แฉเบื้องลึกเพื่อไทยหักหลัง-ล้มมวยซักฟอก ปิดไมค์อนาคตใหม่ ละเว้น “พี่ใหญ่”

ดราม่าอภิปรายไม่ไว้วางใจ เกิดขึ้นนาทีสุดท้าย เมื่อพรรคเพื่อไทยอภิปรายกินเวลาพวกเดียวกันเอง กระทั่งเหลือเวลาในการอภิปรายส่วนของฝ่ายค้านเหลือเวลาเพียง 3 นาที เท่านั้น!

ฝ่ายรัฐบาลเล่นตามแผน ได้ทีชิงปิดประชุมในเวลา 19.00 น. ตามที่วิปรัฐบาล – วิปฝ่ายค้านตกลงกันไว้นอกห้องประชุม

ปิดโอกาส ส.ส.สังกัดพรรคอนาคตใหม่ ในฐานะพรรคร่วมฝ่ายค้านต้องแห้วไม่มีโอกาสได้พูดซักฟอกรัฐบาลในสภา

ทั้งที่ในคิว ยังมีรัฐมนตรีให้ถูกเชือดอยู่ 2 คน ซึ่งฝ่ายค้านจัดลิสต์ไว้ท้ายสุด

คือ “พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา” รมว.มหาดไทย และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี

อดีต ส.ส.เสื้อคลุมอนาคตใหม่ จึงตั้งข้อสังเกตว่า เกมนี้ “เพื่อไทย” ฮั้วกับรัฐบาลหรือไม่?

หลังการซักฟอกจบลง “จิรวัฒน์ อรัณยกานนท์” ส.ส.กทม. อดีตพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า ฝ่ายค้านด้วยกันเองบีบเวลาเรา ทำให้พวกเราไม่มีโอกาสอภิปราย ปกติคนแรกนายกฯ ถัดมาควรเป็น พล.อ.ประวิตรและนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ แต่กลับนำรัฐมนตรีคนอื่นขึ้นมาก่อน ไม่อยากจะคิดว่ามันมีเงื่อนงำการเจรจาระหว่างฝ่ายรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านบางพรรคหรือไม่ ข้อเท็จจริงมีการวิ่งเต้นและเอาชื่อ พล.อ.ประวิตรมาไว้ท้ายสุด นี่คือเรื่องจริงในสภาฯ

“ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์” ส.ส.กทม. อดีตพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า เหมือนมวยล้ม พรรคเพื่อไทยใช้เวลาเกินที่ได้รับการจัดสรรจากสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ ตั้งข้อสังเกตว่าทำไมพรรคเพื่อไทยไม่ยอมอภิปรายรัฐมนตรีบางคน เรื่องนี้ขอให้ประชาชนไปตัดสินใจเองย้อนกลับไปช่วงเย็นของวันที่ 27 ก.พ. ในส่วนของฝ่ายค้านเหลือเพียงแค่ 3 นาที

ย้อนกลับไปในบรรยากาศการอภิปรายไม่ไว้วางใจในวันที่ 27 ก.พ. เริ่มประชุมกันตั้งแต่เวลา 10.30 น. พรรคเพื่อไทย วางตัว “รถถังเบรกแตก” ศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ ส.ส.อุตรดิตถ์ พรรคเพื่อไทย อภิปรายเปิดโปงขบวนการอ้างว่าเป็นการล้มมวยช่วยเหลือคดีบริษัท ฟิลลิปมอร์ริส นำเข้าบุหรี่หลีกเลี่ยงภาษีศุลกากรและสำแดงเท็จ เกี่ยวข้องกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ และนายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศหรือไม่ ความเสียหาย 84,000 ล้านบาท แต่เตะถ่วงจนค่าปรับเหลือแค่ 1,224 ล้านบาท

