งัดคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 74/2557 ปลดล็อคประชุมผู้ถือหุ้นออนไลน์

วันที่ 23 มีนาคม 2563 เมื่อเวลา 16.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวภายหลังศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานว่า กฎหมายควบคุมบริษัทจำกัดและบริษัทมหาชนที่ต้องมีการประชุมผู้ถือหุ้นทุกสิ้นเดือนเมษายน แต่เนื่องจากมาตรการป้องกันวิกฤติจากโรคติดเชื้อโควิด-19 ให้งดกิจกรรมรวมคนจำนวนมากทำให้เกิดความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 ได้

“กรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยกระทรวงพาณิชย์ คณะกรรมการกฤษฎีกา และคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กำหนดแนวทางการประชุมของผู้ถือหุ้นบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ บริษัทมหาชน และบริษัททั่วไป

นายเทวัญกล่าวว่า หากบริษัทใดประสงค์ที่จะเลื่อนการประชุมผู้ถือหุ้นสามารถดำเนินการเลื่อนได้ โดยกระทรวงพาณิชย์จะยกเว้นค่าปรับ และหากบริษัทใดมีความจำเป็นต้องจัดการประชุมผู้ถือหุ้นสามารถดำเนินการได้ แต่ให้ประชุมผ่านสื่ออิเลคทรอนิกส์ อาศัยอำนาจตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 74/2557 เรื่องการประชุมผ่านสื่ออิเลคทรอนิกส์ ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2557

“หากมีความจำเป็นสำคัญต้องจัดประชุมผู้ถือหุ้นต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง มาตรการเร่งด่วนในการป้องกันวิกฤตจากเชื้อไวรัสโควิด-19 เช่น การจำกัดจำนวนคน ระยะเว้นห่างของผู้นั่งประชุม รวมถึงมาตรการป้องกัน การวัดไข้ เจลล้างมือ หรือ มาตรการอื่น ๆ ในการทำความสะอาดสถานที่ประชุม”

น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานก.ล.ต. บริษัทมหาชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ขณะนี้มีจำนวนประมาณ 700 บริษัท ถ้าบริษัทใดจะประสงค์จัดประชุมต้องปฏิบัติโดยเคร่งครัดตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุขกำหนด ก.ล.ต.อยากเชิญชวนหากผู้ถือหุ้นไม่อยากจะไปสามารถมอบอำนาจให้กรรมการอิสระให้เป็นตัวแทนได้ ซึ่งการมอบอำนาจให้กรรมการอิสระสามารถผ่านระบบอิเลคทรอนิกส์ได้ เช่น แอพลิเคชั่นไลน์ โดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ) หรือ ETDA จะมีคู่มือและระเบียบผ่านเว็บไซต์และเป็นระบบที่สามารถรับรองได้ แต่หากประสงค์จะผ่อนผันหรือเลื่อนไปสามารถทำหนังสือแจ้งไปได้ ซึ่งคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 74/2557 สามารถรองรับการประชุมผ่านสื่ออิเลคทรอนิกส์ได้ เพียงมีผู้เข้าร่วมประชุม 1 ใน 3 ขององค์ประชุม หรือ กฎหมายมหาชนต้องไม่น้อยกว่า 25 คน

“ผู้ถือหุ้นไม่จำเป็นต้องมา ให้ประชุมผ่านไลฟ์หรือผ่านระบบอิเลคทรอนิกส์เข้ามาได้ ซึ่งกระทรวงดีอียืนยันว่า มีระบบบริการที่สามารถควบคุมความปลอดภัยของข้อมูลได้ เพื่อลดจำนวนคนเข้าประชุมจำนวนมาก ถ้านั่งอยู่ที่บ้าน ระบบจะมีปุ่มลงคะแนนเสียงได้”

ทั้งนี้ ในการประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี ได้แก่ รับรองงบบัญชี แต่งตั้งผู้สอบบัญชี แต่งตั้งกรรมการใหม่กรณีครบวาระ และเงินปันผล

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า ประกาศกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2563 กำหนดหลักเกณฑ์การผ่อนผันบริษัทผู้ถือหุ้นที่ไม่สามารถจัดการประชุมได้ภายในระยะเวลา 4 เดือน นับจากวันที่บริษัทปิดรอบปีทางบัญชี หรือ 31 ธันวาคมถึง 30 เมษายน สามารถทำหนังสือขอผ่อนผัน หรือ ขอขยายระยะเวลาได้

นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวว่า ประกาศคสช.ฉบับที่ 74/2557 กำหนดว่า การประชุมไม่จำเป็นที่จะต้องมานั่งประชุมอยู่ร่วมกัน ณ ที่เดียวกันก็ได้ เพื่อกำหนดให้สอดรับกับเทคโนโลยีทีเปลี่ยนแปลงไป เช่น บริษัทจำกัด บริษัทมหาชน หรือ การประชุมอื่น ๆ ที่กฎหมายกำหนดให้มีการประชุมสามารถใช้ประกาศคสช.ฉบับดังกล่าวได้ในการประชุม

“เงื่อนไขมีสองประการ ประการแรก ผู้ร่วมประชุมอย่างน้อย 1 ใน 3 ขององค์ประชุมของคณะกรรมการจะต้องเข้าร่วมประชุมอยู่ในที่ประชุม ประการที่สอง ผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมดต้องอยู่ในราชอาณาจักร โดยสามารถประชุมผ่านออนไลน์ได้ เช่น Zoom Meeting MS Teams”

นายปกรณ์กล่าวย้ำว่า ประกาศคสช.รองรับความชอบด้วยกฎหมายของการประชุมทางเทคโนโลยี ส่วนข้อกังวลเรื่องการเบิกจ่ายเบี้ยประชุม ประกาศคสช.ฉบับดังกล่าวได้รองรับสามารถเบิกจ่ายสำหรับผู้แสดงตนเข้าร่วมประชุมได้

“ข้อ 8 ตามคำสั่ง คสช.ฉบับดังกล่าว ให้ถือว่า การประชุมผ่านสื่ออิเลคทรอนิกส์ เป็นการประชุมโดยชอบด้วยกฎหมาย และห้ามปฏิเสธการรับฟังข้อมูลทางอิเลคทรอนิกส์ตามประกาศคสช.ฉบับนี้ เป็นพยานและหลักฐานในการพิจารณาคดีทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นคดีแพ่ง คดีอาญา หรือ คดีอื่นใด โดยการประชุมผ่านสื่ออิเลคทรอนิกส์ยังเป็นการลดการแพร่เชื้อโควิด-19 แล้ว ยังได้รับรองโดยชอบด้วยกฎหมายและสอดคล้องกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป”