พริษฐ์ : ยุบสภาไม่พอต้องแก้ รธน. ประชาธิปไตย ไม่จำเป็นต้องแลกด้วยเลือด

สัมภาษณ์พิเศษ

โดย ปิยะ สารสุวรรณ

การชุมนุมเคลื่อนไหวของกลุ่มคนหนุ่ม-คนสาว นักเรียน-นักศึกษา “แฟลชม็อบ” เป็นไฟลามทุ่ง

จากลานปัญญาชนสาดส่องแสงไฟแห่งความหวังไปถึงรัฐสภา-ทำเนียบรัฐบาล

“ประชาชาติธุรกิจ” สนทนาพิเศษ “ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ” นักการเมืองเลือดใหม่ ที่ผันตัวเองจากกลุ่มคนรุ่นใหม่-Newdem ในสนามนักเลือกตั้ง-กติกากำมะลอ

สู่นักเคลื่อนไหว สตาร์ตอัพลงสมรภูมิประชาชน “ถือธง” มติมหาชน อาสายืนแถวหน้า โยนข้อเสนอถึงผู้มีอำนาจเปิดวงแก้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

3 ปัจจัยแฟลชม็อบ

“ไอติม” หัวขบวนกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า เป็น “กระจกสะท้อน” ความ “ไม่พอใจ” ของคนหนุ่ม-คนสาว คนรุ่นใหม่ ต่อรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 3 ประการ

ประการแรก ความไม่พอใจระบบการเมืองปัจจุบัน เป็นระบบที่ห่างเหินกับคำว่าประชาธิปไตย ระบบที่ทหารเข้ามาแทรกแซงการเมือง รัฐบาลไม่มีความชอบธรรม

ประการที่สอง ความไม่พึงพอใจการบริหารประเทศของรัฐบาลที่ไม่ยึดหลักธรรมาภิบาล ไม่โปร่งใส เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน เงินภาษีถูกนำไปใช้เพื่อประโยชน์ของประเทศ หรือใช้เพื่อเอื้อคนบางกลุ่ม

ประการที่สาม ความไม่พึงพอใจรัฐบาลในประสิทธิภาพการบริหารจัดการวิกฤต เช่น วิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตโควิด-19 วิกฤตสุขภาพ

ข้อเสนอชิงบวก-ลดแรงปะทะ

“ไอติม” คาดเดาไม่ได้ว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มปัญญาชนในรอบ 30 ปี จะเป็นไฟลุกโชน-แตกหัก เพราะเมื่อโลกก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ วิธีการชุมนุมย่อมเปลี่ยนไป

“เมื่อก่อนเวลาเราพูดถึงการชุมนุม คาดหวังว่าคนจะออกมาอยู่ในสถานที่หนึ่งเป็นระยะเวลาต่อเนื่องยาวนาน เป็นวัน เดือน ปี แต่ปัจจุบันมีลักษณะเป็นแฟลชม็อบ ที่มาวันเดียว 1 ชั่วโมง 2 ชั่วโมง ต่างคนต่างแยกย้าย เป็นวิวัฒนาการการชุมนุม”

“แฟลชม็อบทำให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม โดยไม่ต้องเสียสละหลายอย่าง แทนที่จะลางาน ลาเรียนเป็นวัน ๆ ก็มาเพียงชั่วโมง สองชั่วโมง แล้วก็แยกย้ายกลับไป แต่สามารถแสดงพลังได้ ความเสี่ยงเรื่องความรุนแรงน้อยลง ไม่เสี่ยงต่อสุขภาพ”

สิ่งที่เขาอยากเห็น คือ ไม่เกิดการสูญเสีย-นองเลือด ซ้ำรอยเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 6 ตุลาฯ และพฤษภาทมิฬ

“ความปลอดภัยและชีวิตของประชาชนเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด หวังว่าจะไม่มีการสูญเสีย ทำอย่างไรให้ได้มาซึ่งความเปลี่ยนแปลงโดยไม่ต้องแลกมาด้วยชีวิตของประชาชน ได้ประเทศที่มีกติกาโดยชอบธรรม”

“ระดมความคิดสร้างสรรค์ แสดงพลังอย่างไรเพื่อลดความเสี่ยง การชุมนุมต่อเนื่องเป็นวัน สัปดาห์ เดือน บนท้องถนน อาจสุ่มเสี่ยงต่อความรุนแรง การปะทะ กองทัพนำไปเป็นเงื่อนไข-ข้ออ้างของการรัฐประหาร”