ตามด้วยการซื้อขายที่ดินของบิดา พล.อ.ประยุทธ์ และข้อพิรุธการจัดซื้ออาวุธของ พล.อ.ประยุทธ์ ช่วงเป็น ผบ.ทบ.ปี 2554 ได้เดินทางไปที่ประเทศยูเครน เพื่อจัดซื้อรถถังโอพ็อท 49 คัน

“ศรัณวุฒิ” อภิปรายคนเดียวปาไป 3 ชั่วโมง ตั้งแต่ 10.30-13.30 น. ขณะที่ “วิรัช รัตนเศรษฐ” ประธานวิปรัฐบาล ลุกขึ้นมาชี้แจงเวลาของฝ่ายค้านหดลงเหลือกี่นาทีเป็นระยะ

เป็นที่น่าสังเกตว่า การวางตัว “ศรัณวุฒิ” ขึ้นอภิปราย มีการวางตัวไว้ตั้งแต่ 26 ก.พ. ซึ่งในวงสนทนาของ ส.ส.เพื่อไทยให้นิยาม ส.ส.อุตรดิตถ์ว่าเป็น “รถถังเบรกแตกแถมเติมน้ำมันมาเต็มถัง” จะต้องอภิปรายจนหยุดไม่อยู่

คนหนึ่งที่กล่าวเรื่องนี้คือ “วัฒนา เมืองสุข” อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย “ให้ศรัณวุฒิอภิปรายคนแรก มีแววไปจบเอาบ่ายสองแน่ๆ”

แล้วก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ!

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเย็นของการอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นวันที่ 3 หลังจากที่ใช้เวลาอภิปรายจนใกล้จะครบเวลา 19.00 น. ตามข้อตกลงที่วิปฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านจะต้องปิดการอภิปราย เพื่อให้ตัวแทนฝ่ายค้านกล่าวสรุปญัตติปิดการอภิปรายนั้น ซึ่งเป็นข้อตกลงตั้งแต่ช่วงเช้า

เมื่อชั่วโมงการอภิปรายเดินทางมาถึงในช่วงเย็นของวันที่ 27 ก.พ. 17.30 น. “วิรัช รัตนเศรษฐ” ประธานวิปรัฐบาล ลุกขึ้นชี้แจงในที่ประชุมว่า ขณะนี้ฝ่ายค้านได้ใช้เวลาอภิปรายของตัวเองที่มีอยู่ 10 ชั่วโมงไปหมดแล้ว แต่รัฐบาลยังเหลือเวลาอภิปรายอยู่ 1.15 ชั่วโมง ดังนั้นหากรัฐมนตรีชี้แจงในเวลาที่เหลือหมดเมื่อไร จะต้องปิดอภิปรายทันทีในเวลา 19.00 น. เพื่อเข้าสู่การสรุปญัตติปิดการอภิปรายของฝ่ายค้านอีก 2 ชั่วโมง ขอยืนยันให้ปฏิบัติตามกรอบเวลาดังกล่าวอย่างเคร่งครัด

ส.ส.ฝ่ายค้านได้ยกมือประท้วงจำนวนมาก เพราะยังเหลือผู้อภิปรายอีกหลายคน และยังไม่ได้อภิปรายรัฐมนตรีอีก 2 คน ยืนยันจะให้อภิปรายต่อไปเรื่อยๆ จนถึงใกล้ 24.00 น. แต่ฝ่ายรัฐบาลไม่เปิดโอกาสให้การอภิปรายยืดเยื้อ กระทั่งเกิดการประท้วงกันวุ่นวาย

“สุชาติ ตันเจริญ” รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่ทำหน้าที่ประธานที่ประชุมในเวลาต่อมา สั่งพักการประชุม 20 นาที

นอกห้องประชุมสภา เกิดความเคลื่อนไหว 2 เหตุการณ์สำคัญ เหตุการณ์แรก นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เรียกตัวแทนวิปทั้งสองฝ่ายไปตกลงหาทางออก ถึงเวลาอภิปรายของฝ่ายค้านที่ไม่พอซักฟอก โดย “ชวน” ขอให้ฝ่ายรัฐบาลเพิ่มเวลาให้ฝ่ายค้านอีก 1 ชั่วโมง แต่ฝ่ายรัฐบาลปฏิเสธ

