“สมคิด” เบิกทาง “ประยุทธ์” ลุยร่วมลงทุนญี่ปุ่น-สหรัฐ หลังอภิปรายไม่ไว้วางใจ

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าภายหลัง Mr.Michael George De Sombre เอกอัคราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทยเข้าพบ ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะเดินทางไปลอสแอนเจลิส ( L.A.) สหรัฐอเมริกา ในวันที่ 14 มีนาคม เพื่อเข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำสหรัฐ-อาเซียน โดยจะมีการหารือเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างไทย-สหรัฐ ผ่านความร่วมมือยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี – เจ้าพระยา – แม่โขง ( Ayeyawady – Chao Phraya – Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) และความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Sub-regional : GMS) อาทิ ด้านความร่วมมือด้านโครงสร้างพื้นฐาน และคลื่นความถี่ 5 G ซึ่งเป็นเวทีที่สำคัญมากเพราะประเทศไทยจะได้ประโยชน์สูงสุด

นายสมคิดกล่าวว่า ตนจะเดินทางไปสหรัฐก่อนล่วงหน้านายกรัฐมนตรี 5 วัน พร้อมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เพื่อสานต่อการลงทุน เน้นความร่วมมือด้านการศึกษาผ่านมหาวิทยาลัยให้เกิดการส่งเสริมการลงทุนและพัฒนาและสร้างความสัมพันธ์ในเชิงลึกกับสหรัฐ เนื่องจากสหรัฐให้ความสนใจที่จะเข้ามาในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งถือเป็นแม่เหล็กให้บริษัทอื่น ๆ เข้ามาลงทุนในไทย ทั้งบริษัทใหญ่ และ Startups ทั้งนี้ ตนต้องการให้ขยายความร่วมมือกับไทยในเชิงลึกจากสหรัฐ-อาเซียน เป็นไทย-สหรัฐ

“สหรัฐต้องการขยายการลงทุนในย่านอาเซียน เช่น บริษัทเอ็กซอน โมบิล ที่ต้องการขยายการผลิตในไทยเพื่อต่อไปยังกลุ่มประเทศ CLMV ขณะเดียวกันบริษัท ปตท.ก็จะไปลงทุนในมลรัฐโอไอโอ 13 พันล้านสหรัฐ”

นายสมคิดกล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ตนจะเดินทางไปญี่ปุ่นระหว่างวันที่ 16-19 กุมภาพันธ์ เพื่อสร้างความมั่นใจในนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก-ตะวันตก (EWEC) โดยจะพบกับเลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม (METI) และสำนักนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น

“ความตั้งใจคือต้องการให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ไปผูกกับ ธ.ก.ส.ของญี่ปุ่น ผ่านประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) เพื่อหาโมเดลใหม่ๆ มาเป็นต้นแบบเพิ่มเติมในไทย นอกจากนี้จะมีโอกาสพบกับบริษัทของญี่ปุ่น 7-8 บริษัท ขณะนี้นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นกำลังระดมเงินทุนครั้งใหญ่ของแต่ละสถาบันหลายพันล้านสหรัฐ เพื่อลงทุนในอาเซียน”

ทั้งนี้ นายคิยามะ ชิเกรุ (Mr. Kiyama Shigeru) ที่ปรึกษาพิเศษรัฐบาลญี่ปุ่นและทูตโครงการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจได้เข้าพบนายสมคิดเพื่อหารือถึงการลงทุนในพื้นที่ EEC ครอบคลุมมากขึ้น ผ่านโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) และโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก-ตะวันตก (EWEC) ที่สามารถสร้างความเชื่อมโยงในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและอาเซียน

นายคิยามะ ยืนยันว่า ไทยยังเป็นฐานการลงทุนที่สำคัญของประเทศญี่ปุ่นด้านเศรษฐกิจ ซึ่งโครงการอีอีซีมีความคืบหน้าไปได้ด้วยดี และในอนาคตจะขยายไปถึงเอสอีซี และภาคอีสานจะส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษเกษตรอินทรีย์ รวมถึงเส้นทางเชื่อมโยงระหว่างตะวันออกกับตะวันตก (NEEC) ไปอินเดียจะเป็นเส้นทางสำคัญทางยุทธศาสตร์ของญี่ปุ่นและไทย

ที่ปรึกษาพิเศษรัฐบาลญี่ปุ่นฯ ยินดีที่จะเป็นสะพานสานต่อความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะความร่วมมือในการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (HRD) ตลอดจนส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนผ่าน SMEs และ ธุรกิจ Startups

“โดยเฉพาะความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership: CPTPP) ซึ่งรัฐบาลไทยมีความตั้งใจ โดยได้ดำเนินการจัดทำข้อมูลศึกษา (Feasibility Study) การรับฟังจากทุกฝ่าย เพื่อหาข้อมูลทั้งข้อดีและผลกระทบจากการเข้าร่วม และนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป เพื่อไม่ตกขบวนรถไฟ”

นอกจากนี้ ทางบริษัทเอกชนญี่ปุ่นได้แสดงความสนใจที่จะเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของไทย โดยเฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ เพื่อส่งเสริมการสร้างความเชื่อมโยงในอนุภูมิภาคและภูมิภาคอาเซียน

โดยขณะนี้ ทางญี่ปุ่นได้ระดมทุนครั้งใหญ่ รวมทั้งได้ประกาศข้อริเริ่มด้านเงินกู้และการลงทุนสำหรับอาเซียน (Initiative on Overseas Loan and Investment for ASEAN) มูลค่า 3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อสนับสนุนให้ภาคเอกชนและภาคการเงินของญี่ปุ่นเข้ามามีบทบาทในการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในอาเซียนเพิ่มมากขึ้น