‘จุรินทร์’ ยินดีตัดงบ 10 % ลงกองกลาง สู้ โควิด-19

“จุรินทร์” เชื่อไทยผ่านวิกฤติโควิดได้ ด้วยความร่วมมือของทุกฝ่าย – บริการ “รถธงฟ้าฝ่าภัยโควิด19” ปูพรมกทม.- ปริมลฑล 250 คัน

วันที่ 1 เมษายน 2563 เวลา 9.30 น. ณ รัฐสภา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ถึงการกระจายสินค้าอุปโภคบริโภคให้ประชาชนว่า ในสภาวะที่ประชาชนต้องอยู่ในบ้าน ว่า ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ ได้ดำเนินการให้ “รถธงฟ้าฝ่าภัยโควิด19” ออกไปให้บริการพี่น้องประชาชนใน กรุงเทพ และ ปริมณฑลจาก 200 คันเป็น 250 คัน

พร้อมกันนี้กระทรวงพาณิชย์ได้ยกระดับ ร้านโชห่วย ขึ้นเป็น “สมาร์ท โชห่วย” และ เป็น “โชห่วย เดลิเวอรี่” เพื่อที่จะสามารถให้บริการประชาชนในหมู่บ้านหรือชุมชนโดยใช้แอพพลิเคชั่นในการค้นหาสินค้าอุปโภคบริโภคร้านใกล้บ้าน พร้อมตรวจสอบราคาและชนิดของสินค้าได้อีกด้วย นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์ยังได้ประสานงานกับแพลตฟอร์ม และโมเดิร์นเทรดต่าง ๆ ในการให้เข้ามาช่วยบริการประชาชนในรูปแบบของเดลิเวอรี่

ผู้สื่อข่าวถามว่า งบกลางปี 63 ที่จะนำมาแก้ปัญหาสถานการณ์ในครั้งนี้จะเพียงพอหรือไม่นั้น นายจุรินทร์กล่าวตอบว่า ขอให้เป็นหน้าที่ของผู้ที่รับผิดชอบโดยตรงและสำนักงบประมาณก็จะเป็นผู้พิจารณา ซึ่งขณะนี้นายกรัฐมนตรีก็กำลังพิจารณาอยู่เพียงแต่ว่าถ้าจำเป็นต้องขอความร่วมมือจากกระทรวงพาณิชย์ที่จะต้องนำเงินก้อนหนึ่งตัดไปเป็นงบประมาณเพื่อบริหารจัดการเรื่องโควิดโดยเฉพาะ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ก็ยินดี

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า ขณะนี้มีการปรับรูปแบบการบริหารจัดการเรื่องหน้ากากอนามัยโดยให้กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับกระทรวงมหาดไทยถือเป็นการลดบทบาทของกระทรวงพาณิชย์หรือไม่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าวตอบว่า ความจริงเรื่องนี้เป็นข้อเสนอเริ่มต้นจากกระทรวงพาณิชย์ และความจริงแล้วการบริหารจัดการหน้ากากอนามัย มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหารจัดการมาเป็นระยะ เพราะว่าเริ่มต้นยังไม่มีหน่วยงานไหนเข้ามารับผิดชอบโดยตรงมาก่อน จนมีพัฒนาการมาเรื่อยๆ เหมือนกับในหลายประเทศ

“ในยามนี้ต้องช่วยกัน ใครช่วยทำอะไรได้ ก็ต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือ แม้ว่าเรื่องเดียวนี้จะอยู่ในความรับผิดชอบของหลายหน่วยงาน หลายกระทรวงก็ตาม แต่กระทรวงไหนช่วยได้ ก็ต้องเข้าไปช่วย ซึ่งในเรื่องของการผลิตก็เป็นเรื่องของกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องมาตรฐานก็เป็นเรื่องของ อย. และกระทรวงสาธารณสุข ส่วนเรื่องการดูแลเพื่อไม่ให้มีการจำหน่ายเกินราคา ก็เป็นหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์ แต่ทุกกระทรวงก็ต้องช่วยกันร่วมมือกัน” รมว. พาณิชย์กล่าว

