สนช.ซ่อนกล เลื่อนเลือกตั้ง ซื้อเวลากฎหมายลูก ลาก “ประยุทธ์” อยู่ต่อ

ภาพฉากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะคืนอำนาจผ่านการเลือกตั้งยังดูเลือนรางแม้วันเวลาแห่งการยึดอำนาจการบริหารประเทศผ่านมา 3 ปี หัวขบวนแม่น้ำ 5 สายของรัฐบาลยังคงลังเลที่จะระบุวันเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ ท่ามกลางเสียงเชียร์ของ “นักการเมืองอาชีพ” อย่าง “ประภัตร โพธสุธน” แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา ขอให้ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” อยู่ยาว 8-10 ปี หากทำให้ชาวบ้านอยู่ดีกินดี

สวนทางกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 ที่มีกรอบวันเวลาต่าง ๆ กำหนดนับถอยหลังสู่สถานีประชาธิปไตยอย่างชัดเจน แต่เหตุใดคำตอบจากผู้นำ และองคาพยพแม่น้ำ 5 สาย ยิ่งกว่าคลุมเครือ

3 ปี คสช. โรดแมปขยับ 3 ครั้ง

โรดแมปเลือกตั้งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถูกขยับใหญ่ ๆ มาแล้ว 3 ครั้ง ครั้งแรกที่ พล.อ.ประยุทธ์ แถลงข่าวร่วมหลังการหารือกันระหว่าง นายชินโสะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2558 บอกว่าให้มีการเลือกตั้งในปลายปี 2558 หรือต้นปี 2559 โดยสัญญาที่จะสร้างประชาธิปไตยที่เข้มแข็งในไทย

ครั้งที่สอง ในการประชุมสหประชาชาติ ครั้งที่ 70 ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อ 23 ก.ย.-1 ต.ค. 2558 พล.อ.ประยุทธ์เข้าหารือทวิภาคี กับ นายบัน คีมูน เลขาธิการสหประชาชาติ คาดว่าจะมีการเลือกตั้งทั่วไปได้ภายในกลางปี 2560

แต่เมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 ผ่านประชามติเมื่อ 7 ส.ค. 2559 และ กรธ. ที่ “มีชัย ฤชุพันธุ์” เป็นประธาน จะต้องร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 10 ฉบับให้เสร็จภายใน 8 เดือน นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ และพลันรัฐธรรมนูญ 2560 มีผลบังคับใช้เมื่อ 6 เม.ย. 2560 โรดแมปเลือกตั้งจึงนับใหม่กันอีกรอบ โดยรวมกับระยะเวลาการร่างกฎหมายลูก 8 เดือน ของ กรธ. ที่จะครบกำหนดในช่วงต้นเดือนธันวาคมกลายเป็นการขยับโรดแมปครั้งที่ 3 ทำให้การนับโรดแมปเลือกตั้งขยับไปปลายปี 2561

แต่ที่สำคัญ วัน ว. เวลา น.เลือกตั้งจะถูกกำหนดให้ชัดเจนแบบจริงจังได้นั้น จะต้องอยู่บนเงื่อนไขที่ว่ากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับ อันประกอบด้วย พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ต้องมีผลประกาศใช้

ปัจจัยขยับวันเลือกตั้งไปปี”62 

แต่กว่าจะถึงวันกฎหมายลูก 4 ฉบับจะประกาศใช้นั้น ยังมีตัวแปร-ปัจจัยเสี่ยงสำคัญ ที่ทำให้โรดแมปการเลือกตั้งต้องขยับได้อีกรอบ เพราะหากร่างกฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่งเกิดอุบัติเหตุ ก็อาจจะทำให้โรดแมปเลือกตั้งถูกขยายออกไปเป็นรอบที่ 4

โดยแบ่งเป็น 2 ปัจจัยสำคัญในขณะนี้คือ หนึ่ง กฎหมายลูกตกไปด้วยการคว่ำของ สนช. และ กรธ.ต้องนับหนึ่งร่างใหม่ ซึ่งรัฐธรรมนูญไม่กำหนดเวลา

สอง เกิดกรณีตามมาตรา 146 รัฐธรรมนูญระบุว่า ร่างพระราชบัญญัติใด พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยและพระราชทานคืนมายังรัฐสภา หรือ เมื่อพ้น 90 วันแล้วมิได้พระราชทานคืนมา รัฐสภาจะต้องปรึกษาร่างพระราชบัญญัตินั้นใหม่ หมายความว่ากฎหมายนั้น “ตกไป”

เมื่อตรวจสอบสถานะของกฎหมายลูก 4 ฉบับในขณะนี้ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง มีผลบังคับใช้แล้ว 1 ฉบับ ส่วนร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง รัฐบาลได้นำขึ้นทูลเกล้าฯไปแล้ว ขึ้นอยู่กับจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯวันใด เพื่อให้มีผลบังคับใช้

ขณะที่ 2 ฉบับที่เป็นไฮไลต์คือ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ตามไทม์ไลน์ของ กรธ. จะมีการส่งร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.ให้ สนช.พิจารณาในต้นเดือน พ.ย. 2560 และส่งร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.เข้าสู่ สนช.ในช่วงปลายเดือน พ.ย.ที่จะถึงนี้ และหลังจากนั้น สนช. มีการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวอีก 2 เดือน และภายใน 2 เดือนจะเป็นอีกครั้งที่โรดแมปเลือกตั้งจะช้าหรือเร็ว ขึ้นอยู่กับการชี้ขาดโดย สนช.

