“ชูศักดิ์” ปลดล็อกคดียุบพรรค เลิกล้มล้างประชาธิปไตย ปักธงแก้รัฐธรรมนูญ

สัมภาษณ์พิเศษ

โดย ณัฐวุฒิ กรัณยโสภณ

ในรอบทศวรรษกว่า ๆ มีพรรคการเมืองสำคัญที่ถูกยุบไล่เรียงเป็นประวัติศาสตร์ว่า ปี 2550 ศาลรัฐธรรมนูญยุบไทยรักไทย ปี 2551 ยุบพรรคพลังประชาชน ชาติไทย มัชฌิมาธิปไตย ปี 2561 ตัดสินยุบพรรคไทยรักษาชาติ

และในรอบทศวรรษที่การเมืองระอุ เลือดเดือด ข้อกล่าวหาที่มักนำมาสู่การทำลายล้างการเมือง คือ ข้อกล่าวหา ล้มล้าง-เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

มาถึงปี 2562 ต่อเนื่อง 2563 พรรคอนาคตใหม่เผชิญข้อกล่าวหา เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

เช่นเดียวกับเพื่อไทย ที่เข้าใจความรู้สึกนี้ดี เมื่อความพยายามการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 สมัยที่เป็นรัฐบาลเคยถูกฝ่ายตรงข้ามร้องศาลรัฐธรรมนูญว่ากระทำการเข้าข่ายล้มล้างการปกครองอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

“ประชาชาติธุรกิจ” สนทนากับ “ชูศักดิ์ ศิรินิล” รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย มือกฎหมายพรรค ในฐานะผู้เคยไป defend ต่อหน้าศาลรัฐธรรมนูญ จากข้อกล่าวหาเรื่องการล้มล้างการปกครอง

และยังเป็น 1 ในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาหลักเกณฑ์และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ถึงการปลดชนวน “กับดักยุบพรรค” และความหวังที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560

ยุบพรรค ผลพวง รธน.มีปัญหา

ทว่า ระหว่างเกมศึกษาแก้รัฐธรรมนูญ กลับถูกคั่นด้วยปม “ยุบพรรค” อนาคตใหม่ “ชูศักดิ์” บอกว่า นี่คือผลพวงของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่เป็นปัญหา

“เราเห็นปัญหากันมาพอควร เช่น ระบบเลือกตั้งเป็นอย่างไร การคิดคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เรื่องยุบพรรคก็เป็นปัญหารัฐธรรมนูญทั้งสิ้น”

“หากมีการยุบพรรคเกิดขึ้น ส.ส.ต้องหาพรรคใหม่ เมื่อเป็นเรื่องการถูกยุบพรรค ส.ส.มีอิสระเต็มที่จะไปอยู่อย่างไร ในพรรคใหม่ เรื่องลำดับบัญชีรายชื่อไม่ต้องคิดกัน เหมือนคล้าย ๆ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ซึ่งยุบพรรคไปอยู่พลังประชารัฐ โดยไม่ต้องคิดลำดับบัญชีรายชื่อ ที่ กกต.อ้างว่าเพราะไม่ใช่เลือกตั้งซ่อมแบบทุจริต เป็นเหตุผลที่ไปได้ไหม …ไปได้ แต่ไปแบบส่ายหน้า”

ล้มล้าง=ทำลายทางการเมือง

เกือบทุกครั้งที่ปม “ยุบพรรค” ถูกชงขึ้นศาลรัฐธรรมนูญ มักมาด้วยข้อหา “ล้มล้างการปกครอง” คล้ายความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญในปี 2555 ของพรรคเพื่อไทยนำไปสู่การยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ตัดสินเช่นกัน

“ชูศักดิ์” ประเมินความเสี่ยงนี้ว่า “วันที่ประชุม กมธ. มีการยกคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 2555 มาว่าอาจแก้ไขไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านการทำประชามติ ผมเองก็อยู่ในเหตุการณ์ที่ไป defend กับศาลรัฐธรรมนูญ ข้อแรก เป็นเพียงคำแนะนำของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่คำวินิจฉัยโดยตรง ข้อสอง ศาลบอกว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่การล้มล้างการปกครองประเทศ แต่แนะนำว่าเมื่อรัฐธรรมนูญผ่านประชามติจะแก้ไขทั้งฉบับก็ทำประชามติ แค่นั้นเอง”

“แต่รัฐธรรมนูญ 2540 และฉบับ 2550 การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนเรื่องการทำประชามติไว้ แต่ฉบับ 2560 เขียนเลยว่า แก้เรื่องอะไรให้ไปทำประชามติ แปลว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เปิดทางให้แก้ได้ แต่ต้องประชามติ เช่น แก้ไขมาตรา 256 ให้ไปทำประชามติ ก็แปลว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีทางออกไว้แล้ว ผมว่าล้มล้างคำวินิจฉัยที่ว่านั่นไปแล้ว จบโดยมาตรา 256 (8) ไปทำประชามติก็จบ แปลว่าทำได้”

