เสธ.ไก่อู ในวอร์รูมฉุกเฉิน โควิด-19 แบ็กอัพ ศบค.-ประยุทธ์ ในทำเนียบ

ในสถานการณ์วิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี-รมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ต้องรับศึกรอบด้าน

การบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน ภัยคุกคามรูปแบบใหม่-โรคอุบัติใหม่ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ต้องระดมสรรพกำลัง กฎหมายพิเศษ ยาและเวชภัณฑ์ บุคลากรทางการแพทย์ที่เปรียบเหมือนอาวุธยุทโธปกรณ์ ฉันใด

การสื่อสารในสภาวะวิกฤตย่อมสำคัญฉันนั้น

ในห้วงแรกของวิกฤตการณ์โควิด-19 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ยัง “คลำเป้า” การกำหนดทิศทางมาตรการ-ข่าวสารเพื่อทำความเข้าใจในสถานการณ์จริง-ความร่วมมือของประชาชน จนเกิดภาพการสื่อสารผิดคิว-ออฟไซด์

ยิ่งในภาวะตื่นตระหนก ทำให้ข่าวลือ-ข่าวลวง กับข่าวจริงแยกกันไม่ออก ก่อนรัฐบาลจะตั้งหลัก-รวมศูนย์ข้อมูลข่าวสารภายใต้ชื่อ “ศบค.” ทว่ากลับนำไปผูกโยงกับ “ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน” หรือ “ศอฉ.”

“พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด” หรือ “เสธ.ไก่อู” โฆษก ศอฉ.ในตำนาน-ปฏิบัติการควบคุมสถานการณ์การชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่วันนี้เขา “กุมบังเหียน” อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์

“พล.ท.สรรเสริญ” อยู่เบื้องหลังการกำหนดทิศทางข่าวสาร-ข้อมูล ศบค.ทั้งหมด เปิดเผยว่า “สถานการณ์ใกล้เคียงกัน แต่แตกต่างกัน คือ วิกฤตครั้งนี้ไม่ใช่เป็นเพียงด้านความมั่นคง แต่ครอบคลุมทุกมิติ”

ใน 1 วัน เขาจะรับ “ออร์เดอร์” จากที่ประชุม ศบค. เปรียบเสมือนเป็น “ออร์แกไนซ์” จัดลำดับบนเวทีแถลงข่าว ศบค.ทำเนียบรัฐบาล เช่น การจัดคิวให้ “นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน” โฆษก ศบค. แถลงข่าวในเวลา 11.30 น. และต้องจบภายใน 12.00 น.

หลังจากนั้น เขาจะส่งสัญญาณไปยังกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ และหัวหน้าศูนย์บริหารสถานการณ์ทั้ง 6 ด้าน จะแถลงข่าวของแต่ละกระทรวงได้หลังจากเวลา 12.00 น.ไปแล้วเท่านั้น

“ใครแถลงอะไรก็แล้วแต่ คนของผมต้องไปรวมข้อมูลเหล่านั้นมาเป็นไลฟ์ และลงในศูนย์โควิด-19 ให้ได้ เพื่อภายใน 1 วัน ประชาชนสามารถไปติดตามดูว่า โฆษก ศบค.แถลงเรื่องอะไร และหัวหน้าศูนย์-ปลัดทั้ง 6 คนของส่วนราชการแถลงเรื่องอะไร ที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกัน”

โดยศูนย์ ศบค.จะเปิดไว้รองรับการแถลงข่าวของหน่วยงานราชการที่ไม่มีศักยภาพ ในภาวะวิกฤต

“แต่ต้องไม่ใช่เวลา 14.00 น. จนถึง 14.45 น. เพราะเป็นเวลาที่เราจะจัดรายการเพื่อให้ข้อมูลกับประชาชน ให้ชาวบ้านเข้าใจง่ายที่สุด”

ระหว่างวันของศูนย์ ศบค. จึงมีการคั่นรายการ-แถลงข่าวส่วนราชการ-หน่วยงานต่าง ๆ เช่น กรุงเทพมหานคร กระทรวงการคลัง

