วันนอร์ : พิสูจน์ฝีมือฝ่ายค้าน แทง “ประยุทธ์” ทะลุรัฐบาลทายาท คสช.

"วันมูหะมัดนอร์ มะทา" หัวหน้าพรรคประชาชาติ

สัมภาษณ์พิเศษ โดย ณัฐวุฒิ กรัณยโสภณ

ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม พร้อมรัฐมนตรีอีก 5 คน โดย 6 พรรคฝ่ายค้านถูกฝ่ายรัฐบาลดูถูก-ดูแคลนว่าไม่อาจทำให้พรรคฝ่ายรัฐบาลระคายผิว เพราะประเมินว่าข้อมูลฝ่ายค้านแค่เฉียด แต่ไม่ถึงตัว ไม่ถึงขั้นให้ยุบสภา-ลาออก

การซักฟอกเป็นแค่ “พิธีกรรม-กำมะลอ” ทว่า “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” หัวหน้าพรรคประชาชาติ 1 ใน 6 พรรคฝ่ายค้าน ให้สัมภาษณ์ผ่าน “ประชาชาติธุรกิจ” ไม่คิดเช่นนั้น ข้อมูลของฝ่ายค้านอาจทำให้ “พล.อ.ประยุทธ์” ต้องถอย…

Q : พรรคประชาชาติจะขีดวงอภิปรายไม่ไว้วางใจใครบ้าง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ส่วนคนอื่นยังไม่ค่อยชัดเจน น้ำหนักอยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ รายละเอียดไม่สามารถพูดได้ เพราะถ้าพูดแล้วเดี๋ยวเขาไปเตรียมตัว ต้องให้เขาเดา สมัยก่อนผมเป็นรัฐมนตรี ก็อยากรู้ว่าฝ่ายค้านจะพูดอะไรบ้าง แต่หัวข้อใหญ่ ๆ คือ ไม่มีประสิทธิภาพการทำงาน แก้ปัญหาของประชาชนไม่ได้ ทำรัฐประหาร ไม่เลื่อมใสประชาธิปไตย เผด็จการ และความซื่อสัตย์สุจริต เอื้อประโยชน์พวกพ้อง ในญัตติที่ฝ่ายค้านยื่นไปจะครอบคลุม บอกข้อสอบไปแล้ว

Q : เหมือนข้อสอบชุดเดิมที่ฝ่ายค้านเคยอภิปรายในสภา

ต้องไม่ซ้ำ ซ้ำมีบ้างเพื่อนำไปสู่ประเด็น ถ้าซ้ำแบบเดิมคนก็เบื่อหน่าย ต้องมีอะไรใหม่ ซึ่งมีเยอะเราพูดในที่ประชุมของฝ่ายค้านว่าการอภิปรายรัฐมนตรีคราวนี้ต้องเป็นเรื่องใหม่ที่คนยังไม่รู้ และพูดแล้วมันมีคุณภาพ ประจานคนที่ถูกพูดถึงได้…มีน้ำหนัก ผมฟังสิ่งที่ฝ่ายค้านคนอื่น พูดคร่าว ๆ ยัง โอ้โห…ขนาดนี้เลยหรือ เพราะจะเป็นข้อมูลใหม่

เชื่อว่าประชาชนจะตกใจ คนที่ถูกอภิปรายนอกจาก ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ คนอื่นบริหารราชการมานาน ช่วงที่เป็น คสช.ทำงานสบาย ไม่มีใครตรวจสอบถ้าตรวจสอบก็จะเจอเยอะ

Q : เหตุผลที่แตะไปรัฐบาลยุค คสช.

