พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ครั้งที่ 18 ไพ่ใบสุดท้าย ‘บิ๊กตู่’ ดับวิกฤตไวรัส

“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม งัด พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ขึ้นมาเป็นเครื่องมือต่อสู้กับ “ไวรัสมรณะ” โควิด-19 เป็นการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินครั้งแรกในรอบ 6 ปี นับตั้งแต่ “พล.อ.ประยุทธ์” รัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 และเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณภัยต่อสู้กับ “เชื้อโรค” ไม่ใช่ภัยความมั่นคง ต่อสู้กับ “อริราชศัตรู” หรือควบคุมความสงบในประเทศ ถ้านับการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินสู้โควิดครั้งนี้จะเป็นครั้งที่ 18

แกะรอยสถานการณ์ฉุกเฉินในประเทศไทย ครั้งที่ 1 เกิดขึ้นเมื่อ 23 ก.พ. 2492 จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน จากเหตกบฏวังหลวง ที่เกิดจาก “ปรีดี พนมยงค์” กับกลุ่มอดีตเสรีไทย พร้อมกับคณะนายทหารเรือส่วนหนึ่งพยายามก่อการรัฐประหาร เพื่อที่จะกลับมามีอำนาจอีกครั้ง หลังต้องลี้ภัยจากเหตุการณ์รัฐประหาร 29 พ.ย. 2490

ครั้งที่ 2 หลังรัฐสภาผ่านกฎหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ปี 2495 ถัดจากนั้น 1 ปีเศษ จอมพล ป. ประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉิน ในเขตท้องที่อำเภอสะเดา อำเภอหาดใหญ่ กิ่งอำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา และอำเภอเบตง อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา โดยให้เหตุผลในการประกาศว่า มีกองโจรจีนบางส่วน มั่วสุมก่อการร้ายเขตรัฐมลายู ได้หลบหนีซุ่มซ่อนไปมาข้ามเขตระหว่างไทยและรัฐมลายู ทำให้เป็นภัยความมั่นคง

ครั้งที่ 3 ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เมื่อ 25 ธ.ค. 2496 ในเขตท้องที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย น่าน เลย หนองคาย อุดรธานี นครพนม และอุบลราชธานี จากเหตุภัยคอมมิวนิสต์

ครั้งที่ 4 28 ธ.ค. 2496 รัฐบาลจอมพล ป. ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ สกลนคร และศรีสะเกษ  ซึ่งเป็นประกาศพื้นที่เพิ่มเติมจากการประกาศเมื่อ 25 ธ.ค.

ครั้งที่ 5 รัฐบาลจอมพล ป. ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เมื่อ 2 มี.ค. 2500 หลังจากการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 ที่พรรคเสรีมนังคศิลา ที่มีจอมพล ป.เป็นหัวหน้าพรรคชนะเลือกตั้ง แต่ถูกมองว่าเป็นการเลือกตั้งสกปรก นิสิต นักศึกษา ประชาชนเดินขบวนประท้วงไปถึงทำเนียบรัฐบาล

ครั้งที่ 6 รัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่จังหวัดตราด จันทบุรี ปราจีนบุรี บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอำเภอเดชอุดม อุบลราชธานี เมื่อ 4 ส.ค. 2501 เพราะมีโจรผู้ร้ายตามจังหวัดชายแดน ปล้นสะดมทรัพย์สิน ทำร้ายประชาชน และมีการแทรกซึมของขบวนการคอมมิวนิสต์

ครั้งที่ 7 นายสัญญา ธรรมศักดิ์ นายกฯ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินใน กรุงเทพฯ เมื่อ 4 ก.ค. 2517 เนื่องจากมีบุคคลบางจำพวก ประกอบด้วยบุคคลอันธพาลเป็นส่วนใหญ่ ก่อความไม่สงบใน กทม. ทำลายทรัพย์สินราชการและประชาชน ทำร้ายเจ้าหน้าที่ ก่อวินาศกรรม

ครั้งที่ 8 มีความพยายามจะรัฐประหารรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ขึ้น แต่สุดท้ายเกิดเหตุ “นัดแล้วไม่มา” ทำให้กลายเป็นกบฏ รัฐบาล พล.อ.เปรมจึงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เมื่อ 9 ก.ย. 2528

ครั้งที่ 9 ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เมื่อ 23 มิ.ย. พ.ศ. 2529 จากเหตุการณ์เผาโรงงานแทนทาลัมที่ จ.ภูเก็ต

ครั้งที่ 10 ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 เนื่องจากสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง หรือเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ”

