ประยุทธ์ ถก ครม.เศรษฐกิจ เล็งคลอดมาตรการเยียวยาท่องเที่ยว-พิษโคโรนา ตั้งรับพ.ร.บ.งบ 63 ดีเลย์

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประชุมผู้นำ APEC
แฟ้มภาพ

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงผลกระทบจากการเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้าเนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องของประธานสภาผู้แทนราษฎรกรณีร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยนัดยื่นคำชี้แจงเป็นหนังสือพร้อมข้อมูลต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 63 ว่า ได้สั่งการให้สำหนักงบประมาณเตรียมงบลงทุนเหลื่อมปีไว้แล้ว ขณะที่งบลงทุนโครงการใหม่ได้เตรียมการไว้แล้ว ส่วนจะออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงินหรือไม่นั้น ต้องรอจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญวินิฉัย

ส่วนมาตรการเฉพาะหน้าหากศาลรัฐธรรมนูญใช้ระยะเวลาพิจารณาวินิจฉัยยาวนานออกไป 2-3 เดือน สำนักงบประมาณโดยอำนาจผู้อำนวยการสำนักงบประมาณตามพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณขยายกรอบเวลาและวงเงินการใช้กรอบวงเงินงบประมาณเกินกึ่งหนึ่ง หรือ ร้อยละ 50 เป็น ร้อยละ 75 ไปพลางก่อน ซึ่งจะทำให้การจ่ายเงินเดือนของข้าราชการไม่ได้รับผลกระทบ

ทั้งนี้ หากปีนี้งบดีเลย์ออกไป อีกทางออกหนึ่งอาจจะต้องนำร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 63 เสนอให้สภาพิจารณาใหม่ 3 วาระรวด อย่างไรก็ตามรัฐบาลได้เตรียมทางออกไว้หลาย ๆ ทาง แต่ต้องยอมรับว่าคงไม่ปกติเหมือนการใช้งบประมาณตามวิธีการปกติ

“อยากให้เอกชนออกมาลงทุน ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักร ทั้งมาตรการทางภาษีหักค่าใช้จ่ายได้ 2 เท่า ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร และสินเชื่อ เพราะขณะนี้ภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นเครื่องยนต์เดียวที่เหลืออยู่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา รวมถึงตัวเลขภาคการส่งออกที่ติดลบ”

นายสมคิดกล่าวถึงมาตรการเยียวยาภาคท่องเที่ยวหลังจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ว่า สั่งการให้กระทรวงการคลังออกมาตรการช่วยเหลือภาคท่องเที่ยว โดยเฉพาะการส่งเสริมคนไทยท่องเที่ยวภายในประเทศเพื่อชดเชยนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลง

นายสมคิดกล่าวว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติต้องช่วยดูแลเขาอย่างดี ต้องเห็นใจว่าประเทศเขามีปัญหา หากปฏิบัติกับเขาไม่ดี เขาจะไม่มาประเทศเราอีก จึงต้องบริหารจัดการภายในประเทศให้มีประสิทธิภาพที่สุด รัฐบาลจีนมีความเด็ดขาดชัดเจน เชื่อว่าไม่ช้าจะคุมการระบาดของโรคได้ ซึ่งระบบสาธารณสุขของไทยมีความเข้มแข็ง เราผ่านการระบาดของโรคซาร์และไข้หวัดนกมาแล้ว มีภูมิคุ้มกันพอสมควร

“ทุกคนต้องช่วยกันเพื่อผ่านภาวะมรสุมนี้ไปให้ได้ ด้านตัวเลขจีดีพี อย่าไปดูครึ่งปีแรก ให้ดูกันครึ่งปีหลัง ส่วนชการส่งออกเดือนธ.ค.ที่เพิ่มประกาศออกมาลดลง 1.28% เมื่อแปลงเป็นเงินบาท ติดลบ 9% เพราะเงินบาทแข็งค่า รัฐบาลไม่สามารถไปแทรกแซงค่าเงินบาทได้ แต่ก็มีการส่งสัญญาณไปที่แบงก์ชาติเป็นระยะๆในเรื่องค่าเงินบาทให้ดูแลให้แข่งขันได้”