เหตุการณ์ที่สอง เกิดขึ้นราว 16.00 น. อันเป็นช่วงก่อนที่จะมีการประท้วงวุ่นวาย พบความเคลื่อนไหวที่ห้องนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย โดยมีรายงานว่า นายปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ได้เข้าไปเคลียร์นายสมพงษ์ อีกทางหนึ่ง

ต่อมาเวลา 18.30 น. หลังจากเปิดประชุมกลับมาอีกครั้ง นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ได้กล่าวต่อที่ประชุมว่า ขณะนี้เหลือผู้อภิปรายพรรคอนาคตใหม่อีก 3 คน ยังไม่ได้อภิปราย จึงขอรบกวนประธานให้เวลาผู้อภิปรายพรรคอนาคตใหม่ได้อภิปรายเป็นคนสุดท้าย สัก 5-10 นาที

แต่นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธาน สภาผู้แทนราษฎร ที่ทำหน้าที่ประธานการประชุม ไม่อนุญาต โดยระบุว่า ไม่ใช่ความรับผิดชอบของประธาน และวิปรัฐบาล แต่เป็นความรับผิดชอบของฝ่ายค้านที่จัดสรรเวลาไม่ลงตัว ซึ่งไม่ใช่การกลั่นแกล้งหรือปิดปากไม่ให้อภิปราย ทำให้นายพิจารณ์ตอบกลับว่า ถ้าไม่ให้ เราจะไปอภิปรายกันนอกสภา เพื่อให้ประชาชนรับทราบ

ขณะที่นายวิรัช ประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า จากการหารือ วิปรัฐบาลยืนยันว่า ทุกอย่างต้องเป็นไปตามข้อตกลง ส่วนที่บอกว่าขอ 5 นาที 10 นาที ไม่ใช่ประเด็นที่ฝ่ายค้านขอมาแล้วฝ่ายรัฐบาลไม่ให้ เพราะเป็นข้อตกลง เพราะรัฐมนตรีอีกหลายคนที่ถูกอภิปรายแล้วก็ยังไม่ได้ชี้แจง เพราะยังเหลือเวลา 1 ชั่วโมง 15 นาที ดังนั้น เมื่อรัฐมนตรีชี้แจงเสร็จแล้ว ก็ต้องปิดอภิปรายตามกรอบเวลา

ทำให้ “นายสุทิน คลังแสง” ประธานวิปฝ่ายค้าน ขอหารือว่า การตกลงใดๆ สามารถขยับกันได้ เพราะขณะนี้ยังมีเวลาเหลือจนถึง 24.00 น. แต่เมื่อขยับไม่ได้เราได้หารือกันหลายรอบ และรอบสุดท้ายนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ขอร้องให้เพิ่มเวลาให้ฝ่ายค้าน 1 ชั่วโมงได้หรือไม่ แต่เสียดายว่าระดับท่านประธานชวนก็ขอไม่ได้ เราไม่ได้ทวงบุญคุณ การอภิปรายงบประมาณเราก็ให้มาตลอด แต่เมื่อให้กันไม่ได้ เมื่ออภิปรายไม่ครบ ก็จะอภิปรายสรุปไม่ได้ ดังนั้น ก็ไม่สามารถลงมติใดๆ ได้ เพราะจะไม่ชอบธรรม

จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้ชี้แจงการอภิปรายของฝ่ายค้าน แต่ชี้แจงไปได้ประมาณ 1 นาที

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ขอใช้สิทธิประท้วงก่อนระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ การชี้แจงจบไปแล้ว ถ้ากำลังสรุปปิดอภิปราย ไม่ได้บอกจะชี้แจงใคร ถือว่าผิดข้อบังคับ สภาเป็นของประชาชน แต่เมื่อเสียงข้างมากไม่ให้สิทธิเสียงข้างน้อยทำงาน เราก็ขออนุญาตไม่ทำงานกับคนที่ลุแก่อำนาจ

