั้งนี้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี สั่งการให้ส่งเสริมการค้า การลงทุนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยการอัดยาแรงเพื่อจูงใจภาคเอกชนลงทุน เช่น การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยนำไปหักค่าใช้จ่ายได้ 100%

รวมถึงเห็นชอบให้กระทรวงคมนาคมขอตั้งงบประมาณปี 2564 จำนวน 46 โครงการ ระยะเวลาดำเนินการปี 2564-2567 วงเงิน 179,671 ล้านบาท โดยเป็นงบฯปี 2564 จำนวน 36,384 ล้านบาท และเห็นชอบให้การรถไฟแห่งประเทศไทยกู้เงินเพื่อบรรเทาการขาดสภาพคล่องในปีงบประมาณ 2563 วงเงิน 10,910 ล้านบาท และเงินกู้ระยะสั้น 800 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังเห็นชอบให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพิ่มทุนจาก 60,000 ล้านบาท เป็น 80,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 20,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ ธ.ก.ส.จ่ายสินเชื่อให้เกษตรกรได้ 12 เท่า หรือ 240,000 ล้านบาท เพิ่มจีดีพีร้อยละ 0.1065 เป็นจีดีพีภาคเกษตรร้อยละ 1.31 หรือ 17,429 ล้านบาท