ถ้าเกิดความเสียหายถึงปัจจุบันก็ต้องอภิปราย เพราะช่วงนั้นยังไม่มีการตรวจสอบ แต่คนเหล่านี้ยังไม่ผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพราะฝ่ายค้านเพิ่งเข้ามา และโดยทั่วไปฝ่ายค้านจะไม่ตรวจสอบซ้ำในประเด็นเดิม ถ้ามีประเด็นใดที่เขาทำแล้วเสียหายก็ตรวจสอบได้ กฎหมายไม่ได้ห้าม

มีหลายประเด็นที่เป็นเรื่องทุจริต แต่ยกเว้นเรื่องคุณสมบัติจะต้องเป็นเรื่องปัจจุบัน แต่ถ้าเรื่องพฤติกรรมของการทำงานสามารถเอาเรื่องเก่ามาได้

Q : จะถูกเตะสกัดจากฝ่ายค้านหรือไม่ เพราะ คสช.ไม่ใช่รัฐบาลปัจจุบัน

เหมือนกัน เพราะคนเดียวกันทำให้เกิดความเสียหาย ไม่จำเป็นต้องพูดถึงรัฐบาล ดังนั้น จะเห็นว่าผู้ถูกอภิปรายส่วนใหญ่เป็นรัฐบาล คสช.ใช่ไหม คนที่เป็นรัฐมนตรี 4-5 เดือนยังหาความผิดไม่ค่อยชัดเจน คนบอกว่าทำไมมีแต่พรรคพลังประชารัฐ ก็เพราะพวกนี้เข้ามาตั้งแต่ คสช.พฤติกรรมในอดีตสืบทอดอำนาจมา ก็ต้องเอา (อภิปราย) ส่วนคนอื่นความผิดยังไม่ชัดเจน พออภิปรายไป เอ้า…ยังไม่ชัด

Q : องครักษ์ คสช.จะขัดขวางไม่ได้ แม้เป็นเรื่องเก่าสมัยก่อน

ต้องให้ไปดูมีข้อบังคับข้อไหนห้ามบ้าง รัฐธรรมนูญห้ามไหม ถ้าไม่มีก็พูดได้ อยู่ที่กติกา จะไปกลัวทำไมสมัย คสช. ทำชั่วสมัย คสช.ได้เหรอ

Q : ข้อมูลสามารถสร้างความเสียหายฝ่ายรัฐบาลได้แค่ไหน

แน่นอน ต้องสร้างความเสียหายให้แก่บุคคลและรัฐบาล ถ้าไม่สร้างความเสียหายจะไม่ใช่อภิปรายไม่ไว้วางใจ มันเป็นกระทู้ ญัตติทั่วไป ส่วนจะเสียหายแค่ไหน การปรับ ครม.ไม่ใช่อำนาจของเรา อยู่ที่นายกฯ แต่ถ้าข้อมูลชัดเจน ไม่ปรับนายกฯก็เสียหาย เราทำงานตรวจสอบเราแคร์ความรู้สึกประชาชนมากกว่าว่าประชาชนเห็นด้วยกับเราหรือไม่ ถ้าพูดไม่มีน้ำหนักฝ่ายค้านก็เสียหาย ก็ต้องวัดกัน หรือถ้ารัฐบาลตอบได้ดีก็ได้คะแนนจากประชาชนเอง

Q : อยู่การเมืองมา 40 ปี มองฝีมือการทำงานรัฐบาลอย่างไร

ไม่มีประสิทธิภาพ เราเห็น ๆ อยู่ โดยเฉพาะปัญหาปากท้องของประชาชน ไปถามใครก็ได้ว่ารัฐบาลบริหารดีไหม เห็นชัดเจนบริหารไม่ได้ คนที่เคยทำรัฐประหารแล้วทำงาน เมื่อเป็นรัฐบาลแบบนี้เขาก็ต้องคิดแบบเดิม สำเร็จยากเพราะเขาเลือกพวกพ้องมา ไม่ค่อยมีฝีมือ ในยุคเขาต้องอาศัยคนมีฝีมือ โดยเฉพาะปัญหาปากท้อง ปัญหายาเสพติด ความแตกแยกของคนในชาติ ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ไม่เห็นแก้ปัญหาอะไร ไม่คุ้มค่ากับงบฯที่ลงไป

ความจริงเมื่อปฏิวัติเสร็จแล้วก็คืนอำนาจให้ประชาชนในช่วงเวลาที่เหมาะสม แต่ตอนนี้ไม่เหมาะสมสำหรับรัฐบาลที่จะใช้อำนาจเผด็จการ ต้องใช้คนที่มีฝีมือ

