ศบค.ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 1 เดือน ถึง 31 พ.ค. ลุ้น ครม.ปลดล็อกธุรกิจพรุ่งนี้

ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า (โควิด-19) หรือ ศบค. ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงภายหลังการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ว่า มีการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. โดย พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวขอบคุณทุกฝ่ายที่ทำงานมาในรอบ 1 เดือน ได้รับยกย่องทั้งในประเทศและต่างประเทศ อยากให้ร่วมมือกันทุกส่วนทั้งฝ่ายการเมือง ฝ่ายประจำ เอกชน ร่วมมือกันทำงานเพื่อต่อสู้กับไวรัส และให้ยึดหลักการของกระทรวงสาธารณสุข และ WHO

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังกังวลภาวะเศรษฐกิจ กำหนดระยะในการผ่อนปรน แบ่งเป็น 4 ระยะ 25% 50% 70% 100% ต้องดูเป็นระยะ ครั้งละ 14 วันเป็นอย่างน้อย ในการประเมินมาตรการต่าง ๆ ทั้งนี้ การควบคุมโรค แม้เปิดได้ แง้มได้ ก็ปิดได้ ถ้าได้ผลก็ยืดออกไป แต่ถ้าเกิดการติดเชื้อขึ้นมาก็สามารถสั่งปิดได้ทันที ซึ่งที่ประชุมได้หารือกันมากว่าไม่อยากให้เกิดการระบาดในรอบที่ 2 ทำให้การลงทุนที่ผ่านมาล้มเหลวทั้งหมด

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า 1 เป็นการรายงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข แสดงให้เห็นถึงกรณีที่หากเกิดการระบาดเกิดขึ้น 3 กรณี 1.ถ้าควบคุมได้ดีจะเกิดผู้ป่วยรายใหม่ 15 – 30 รายต่อวัน กรณีที่ 2 สถานการณ์ควบคุมได้มีความเสี่ยงต่ำ การระบาดอยู่ในวงจำกัด ระบบสาธารณสุขรองรับได้ พบผู้ป่วย 40-70 รายต่อวัน กรณี 3  สถานการณ์ควบคุมได้ยาก มีการระบาดซ้ำ อาจพบผู้ป่วย 200-300 รายต่อวัน ถ้าคุมไม่ดีแบบกรณีที่ 3 กราฟจะพุ่ง คนไข้มากมายจนดูแลไม่หวาดไม่ไหว 500-2,000 คน ต่อวัน ใน 3 เดือนข้างหน้าจะเพิ่มเป็น 46,596 ราย พยากรณ์แบบแย่ที่สุด ส่วนความเสี่ยงต่ำ 40-70 คนต่อวัน ระบบสาธารณสุขพอไหว 4,661 ราย แต่ถ้าดูแลแบบเข้มมาก มีคนป่วยเพิ่มขึ้น 1,889 ราย ตึงเกินไปอาจไม่เป็นทางออกที่ดี

นอกจากนี้ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) นำเสนอผลสัมฤทธิ์การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในรอบ 1 เดือน การประกาศทำให้การทำตามข้อสั่งการของนายกฯ เป็นไปอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ เอกภาพ อย่างทันท่วงที จากการสำรวจของประชาชน ประชาชนมากกว่าร้อยละ 70 เห็นด้วยกับการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินของรัฐบาล จึงมีมติขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อไปอีก 1 เดือน 1 – 31 พ.ค.นี้ สิ่งที่ควบคุมคือ การควบคุมการเดินทางเข้าราชอาณาจักร ห้ามบุคคลออกนอกเคหสถาน งดหรือชะลอการเดินทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัด งดดำเนินกิจกรรมคนหมู่มาก

ส่วนแนวทางการผ่อนปรน ต้องคำนึงถึงปัจจัยทางด้านสาธารณสุขเป็นหลัก และปัจจัยด้านอื่นมาประกอบ คงร้อยละ 50 ของการทำงานที่บ้าน วิธีดำเนินการ พิจารณาจากประเภทของกิจการที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในลำดับแรก และทุกคนต้องสวมหน้ากาก กำกับให้กิจกรรมต้องประกอบด้วย 1.การเว้นระยะห่างทางสังคม 2.วัดอุณหภูมิ 3.แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ / เจลล้างมือ 4.จำกัดจำนวนคน ในกิจกรรมได้เหมาะสมต่อกิจกรรมและสถานที่ และ 5.มีแอปพลิเคชั่นติดตามตัว

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจ เอกชน ในศบค. มีการนำเสนอแนวทางการผ่อนปรนภายหลังการขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทั้งนี้ มีการนำภาพการผ่อนปรนในมาตรการธุรกิจต่างๆ แบ่งประเภทธุรกิจ 4 ประเภท

สีขาว มีความจำเป็นในชีวิตประจำวัน เป็นสถานประกอบการขนาดเล็ก อยู่ในที่โล่งแจ้ง สามารถดำเนินกิจการได้

สีเขียว ความเสี่ยงต่ำ เป็นสถานประกอบการขนาดเล็ก มีมาตรการควบคุมกำกับ สถานประกอบการกลางแจ้ง รวมถึงสวนสาธารณะ สนามออกกำลังกายกลางแจ้ง

สีเหลือง ความเสี่ยงปานกลาง พื้นที่ปิดคนจำนวนมาก

สีแดง พื้นที่มีความเสี่ยงสูงยังไม่อยากให้เปิด เช่น สนามมวย หรือ แหล่งบันเทิง แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปทั้งหมด

ทั้งนี้ นายกฯ เห็นชอบในหลักการ โดยกิจการแบ่งเป็นเกรด และบางเวลา แต่อยากให้เลือกกิจการที่เปิดได้พร้อมกันทั้งประเทศ เปิดทุกจังหวัดไปพร้อม ๆ กัน และให้สภาพัฒน์ฯ และคณะทำงานที่ปรึกษาไปพูดคุยรายละเอียดและนำเสนอต่อที่ประชุม ครม.ในวันที่ 28 เม.ย.ต่อไป


ส่วนการเลื่อนวันหยุดวันแรงงาน 1 พ.ค.นี้นั้น นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า โดย รมว.วัฒนธรรม เกริ่นนำในที่ประชุม ซึ่งที่ประชุมใช้หลักการสาธารณสุข ถ้าหยุดหลายวันอาจมีการสุ่มเสี่ยงเคลื่อนย้ายการเดินทางของคนมากขึ้น แต่การมีมติอย่างไรนั้น เป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นข้อเสนอขึ้นมาในที่ประชุม