จากนั้นก็มี ส.ส.ฝ่ายค้านบางส่วนเดินออกจากห้องประชุมไปทันที ซึ่งที่ประชุมเปิดโอกาสให้นายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงการอภิปรายของฝ่ายค้านว่า โดย “พล.อ.ประยุทธ์” กล่าวขอบคุณทุกคน

หลังจากนั้นนายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ เสนอขอปิดการประชุม ทำให้ ส.ส.ฝ่ายค้านที่เหลืออยู่พากันเดินวอล์กเอาต์ออกจากห้องประชุมกันหมด ก่อนที่ประชุมจะตรวจสอบองค์ประชุม และลงมติให้ปิดการอภิปรายด้วยคะแนน 251 ต่อ 0 งดออกเสียง 7 ไม่ลงคะแนน 2

ปิดการประชุมในเวลา 19.15 น. โดยที่ไม่มีการอภิปราย พล.อ.ประวิตร และ พล.อ.อนุพงษ์ และจะลงมติโหวตกันช่วง 09.30 น.

เมื่อละครอภิปรายไม่ไว้วางใจจบลง ส.ส.เก่าของอนาคตใหม่ ตั้งโต๊ะอภิปรายไม่ไว้วางใจนอกสภา

ถัดจากนั้น 4 ชั่วโมง “ปิยบุตร” โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก Piyabutr Saengkanokkul – ปิยบุตร แสงกนกกุล [ #อภิปรายไม่ไว้วางใจ: การทำงานกับพรรคร่วมฝ่ายค้านที่ไม่แน่นอนชัดเจนตั้งแต่วันแรกจนวันนี้ ทำให้เสียโอกาสการอภิปราย ประวิตร อนุพงษ์ วิษณุ ในสภาผู้แทนราษฎร ]

