วิกฤตประชาธิปัตย์-วิกฤตรัฐบาล เสี่ยงพรรคแตก ส.ส. งูเห่าไหลเข้าพลังประชารัฐ

รายงานพิเศษ

พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เดินมาถึงทาง 2 แพร่ง (อีกครั้ง) เมื่อ นายพนิต วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ประชาธิปัตย์ “ทิ้งบอมบ์” ใส่ “กลุ่มไลน์ อดีต ส.ส.” สะเทือนไปถึงทำเนียบรัฐบาล

“ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วครับ ที่เราคงจะต้องตัดสินใจ ไม่พายเรือให้โจรนั่งแล้วครับ”

แม้ “พล.อ.ประยุทธ์” จะเสียงอ่อน-ยอม “ขอโทษ” หลังจาก “ปากไว” ไล่ตะเพิดประชาธิปัตย์ “ถอนไปสิ”
ทว่าความเคลื่อนไหวภายในพรรคประชาธิปัตย์ยังคงดำรงอยู่-ต่อเนื่อง-เป็นไป

กลุ่มเพื่อนจุรินทร์-เฉลิมชัยผงาด    

การปะทะกันของ 2 ขั้วความคิด ระหว่าง “เสรีนิยมประชาธิปไตย” กับ “อนุรักษนิยม” ของพรรค 74 ปี ไม่ใช่ครั้งแรก หากย้อนไปนับ 1 ตั้งแต่ยุค “นายพลจำแลง” ในคราบนักการเมือง โดยมีพรรคพลังประชารัฐเป็น “นั่งร้าน”

แม้หลังจาก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก้าวลงจากเก้าอี้หัวหน้าพรรคคนที่ 7 “กลุ่มเพื่อนอภิสิทธิ์” จะกลายเป็น “เสียงข้างน้อย” ทว่ายังคงมีบทบาทบนความเคลื่อนไหว-สร้างแรงกระเพื่อมภายในพรรคประชาธิปัตย์-พรรคร่วมรัฐบาลเป็นระลอก  

เมื่อ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” ผงาดขึ้นเป็น “หัวหน้าพรรคคนที่ 8” สิ้นสุด “ศึก 2 ก๊ก” เกิดเป็น “กลุ่มเพื่อนจุรินทร์-เฉลิมชัย” เป็น “ประชาธิปัตย์ไฮบริด”

เป็นการผสมผสานระหว่าง 2 ปีกทางความคิด “กลุ่มที่อยู่ตรงกลาง” ที่เป็นทั้ง “เสียงข้างน้อย”-“เสียงข้างมาก”
อย่างน้อยที่แสดงตัว-เปิดหน้าอย่างเป็นทางการ “24 ส.ส.” ที่ออกมาสนับสนุนให้ประชาธิปัตย์ “ไปต่อ”

อาทิ 1.นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ 2.นริศ ขำนุรักษ์ 3.จิตภัสร์ กฤดากร 4.ชัยชนะ เดชเดโช 5.น.ส.แนน บุญธิดา
สมชัย 6.ชัยวุฒิ ผ่องแผ้ว

สลายกลุ่มเพื่อนอภิสิทธิ์

มีเพียง “กลุ่มอภิสิทธิ์เดิม” จำนวน 4-5 คน ออกมาเคลื่อนไหวเป็น “เสียงข้างน้อย” ใน 17 รายชื่อที่ลง “มติพรรค” ไม่ไว้ใจ “ร.อ.ธรรมนัส” เช่น นายสาธิต วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง 2.นายพนิช วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 3.นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช

ขณะที่ “อันวาร์ สาและ” ส.ส.ปัตตานี แม้จะไม่ได้อยู่ใน “กลุ่มอภิสิทธิ์เดิม” แต่ก็ได้ออกมาขอให้ “ประเมินสถานการณ์” ภายในพรรค-ภายนอกพรรค ผ่านการประชุมใหญ่สามัญอีกครั้ง ซึ่งขณะนี้ “ล่ารายชื่อ” ได้แล้ว 9 คน  

แม้ “กลุ่มอภิสิทธิ์เดิม” ขยับตัวทุกครั้ง-กระเพื่อมทุกครั้ง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า “อ่อนกำลัง” ไปเยอะ ภายหลัง
“เลือดไหลออก” จำนวนมาก อาทิ นายกษิต ภิรมย์ นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร

รวมถึง “เลือดใหม่” อย่างกลุ่ม “นิวเดม” ที่มี “ไอติม” พริษฐ์ วัชรสินธุและผองเพื่อน ต้อง “ยุติบทบาท” อาทิ นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ นายธนัตถ์ ธนากิจอำนวย หรือ “ไฮโซลูกนัท” นายพริษฐ์ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ น.ส.นัฏฐิกา โล่ห์วีระ นายทัดชนม์ กลิ่นชำนิ

เมื่อธรรมชาติของพรรคประชาธิปัตย์เป็น “ศึกสองก๊ก” ทำให้โหวตกี่ครั้ง “เสียงข้างน้อย-กลุ่มเพื่อนอภิสิทธิ์” แพ้ทุกครั้ง ทั้งการลงมติร่วมรัฐบาล 61 เสียง ไม่ร่วมรัฐบาล 16 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง บัตรเสีย 1 เสียง รวม 80 เสียง และการ “ลงคะแนนลับ” การลงมติ “ไว้วางใจ” 24 ต่อ 17 อุ้ม ร.อ.ธรรมนัสผ่านศึกซักฟอก

“สาธิต ปิตุเตชะ” ส.ส.ระยอง ประชาธิปัตย์-1 ใน 8 โควตารัฐมนตรี กล่าวว่า ทุกอย่าง “ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ และประชาชนจะเป็นคนกำหนดทิศทางของพรรค”

ปชป.กระเพื่อม สะเทือนประยุทธ์     

“ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์” นักวิชาการที่เฝ้ามองความเคลื่อนไหว-ความเป็นไปของพรรคเก่า มองว่าเป็นเรื่องปกติที่จะมี 24 ส.ส.จะออกมาสนับสนุนประชาธิปัตย์ให้ “ไปต่อ” หรือ “อยากร่วมรัฐบาล” แต่สิ่งที่ “ผิดปกติ” คือ คนในพรรคร่วมรัฐบาล “ไม่อยากร่วมรัฐบาล” มีมากขนาดนี้ เพราะคนที่อยากร่วมรัฐบาลควรจะต้อง 100 เปอร์เซ็นต์

“แต่การกระเพื่อมครั้งนี้มีนัยสำคัญ เพราะเป็นการกระเพื่อมหลังจากรัฐบาลนี้ตั้งไม่ถึงปี เป็นการกระเพื่อมแรง และเป็นการกระเพื่อมที่ พล.อ.ประยุทธ์ และพรรคร่วมรัฐบาลเอง รู้สึกถึงความสั่นสะเทือนภายในพรรคประชาธิปัตย์จะลามมาถึงรัฐบาลด้วย เพราะรัฐบาลมีเสียงไม่เยอะ”

“ศิโรตม์” วิเคราะห์การปะทะกันของ 2 ขั้วความคิดภายในประชาธิปัตย์ครั้งนี้ว่า รอบนี้หนักกว่าทุกครั้ง เพราะมีความคิดพื้นฐานว่า ควรจะร่วมกับรัฐบาลประยุทธ์อยู่หรือไม่นานแล้ว และเป็นนโยบายของพรรคในการหาเสียงครั้งที่แล้วด้วย

“โดยรูปแบบเหมือนกันทุกครั้ง แต่โดยเนื้อหาแรงกว่าทุกครั้ง เพราะไม่ได้เป็นผลของความขัดแย้งทางการเมืองภายในพรรคอย่างเดียว แต่เป็นปัญหาเรื่องอุดมการณ์และทิศทางพรรคในอนาคต”

เป็นไปได้ที่หากมีการลงมติตัดสินชี้ขาด กลุ่มที่ไม่สนับสนุนรัฐบาล แพ้ทุกครั้ง เพราะในแง่ของจำนวน คนที่สนับสนุนรัฐบาลก็ยังมากกว่า เพราะคนที่ทำงานกับรัฐบาลตอนนี้ก็เป็นกลุ่มที่เคยไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์มาก่อน ดังนั้น คนที่อยากอยู่กับรัฐบาลต่อก็ยังมีจำนวนมากกว่าคนที่ไม่อยากให้อยู่

งูเห่าสีฟ้าลอตใหญ่-พรรคแตก

“แม้เสียงของ ส.ส.ประชาธิปัตย์ ที่อยากให้ถอนตัวจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาลจะยังไม่ชนะ ส.ส.ที่อยากให้ร่วมรัฐบาลต่อ แต่แรงกระเพื่อมก็มีสูง เพราะเสียงของรัฐบาลที่ไม่อยากสนับสนุนรัฐบาลก็มี ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เคยมีมาก่อนชัด ๆ แบบนี้ ในอนาคตมีโอกาสที่จะลามต่อได้ เพราะปัจจัยที่ทำให้คนไม่พอใจ (ร.อ.ธรรมนัส) ก็ยังอยู่ และไม่ใช่เฉพาะประชาธิปัตย์ที่ไม่พอใจ แต่พรรคพลังประชารัฐที่ไม่พอใจก็มี รวมถึงพรรคอื่นที่ไม่พอใจแต่ไม่เปิดตัวก็มี จึงมีแรงกระเพื่อมใต้น้ำเยอะ”

การเมืองภาพใหญ่ ถ้าประชาธิปัตย์ถอนตัว รัฐบาลยังไปได้อยู่หรือไม่ ? “ศิโรตม์” ฟันธง ว่า “ไปได้ แต่อาจจะต้องถู ๆ ไถ ๆ ลำบาก รากเลือด”  

“ประชาธิปัตย์อาจจะไม่ไปหมด คงไม่ร่วมทั้งพรรค มีโอกาสที่พรรคจะแตก ประชาธิปัตย์จะเกิดงูเห่าลอตใหญ่ 20 กว่าคนที่ออกมาสนับสนุนรัฐบาล หรืออาจจะย้ายไปอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ หรืออยู่ในพรรค แต่โหวตให้รัฐบาล”

สุญญากาศทางการนำ

ตอนนี้ภายในพรรคประชาธิปัตย์ไม่มีกลุ่มไหนนำ เป็นพรรคที่เกิด “สุญญากาศทางการนำ” ไม่มีใครนำใครได้ ไม่มีใครยอมรับใคร มีมุ้งเล็กมุ้งน้อย จำนวน ส.ส.แต่ละมุ้งไม่ได้เยอะ พอ ๆ กัน ไม่ใช่ 2 ก๊กใหญ่ ในยุคอภิสิทธิ์

“กลุ่มใหญ่สุดคงจะเป็นกลุ่มของนายเฉลิมชัย แต่ไม่ได้ใหญ่มาก แม้กลุ่มนายอภิสิทธิ์ยังมีพลังอยู่ แต่ก็
ไม่ได้เคลื่อนไหว เป็นเพียงการปั่นกระแส เป็นเพียงการประเมินสถานการณ์ภายในพรรคมากกว่า”

“ขณะนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของความขัดแย้ง เพราะเรื่อง ร.อ.ธรรมนัสก็ยังไม่จบ เรื่องโควิด-19 ก็ยังไม่สงบ สถานการณ์การเมืองไม่นิ่ง คงไม่มีข้อสรุปอะไรอันใกล้ เราจะเจอแรงกระเพื่อมอย่างนี้ต่อไปอีก 1 เดือน รัฐบาลแก้ปัญหาโควิด-19 เป็นอย่างไร แก้ปัญหาเรื่อง ร.อ.ธรรมนัสเป็นอย่างไร”

วิกฤตรัฐบาล-วิกฤตประชาธิปัตย์

“ยิ่งกระแสกดดันเรื่อง ร.อ.ธรรมนัสมีมากขึ้น จะส่งผลต่อการตัดสินใจร่วม-ไม่ร่วมรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ เพราะจะเกิดแรงกระเพื่อมจากพลังประชารัฐ-ภูมิใจไทยตามมา”

“แม้ในระยะอันใกล้ ประชาธิปัตย์จะยังไม่ถอนตัวจากรัฐบาล แต่ถ้าระดับไทม์เฟรม 1 เดือนยังเป็นไปได้อยู่
เพราะถ้าหากมีวิกฤตศรัทธาต่อรัฐบาลหนักหน่วง ความเชื่อถือต่อคนในรัฐบาลเป็นศูนย์ คนจะอยู่กับรัฐบาลจนกว่ารัฐบาลใกล้พัง หรือออกในจังหวะที่รัฐบาลใกล้พังเต็มที สมมุติโควิด-19 เข้าสู่ระยะที่ 3 และรัฐบาลไม่สามารถคุมสถานการณ์ได้ น้ำหนักในการออกจากรัฐบาลก็มีมากขึ้น”