ขณะที่นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวว่าได้ร่วมหารือกับผู้บริหารของกระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดเตรียมมาตรการรองรับในทุกๆกรณี รวมถึงการเตรียมการล่วงหน้าในระยะยาวด้วย โดยที่ประชุมได้เสนอมาตรการ เพื่อรองรับในหลายแนวทางด้วยกัน และพร้อมที่จะนำมาใช้ได้อย่างทันท่วงที ทั้งเรื่องของการเบิกจ่ายเงินเดือนข้าราชการ และเงินลงทุนของภาครัฐ เงินลงทุนรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

“หน้าที่ของกระทรวงการคลัง คือเป็นหน่วยงานสำคัญในการดูแลงบประมาณ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไป ดังนั้นขอให้พี่น้องประชาชน มีความมั่นใจว่า กระทรวงการคลังพร้อมที่จะทำตามภารกิจดังกล่าวอย่างเต็มที่”

ด้านนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง กล่าวว่า ได้ประสานให้กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ทำแผนที่จะเข้าที่ประชุมคณะกรรมการร่วมรัฐมนตรีเศรษฐกิต (ครม.เศรษฐกิจ) จากเดิมที่จะทำการกระตุ้นตลาดท่องเที่ยว ให้เปลี่ยนเป็นการหามาตรการช่วยบรรเทาผลกระทบให้กับผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยวแทน รอให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาดีขึ้น คาดว่าจะใช้เวลา 2 เดือนหรือช่วงเดือนมี.ค. ค่อยนำแผนฟื้นฟูและมาตรการกระตุ้นตลาดท่องเที่ยวเข้าที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจอีกครั้งหนึ่ง

สำหรับข้อเสนอของภาคเอกชนท่องเที่ยวที่ต้องการให้ธนาคารพิจารณาผ่อนผันการชำระหนี้สินให้ 6 เดือน ในฐานะที่เป็นนายแบงค์มาก่อน คิดว่าขอความร่วมมือได้แต่ละธนาคารยินดีช่วยอยู่แล้ว เพราะเหตุที่เขาทำธุรกิจไม่ได้ ไม่ใช่เกิดจากเขา ตอนนี้ต้องช่วยให้ทุกคนผ่านไปให้ได้ และเรื่องที่ขอให้ตั้งกองทุนหรือสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้ในวงเงิน 10,000 ล้านบาทนั้นจะรับไว้พิจารณา ส่วนเรื่องขอเลื่อนการจ่ายภาษีนิติบุคคลออกไปก่อน ที่จริงนายสมคิด เคยมอบให้กระทรวงคลังไปคิดเพื่อผ่อนผันให้ธุรกิจขนาดกลางและย่อม

“ภาคการท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจสำคัญที่เหลืออยู่ คาดว่ากว่าจะกลับมาปกติ อย่างน้อยใช้เวลา 3-4 เดือน โดย ครม.เศรษฐกิจคงต้องหารือผลกระทบที่มีต่อจีดีพีปี 2563 ซึ่งเดิมสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดว่าจะขยายตัว 2.7-3.7% โดยมีค่ากลางที่ 3.2% โดยเอาข้อมูลล่าสุดของไตรมาส 4/2562 มาดูด้วย เพื่อดูว่ามีความจำเป็นต้องเสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มอีก 1 ชุดหรือเปล่า เพราะงบประมาณประจำปี 2563 ออกล่าช้า”

ทั้งนี้ การประชุมครม.เศรษฐกิจในวันที่ 31 ม.ค.นี้ มีวาระการพิจารณา 3 เรื่องสำคัญ ได้แก่ 1.มาตการบรรเทาผลกระทบของภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา 2.ข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดและไตรมาส 4 เพื่อพิจารณาว่าจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกชุดหนึ่งออกมาหรือไม่ รวมถึงการแก้ปัญหาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 63 ล่าช้า ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้อง และ 3.เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (NEC) และเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ-ใต้-ตะวันออก (NSEEC)