สรุปเบื้องหน้า – เบื้องหลัง ในมุมอนาคตใหม่ใจความดังนี้

  • ก่อนพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ พวกเราตกลงกับพรรคร่วมฝ่ายค้านโดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย เริ่มต้นจากให้แต่ละพรรคไปคิดกันเองว่าจะอภิปรายรัฐมนตรีคนใด ประเด็นใด
  • พวกเรายืนยันว่าอนาคตใหม่จะอภิปราย 5 คน ได้แก่ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประวิตร วงษ์สุวรรณ วิษณุ เครืองาม อนุพงษ์ เผ่าจินดา และธรรมนัส พรหมเผ่า ต่อมา มีข่าวลือเรื่อง “คุณขอมา” ไม่ให้อภิปราย ประวิตร วงษ์สุวรรณ แต่พวกเราไม่เชื่อว่าเป็นความจริง และเริ่มมีข้อเสนอว่าให้อภิปรายประยุทธ์คนเดียวก็พอ คนอื่นไม่ต้อง
  • รายชื่อรัฐมนตรีที่พรรคร่วมฝ่ายค้านจะถูกอภิปราย ถูกสับเปลี่ยนไปมาตลอด กว่าจะนิ่ง ต้องรอจนช่วงท้ายๆ ชื่อของประวิตร ก็เป็นชื่อสุดท้ายที่ถกเถียงกัน และยืนยันว่า #อนาคตใหม่ จะอภิปรายประวิตร
  • อนาคตใหม่ขอให้จัดลำดับประวิตรไว้ต่อจากประยุทธ์ แต่ก็ไม่ได้ จะให้อภิปรายประวิตรเป็นคนสุดท้าย
  • เรากำหนด ส.ส. ผู้อภิปรายและจำนวนเวลาไว้ได้มา 11 ชั่วโมง เปิดอภิปรายวันแรกรัฐมนตรีใช้เวลาตอบเยอะ จึงมีการเจรจาร่วมกันระหว่างวิปรัฐบาลและวิปฝ่ายค้าน ซึ่งปรากฎว่าไม่มีการชวน ส.ส. ตัวแทนวิปของเราเข้าไปร่วมด้วย
  • ผ่านการอภิปรายมาแล้ว 1 วันครึ่ง วิปฝ่ายค้านและรัฐบาล พึ่งมาตกลงแบ่งเวลากัน สรุปว่ารัฐบาลได้ 10 ชั่วโมง ฝ่ายค้านได้ 21 ชั่วโมง
  • อนาคตใหม่ใช้เวลาไปเพียง 140 นาที ยังเหลืออีกเกือบ 9 ชั่วโมง แต่วิปฝ่ายค้าน (ซึ่งไม่มีอนาคตใหม่อยู่ในนั้น) กลับไปรับข้อตกลงมาว่าฝ่ายค้านเหลือเวลา 21 ชั่วโมง ซึ่งเท่ากับต้องแบ่งให้อนาคตใหม่ 9 ชม.
  • เราเริ่มอ่านสถานการณ์ออกว่าจะมี ส.ส. อภิปรายประยุทธ์มาก จนไม่เหลือเวลาให้อภิปรายรัฐมนตรีคนอื่น พวกเราจึงตกลงกันว่าให้อภิปรายประยุทธ์ 3 วัน และวันสุดท้ายอภิปรายรัฐมนตรีอีก 5 คนที่เหลือ
  • ทุกพรรครับข้อเสนอนี้หมด แต่ข้อตกลงนี้กลับถูกทำลายลง เพียงเพราะว่า ส.ส. คนหนึ่งของเพื่อไทย ไม่ยอมมาอภิปรายประยุทธ์ในช่วงค่ำวันที่ 3 ดึงดันจะอภิปรายเช้าวันที่ 4 ให้ได้
  • ผมและเพื่อน ส.ส. จึงไปคุยกับอาสมพงษ์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทยและแกนนำเพื่อไทยอีกหลายคน เพื่อขอให้เป็นไปตามข้อตกลงเดิม ด้วยความไม่เข้าใจว่าทำไมเราต้องยอม “ตามใจ” ส.ส. คนเดียว อีกอย่างคือเรารู้ดีว่าถ้าให้ ส.ส. คนนี้อภิปรายประยุทธ์ในเช้าวันที่ 4 เขาจะใช้เวลานาน และอภิปรายพาดพิงไปยังรัฐมนตรีอีกหลายคน และรัฐมนตรีก็ต้องตอบยาว จนกินเวลาไปถึงช่วงบ่าย และทำให้อนาคตใหม่ไม่มีเวลาอภิปรายรัฐมนตรีที่เหลือ
  • สุดท้ายเพื่อไทยก็ไม่ยอม มาขอให้เราผ่อนผัน ด้วยการอภิปรายธรรมนัสในคืนวันที่ 3 แต่ตามกติกาไม่สามารถทำได้ เพราะยังอภิปรายประยุทธ์ไม่หมด
  • การเจรจาหาข้อตกลงกับพรรคเพื่อไทย เป็นไปอย่างยากลำบาก เพราะ ไม่รู้ว่าศูนย์อำนาจการตัดสินใจ หรือ Final Say อยู่ที่ไหนกันแน่ ตกลงแล้ว เปลี่ยน ตกลงแล้ว เปลี่ยน คนหนึ่ง พูดอย่าง อีกคน พูดอย่าง พวกเราก็ต้องมาปรับหน้างาน โดยใช้แท็คติกอภิปรายพ่วง “ประยุทธ์-ธรรมนัส” ตามข้อเสนอของเพื่อไทย
  • ปรากฏว่าเพื่อไทยก็อภิปรายเกินเวลา และเอาคนมาแซงคิว ส.ส. อนาคตใหม่ (ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม.เพื่อไทย) อีกจนเราได้เริ่มอภิปรายธรรมนัสตอน 23.00 น. ไปจบตอนตีสาม