อย่างไรก็ตามในเริ่มต้นเราได้ใช้ระบบศูนย์บริหารจัดการหน้ากากในเรื่องของการกระจายหน้ากากอนามัย โดยนำหน้ากากอนามัยจากผู้ผลิตมาบริหารจัดการส่วนหนึ่งแต่เมื่อพบว่ายังไม่สามารถที่จะบริหารจัดการได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดทั้งหมด ก็มีการกำหนดให้หน้ากากอนามัยที่ผลิตโดยโรงงานผลิตซึ่งมีอยู่ประมาณ 11 โรงงานทั่วทั้งประเทศที่ผลิตหน้ากากอนามัยทางการแพทย์มาบริหารจัดการโดยศูนย์บริหารจัดการร่วมระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงพาณิชย์แล้วก็เดี๋ยวได้ดำเนินการมาโดยลำดับ ซึ่งเริ่มต้นก็สามารถนำหน้ากากอนามัยประมาณ 1,200,000 ชิ้นต่อวันมาบริหารจัดการและจัดสรรกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุข และกรมการค้าภายใน กระทรวงสาธารณสุขก็จะนำไปจัดสรรให้กับโรงพยาบาลทุกสังกัดทั้งรัฐและเอกชนให้รับผิดชอบในส่วนนั้นไปทั้งหมด ในส่วนของกรมการค้าภายในก็บริหารจัดการที่จะส่งไปขายตามร้านขายยาและร้านธงฟ้า

รวมทั้งร้านค้าปลีกต่างๆ รวมทั้งร้านสะดวกซื้อทั่วทั้งประเทศ แต่ก็ต้องยอมรับความจริงว่าอย่างไรก็ไม่พอ เพราะหน้ากากอนามัย ผลิตได้แค่วันละล้านกว่าชิ้น แม้ว่าวันนี้จะผลิตได้ 2.2 ล้าน ถึง 2.3 ล้านชิ้น และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ต้องยอมรับความจริงว่าไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนทั้งประเทศได้ เนื่องจากว่า 2.2 ล้านชิ้นนี้ใช้แล้วก็ต้องทิ้ง รุ่งขึ้นก็ยังต้องใช้อีก 2.2 ล้านชิ้นใหม่มาใช้ ขณะที่คนอีก 60 กว่าล้านคนมีความต้องการ เพราะฉะนั้นก็จะมีคนที่มีโอกาสได้ใช้อยู่ 2 ล้านกว่าคน ก็จะมีคน 60 กว่าล้านคนถ้าต้องการคนละชิ้นก็จะผิดหวัง เพราะมีจำนวนจำกัด แต่ช่วงหลังเราก็พยายามที่จะเร่งกำลังผลิตเพิ่มขึ้นและสามารถนำส่งให้กับบุคลากรทางการแพทย์ได้ถึงวันละ 1.3 – 1.5 ล้านชิ้น

จนกระทั่งมาถึงจุดหนึ่งเมื่อศูนย์โควิดได้จัดตั้งศูนย์บัญชาการจังหวัดขึ้น โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานและเป็นผู้รับผิดชอบการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาโควิดในจังหวัดทั้งหมด จึงเป็นที่มาที่กระทรวงพาณิชย์ก็เห็นว่าควรจะมีการปรับรูปแบบอีกครั้งหนึ่ง โดยในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขนั้นก็ควรจะไปบริหารจัดการเช่นเดิม คือการนำหน้ากากอนามัยไปดำเนินการในการที่จะแจกจ่ายให้กับโรงพยาบาลทุกประเภททุกสังกัด แต่ในส่วนของกรมการค้าภายในซึ่งเคยจัดให้ไปตามร้านขายยาและร้านค้าต่าง ๆ ก็ควรส่งโดยตรงไปให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดเป็นผู้บริหารจัดการ เพราะ ณ บัดนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดได้เป็นผู้บัญชาการในการแก้ไขแก้ปัญหาโควิดในระดับจังหวัด อย่างน้อยหน้ากากอนามัยก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะใช้ในการป้องกันการระบาดได้


ดังนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดก็จะเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะนำไปแจกจ่ายให้กับกลุ่มเสี่ยงกลุ่มใดบ้าง ซึ่งจะเป็นผู้ที่ทราบดีในแต่ละพื้นที่ เพราะฉะนั้นระบบนี้ได้เริ่มต้นขึ้นใหม่เมื่อสองวันที่ผ่านมาก็เป็นระบบที่ก็หวังว่าผู้ว่าราชการจังหวัดจะเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องของการกระจายหน้ากากโดยรัฐบาลก็จะรับซื้อหน้ากากอนามัยในส่วนนี้ทั้งหมดมาตามนโยบายของศูนย์โควิดซึ่งมีมติไปแล้ว