ครม.เคาะ “กู้-เกลี่ย-โยกงบประมาณฯ” แจก 5,000 บาท “เราไม่ทิ้งกัน” 21 ล้านคน

“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวม “ช่องทาง” ที่รัฐบาลจะหาเงินมาใช้จ่าย สำหรับมาตรการช่วยเหลือประชาชน ทั้งรูปแบบการ กู้เงิน, เกลี่ยงบประมาณปี 2563-2564 และโยกงบประมาณจากกระทรวงต่างๆ ซึ่งคณะรัฐมนตรี และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะพิจารณา ดังนี้

หลังจากรัฐบาลออกมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ 2 ชุด เพื่อช่วยเหลือประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ตลาดทุนถึงตลาดสด

ในมาตรการชุดที่ 2 ซึ่งเป็นที่สนใจของประชาชนทั่วไป มากที่สุด คือการจ่ายเงินเยียวยาคนละ 5,000 บาท ต่อเนื่อง 3 เดือน

โดยเปิดให้ลูกจ้างชั่วคราวและอาชีพอิสระที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ลง ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com

โดยกระทรวงการคลังจะใช้เวลาในการคัดกรองและตรวจสอบคุณสมบัติ เพื่อที่จะจ่ายเงินเยียวยาได้เร็วที่สุด 7 วันทำการ

ตัวเลขผู้เข้าลงทะเบียน ล่าสุด ณ เวลา 06.34 นาฬิกา วันที่ 31 มีนาคม 2563 จำนวน 21 ล้านคน

คำถามที่ใหญ่ที่สุด คือ ผู้ลงทะเบียนผ่านทั้งหมด จะได้เงินทุกคนหรือไม่ ?

กระทรวงการคลัง โดย นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ยืนยันว่า “หากมีผู้ผ่านเกณฑ์มาตรการรับเงินเยียวยา 5,000 บาท เนื่องจากได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดมากกว่าที่กระทรวงการคลังคาดการณ์ไว้ประมาณ 3.5 ล้านคน”

“ยืนยันว่า มีงบประมาณจ่ายผู้ผ่านเกณฑ์ทุกราย และหากคำนวณจากงบประมาณที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ จำนวน 4.5 หมื่นล้านบาท ภายใน 1 เดือน กระทรวงการคลังสามารถจ่ายเงินให้ประชาชนได้ถึง 9 ล้านคน มีงบประมาณเพียงพอให้กับประชาชนที่ผ่านการคัดกรองทุกราย เนื่องจากมีแหล่งเงินสำรองของรัฐอีกหลายแห่ง และยังมีหนี้สาธารณะที่ยังมีช่องว่างสามารถขอกู้ได้เต็มเพดาน ซึ่งขณะนี้มีอยู่ 42%” นายลวรณ กล่าว

สำหรับมาตรการช่วยเหลือประชาชน ทั้งรูปแบบการ กู้เงิน, เกลี่ยงบประมาณปี 63-64 และโยกงบประมาณจากกระทรวงต่างๆ ซึ่งคณะรัฐมนตรี และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะพิจารณา ดังนี้

– กรณีใช้ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 มีวิธีการดังนี้

1. การตัด-หั่น-ลดงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ของแต่ละกระทรวง กระทรวงละ 10% โดยอาศัยอำนาจ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561 มาตรา 35 จุดประสงค์เพื่อนำรายการที่ยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนในการจ่าย หรือ ก่อหนี้ผูกพัน โอนไปให้หน่วยงานที่มีหน้าที่ในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) เช่น กระทรวงสาธารณสุข

2. ใช้มาตรา 35 (1) การออกเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โอนงบประมาณรายจ่าย (ปี 63) โดยคณะรัฐมนตรีออกพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เปิดประชุมสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณา 3 วาระรวด

3. ใช้มาตรา 32 (2) (3) (4) การออกพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) รวมหรือโอนส่วนราชการเข้าด้วยกัน ได้แก่ การโอนงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ การโอนงบประมาณรายจ่ายบุคลากร และทำได้ตามระเบียบที่ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณกำหนด โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี

4. ใช้ มาตรา 36 โอนงบประมาณที่กำหนดไว้ในแผนงานหรือในรายการใดของหน่วยรับงบประมาณให้เป็นอำนาจของผู้อำนวยการสำนักงบประมาณและคณะรัฐมนตรี

ประเด็นที่ยังถกเถียงกันอยู่ในเวลานี้ คือ

1.ให้แต่ละกระทรวงกันงบประมาณ 10% ไว้สำหรับการแก้ปัญหาโควิด-19 โดยขอบริหารจัดการกันเองภายในกระทรวง

2.โยก 10% ของแต่ละกระทรวงมาเป็น “กองกลาง” ให้นายกรัฐมนตรี

– กรณีใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงินฉุกเฉิน มีขั้นตอนดังนี้

1. การออกเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงินฉุกเฉิน โดยอาศัยอำนาจนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการวินัยการเงินการคลังปลดล็อก พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง เรื่องการกู้เงิน-วงเงิน

2. มีผลบังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา

– ปรับปรุง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564

ทั้งนี้ ครม.เห็นชอบรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 เมื่อวันที่ 17 มี.ค.63 ตามที่สำนักงบประมาณเสนอกรอบวงเงินและโครงสร้างงบประมาณรายจ่ายปี 2564 มีจำนวนเงิน 3.3 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่กำหนดไว้ 3.2 ล้านล้านบาท จำนวน 1 แสนล้านบาท

สำหรับข้อมูลหนี้สาธารณะคงค้าง ณ มกราคม 2563 จำนวน 6,983,202.38 คิดเป็น 41.27% ต่อจีดีพี ทั้งนี้ ไม่เกิน 60% ต่อจีดีพี

พ.ร.บ.บริหารหนี้สาธารณะให้กู้เงินสูงสุดได้ประมาณ 7 แสนล้านบาท หรือไม่เกิน 60% ต่อจีดีพี ขณะนี้กู้ไปแล้วตาม พ.ร.บ.งบประมาณปี’63 จำนวน 3.7 แสนล้านบาท หรือ 41.27% ต่อจีดีพี ดังนั้น กู้ได้อีกประมาณ 3.3 แสนล้านบาท