พอมาวันสุดท้าย วันที่ 4 ส.ส. ที่สร้างเงื่อนไขไว้ว่าจะอภิปรายประยุทธ์ตอนเช้า ปรากฎว่าก็ไม่เข้ามาประชุมเสียที จนในสภาต้องใช้ “แท็คติก” หารือถ่วงเวลาไปหนึ่งชั่วโมง จนพอได้อภิปรายก็กลับใช้เวลาเกินคนอื่นอีกร่วมชั่วโมงจากนั้นรัฐมนตรีตอบกันอีกหลายคน หลายชั่วโมง

จากการประเมินผมรู้แล้วว่า “พวกเขา” ไม่ต้องการให้เราอภิปรายรัฐมนตรีที่เหลือ โดยเฉพาะ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ จึงบอกเพื่อน ส.ส. ว่าหัวเด็ดตีนขาด ส.ส. ที่เหลือของเราต้องได้อภิปราย มิเช่นนั้น คนที่เคารพกติกา ยอมอลุ้มอล่วยให้คนอื่น ก็จะโดนเอาเปรียบ

“พวกเขา” เผาเวลาของพวกเราไปเรื่อยๆ จน ส.ส. ของเราเหลือ 30 นาที จากที่เราได้ 210 นาที “พวกเขา” เผาเวลาของเราไปเรื่อยๆ จากรัฐมนตรีที่เราต้องอภิปรายอีก 3 คน คือ ประวิตร วิษณุ อนุพงษ์ กลายเป็นได้อีกแค่ 1 คนเท่านั้น รัฐบาลเล็งเห็นโอกาสนี้ จึงใช้โอกาสนี้เต็มที่ ไม่ยอมผ่อนผันแม่แต่น้อย เพราะรัฐบาลต้องการปกป้องรักษาพลเอกประวิตรเต็มที่ พวกเราจึงต้องวอล์กเอาต์ มาอภิปรายนอกสภา ส.ส. อนาคตใหม่ และทีมงานเบื้องหลัง ตั้งใจทำงาน เตรียมอภิปรายมาอย่างดี แต่กลับต้องมาถูกการบริหารงานแบบไม่มีประสิทธิภาพ การไม่เคารพกติกาแบบนี้ ตัดโอกาสเรา ญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งเป็นญัตติที่ใหญ่และสำคัญที่สุดของพรรคฝ่ายค้าน แต่เรากลับถูก “โกง” เวลาพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบก่อนอภิปรายไม่ไว้วางใจ 3 วัน แต่เราก็ยังเดินหน้าสู้ ส.ส. ทุกคนตั้งใจมาก พอถึงวันจริง ส.ส. “ไร้พรรค” อย่างพวกเรา ก็ยังเดินหน้าชนอย่างไม่เกรงกลัว”

“และผลงานที่เราทำครั้งนี้ ประชาชนและสื่อมวลชนคงตัดสินได้ว่าเป็นอย่างไร น่าเสียดาย เราถูกตัดโอกาสเพียงเพราะ….เราต้องช่วยกัน อย่าทำให้ประชาชนสิ้นหวังกับสภาผู้แทนราษฎรไปมากกว่านี้ หากมัวแต่ขัดขากันแบบนี้คงไม่มีทางเอาชนะเผด็จการได้”

“หรือแท้จริงแล้วไม่คิดจะเอาชนะเผด็จการ เพราะจะเป็นแค่มวยล้มต้มคนดู พวกเราพยายามใช้พื้นที่ของสภาผู้แทนราษฎรอย่างเต็มที่ เพื่ออย่างน้อยจะลดความโกรธของประชาชน ลดความไม่พอใจของประชาชน และมาแสดงออกกันที่สภาฯ ผ่านผู้แทนฯ ของเขา”

“เมื่อไรก็ตามที่ประชาชนสิ้นหวังกับสภาผู้แทนราษฎร และเห็นว่าสภาผู้แทนราษฎรไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ เมื่อนั้นการเมืองนอกสภาก็จะเข้มข้นขึ้น”