“วิษณุ – ดอน” ปัด แก้ กม.ศุลกากร เข้าทาง “ฟิลลิปมอร์ลิส” ย้อน “คดีถุงขนมหน้าศาล”

ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภา ว่า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ลุกขึ้นชี้แจงญัตติขอเปิดอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ว่ากรณีข้อกล่าวหาแก้กฏหมายศุลกากรและแทรกแซงหน่วยงานราชการกรณีข้อพิพาทคดีฟิลลิปมอร์ลิส ว่า ยืนยันว่า ไม่ได้แก้กฏหมายเพื่อช่วยบริษัทบุหรี่นอกดังกล่าว เนื่องจากแนวคิดการแก้ไขกฏหมายนี้มีมานานแล้ว ตั้งแต่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แต่ก็มายุบสภา จากนั้นในรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรก็มาเกิดเหตุการณ์ไม่เรียบร้อยในประเทศขึ้นอีก กระทั่ง คสช.เข้ามา 22 พ.ค. 57 จึงตั้งใจสังคยานากฏหมายตัวนี้ เพราะใช้มาเป็นเวลานาน 90 ปี เมื่อผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กฏหมายนี้ก็ประกาศใช้เดือนพ.ค. 60 แต่ก็ทอดเวลาเตรียมการให้อีก 180 วัน แสดงว่าเอาเข้าจริงมีผลบังคับใช้กฏหมายในเดือน พ.ย. 60 แต่คดีนี้ฟ้องตั้งแต่ ม.ค. 59

นายวิษณุ กล่าวว่า เรื่องการแก้พ.ร.บ.ศุลกากร ซึ่งความจริงตนไม่ได้เกี่ยวข้อง ตนไม่ได้เป็นรัฐมนตรีคลัง ไม่ได้รู้เห็นเป็นใจในการแก้กฎหมายดังกล่าว แต่เขาเตรียมแก้กันมาตั้งแต่ปี 2554 และกฎหมายนี้ผ่านการแก้ในสภามาแล้ว 22 ครั้ง มันแก้ไขจนพรุนไปหมดแล้ว ในที่สุดก็ได้เข้าสภาไปแล้วครั้งหนึ่งสมัยรัฐบาลนายกยิ่งลักษณ์สมัยปี 2555 สภาพัฒน์บอกว่าช่วยไปดูหน่อย เขาเตรียมจะแก้ของเขาอยู่แล้ว

“ท่านประธานครับจึงมีความจำเป็นต้องกราบเรียนว่าเรื่องเหล่านี้ผมไม่ได้ไปแทรกแซงหรือก้าวก่าย แต่พฤติกรรมแบบนี้คือการบริหารราชการแผ่นดิน การแทรกแซงก้าวก่ายหมายถึงตามที่เขาห้ามตามรัฐธรรมนูญ ถ้าเรื่องแบบนี้ถือเป็นการแทรกแซงก้าวก่ายก็ต้องถือว่าเป็นการแทรกแซงโดยชอบ จำคดีถุงขนมได้หรือไม่ เอาเงินไปจ่ายให้ ไม่รู้ให้ใคร แต่ในที่สุดก็ทิ้งถุงไว้เป็นถุงขนมจนศาลฎีกาตัดสินว่าจำเลยมีความผิด แบบนี้ถึงจะเรียกว่าก้าวก่ายวิ่งเต้นกับประธานศาลรัฐธรรมนูญในสมัยหนึ่ง แต่ท่านประธานศาลไม่เล่นด้วย ก็ถูกขู่เข็ญ ขอนัดพบ แบบนี้ถือว่าแทรกแซงก้าวก่าย” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว

นายวิษณุ กล่าวต่อว่า สำหรับเรื่องที่กล่าวหาว่าจะยกที่ดินโรงงานยาสูบให้เจ้าสัวนั้น ตนเชื่อว่าผู้อภิปรายไม่ได้ตั้งใจ หรือไม่รู้ก็เลยพูดแบบนั้น ขอชี้แจงว่าที่ดินดังกล่าวแบ่งเป็น 4 โซน ประกอบด้วยที่ดิน 4 โซนคือ โซน A ศูนย์สิริกิติ์ 53 ไร่ โซน B ข้างหลังศูนย์ โรงพยาบาล 77 ไร่ โซน c สวนน้ำริมรัชดา 130 ไร่ และโซนสุดท้ายโซน D โรงงานหลังสวนน้ำ จำนวน 320 ไร่ โดยที่ดินแปลง D และที่ดินแปลง C รัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน น้อมเกล้าให้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง แต่ก็ไม่ได้บอกว่าถวายไปทำอะไร แต่เป็นอันว่าถวาย หลังจากนั้นก็เป็นรัฐบาลชวน 1 ที่เกรงว่าหากถวายแล้วจะมีใครเล่นแร่แปรธาตุ จึงมีมติให้โซน C ที่ติดกับถนนรัชดา จำนวน 130 ไร่ ให้สร้างเป็นสวนน้ำ ตกลงโซน C เป็นสวนน้ำ ใครจะยกให้เจ้าสัวแม้แต่เสี้ยวเดียวก็ไม่ได้ ส่วนโซน D รัฐบาลต่อมาก็ให้ทำเป็นสวนป่าคือปลูกต้นไม้ให้เต็มไปหมด ฉะนั้น ใครจะนำที่ดินโซน D ไปยกให้ใครแม้แต่วาเดียวก็ไม่ได้ แต่โซนดีมีโรงงานยาสูบตั้งอยู่หลายโรงงานจึงไม่สามารถทำสวนป่าได้ทันที อย่างไรก็ตาม โซน C ได้มีการขอพระราชทานชื่อ ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณเป็นอันว่าได้ชื่อเป็นทางการสำหรับโซน c และโซน D คือสวนเบญจกิติ

