“ครม.” ออกไกด์ไลน์ใช้เงินกู้ฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้าน

ภาพ : Facebook - ชมรมสื่อบ้านนอก

วันที่ 12 พฤษภาคม 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบกรอบนโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในด้านต่าง ๆ วงเงิน 400,000 ล้านบาท ที่คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ได้มีมติเห็นชอบแล้วในคราวประชุม ครั้งที่ 3/2563 ตามที่คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ สาระสำคัญของกรอบนโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในด้านต่าง ๆ ดังนี้

ฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศ สร้างงาน-สร้างอาชีพ

หลักการ

จากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยและข้อจำกัดของทางเลือกในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ สำนักงานฯ เห็นควรกำหนดหลักการในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในด้านต่างๆ ในระยะต่อไป ดังนี้

1.มุ่งเน้นการฟื้นฟูและสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นหลัก โดยให้ความสำคัญต่อสาขาเศรษฐกิจของประเทศที่ยังคงมีความได้เปรียบและมีโอกาสที่จะสร้างการเติบโตให้กับประเทศในช่วงหลังการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เช่น เกษตรอัจฉริยะ เกษตรมูลค่าสูง เกษตรแปรรูป อุตสาหกรรมอาหาร Bio- Economy การท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพและความยั่งยืน อุตสาหกรรมการให้บริการ (Hospitality Industry) เศรษฐกิจสร้างสรรค์ รวมทั้งให้ความสำคัญต่อกิจกรรมและธุรกิจชุมชนที่มีศักยภาพและโอกาส

2.มุ่งเน้นกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการสร้างงานและสร้างอาชีพสามารถรองรับแรงงานส่วนเกินที่อพยพกลับท้องถิ่นและชุมชนมุ่งเน้นการบูรณาการระหว่างหน่วยงานทั้งในด้านกำลังคน แผนงานโครงการและการลงทุน และ

3.มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในพื้นที่และภาคส่วนอื่นๆ ในสังคม เช่น ภาคเอกชน มูลนิธิ และภาควิชาการ

ยึดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

แนวทางการดำเนินการ

การใช้จ่ายเงินกู้ภายใต้แผนฟื้นเศรษฐกิจและสังคมภายใต้บัญชีท้ายพระราชกำหนดมีวัตถุประสงค์ในการพยุงเศรษฐกิจในภาวะวิกฤตและฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับสู่ภาวะปกติ อย่างไรก็ตามความไม่แน่นอนของสถานการณ์การระบาดในประเทศและในระดับโลกยังมีความไม่แน่นอนของการสิ้นสุดการระบาด และยังคงมีความเสี่ยงที่ประเทศไทยอาจเกิดการระบาดซ้ำ ดังนั้น การใช้จ่ายเงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดควรต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการแพร่ระบาดในแต่ละช่วงเวลา โดยมีแนวทางการดำเนินการ ดังนี้

1.ขับเคลื่อนการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในประเทศบนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และสร้างการมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูเศรษฐกิจระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาชน

2.สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมภายในประเทศให้สามารถรองรับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกในระยะต่อไป อาทิ การสร้างความมั่นคงทางอาหาร เวชภัณฑ์ พลังงาน ดิจิทัล ระบบโลจิสติกส์

3.ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศเพื่อลดการพึ่งพาการส่งออกและนักท่องเที่ยวต่างประเทศในเชิงปริมาณไปสู่การผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นและการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพมากขึ้น และ 4 สร้างระบบการเรียนรู้สำหรับประชาชนในการพัฒนา/ปรับเปลี่ยนทักษะให้สอดรับกับความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต

8 กลุ่มเป้าหมาย นิสิตนักศึกษา-บัณฑิตจบใหม่ด้วย

กรอบนโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในด้านต่างๆ วงเงิน 400,000 ล้านบาท

1.กลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย ประชาชน เกษตรกร/สถาบันเกษตรกร ชุมชน/วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการ แรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 นิสิตนักศึกษาที่อยู่ระหว่างการเรียนและผู้ที่จบการศึกษาที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน แรงงานในระบบและนอกระบบ และผู้ว่างงาน

2.หลักเกณฑ์ของโครงการที่เข้าข่ายการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 1) โครงการที่มีความสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อ 13 ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ 2) การดำเนินโครงการที่ยึดหลักธรรมาภิบาลของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี โดยคำนึงถึงประสิทธิภาพ (Effectiveness) ประสิทธิผล (Efficiency) การตอบสนองความต้องการ (Responsiveness) ของประชาชนและชุมชนในพื้นที่ การกระจายทรัพยากรอย่างทั่วถึงและเป็นธรรมทั้งในระดับพื้นที่และกลุ่มเป้าหมาย(Equity) ความยั่งยืนของการดำเนินการ (Sustainability) ความโปร่งใส (Transparency) การป้องกันการทุจริตคอรัปชั่นและการตรวจสอบได้ (Accountability) โดยจะต้องมีการรายงานผลการดำเนินงานที่เปิดเผยต่อสาธารณะอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ยังอาจต้องมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ 3) โครงการที่สามารถสร้างการจ้างงาน สร้างอาชีพในชุมชน การพัฒนาเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ในชุมชน การเชื่อมโยงผลิตภัณฑ์ของชุมชนกับตลาดภายในประเทศและระหว่างประเทศ 4) โครงการที่เป็นการเพิ่มศักยภาพในสาขาการผลิต การบริการที่ยังคงมีความได้เปรียบและเป็นที่ต้องการของตลาด รวมทั้งมีโอกาสในการเติบโตในช่วงหลังจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยพิจารณานำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (BCG) มาใช้ประโยชน์ในการดำเนินงาน 5) โครงการที่สามารถกระตุ้นการบริโภค และการผลิตภายในประเทศในช่วงครึ่งหลังของ ปี 2563 และ 6) โครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถตอบสนองความต้องการของชุมชน และสนับสนุนการเพิ่มศักยภาพของภาคการผลิตและภาคการบริการของประเทศ

