ผ่างบ’64 วงเงิน 3.3 ล้านล. ตั้งงบกลาง 5.7 แสนล้าน กลาโหมขอลดลง 168 ล้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธาน ได้เห็นชอบรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 เมื่อวันที่ 17 มี.ค.ที่ผ่านมา ตามที่สำนักงบประมาณเสนอ นั้น กรอบวงเงินและโครงสร้างงบประมาณรายจ่ายปี 2564 มีจำนวนเงิน 3.3 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่กำหนดไว้ 3.2 ล้านล้านบาท จำนวน 1 แสนล้านบาท หรือ เพิ่มข้นร้อยละ 3.1 ประกอบด้วยโครงสร้างงบประมาณดังนี้

1.รายจ่ายประจำ จำนวน 2,504,584 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2563 จำนวน 100,889.6 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 75.9 ของวงเงินงบประมาณ เทียบกับสัดส่วนร้อยละ 75.1 ของปีงบประมาณ 2563

2.รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง ปีงบประมาณ 2564 ไม่มีรายการที่ต้องเสนอตั้งงบประมาณปีงบประมาณ 2563 ตั้งไว้จำนวน 62,709.5 ล้านบาท

3.รายจ่ายลงทุน จำนวน 696,416 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2563 จำนวน 51,990.3 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.1

4. รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 99,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2563 จำนวน 9,829.6 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 11

อย่างไรก็ตาม หน่วยรับงบประมาณ (กระทรวง) ที่ถูกของบประมาณลดลง เช่น กระทรวงกลาโหม ตั้งงบไว้ทั้งสิ้น 231,576.5 ล้านบาท จากที่ของบในปี 2563 จำนวน 231,745.3 ล้านบาท ลดลง 168.8 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 0.1 กระทรวงแรงงาน ตั้งงบไว้ 70,132.4 ล้านบาท จากที่ขอไว้ในปี 2563 จำนวน 72,069.9 ล้านบาท ลดลง 1,937.5 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 2.7 กระทรวงศึกษาธิการ ของบไว้ทั้งสิ้น 361,081.2 ล้านบาท จากที่ของบในปี 2563 จำนวน 367,744.7 ล้านบาท ลดลง 6,663.5 ล้านบาท หรือ ลดลงร้อยละ 1.8

ส่วนหน่วยงานที่ของบประมาณเพิ่มขึ้น อาทิ กระทรวงคมนาคม ของบไว้ 195,020.6 ล้านบาท จากที่ขอไว้ในปี 2563 จำนวน 176,096.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18,925.4 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.7 กระทรวงพลังงาน ของบทั้งสิ้น 2,519.7 ล้านบาท จากที่ขอไว้ในปี 2563 จำนวน 2,141.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 378.7 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.7 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ของบไว้ 8,813.6 ล้านบาท จากที่ขอไว้ในปี 2563 จำนวน 6,768.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,027.3 ล้านบาท กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ของบไว้ 6,642.9 ล้านบาท จากที่ขอไว้ในปี 2563 จำนวน 5,888.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 750 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.8 เช่นเดียวกับงบกลาง ที่ของบไว้ 574,290.6 ล้าบาท จากที่ขอไว้ในปี 2563 จำนวน 518,770.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 55,519.7 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.7


เมื่อแยกเป็นยุทธศาสตร์ ปรากฏว่า ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน 416,550.5 ล้านบาท ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง 428,323.9 ล้านบาท ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ 583,835.2 ล้านบาท ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม 798,609.8 ล้านบาท ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป้นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 120,106.9 ล้านบาท ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ 559,619.4 ล้านบาท รายการค่าดำเนินการภาครัฐ 392,954.3 ล้านบาท