Q : แม้มีกำลังเสริมจากนักการเมืองอาชีพเข้าไป แต่ไม่ได้แก้ปัญหา

สังคมไทยสำคัญที่หัว สำคัญที่นายกฯ สังคมไทยเคารพกัน นายกฯไม่ขยับ คนรอง ๆ ก็ไม่กล้าจะทำอะไร ต้องดูทิศทางของนายกฯ ทางเดียวที่จะทำได้ต้องเปลี่ยนตัวนายกฯ ไม่ได้หมายความว่า ฝ่ายค้านอยากไปเป็นรัฐบาลเองนะ ฝ่ายไหนเป็นก็แล้วแต่ พล.อ.ประยุทธ์ไม่เหมาะสม ไม่ใช่สถานการณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์

ปฏิวัติรัฐประหารก็อาจจะเป็นนายกฯชั่วคราว นายกฯเฉพาะกิจได้ แต่นายกฯแก้ปัญหาของประเทศในระยะเวลา 3-5 ปีคงไม่เหมาะ สงสารประชาชน

Q : ผลงานของรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจในอดีต ต่างจากยุคนี้อย่างไร

ตั้งแต่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ปฏิวัติเปิดทางให้ตัวเองมาเป็นนายกฯ ก็ไม่ได้เด่นอะไร เพราะมีอำนาจทางการปฏิวัติ ท้ายที่สุดถูกลูกน้องตัวเองปฏิวัติก็ต้องหนีไปตายต่างประเทศ นี่คือคนปฏิวัติ สมัยต่อมาคือ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ถูกยึดทรัพย์ เสียชื่อเสียง จอมพลสฤษดิ์อาจใช้คนเป็น แก้ปัญหาของชาติไปได้บ้าง ส่วนจอมพลถนอม กิตติขจร มาอีหรอบเดิม สรุปแล้วรัฐประหารไม่สามารถแก้ปัญหาประเทศอย่างยั่งยืนได้ประเทศเรามีการรัฐประหาร 13 ครั้ง หลังการรัฐประหารก็แย่ ช่วงที่รุ่งเรืองบ้างก็มีรัฐบาลมาจากประชาชน ซึ่งมีโอกาสน้อยมาก มีระยะเวลาสั้น ๆ พล.อ.ประยุทธ์ก็เป็นหนึ่งในรัฐบาลที่มาจากรัฐประหารและสืบทอดอำนาจ

Q : ในกรณี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

แม้ไม่ได้ยึดอำนาจ แต่ก็มาจากรัฐธรรมนูญที่เปิดช่องสืบทอดอำนาจ พล.อ.เปรมไม่ได้สืบทอดอำนาจจากการปฏิวัติ พรรคการเมืองทั้งหลายจากการเลือกตั้งไปเชิญ พล.อ.เปรมมาเป็นนายกฯ แล้วบุคลิกของนายกฯเปรมมีความซื่อสัตย์ สุจริต และใช้คนเก่ง ๆ เป็นที่ปรึกษาแล้วทำงาน เพียงแต่นายกฯ เปรมไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ตอนหลังคน อยากให้แกเป็นอีกแกยังไม่เป็น ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ คนละเรื่อง นี่อยากเป็น ปฏิวัติเอง สร้างรัฐธรรมนูญเพื่ออำนาจตัวเอง ตั้ง ส.ว.ด้วยมือของตัวเอง

Q : ยุคนี้อาจมีสถานการณ์ที่อ่อนไหว จนทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ต้องเป็นนายกฯต่อ

แม้ไปต่อ ก็ไปยาก ดื้อไปได้ แต่สร้างความลำบากให้กับประเทศและตัวแกเองด้วย จะแพ้ภัยตัวเอง หรือประชาชนไม่ยินยอม ต้องฟังการอภิปราย ฝ่ายค้านจะชี้แจงแต่ละประเด็นชัดเจน แกฟังแล้วคงคิดว่า…ถ้าแกไม่ดื้อนะ คงถอย

ยุคของ พล.อ.ประยุทธ์ และยุคของ คสช.หมดแล้ว อย่าไปเชื่อคนยุ เพราะคนยุเขาอยากมีอำนาจจากนายกฯ ถ้าเชื่อคนอื่นแกจะเสียหาย