“เพียงแต่ปัญหาขณะนี้ ฝ่ายที่ไม่ต้องการให้แก้ก็ไปยกเหตุผลนานา จะเป็นไปได้อย่างไรว่า จะแก้รัฐธรรมนูญทั้งที เป็นการล้มล้างการปกครองประเทศ ที่ผ่านมาเป็นเรื่องล้มล้างกันทางการเมืองมากกว่า คนที่ฉีกรัฐธรรมนูญ จริง ๆ แล้วคืออะไร (หัวเราะ) แต่คนจะแก้รัฐธรรมนูญ บอกว่าล้มล้างการปกครองประเทศ เอามาตรา 68 มาใช้ เป็นประวัติศาสตร์ที่น่าละอายมาก”

“ดังนั้น ไม่มีอุปสรรคสำหรับประวัติศาสตร์แบบนั้น มันไม่ควรจะเป็นแบบนั้นอีกแล้ว รัฐประหารต่างหากที่ล้มล้างการปกครอง แก้กฎหมายจะไปล้มล้างการปกครองประเทศได้อย่างไร”

ยังเห็นแสงสว่าง แก้รัฐธรรมนูญ

ชูศักดิ์เชื่อว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ยังมีแสงสว่าง วางเป้าหมาย ทำให้สังคมเห็นว่ารัฐธรรมนูญ 2560 เป็นปัญหา แม้ยากแสนเข็ญ

“ปัญหาใหญ่อยู่ที่ว่าจะต้องเห็นพ้องต้องกัน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งรัฐบาล ฝ่ายค้าน วุฒิสภา เขียนไว้ในมาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญ ชัดเจน ถ้าไม่มีความรู้สึกว่าเห็นพ้องต้องกันว่าควรจะแก้รัฐธรรมนูญ ก็แก้ไขลำบาก สิ่งที่ต้องพยายามทำให้ได้ คือ ขอความร่วมมือจากทุกฝ่าย มองด้วยความเป็นจริงแล้วเห็นว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มีปัญหา”

“ระบบที่นำมาใช้มีปัญหา กว่าจะคิดคำนวณ ส.ส.ได้ เลือดตาแทบกระเด็น ได้รัฐบาลปริ่มน้ำ 19 พรรค ทำให้รัฐบาลอ่อนแอ ดังนั้น ความพยายามของ กมธ.จะต้องชี้ออกมา หรือส่งเสียงออกมาให้เป็นเอกภาพว่า รัฐธรรมนูญนี้จะต้องแก้”

“ถ้าส่งเสียงแล้วออกดังอย่างเป็นเอกภาพ ตรงนั้นจะเป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่ว่า ทุกฝ่ายเห็นควร ให้ความร่วมมือว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องแก้”

ปลุกพลังสังคม

ทำอย่างไรให้เสียงข้างนอก (ประชาชน) ดังเข้ามาถึงสภา… ชูศักดิ์ตอบว่า “ในการประชุม กมธ.เห็นว่าต้องการให้มีการรับฟังความเห็นจากประชาชนอย่างกว้างขวาง บางท่านเสนอว่าจะรับฟังอย่างทั่วถึง กมธ.บางท่าน เสนอทำประชามติ 2 ครั้ง 3 ครั้ง ว่าจะแก้ ในชั้นนี้ ซึ่งเสียงของประชาชนเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญ ถ้าประชาชนรู้สึกว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหาแล้วต้องแก้ ก็ต้องเป็นไปแบบนั้น เสียงของประชาชนจะเป็นเสียงที่มีน้ำหนัก ที่ทำให้องคาพยพที่เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องหันมามอง”

“แม้จะดูเหมือนว่า เสียง กมธ.ส่วนใหญ่ไม่อยากให้แก้ แต่ไม่เชื่อว่าจะเป็นอย่างนั้นทั้งหมด ซีกฝ่ายรัฐบาลก็มีที่อยากจะแก้ ไม่ได้เป็นเอกภาพโดยชัดเจนว่าแพ็กกันมา”

แนวทางแก้ล็อกตาย มาตรา 256

ขณะนี้ กมธ.พิจารณาไปพร้อมกัน 4 ทาง 1.รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหาอะไรบ้าง ถ้าจะแก้รายมาตราควรจะแก้อะไร 2.การแก้ไขให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพื่อแก้ทั้งฉบับโดยมีตัวแทนประชาชนมาแก้ 3.บางคนบอกว่าเอาระบบเลือกตั้งอย่างเดียวก่อนไหม เป็นเรื่องที่สลับซับซ้อนเหลือเกิน 4.แก้มาตรา 256 ก่อนไหม เพราะเป็นหัวใจสำคัญ