ครั้งที่ 11 เป็นการประกาศตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2548 ครั้งแรก โดย “ทักษิณ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่ จ.นราธิวาส จ.ปัตตานี และ จ.ยะลา ในวันที่ 20 ก.ค. 2548 โดยต่ออายุการบังคับใช้จนถึงปัจจุบัน 14 ปีเศษ

ครั้งที่ 12 รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที กทม.เมื่อ 2 ก.ย. 2551 จากการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

ครั้งที่ 13 รัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่เขตดอนเมืองและเขตลาดกระบัง กทม. และ อ.บางพลี อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ เมื่อ 27 พ.ย. 2551 กรณีกลุ่มพันธมิตรฯ ยึดสนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิ

ครั้งที่ 14 รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน จ.ชลบุรี เมื่อ 11 เม.ย. 2552 จากเหตุการณ์ที่ นปช.ล้มการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน

ครั้งที่ 15 รัฐบาลอภิสิทธิ์ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตท้องที่ กทม. จ.นนทบุรี อ.เมืองสมุทรปราการ อ.บางพลี อ.พระประแดง อ.บางบ่อ อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ อ.ธัญบุรี อ.ลาดหลุมแก้ว อ.สามโคก อ.ลำลูกกา อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม อ.วังน้อย อ.บางปะอิน อ.บางไทร อ.ลาดบัวหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อ 12 เม.ย. 2552 จากการชุมนุมของกลุ่ม นปช.

ครั้งที่ 16 รัฐบาลอภิสิทธิ์ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตท้องที่ กทม. จ.นนทบุรี อ.เมืองสมุทรปราการ อ.บางพลี อ.พระประแดง อ.พระสมุทรเจดีย์ อ.บางบ่อ อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ อ.ธัญบุรี อ.ลาดหลุมแก้ว อ.สามโคก อ.ลำลูกกา อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม และ อ.วังน้อย อ.บางปะอิน อ.บางไทร อ.ลาดบัวหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2553 จากการชุมนุมของกลุ่ม นปช.

ครั้งที่ 17 รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร จ.นนทบุรี อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ เมื่อ 21 ม.ค. 2557 จากการชุมนุมของ กปปส.

“สุรชาติ บำรุงสุข” นักวิชาการด้านความมั่นคง จุฬาฯ เปรียบเทียบว่า การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ปัจจุบันนี้คล้ายกับการ “รัฐประหารเงียบ” ในสมัยนายกฯชื่อ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ที่ออกพระราชกฤษฎีกาปิดสภาและงดใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว เมื่อ 1 เม.ย. 2476

เพราะ…กลไกการเมืองปกติหยุดหมดแล้ว ซึ่งเราเห็นในสภาวะ 2476 ปิดสภากลาย ๆ บทบาทพรรคการเมืองยุติไปโดยสภาพ มีการควบคุม ตรวจสอบสื่อในสื่อภาคประชาชน รัฐต้องชี้แจงไม่ใช่ไล่จับ เป็นการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งภายในโครงสร้างอำนาจของรัฐ ปิดบทบาทของฝ่ายค้าน ยกอำนาจการดำเนินการไปไว้ข้าราชการประจำไม่ใช่รัฐมนตรีเจ้ากระทรวง มีอำนาจพิเศษจัดการกับผู้เห็นต่าง และอำนาจรวมอยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์คนเดียว

“พ.ร.ก.ฉุกเฉินประกาศใช้ได้ แต่ทำแล้วใช้กลไกการเมืองปกติก็ได้ แล้วใช้อำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเข้ามา เสริมเข้ามาในบางจุดที่คิดว่ากลไกการเมืองอ่อนแอ แต่ถ้าเป็นปัจจุบันส่อนัยคล้ายปี 2476 เหมือนเอารัฐมนตรีเจ้ากระทรวงไปแขวนไว้ข้าง ๆ แล้วปล่อยให้ปลัดกระทรวงดำเนินการ ไม่ต่างกับโครงสร้างหลังรัฐประหาร”

“บริบทนี้รัฐบาลไทยน่าเสียดายว่าไม่ทำเรื่องนี้ด้วยภาวะปกติ ไม่เคยใช้อำนาจ พ.ร.บ.โรคติดต่อจริง ๆ เลย”


“พ.ร.ก.ออกมาแก้ปัญหาการเมืองในรัฐบาล สงครามครั้งสุดท้าย เหมือนไพ่ใบสุดท้าย เทหมดหน้าตัก”