อำนาจพิเศษ แบ็กอัพ “บิ๊กตู่” รัฐบาลคุมเชิง เฝ้าระวังม็อบนอกสภา

ขณะนี้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เผชิญมรสุมหลาย ๆ ด้านพร้อมกัน

วิกฤตการเมือง-ในสภาผู้แทนราษฎร ต้องเจอศึกหนักอภิปรายไม่ไว้วางใจ 3 วัน 3 คืน เฉพาะตัว “พล.อ.ประยุทธ์” ถูกซักฟอกจนน่วมกว่า 2 วัน

นอกสภา-เจอแรงกดดันจากใน-นอกประเทศ เป็น side effect จากพิษยุบพรรคอนาคตใหม่

จากแฟลชม็อบของ “คณะอนาคตใหม่” ที่สถาปนาหลังถูกยุบพรรค พ่วงเกมอภิปรายไม่ไว้วางใจนอกสภา เปิดโปงความเชื่อมโยงว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์

จงใจให้ที่พักพิงแก่ผู้เป็นที่ต้องการตัวของรัฐบาลเพื่อนบ้านหรือไม่ ในคดี 1MDB ลามไปถึงกิจกรรมแฟลชม็อบของนิสิต นักศึกษา ที่อุบัติไปหลายสถาบัน

ทั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ฯลฯเกมนอกสภากำลังท้าทายอำนาจรัฐบาลมากขึ้นเป็นลำดับ

วิกฤตเศรษฐกิจ-ที่กระหน่ำซ้ำเติมจากปัจจัยภายใน-ภายนอกประเทศ ตั้งแต่สงครามการค้าระหว่าง 2 ขั้วอำนาจ สหรัฐอเมริกา-จีน

ลามมาถึงไวรัส COVID-19 อันเป็นวิกฤตสาธารณสุขทั่วโลก สะเทือนถึงเครื่องยนต์การท่องเที่ยว ซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศให้ทรุดลงไปอีก

กระหน่ำรัฐบาลประยุทธ์แบบ 3 แรงบวกรอบทิศทาง ทำให้สถานการณ์รัฐบาลอยู่ในสภาวะ “ขาลง” คนเริ่มเสื่อมศรัทธา

“สุขุม นวลสกุล” อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง นักรัฐศาสตร์ที่คลุกคลีการเมืองมาหลายทศวรรษ เป็นที่ปรึกษาทางการเมือง-ขุนพลข้างกาย “พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์” ตอนที่เป็นนายกรัฐมนตรี อ่านปัจจัย 3 แรงบวกที่ พล.อ.ประยุทธ์ต้องฝ่าฟัน

โดยเฉพาะ “ศึกแรก” อภิปรายไม่ไว้วางใจ “สุขุม” เชื่อว่า ฝ่ายค้านไม่อาจทำให้รัฐบาลเสียหายได้มากนัก เพราะนอกจากเสียงในสภายังมากกว่า-นายทุนเบื้องหลังอำนาจยังหนุนหลัง

“คิดว่าจะไม่สร้างผลกระทบต่อรัฐบาลมาก รัฐบาลจะคุมสถานการณ์ได้ เพราะแม้น้ำหนักอภิปรายของฝ่ายค้านจะมีน้ำหนัก แต่ความเป็นแม่เหล็กของฝ่ายค้านไม่มี ไม่มีใครอยากจะอยู่กับฝ่ายค้าน ทำอะไรก็ไม่ได้รับความร่วมมือจากใคร นายทุนชอบพวกรัฐบาลมากกว่า”

“ที่สำคัญแม้รัฐบาลเสื่อมความนิยม แต่ คสช.เตรียมพร้อมเรื่องนี้ไว้แล้ว เพราะในรัฐสภามี 250 เสียง 5 ปีนี้แม้เสียงในสภาหลังเลือกตั้งครั้งใหม่จะตกลง แต่ ส.ว. 250 ก็ยันให้กลับมาได้ เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ไม่แคร์ในการยุบสภาเลือกใหม่ก็มี ส.ว. 250 คน วันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้แคร์พรรคร่วมรัฐบาลเท่าไหร่ เพราะเขามี ส.ว. 250 คน”

