ชง ครม. เคาะ บันได 4 ขั้น ความเท่าเทียมทางเพศ

รัฐบาลเดินหน้า ส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศให้เป็นรูปธรรม

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ (สทพ.) ครั้งที่ 3/2563 ซึ่งมีกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นฝ่ายเลขานุการ ที่ประชุมมีมติใน 2 ประเด็นสำคัญคือ 1.เห็นชอบแผนการขับเคลื่อนการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ ซึ่งเป็นแผนงานที่จะได้กำหนดไว้ในช่วงระยะเวลา 3 ปีนับตั้งแต่ปี 2563 ถึง 2565 โดยแผนงานสำคัญประกอบด้วย 4 แผนหลัก

แผนงานที่ 1. แผนส่งเสริมให้สังคมปรับหลักคิดและส่งเสริมความรู้ความเข้าใจและการตระหนักในความเท่าเทียมระหว่างเพศ แผนงานที่ 2. แผนส่งเสริมการสร้างพลังให้เกิดขึ้นแก่เพศสภาพ พลังในทางเศรษฐกิจ บทบาทต่อสาธารณะ การส่งเสริมภาวะผู้นำ การมีส่วนร่วมทางการเมือง แผนงานที่ 3 แผนส่งเสริมให้ทุกองค์กรมีนโยบายกฏระเบียบและกลไกต่างๆที่เอื้อต่อการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ และแผนงานที่ 4. แผนส่งเสริมการวิจัยพัฒนาเพื่อก่อให้เกิดนวัตกรรมในการสร้างความเท่าเทียมระหว่างเพศได้จริง ทั้งหมดนี้จะนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป

ประเด็นที่ 2.ต้องผลักดันนโยบายส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศให้เกิดขึ้นในทางปฏิบัติ คณะกรรมการฯจึงมีแนวทางในการรวบรวมองค์กรต่างๆไม่ว่าจะเป็นภาครัฐเอกชน หรือสถาบันการศึกษามาร่วมกันลงนามประกาศเจตนารมณ์ในการที่จะส่งเสริมความเสมอภาคและขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศให้เกิดขึ้นได้จริง ขณะนี้ได้มีองค์กรต่างๆ รวม 24 องค์กรด้วยกันเป็นองค์กรของรัฐ 4 องค์กรสถาบันการศึกษา 5 องค์กร และองค์กรเอกชน 15 องค์กรมาร่วมลงนาม บางแห่งเกิดผลเป็นรูปธรรมแล้ว เช่นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้มีการออกประกาศเพื่อส่งเสริมการดำเนินการในเรื่องนี้ให้เป็นรูปธรรม มีคณะทำงานติดตามประเมินผลการปฏิบัติ มีการปรับปรุงห้องสุขาเพื่อให้สามารถรองรับในทุกเพศสภาพได้


น.ส.รัชดา กล่าวเพิ่มเติมว่า นายจุรินทร์ได้สั่งการให้กระทรวง พม. ไปดำเนินการหาความร่วมมือกับองค์กรภาคส่วนต่างๆเพิ่มอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งการขยายผลการประกาศเจตนารมย์เพื่อส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศนี้ จะทำควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนมาตรการในการป้องกันและแก้ไขการละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน 12 ข้อ เช่น กรณีมีการร้องเรียนให้แต่งตั้งคณะทำงาน จำนวนไม่เกิน 5 คน หรือให้กลุ่มงานคุ้มครองจริยธรรมดำเนินการสอบข้อเท็จจริง และหน่วยงานต้องมีมาตรการคุ้มครองผู้ร้องเรียนและผู้เป็นพยาน และต้องให้การคุ้มครองผู้ร้องเรียนไม่ให้ถูกกลั่นแกล้ง ซึ่งมาตรการทั้งหมดได้ผ่านความเห็นชอบจาก ครม.แล้ว ในส่วนของภาคราชการ ตั้งเป้าให้ทุกระทรวง/กรม ร่วมแสดงเจตนารมณ์