เทียบดีกรี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน-กฎอัยการศึก-พ.ร.บ.ความมั่นคง จากการเมืองสู่คุมโควิด-19

Photo by Anusak Laowilas/NurPhoto via Getty Images

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 24 มีนาคม 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประกาศหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เตรียมประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 2548 ขึ้นมาคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19 มีผลวันที่ 26 มีนาคม 2563

“ประชาชาติธุรกิจ” นำเสนอข้อปฏิบัติการใช้อำนาจตามกฏหมาย เปรียบเทียบ พ.ร.บ.ความมั่นคง พ.ศ.2551-กฏอัยการศึก และ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ดังนี้

ในรอบ 10 ปีเศษที่ผ่านมา มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมสถานการณ์ต่างๆ มาแล้วหลายครั้ง ทุกครั้งเกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมือง เช่น ในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในหลายจังหวัดเพื่อควบคุมการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในช่วงปี 2552 และ 2553 โดยมีการตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) มาบัญชาเหตุการณ์

เช่นเดียวกับรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ควบคุมสถานการณ์การชุมนุมของ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ครอบคลุมพื้นที่ กทม. จ.นนทบุรี จ.สมุทรปราการ เฉพาะ อ.บางพลี และ จ.ปทุมธานี เฉพาะ อ.ลาดหลุมแก้ว โดยมีการตั้งศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) และ ศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) มาบัญชาสถานการณ์

ทั้งนี้ มาตรา 4 ของ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 2548 ระบุขอบเขต การใช้อำนาจไว้ว่า “สถานการณ์ฉุกเฉิน” หมายความว่า สถานการณ์อันกระทบ หรืออาจกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือ เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ หรือ อาจทำให้ประเทศ หรือ ส่วนใดส่วนหนึ่งของประเทศตกอยู่ในภาวะคับขัน หรือ การกระทำความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา การรบ หรือ การสงคราม ซึ่งจำเป็นต้องมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทย เอกราชและบูรณภาพแห่งอาณาเขต ผลประโยชน์ของชาติ การปฏิบัติตามกฎหมาย ความปลอดภัยของประชาชน การดำรงชีวิตโดยปกติสุขของประชาชน การคุ้นครองสิทธิเสรีภาพ ความสงบเรียบร้อยหรือประโยชน์ส่วนรวม หรือ การป้องปัดหรือแก้ไขเยียวยาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะอันมีมาอย่างฉุกเฉินและร้ายแรง

@ เปิดช่องประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

การประกาศ : นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีอำนาจในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ สถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง เพื่อบังคับใช้ทั่วราชอาณาจักรหรือในบางเขต บางท้องที่ตามความจำเป็น และมีอำนาจในการประกาศขยายเวลาบังคับใช้

เหตุที่ทำให้ประกาศ : เมื่อมีสถานการณ์ฉุกเฉินเกิดขึ้น หรือ สถานการณ์อันกระทบหรืออาจกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ หรืออาจทำให้ประเทศหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของประเทศอยู่ในภาวะคับขันหรือมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา การรบหรือสงคราม

และนายกรัฐมนตรีเห็นสมควรใช้กำลังเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองหรือตำรวจ เจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารร่วมกันป้องกันแก้ไข ปราบปราม ระงับยับยั้ง ฟื้นฟู หรือช่วยเหลือประชาชน

@ ให้อำนาจนายกฯ เบ็ดเสร็จ

อำนาจตามกฎหมาย :

1. คณะกรรมการบริหารสถานการณฉุกเฉินมีอำนาจหน้าที่ติดตามและตรวจสอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งภายและภายนอกประเทศที่อาจเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อเสนอแนะต่อนายกรัฐมนตรี

2.ในเขตท้องที่ที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน นายกฯ มีอำนาจเป็นการชั่วคราว แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงใดกระทรวงหนึ่งหรือหลายกระทรวง หรือที่เป็นผู้รักษาการตามกฎหมายหรือที่มีอยู่ตามกฎหมายใดก็ตาม เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการอนุญาต อนุมัติ สั่งการ บังคับ บัญชา หรือ ช่วยในการป้องกัน แก้ไข ปราบปราม ระงับยับยั้งในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือฟื้นฟูหรือช่วยเหลือประชาชน เพื่อให้การสั่งการและแก้ไขสถานการณ์เป็นไปโดยมีเอกภาพรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

3.คณะรัฐมนตรีอาจจัดตั้งหน่วยงานพิเศษเป็นการเฉพาะเพื่อปฏิบัติตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นการชั่วคราว

@ ห้ามออกนอกเคหสถาน – ใช้ยานพาหนะ

4.หากประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน นายกฯ มีอำนาจออกข้อกำหนด (1.) ห้ามบุคคลใดออกนอกเคหสถานภายในระยะเวลาที่กำหนด เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือ เป็นบุคคลซึ่งได้รับการยกเว้น (2.) ห้ามไม่ให้มีชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ หรือ กระทำใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย (3.) ห้ามการเสนอข่าว การจำหน่ายหรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือพิมพ์ สิ่งพิมพ์ หรือสิ่งอื่นใดที่มีข้อความ อันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวหรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน จนกระทั่งความมั่นคงของรัฐ