“ก้าวถัดไป คือ การรวบรวมข้อเสนอเชิงบวกให้ได้มากที่สุด ออกมาแสดงพลังทุกกลุ่มโดยมีจุดร่วมในข้อเสนอ และเดินหน้าไปด้วยกันอย่างมีเอกภาพ”

แก้รัฐธรรมนูญดับไฟคนหนุ่มสาว

“ไอติม” โยนข้อเสนอจุดร่วม-สงวนจุดต่าง คือ แก้ไขรัฐธรรมนูญ ลดแรงความไม่พึงพอใจต่อรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์

“บางคนบอกว่า พล.อ.ประยุทธ์ลาออก ยุบสภา เลือกตั้งใหม่ พอแล้ว แต่ผมคิดว่าไม่พอ เพราะท้ายที่สุดอาจจะมีนายทหารอีกคนเข้ามาทำหน้าที่แทน และยังอยู่ภายใต้กติกาเลือกตั้งเหมือนเดิม ยังมี ส.ว. 250 คน ยังมีกรรมการเลือกตั้งชุดเดิม”

ยิ่งไปกว่านั้น พ.ร.บ.พรรคการเมือง พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส. พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครลงในเขตเลือกตั้งได้ต้องมีสมาชิกพรรคอย่างน้อย 100 คนในเขตเลือกตั้งนั้น เป็นสิ่งที่ถูกยกเว้นในการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562

“ถามว่าพรรคการเมืองไหนบ้างที่มีสมาชิก 100 คน ทุกเขตเลือกตั้ง พร้อม มีอยู่ไม่กี่พรรค พลังประชารัฐครบ ภูมิใจไทยอาจจะครบ ประชาธิปัตย์ เพื่อไทย ไม่แน่ใจ ก้าวไกลและพรรคกล้า ตัดออกไปได้เลยเพราะเป็นพรรคใหม่”

“ถ้ามีการยุบสภาเกิดขึ้นและเลือกตั้งเร็ว ผู้ที่ได้เปรียบอาจจะเป็นผู้ที่เขียนกติกา กลายเป็นว่าเราจะได้การเปลี่ยนแปลงที่เราไม่ต้องการ ฉะนั้น จุดร่วมสำคัญ คือ การแก้รัฐธรรมนูญ เพราะความไม่พอใจสามารถแก้ได้ด้วยรัฐธรรมนูญ”

รัฐบาลที่แก้ปัญหาได้จริง คือ รัฐบาลที่มีเสถียรภาพ และการรวมตัวของกลุ่มคนกี่พรรคก็ได้ที่มีอุดมการณ์ตรงกัน เพราะถ้ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันทำให้มีพรรคการเมือง 10-20 พรรค เข้ามารวมกันเป็นรัฐบาลที่ไม่มีเสถียรภาพ รวมตัวกันบนพื้นฐานของผลประโยชน์มากกว่าอุดมการณ์และวิสัยทัศน์ที่มีต่อประเทศ ทุกอย่างจึงมาจบลงที่รัฐธรรมนูญ”

ชูธงแก้รัฐธรรมนูญฝ่าวิกฤต

“ไอติม” ยืนยันว่า การแก้รัฐธรรมนูญสามารถทำควบคู่กันกับการแก้เรื่อง“ภัยแล้ง-โควิด-เรื่องเศรษฐกิจ” ได้ เหมือนการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งขณะนั้นเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ “ต้มยำกุ้ง”

“เราสามารถแก้รัฐธรรมนูญและสร้างกติกาของประเทศที่เอื้อต่อการได้มาซึ่งรัฐบาลที่ชอบธรรม มีเสถียรภาพและมีประสิทธิภาพในการดำเนินนโยบายเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ การแก้รัฐธรรมนูญกับการแก้ปัญหาวิกฤตต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงกันได้”

ขณะนี้ “ไอติม” เดินสายร่างรัฐธรรมนูญร่วมกัน (con lab) เพื่อสร้างเวทีจำลองความเข้าใจ หาจุดร่วม-ประนีประนอมจุดต่าง ทั้งในกรุงเทพฯ ปัตตานี เชียงใหม่ และลำปาง เป็นกลไกภาคประชาชน เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง

“การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการต่อสู้คู่ขนาน 1.การแก้ไขผ่านกลไกรัฐสภา ข้อสรุปของกรรมาธิการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นสัญญาณว่า สภาเป็นที่พึ่งของประชาชนได้หรือไม่”

“ผู้มีอำนาจไม่มีความต้องการที่จะแก้ไขจริงหรือไม่ ท้ายที่สุดจะไปตกที่พรรคการเมืองแต่ละพรรคว่า มีความจริงใจกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญมากน้อยแค่ไหน อย่างน้อย 2-3 เรื่องที่ทุกพรรคเห็นต้องกัน เช่น การเลือกตั้งนายกฯเป็นเรื่องของ ส.ส.”

