ส.ว.ผ่านงบ 63 รวดเดียวจบ 70 นาที “วิษณุ” ขอบคุณแทนรัฐบาล

เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2563 ที่รัฐสภา เกียกกาย มีการประชุมวุฒิสภา (ส.ว.) วาระพิเศษ โดยมีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน ส.ว. เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติรายจ่ายประจำปี 2563 หลังจากที่เห็นชอบไปแล้วเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา

และศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเห็นว่ากระบวนการตราพระราชบัญญัติฉบับนี้ ไม่ชอบด้วยกฎหมายตั้งแต่การพิจารณาในวาระที่ 2-3 ของสภาผู้แทนราษฎร ทำให้วุฒิสภาต้องพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ใหม่ โดยมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี มารับฟังการพิจารณา

นายเสรี สุวรรณภานนท์ อภิปรายว่า ขอให้ใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่มีการจ่ายหัวคิวเหมือนการบริหารงานที่ผ่านมา ไม่มีการแสวงประโยชน์เพื่อตัวเอง ใครทุจริตคอร์รัปชั่นฉ้อราษฎร์บังหลวง ควรต้องลงโทษสถานหนัก ทุกวันนี้ประชาชนต้องเจอกับภัยแล้ง ฝุ่น และโรคระบาด ชาวต่างชาติไม่เดินทางมาเที่ยว ประชาชนได้รับผลกระทบ กฎหมายงบประมาณฉบับนี้เป็นหนทางสำคัญในการแก้ปัญหาประเทศ วุฒิสภามีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบการใช้งบประมาณเหล่านี้ไม่ให้รั่วไหลและสัมฤทธิ์ผลที่สุด

ด้าน พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร กล่าวว่า กฎหมายบางครั้งเขียนไม่ครอบคลุม โดยเฉพาะเรื่องการนับเวลาการตรากฎหมายงบประมาณรายจ่าย ทำให้เสียเวลาในการนำงบประมาณไปใช้จ่าย ขณะที่ พล.อ.ต.เฉลิมชัย เครืองาม กล่าวถึง คำแถลงในการพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณ ครั้งที่แล้ว โดยขอให้รัฐบาลปฏิบัติตามเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศ

นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ กล่าวถึงงบประมาณด้านยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเจริญเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ว่า การขับเคลื่อนเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของวุฒิสภา การบริหารงานต้องดำเนินไปคู่กับสิ่งแวดล้อม เช่น หากจำเป็นต้องตัดถนนผ่านอุทยานแห่งชาติ ก็ต้องหาทางรักษาทรัพยากรธรรมชาติ หรือเช่นการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่แต่ทำลายสิ่งแวดล้อม ก็ควรสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการพัฒนาแต่ก็รักษาสิ่งแวดล้อม

นายวิษณุกล่าวว่า ขอขอบคุณที่ดำเนินการผ่านร่างพระราชบัญญัตินี้อย่างรวดเร็ว วันนี้นายกรัฐมนตรีมีภารกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่จังหวัดนครราชสีมา จึงไม่ได้มารับฟังการพิจารณาด้วยตนเอง หลังจากนี้สภาต้องเก็บร่างนี้ไว้อีก 3 วัน และนายกรัฐมนตรีเก็บร่างนี้ไว้อีก 5 วัน ก่อนทูลเกล้าฯ แต่เนื่องจากงบประมาณปีนี้ล่าช้าจึงต้องใช้เงินจากงบประมาณกลาง 75% และโครงการต่างๆ ยังไม่สามารถลงนามในสัญญาได้ แต่ตอนนี้ถือว่าเร็วกว่าที่คิด ทุกอย่างก็สามารถที่จะขยับเขยื้อนได้ ข้อเสนอของสมาชิกวุฒิสภา ล้วนอยู่ในนโยบายของรัฐบาลอยู่แล้ว และให้ความมั่นใจว่าจะดำเนินการทุกอย่างด้วยความโปร่งใส

จากนั้นที่ประชุมได้ลงมติผ่านร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวโดยมีมติเอกฉันท์ เห็นชอบ 215 ต่อ 0 งดออกเสียง 6 โดยมีองค์ประชุม 217 คน รวมเวลาในการพิจารณา 1 ชั่วโมง 10 นาที