“สุขุม” บอกว่า การเมืองทุกวันนี้ อย่าไปมองว่าเป็นการเมืองธรรมดา แต่เป็นการเมือง “ในความควบคุม” แม้ว่าประชาชนไม่ชอบ แต่บรรดา ส.ว.ก็สามารถฝืนความรู้สึกประชาชนได้ เพราะการโหวตนายกฯที่แล้วมา ส.ว.ก็ไม่ได้โหวตเลือกนายกฯตามใจประชาชน

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีเสียง ส.ว. 250 คน คอยหนุนหลังให้ พล.อ.ประยุทธ์กลับเข้าทำเนียบรัฐบาลรอบ 3 หากเกิดอุบัติเหตุยุบสภา-ลาออกกะทันหัน

แต่ “สุขุม” เตือนว่า ทุกฝีก้าวจากนี้ไป รัฐบาลต้องเดินทางการเมืองอย่างระมัดระวัง

“รัฐบาลก็อย่าท้าทายมาก ทุกก้าวต้องระวัง และจริง ๆ ควรระวังมากกว่านี้ เช่น การอภิปรายไม่ไว้วางใจอย่าไปรวบรัด โดยเสนอปิดประชุม อย่างนั้นเป็นการใช้อำนาจ ถ้าไม่เป็นเช่นนี้คะแนนรัฐบาลไม่น่าจะตกลงไป”

“ตอนนี้ยังคุมอยู่ แต่ถ้าเกิดฝืนความรู้สึกของประชาชนในสิ่งที่เรียกว่าความเป็นธรรม อีก 2-3 ครั้งก็อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงกับรัฐบาลได้ แต่ตอนนี้เชื่อว่าคนยังเจ็บของเก่าที่มีการชุมนุมโดยใช้ความรุนแรงอยู่ เพราะบ้านเมืองตอนนั้นก็เจ็บเหมือนกันทุกคน เพราะคนยังไม่พร้อมที่จะใช้วิธีการรุนแรง ดังนั้น ถ้าไม่ทำอะไรที่ฝืนความเป็นธรรม รัฐบาลคิดว่าคุมสถานการณ์ได้”

สำหรับการ “ยุบพรรคอนาคตใหม่” ต้องยอมรับว่า ในแง่การเมืองถือว่าเป็นคุณกับรัฐบาล อย่างน้อยฝ่ายค้านก็ระส่ำระสาย คนที่จะลุกขึ้นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลก็จะไม่ได้อภิปรายไปอีกหลายคน

“การยุบพรรคอนาคตใหม่ โอกาสที่พรรคฝ่ายรัฐบาลจะมีเสียงเพิ่มขึ้นก็มากขึ้น หลายคนอาจเปลี่ยนใจ เปลี่ยนเส้นทาง ดังนั้น การยุบพรรคครั้งนี้เอื้อประโยชน์ แต่ในทางเดียวกัน ความรู้สึกของผู้คนก็แสดงออกต่อเมื่อมีการเลือกตั้ง ดังนั้น รัฐบาลคิดว่าไม่เสียหาย”

ส่วนที่ “คณะอนาคตใหม่” เปิดเกมซักฟอกนอกสภา “สุขุม” บอกว่า อย่าตกอกตกใจ เป็นเรื่องปกติ

“จะไปตกอกตกใจทำไม การอภิปรายนอกสภาก็เหมือนอย่างที่เห็น หรือมี flash mob ไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมายที่จะเกิดขึ้นไม่ได้ พอพูดเรื่องนอกสภาปุ๊บ คนไปนึกถึงเรื่องการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. หรือการชุมนุมของกลุ่ม นปช.ซึ่งมันไม่ใช่ เพราะการชุมนุมแบบ 2 กลุ่มนั้นคือความรุนแรง”

ส่วน flash mob จะไปถึงจุดความรุนแรงได้หรือไม่…มันต้องสะสม อย่าไปเพิ่มดีกรีให้คนรู้สึกว่าเกิดความอยุติธรรมให้มากขึ้น

“เพราะตอนนี้จะให้คนไปต่อสู้กับรัฐบาลด้วยวิธีรุนแรงก็เข็ด ไม่อยากทำ เพราะเราก็ได้รับผลกระทบเสียหายจากการชุมนุมที่ใช้ความรุนแรง”