Q : ฝ่ายค้านประเมินว่าล้มรัฐบาลในสภาไม่ได้ แล้วอะไรที่จะล้มได้

ประชาชน ถ้าประชาชนเห็นว่ารัฐบาลแย่จริง ๆ ประชาชนคงต้องขับไล่ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง ถ้าประชาชนไม่ยอมใครก็อยู่ไม่ได้ หรืออยู่ได้ก็ลำบาก ความศรัทธาของประชาชนสำคัญ อยากจะดูอภิปรายและปฏิกิริยาของประชาชน

Q : ตอนนี้หมดศรัทธารัฐบาลหรือยัง

5-6 เดือนพอเห็นฝีมือว่าแก้ปัญหาแล้วประชาชนอยากให้ทำต่อ ผมยังไม่เห็นประเด็น นอกจากมีความสงบ เพราะกำลังทหารเป็นเอกภาพ มีความสงบ แต่ไม่มีความสุข ไม่ใช่ลักษณะของการบริหารที่ดี ประชาชนปากท้องต้องอิ่ม และมีความสุข

Q : ที่ฝ่ายค้านยึกยักเรื่องยื่นญัตติ มีดีลกันกับฝ่ายรัฐบาลบางพรรค บางคน

คราวนี้ พรรคฝ่ายค้านมีจำนวนมากพรรค ดังนั้น การไปดีลพรรคใดพรรคหนึ่งคงดีลยาก เพราะถ้าพรรคนี้ไม่เอา แต่พรรคอื่นเอาก็ต้องเอา เพราะการยื่นญัตติเป็นญัตติรวม ถ้าพรรคอื่นไม่เห็นด้วยก็มีสิทธิยื่นญัตติเอง ไม่จำเป็นต้องอาศัยญัตติเดียว อาจจะมี 2-3 ญัตติก็ได้ หากไม่ลงตัวกัน เพียงแต่ว่าต้องมีเสียง 1 ใน 5 รับรอง

Q : เหตุผลที่ไม่มีชื่อซักฟอกรัฐมนตรีประชาธิปัตย์และภูมิใจไทย

ข้อมูลพอมี แต่ไม่ชัด ยังเทา ๆ ยังอ้ำอึ้งอยู่ คนที่ขออภิปรายบอกว่าเอาก็ได้ ไม่เอาก็ได้ รอจนวินาทีสุดท้าย ไม่รู้ว่าจะตัดสินใจอย่างไร แต่ถ้าบอกผมชัดเจนฟังข้อมูลของผมแล้วล้มได้ อย่างนี้เอาไปเลย ผมบอกในที่ประชุมว่า หากไม่พอใจสามารถเขียนญัตติยื่นเองได้ เพียงแต่หาเสียงสนับสนุนให้ครบ แต่การอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นเรื่องของเวลาด้วย หากมีผู้ถูกอภิปรายหลายคน

ผู้อภิปรายก็เยอะ ชาวบ้านอาจจะเบื่อ ผมอยากให้ประชาชนระทึกใจทุกขั้นตอน จึงต้องคัดคนที่จะอภิปรายชัดเจน คนถึงจะติดตาม ถ้าแตะเบา ๆ เหมือนญัตติทั่วไป เหมือนกระทู้ ระดับกระทู้เราไม่เอา ถ้าเป็นบทลงโทษก็ต้องระดับประหารชีวิตทางการเมือง พูดแล้วเขารู้สึกละอายแก่ใจ

Q : 6 รัฐมนตรี โทษประหารชีวิตกี่คน

บางท่านอาจประหารชีวิต บางท่านอาจจำคุกตลอดชีวิต

Q : คนการเมืองดูถูกฝ่ายค้านว่าจะอภิปรายพอเป็นพิธี

เสียเวลาทั้งรัฐบาล และเสียหายกับฝ่ายค้านเอง ถ้าประชาชนเห็น นี่หรือฝีมือฝ่ายค้าน ต่อไปจะเป็นรัฐบาลก็ยาก นี่จะเป็นบทพิสูจน์ฝีมือฝ่ายค้านด้วย การเปลี่ยนรัฐบาลเป็นหน้าที่ของฝ่ายค้านที่ถูกกำหนดให้ทำ แต่ต้องทำให้ดีที่สุด