(4.) ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะหรือกำหนดเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ (5.) ห้ามการใช้อาคารหรือเข้าไปอยู่หรืออยู่ในสถานที่ใดๆ 6.ให้อพยพประชาชนออกจากพื้นที่ที่กำหนดเพื่อความปลอดภัยของประชาชนดังกล่าวหรือห้ามผู้ใดเข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่กำหนด

และหากเป็นกรณีสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง นายกฯ มีอำนาจดังต่อไปนี้ด้วย อาทิ ประกาศห้ามมิให้กระทําการใด ๆ หรือสั่ง ให้กระทําการใด ๆ เท่าที่จําเป็นแก่การรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยของประเทศ หรือความปลอดภัยของประชาชน

ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งตรวจค้น รื้อ ถอน หรือ ทำลายซึ่งอาคาร สิ่งปลูกสร้าง หรือ สิ่งกีดขวาง ตามความจำเป็นในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อระงับเหตการณ์ร้ายแรงให้ยุติได้โดยเร็ว

ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอํานาจออกคำสั่งห้ามมิให้ผู้ใดออกไปนอกราชอาณาจักร เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า การออกไปนอกราชอาณาจักรจะเป็นการกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐหรือความ ปลอดภัยของประเทศ

@ กฎอัยการศึก กองทัพ คุมรัฐบาลพลเรือน

ส่วน “กฎอัยการศึก” นั้น พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อครั้งอยู่ในฐานะผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เคยประกาศใช้เมื่อ 20 พ.ค.2557 ออกคำสั่งเรียกคู่ขัดแย้งทั้ง นปช. กปปส. ตัวแทนจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ตัวแทน กกต. ตัวแทน ส.ว. ก่อนจะตกลงกันไม่ได้ และนำไปสู่การที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าควบคุมอำนาจการบริหารประเทศ เมื่อ 22 พ.ค.2557

การประกาศ :  ผู้บังคับบัญชาทหารซึ่งมีกำลังอยู่ใต้บังคับไม่น้อยกว่า 1 กองพัน หรือ เป็นผู้บังคับบัญชาในป้อมหรือที่มั่นอย่างใดๆ ของทหาร ณ ที่ซึ่งมีสงครามหรือจลาจลเกิดขึ้น

เหตุที่ทำให้ประกาศ : เมื่อมีสงครามหรือจลาจลขึ้น มีเหตุจำเป็นต้องรักษาความสงบเรียบร้อยจากภัยซึ่งมาจากภายนอกหรือภายในราชอาณาจักร

อำนาจตามกฎหมาย :

1.เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจเหนือเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนในส่วนที่เกี่ยวกับการยุทธการระงับปราบปราม หรือการรักษาความสงบเรียบร้อยและเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนต้องปฏิบัติตามความต้องการของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร

2.เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจเต็มที่จะตรวจค้น ที่จะเกณฑ์ ที่จะห้าม ที่จะยึด ที่จะเข้าอาศัย ที่จะทำลายหรือเปลี่ยนแปลงสถานที่ และที่จะขับไล่ตาม พ.ร.บ.กฎอัยการศึก

@ พ.ร.บ.ความมั่นคง คุมม็อบ – ไฟใต้ 14 ปี

ส่วน พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร 2551 นั้น เป็นส่วนที่ “เบา” ที่สุดในบรรดา 3 กฎหมายที่เอาไว้ควบคุมสถานการณ์กรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน ซึ่งที่ผ่านมามีเอาไว้ควบคุมการชุมนุมทางการเมืองในรัฐบาลอภิสิทธิ์ ที่ใช้คุมม็อบ นปช. และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ใช้ควบคุมม็อบ กปปส. ขณะเดียวกัน ยังใช้ในการควบคุมสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งได้รับการต่ออายุต่อเนื่องกันมา 14 ปี

การประกาศ :   คณะรัฐมนตรีจะมีมติมอบหมายให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เป็นผู้รับผิดชอบในการป้องกันปราบปราม ระงับยับยั้ง และแก้ไข หรือบรรเทาเหตุการณ์ที่กระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร

เหตุที่ทำให้ประกาศ :  เมื่อปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความ มั่นคงภายในราชอาณาจักร แต่ยังไม่มีความจำเป็นต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และเหตุการณ์อันมีแนวโน้มที่จะมีอยู่ต่อไป

อำนาจตามกฎหมาย :  กอ.รมน.มีอํานาจหน้าที่ป้องกัน ปราบปราม ระงับ ยับยั้ง และแก้ไขหรือบรรเทาเหตุการณ์ที่กระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักรตามที่ได้รับมอบหมาย และเพื่อประโยชน์ในการป้องกัน ปราบปราม ระงับ ยับยั้งดังกล่าว ให้ผู้อำนวยการโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ออกข้อกำหนดได้ อาทิ ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องปฏิบัติการหรืองดเว้นการปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใด ห้ามเข้าหรือให้ออกจากบริเวณพื้นที่ อาคาร หรือ สถานที่ที่กำหนดในห้วงเวลาที่ปฏิบัติการ เว้นแต่ได้รับอนุญาต

ห้ามออกนอกเคหสถานในเวลาที่กำหนด ห้ามนำอาวุธออกนอกเคหสถาน ห้ามใช้เส้นทางคมนาคม หรือการใช้ยานพาหนะ หรือกำหนดเงื่อนไขในการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ ให้บุคคลที่ปฏิบัติหรืองดเว้นการปฏิบัติการณ์อย่างใดอันเกี่ยวกับเครื่องมือหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดแก่ชีวิต