“บางพรรคเป็นเงื่อนไขในการเข้าร่วมรัฐบาล พรรคฝ่ายค้านค่อนข้างเห็นตรงกัน

ถ้าเราสามารถสร้างปรากฏการณ์ให้ทุกพรรคการเมืองออกมายืนยันพร้อมกันว่า พร้อมแก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องที่สำคัญ จะเป็นสัญญาณที่ดี”

2.ภาคประชาชนยังต้องทำงานอย่างหนัก เพื่อสร้างความตระหนักเข้าใจถึงรัฐธรรมนูญ เข้าใจปัญหา เข้าใจถึงความสำคัญ เพื่อร่างข้อเสนอของแต่ละกลุ่ม และหาจุดร่วมที่ทำให้เดินหน้าอย่างมีเอกภาพ

รัฐบาลอยู่ได้ กติกาต้องเป็นธรรม

ความยากของการแก้รัฐธรรมนูญฉบับแก้ยาก นอกจากกุญแจที่ติดล็อกไว้หลายชั้นแล้ว เจตนาของผู้มีอำนาจก็บ่งชี้ถึงการกระทำว่าต้องการแก้หรือไม่แก้ เพราะมีพรรคการเมืองได้ประโยชน์จากกติกาที่ “ออกแบบมาเพื่อพวกเรา”

“รัฐบาลจะอยู่ได้ ต้องเป็นรัฐบาลที่ได้รับการยอมรับจากประชาชน ไม่ใช่รัฐบาลที่ได้รับการชื่นชอบ แต่จะทำอย่างไรให้คนที่ไม่ได้ชื่นชอบรัฐบาลยอมรับสถานะของรัฐบาลนั้น ซึ่งมาจากกติกาที่เป็นกลางและชอบธรรม”

“แต่ชัยชนะที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ได้มา ไม่ได้มาด้วยกติกาที่เป็นกลางและเป็นธรรม กลายเป็นว่าคนที่ไม่พอใจรัฐบาล ไม่ใช่เพียงไม่พอใจในผลงาน แต่ไม่พอใจในที่มาของรัฐบาลด้วย ทำให้เสื่อมศรัทธาในที่มาไม่ชอบธรรมผูกมัดรัฐบาลชุดนี้”

“ถ้าคุณยังอยากมีโอกาสมีอำนาจอยู่ต่อ ต้องปรับกติกาให้เป็นกลางและมาสู้กันในเกม เพราะท้ายที่สุดแล้ว ทุกคนมีโอกาสที่จะได้รับชัยชนะ มีโอกาสที่จะเข้าไปเป็นตัวแทนของประชาชนเท่ากัน”

“ตราบใดที่คุณยังชนะในกติกาที่คุณเขียนเข้าข้างตัวเอง ท้ายที่สุดแล้วคุณอาจได้เข้าไปสู่อำนาจในช่วงระยะสั้น แต่ในระยะยาวศรัทธาของประชาชนจะเป็นหุ้นที่ตกลงมาเรื่อย ๆ จนในที่สุดวันหนึ่งก็ต้องเปลี่ยน”

ล้อมวง Democracy Dialogue

“ไอติม” อยากเห็นตัวแทนผู้มีอำนาจของทุกโครงสร้างอำนาจ เช่น กองทัพ-รัฐบาล-พรรคการเมือง-ข้าราชการ-เกษตรกร-นักศึกษา-ผู้ประกอบการเข้ามาล้อมวงคุยเป็น democracy dialogue

สิ่งที่ผู้จัดอยากจะเห็น คือ ความหลากหลายของผู้เข้าร่วม คนทุกรุ่น ทุกกลุ่มสาขาอาชีพ เกษตรกร พนักงานบริษัท ข้าราชการ ผู้ประกอบการ อยากเชิญชวนใครจากกองทัพ ใครจากภาคการเมืองมาเข้าร่วมด้วย จะเป็นเรื่องที่ดีมาก