ตัวอย่าง เช่น มาตรการพักชำระหนี้ค่างวดมอเตอร์ไซค์ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19

แม้อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์จะไม่ได้เป็นแม่ข่าย พ่วงทุกสถานี-ทีวีพูล แต่เขาก็ได้นำรูปแบบรายการบางส่วนมา “สื่อสารในสภาวะวิกฤต” เหมือนในยุค คสช. รวมถึงการแถลงข่าวเป็น “ภาคภาษาอังกฤษ” ภายหลังจาก “โฆษก ศบค.” แถลงเสร็จ เหมือนในยุค คสช.

นอกจากนี้ เขายังได้ “รื้อผังรายการ” เพื่อให้ “ข่าวจริง” ต่อสู้-ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ตลอด 24 ชั่วโมง ในทุกมิติ

และการ “มอนิเตอร์” สื่อกระแสหลัก-กระแสรอง และสื่อโซเชียลมีเดีย เพื่อแก้ปัญหา “เชิงรุก” เช่น ข่าวประชาชนยืนต่อแถวที่ธนาคารออมสิน และธนาคารกรุงไทย จนเกิดความแออัด-รวมตัวกันของประชาชน สุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 ได้

“เสธ.ไก่อู” ถอยห่างจากการเมือง-ค่ายทหาร เข้าสู่โซนข้าราชการพลเรือนเต็มตัว เขาจึงงดที่จะวิพากษ์วิจารณ์การสื่อสารในสภาวะวิกฤตของฝ่ายการเมือง ที่ออกลูกผิดคิว-ออฟไซด์ จนเป็นเหตุให้การสื่อสารของรัฐบาลหลายครั้งเข้า “ขั้นวิกฤต”

“ผมไม่กล้าออกความเห็น พี่เป็นเพียงเจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่งที่ทำสื่อของรัฐ มีหน้าที่แบ็กอัพข้อมูล สนับสนุนข้อมูลให้โฆษกและส่วนต่าง ๆ ในอำนาจหน้าที่ของพี่”

นับตั้งแต่ พล.ท.สรรเสริญ โอน-ย้ายมาเป็นอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เขาได้ “พลิกโฉม” และบูรณาการ NBT หรือช่อง 11 เดิม โดยรวมสถานีโทรทัศน์ที่มีอยู่ทั้งหมดและจัดกลุ่มเป็นภูมิภาค นำเสนอด้วยภาษา อัตลักษณ์ รูปแบบของภูมิภาคนั้น”

“เสธ.ไก่อู” เหลือชีวิตข้าราชการอีก 3 ปี จะเกษียณอายุราชการในปี 2566 ในตำแหน่งอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ภายหลังโอนจากข้าราชการทหาร มาเป็นข้าราชการพลเรือน

“คงเลยเวลาที่จะกลับไปแล้ว แต่ความเป็นข้าราชการ ไม่ว่าจะเป็นทหาร หรือพลเรือน ก็เหมือนกัน ไม่ว่าจะปรับโอนย้ายมาเป็นข้าราชการพลเรือนแล้วก็ตาม แต่บุคลิก ชีวิตความเป็นทหารมันยังซึมซับอยู่ ยังคุยกับเพื่อน ยังคุยกับน้องที่เป็นทหารได้เหมือนเดิม”

“วันนี้เป็นกองหนุนให้ทุกหน่วยงาน ไม่ใช่เสิร์ฟเฉพาะนายกฯอย่างเดียว แต่เสิร์ฟทุกหน่วยงาน 20 กระทรวง หน่วยงานส่วนกลางและส่วนภูมิภาคให้สามารถทำได้ดีที่สุด”

จึงยังเห็น เสธ.ไก่อู นั่งสังเกตการณ์อยู่แถวหลังนักข่าวทำเนียบ

มอนิเตอร์การทำงานของ “ทีมโฆษกนารีสโมสร”