นายวิษณุ กล่าวอีกว่า ต่อจากนั้นโรงงานยาสูบก็ต้องหาที่ตั้งใหม่ ในรัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา บอกให้โรงงานย้ายไปอยู่เชียงใหม่และฉะเชิงเทรา รัฐบาลนายชวลิต ยงใจยุทธ บอกว่าอย่าไปเลยให้ย้ายไปเชียงใหม่และสระบุรี พอมาถึงรัฐบาลนายสุรยุทธ์ จุลานนท์ เห็นว่าเชียงใหม่ไกล ส่วนสระบุรีก็ไม่สะดวก ขอให้ย้ายไปหาในรัศมี 200 กิโลเมตร แต่ไม่บอกว่าที่ไหน พอมาถึงรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ก็ปฏิบัติตามมติครม.ของรัฐบาลนายสุรยุทธ์ ให้ย้ายไปอยุธยาที่นิคมโรจนะ และรัฐบาลไม่ได้สั่งให้ไป เขาไปสำรวจกันเองและย้ายกันเอง แต่วันนี้ไม่ได้เป็นปัญหาแล้ว หลังจากนั้นโรงงานยาสูบก็ทยอยย้ายไปที่นิคมโรจนะ รัฐบาลนายกประยุทธ์ปีที่แล้วไปตรวจเยี่ยม ก็เพิ่งรู้ว่าขนย้ายเหลืออยู่อีกนิดเดียวจึงได้ขอให้ช่วยขยับขยายไปให้หมด โดยเร่งรัดภายในพฤษภาคม 63 เพื่อจะได้น้อมเกล้าถวายในเดือนสิงหาคม 64

ดังนั้น ประโยคที่ผู้อภิปรายพาดพิงจึงไม่สวยงามเลยที่บอกว่าไปสร้างสวนเพื่อเอื้อต่อศูนย์สิริกิติ์เป็นสวนน้ำและเป็นสวนป่า เพราะทั้งหมดกำหนดโดยสำนักพระราชวัง และไม่สวยงามเลยที่บอกว่าที่ดินข้างสวนให้เป็นที่ดินเจ้าสัว แต่เชื่อว่านายศรัณเกตุไม่ทราบและไม่ได้ตั้งใจ และควรไม่มีใครไปถือสาหาความกับส่วนนี้

ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ

ขณะที่ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ กล่าวชี้แจงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ภายหลังส.ส.ฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจพาดพิงกระทรวงการต่างประเทศว่า เรื่องบริษัทฟิลลิปมอร์ริส ทางกระทรวงการต่างประเทศไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรง เพราะจะพิจารณาเฉพาะกรณีที่มีพันธกรณีเพื่อปกป้องประโยชน์ของไทยและเร่งแก้ไขปัญหาเท่านั้น เมื่อเราถูกตัดสินจากWTOว่าเป็นฝ่ายผิดก็เร่งดำเนินการหาทางแก้ไข

กระทรวงการต่างประเทศไมได้แทรกแซงกระบวนการยุติธรรมตามที่กล่าวหาผ่านกระบวนการแก้ไขกฎหมายศุลกากร เพราะการแก้ไขกฎหมายฉบับนั้นมีความพยายามมาตั้งแต่มาก่อนหน้านั้นแล้วเมื่อปี 2560 ซึ่งเป็นเวลาหนึ่งปีก่อนที่กระทรวงการต่างประเทศจะมีหนังสือแจ้งรองนายกรัฐมนตรีเรื่องการปฏิบัติตามพันธกรณี WTO และไม่ได้เสนอให้อัยการถอนฟ้อง เพราะอำนาจการพิจารณาอยู่ที่อัยการ

“เรื่องต่างๆตามที่กล่าวหา แม้การนำเสนอจะขึงขังจริงจังแต่ข้อมูลที่ออกมานั้นเบาหวิวไม่หนักแน่น อย่างไรก็ตาม กรมสนธิสัญญาก็ติดตามดูแลปกป้องผลประโยชน์ของไทยเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมาภายหลัง” นายดอน กล่าว

สำหรับปัญหาการนำเข้าสุกรจากสหรัฐอเมริกาเพราะมีปัญหาเกี่ยวกับการใข้สารเร่งเนื้อแดงในสุกร รมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า ได้ส่งคณะผู้แทนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปหารือเท่านั้น โดยยังไม่มีการดำเนินการตกลงว่าจะนำเข้ามายังประเทศไทยแต่อย่างใด เพราะปัญหาสุขอนามัยเป็นเรื่องที่หลายประเทศรวมทั้งประเทศให้ความสำคัญ


นอกจากนี้ นายดอน กล่าวว่า ขณะที่ กรณีการซื้อรถถังยูเครนที่มีการกล่าวหาว่าตนเองเกี่ยวข้องด้วยนั้น อยากชี้แจงว่าเมื่อปี 2554 ที่มีกรณีนี้เกิดขึ้น ตนเองยังอยู่อีกโลกหนึ่ง โลกที่ไม่เกี่ยวข้องใดๆทั้งสิ้น