ลองนึกถึงภาพ ตัดอคติออกหมด มองว่ารัฐธรรมนูญหรือกติกาที่เราอยากเห็น คือ อะไร แล้วมาร่างรัฐธรรมนูญร่วมกันใหม่ ในห้องนั้นมีนักศึกษาคนหนึ่ง มีเกษตรกรคนหนึ่ง มีข้าราชการคนหนึ่ง มีทหารคนหนึ่ง ล้อมวงคุย

“ผู้มีอำนาจทั้งหมด ยกตัวอย่างไอซ์แลนด์ มีกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประชาชน มีการจัดวงล้อมคุยกันบนหลักการ ให้พื้นที่คนธรรมดาที่มีอำนาจน้อย พูดเยอะที่สุด พูดมากกว่าผู้มีอำนาจ”

“ไม่ใช่การล้อมวงโดยผู้มีอำนาจถือสิทธิ์เหนือผู้อื่น หรือพูดได้มากกว่าผู้อื่น หรือมองว่าความคิดของตัวเองเหนือกว่าผู้อื่น เป็นการล้อมวงที่อยู่บนพื้นฐานของความเท่าเทียมกันแท้จริง”

5 ยกเลิก 5 ยกระดับ

“ไอติม” เปรียบข้อเสนอ 5 ยกเลิก 5 ยกระดับ ที่โยนลงไปใน “พื้นที่ทางความคิด” เปรียบเสมือนไฟล์คอมพิวเตอร์เวอร์ชั่น 1 เป็น “living document” หรือ “เอกสารที่มีชีวิต”

“ผมไม่ต้องการให้เป็นเอกสารที่ตายตัว อยากให้เป็นเหมือน living document หรือเอกสารที่มีชีวิต ที่ถูกเปลี่ยนอยู่ตลอด ไม่ได้มีเพียงเวอร์ชั่น 1 แต่มีเวอร์ชั่น 2 เวอร์ชั่น 3 สามารถหยิบยกไปใช้ต่อ ถกเถียง ดัดแปลงได้ทั้งหมด”

“เวอร์ชั่นสุดท้าย ต้องเป็นเวอร์ชั่นที่ประชาชน 60 ล้านคน ไปแตะมันแล้ว เป็นข้อเสนอที่มั่นใจได้ว่าประชาชนทุกคนมีโอกาสในการมีส่วนร่วม ตัวชี้วัดของความสำเร็จ คือ ปริมาณและการมามีส่วนร่วมของประชาชน มากกว่าตัวเนื้อหาทางวิชาการ เพื่อปรับเนื้อหาให้เป็นไปตามความต้องการของประชาชน”

ประชาธิปไตย-เก้าอี้สามขา

“ไอติม” คือ คนแรก ๆ ที่ “จุดพลุ” เรื่องการปฏิรูปกองทัพ-ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร เขาจึงยอมรับว่า ต่อให้เขียนรัฐธรรมนูญดีอย่างไร ถ้ากองทัพยังทำรัฐประหารอยู่ รัฐธรรมนูญก็จะถูกฉีกซ้ำ-ซาก ดังนั้น ประชาธิปไตยจึงเหมือน “เก้าอี้สามขา”

“การทำรัฐประหาร คือ การใช้อำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเขียนรัฐธรรมนูญดีแค่ไหน ถ้ากองทัพยังทำรัฐประหารอยู่ รัฐธรรมนูญต่อให้เขียนดีแทบตายก็แก้ปัญหาการรัฐประหารไม่ได้”

“เราต้องเขียนรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดก่อน และหาวิธีการอื่นเพื่อปฏิรูปโครงสร้างประเทศให้มีโอกาสทำรัฐประหารน้อยลง เช่น การปฏิรูปกองทัพ การมีวัฒนธรรมประชาธิปไตยเพื่อหาทางออกภายใต้กลไกรัฐสภา-กลไกประชาธิปไตย”

ถ้าเราอยากได้ประชาธิปไตยที่ยืนอยู่บนเก้าอี้ได้และไม่ล้ม ขาที่ 1 ต้องมีรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกติกาที่เป็นประชาธิปไตย ไม่ใช่ดูเหมือนว่าเป็นขาที่แข็งแรง แต่จริง ๆ เป็นขาปลอม เป็นขาที่อ่อนแอ และไม่ได้สนับสนุนประชาธิปไตยจริง


ขาที่ 2 คือ ขาของการปฏิรูปกองทัพ กองทัพอยู่ภายใต้พลเรือนจริง และขาที่ 3 คือ การสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตย เพื่อให้ประชาชนเข้าใจประชาธิปไตยอย่างแท้จริง