ทำให้เกิดการสันนิษฐานของคนการเมือง-โหรการเมืองว่า หาก “พล.อ.ประยุทธ์” จะอยู่ยาว ต้องอาศัยกลไก สนช.ถ่วงเวลาโรดแมปทำให้ พ.ร.ป.ว่าด้วยที่มา ส.ว. หรือ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ฉบับใดฉบับหนึ่งเกิดอุบัติเหตุ ก็เพียงพอที่จะทำให้โรดแมปขยับออกไปได้

จึงมีปฏิกิริยาของ “พรเพชร วิชิตชลชัย” ประธาน สนช.ออกมากล่าวว่า การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในกลางปี 2561 หรือไม่ขึ้นอยู่กับการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งที่เหลืออยู่ ขั้นตอนใดใช้เวลาเท่าไร หากขั้นตอนใดไม่เกิดขึ้น เช่น ไม่มีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วม ไม่มีการส่งศาล ไม่มีการส่งศาลรัฐธรรมนูญ ก็ตัดขั้นตอนนั้นไป แต่ถ้ามีขั้นตอนดังกล่าวขึ้นก็ต้องขยายเวลาออกไปตามขั้นตอนที่รัฐธรรมนูญกำหนด

ในกรณีที่ตั้งคณะกรรมาธิการร่วม ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 267เพื่อให้ กรธ.-สนช.และองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องร่วมกันปรับแก้ แต่ถ้าในกรณีที่ถูกคว่ำ “พรเพชร” กล่าวว่า กรธ.ต้องยกร่างใหม่ แต่การยกร่างจะถูกบังคับโดยสภาพที่ต้องทำให้เสร็จอย่างรวดเร็ว อย่าเพิ่งไปสมมุติ เพราะมันถูกบังคับโดยสภาพการณ์อยู่แล้ว ทว่า หากร่างกฎหมาย 2 ฉบับถูกคว่ำไป ในรัฐธรรมนูญ 2560 ก็ไม่ได้กำหนดว่า กรธ.จะต้องร่างให้เสร็จเมื่อใด อาจกลายเป็นช่องโหว่ให้ตีความได้อีก

ซึ่ง “อุดม รัฐอมฤต” กรธ.กล่าวว่า ที่ กรธ.ไม่เขียนว่าหากกฎหมายลูกถูกคว่ำแล้วจะทำอย่างไรต่อ เพราะ กรธ.เขียนรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้คิดว่ากฎหมายจะถูก สนช.ตีตก เพราะ กรธ.มีหน้าที่เพียงทำให้กฎหมายมีความสมบูรณ์ครบถ้วน ไม่มีปัญหาในการบังคับใช้เท่านั้น

สนช.กังวลผ่านกฎหมายอืด

ขณะที่ “วัลลภ ตังคณานุรักษ์” กรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) ยืนยันว่า ไม่มีความคิดที่ สนช.จะคว่ำกฎหมายลูก เพราะต้องพิจารณาตามเหตุผล หากมีอะไรบกพร่องแก้ได้ก็แก้ไป เช่น การตั้งคณะกรรมาธิการร่วมขึ้นมาช่วยกันพิจารณา

“สนช. ยังกังวลว่าทำไมใช้เวลานานขนาดนี้ ถ้าถึงกับคว่ำคงไม่มีใครกล้าคิดขนาดนั้น การเลือกตั้งยังคงตามเดิมช่วงปลายปี 2561 นี่ก็ถือว่านานโขแล้ว นานกว่านี้จะตอบสังคมอย่างไร”

ต่างจากมุมวิเคราะห์ ของ “ดร.สุขุม นวลสกุล” นักรัฐศาสตร์ ไม่เชื่อว่า คสช.จะเลือกตั้งในปี 2561 จะต้องเป็น ปี 2562 แน่นอน เพราะยังไม่มั่นใจว่าถ้าเลือกตั้งขึ้นมาจะเสียของอีกหรือไม่ ถ้ายังจัดการปัญหาไม่ได้ ดังนั้น การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นต่อเมื่อ คสช.แน่ใจว่า ถ้าเลือกตั้งไปแล้วฝ่ายตรงข้าม คสช.จะไม่ชนะเลือกตั้ง

“การเลื่อนหรือไม่เลื่อนโรดแมปไม่ได้อยู่ที่การร่างกฎหมายอะไร คสช.สามารถทำให้เสร็จเร็วเมื่อไหร่ก็ได้ เพราะ คสช.กำหนดได้อยู่แล้ว และยังมีไม้ตายคือให้ สนช.ตีตกกฎหมาย พ.ร.ป.เลือกตั้ง 4 ฉบับได้ ขึ้นอยู่กับว่าจะใช้หรือไม่ แต่มั่นใจว่าจะไม่มีการเลือกตั้งในปี 2561 แน่นอน”