“ต้องยอมรับกันว่าการแก้ไขมาตรา 256 เป็นเรื่องใหญ่ เพราะเป็นวิธีแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถ้าจะแก้รายมาตราก็ต้องผ่าน 256 จะแก้ไขระบบเลือกตั้งก็ต้องผ่านมาตรา 256 โดยต้องใช้เสียงส.ว. 80 กว่าคน ร่วมเห็นชอบในวาระที่ 1 วาระที่ 3 ดังนั้นถ้าตราบใดที่ไม่คิดว่า มาตรา 256 เป็นปัญหา อุปสรรค รัฐธรรมนูญจะแก้ไขไม่ได้เลย ผมคิดว่ามาตรา 256 เป็นหัวใจสำคัญ”

“มาตรา 256 คือ มาตราที่ไม่มีที่ใดในโลกเขาทำกัน ลองไปดูสิ มีประเทศไหนมี 256 เหมือนแบบนี้ไหม คนที่คิดจะแก้ 256 คิดจะให้ประเทศไทยอยู่ในโลกความเป็นจริง ความเป็นธรรม”

“จริงอยู่ที่รัฐธรรมนูญต้องแก้ไขยาก แต่ในอดีตที่ผ่านมายากของเขาไม่ใช่เข็นครกขึ้นภูเขา หรือทำไม่ได้เลยแบบปัจจุบัน และยิ่ง ส.ว.มาอย่างไรก็เห็นอยู่ เหมือนกับปิดประตู”

“ต้องคิดว่าการแก้ไขมาตรา 256 ดึงรัฐธรรมนูญกลับเข้ามาสู่ความเป็นจริง เป็นธรรมกับทุกฝ่าย รัฐธรรมนูญที่ดีนั้นต้องมีความเป็นกลาง มีคำตอบให้กับองคาพยพทั้งหลายทั้งปวง มีหลักนิติรัฐ แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่เป็นกลาง ผมฟันธง ถือว่าเป็นภารกิจทั้งใหญ่และยาก ต้องใช้ความพยายามอย่างยิ่งยวด”

แต่จะทำอย่างไรให้เสียงมหาชนสามารถใหญ่มากพอที่จะกดดันให้สภาปลดล็อกมาตรา 256 ได้ “ชูศักดิ์” บอกว่าต้องทำไปอย่างเต็มที่ เต็มกำลังให้ประชาชนเห็นพ้องต้องกัน คล้าย ๆ มองภาพรัฐธรรมนูญ 2540 เดิมนักการเมือง ไม่เห็นพ้องต้องกันอยู่เยอะ พรรคบางพรรคไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข แต่พอเกิดกระแสของประชาชน เกิดธงเขียวก็ไป

รธน.-ปัญหา ศก. เรื่องเดียวกัน

ระหว่างการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้องประชาชน กับการแก้รัฐธรรมนูญ จะอธิบายอย่างไรให้ชาวบ้านเห็นว่ามีผลต่อประชาชนทั้งสองอย่าง ?

มือกฎหมายเพื่อไทยตอบว่า”ที่ประชาชนประสบปัญหาขณะนี้ เพราะฝีมือรัฐบาล ถามว่ารัฐบาลนี้มายังไงก็มาจากรัฐธรรมนูญ จะอธิบายว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ใช่หรือที่ก่อตั้งรัฐบาลแบบนี้ แล้วท้ายที่สุดทำให้ประชาชนยากลำบากแบบนี้ จะว่ารัฐธรรมนูญไม่เกี่ยวกับปากท้องประชาชนจะว่าไม่ได้เลย เพราะมาจากรัฐธรรมนูญนั่นแหละ”

“ถ้าสร้างรัฐธรรมนูญให้รัฐบาลมีความเข้มแข็งสามารถกำหนดนโยบายได้อย่างเต็มที่ เต็มความสามารถ หลายพรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาลขณะนี้ออกนโยบายอะไรมาระหว่างการหาเสียง ท้ายที่สุดก็ทำไม่ได้ ติดล็อกเพราะเป็นรัฐบาลหลายพรรค เช่น ปัญหาค่าแรง เป็นผลจากการมีรัฐบาล มีรัฐธรรมนูญแบบนี้”

“จริง ๆ แล้วปัญหารัฐธรรมนูญเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับปัญหาปากท้องของประชาชนโดยตรงเลย ไม่ใช่โดยอ้อม”

แล้ว “เพื่อไทย” ในฐานะพี่ใหญ่ฝ่ายค้าน จะดันแคมเปญไปสุดทางแค่ไหน เขาตอบว่า “มีโครงการต่าง ๆ มากมาย ไปพบปะกับประชาชน ปีที่แล้ว 6-7 ครั้ง ปีนี้เช่นกัน ในนามพรรคร่วมฝ่ายค้าน เพราะต้องชี้ปัญหาให้เห็น บอกชัด ๆ ว่าถ้าไม่แก้ก็ตายซากไปอย่างนี้ ปัญหาของประเทศก็จะยิ่งดิ่งลงไป เพียงแต่จะหาถ้อยคำก็ว่ากันไป