เกษตร Premium

ขอบเขตแผนงาน/โครงการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ แผนงาน/โครงการที่จะขอรับการจัดสรรเงินกู้ภายใต้พระราชกำหนด เป็นโครงการที่มีความสอดคล้องกับหลักการในข้อ 2 และแนวทางตามข้อ 3 รวมทั้งส่งผลต่อการปรับโครงสร้างให้สามารถตอบสนองความปกติใหม่ (New Normal) ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยมีขอบเขตแผนงาน/โครงการ ดังนี้

1. แผนงานหรือโครงการลงทุนและกิจการการพัฒนาที่สามารถพลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพิ่มศักยภาพ และยกระดับการค้า การผลิต และการบริการในสาขาเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ โดยครอบคลุมภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม การค้าและการลงทุน ท่องเที่ยวและบริการ :

1.1) ภาคเกษตรกรรม : เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มตลอดห่วงโซ่ โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการเกษตร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิต วางระบบกระบวนการผลิตที่ถูกสุขลักษณะและความปลอดภัย
ปรับระบบการทำการเกษตร โดยส่งเสริมให้เกษตรกรที่มีศักยภาพปรับรูปแบบการทำการเกษตรไปสู่การทำเกษตรอัจฉริยะและเชื่อมโยงการผลิตภาคการเกษตรให้สามารถเข้าสู่เกษตรอุตสาหกรรม โดยประยุกต์ใช้เครื่องจักรกลเกษตรและเทคโนโลยีเกษตรแม่นยำในกระบวนการผลิต เพื่อปรับระบบการผลิตสู่เกษตรสมัยใหม่ ทั้งนี้ ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้มีการใช้เครื่องจักรและอุปกรณ์ที่สามารถผลิตได้ภายในประเทศเป็นหลัก
สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร โดยการให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพสินค้า Premium และความหลากหลายผลิตภัณฑ์ รวมทั้งการส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถค้าขายออนไลน์ผ่านตลาด e-Commerce ทั้งที่เป็น e-Marketplace หรือ Social Commerce ด้วยต้นทุนการขนส่งและการตลาดที่แข่งขันได้

1.2) ภาคอุตสาหกรรม การค้า/การลงทุน :ฟื้นฟูอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาด โดยทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน สนับสนุนการใช้เครื่องจักรและอุปกรณ์ที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงและทันสมัยมาใช้ในกระบวนการผลิต และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่พัฒนาเขตเศรษฐกิจต่าง ๆ ตามนโยบายของรัฐ สร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนในการพัฒนาทักษะแรงงานให้สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง ขยายการจัดตั้งศูนย์วิเคราะห์และทดสอบผลิตภัณฑ์ (Testing Center) ในภาคอุตสาหกรรมสำคัญ

1.3) ภาคท่องเที่ยวและบริการ : มุ่งเน้นการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ (Responsible Tourism) อุตสาหกรรมการให้บริการ (Hospitality Industry) และเศรษฐกิจสร้างสรรค์โดยปรับปรุงและฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวและสิ่งอำนวยความสะดวกในเมืองหลักและเมืองรอง เพื่อยกระดับคุณภาพแหล่งท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวข้องให้ได้มาตรฐานสากล รวมทั้งมาตรฐานด้านสาธารณสุขและด้านความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว เพื่อให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความปลอดภัยด้านสุขภาพ พัฒนาระบบการบริหารจัดการที่สอดคล้องกับความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยว (Carrying Capacity) ของแหล่งท่องเที่ยว สร้างและยกระดับแหล่งท่องเที่ยวใหม่ให้เป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยว รวมทั้งประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการให้บริการ และฝึกอบรมและพัฒนาผู้ประกอบการ ตลอดจนพัฒนาฝีมือแรงงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมการให้บริการให้มีความพร้อมในการให้บริการ

ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินโครงการภายใต้แผนงานหรือโครงการลงทุนและกิจการการพัฒนาที่สามารถพลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจฯ เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ อาจกำหนดให้มีรูปแบบการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและผู้ประกอบการภาคเอกชนที่ประสบความสำเร็จในแต่ละด้านเพื่อทำหน้าที่พี่เลี้ยงถ่ายทอดประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ

ยกระดับ OTOP – ท่องเที่ยวชุมชน

2.แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน : ส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจของชุมชน โดยการสร้างงาน สร้างรายได้ ให้เกิดขึ้นในท้องถิ่นชุมชน โดย

2.1) พัฒนาสินค้าและบริการของชุมชน ได้แก่ การปรับปรุง ส่งเสริมเกษตรกรรมตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง/เกษตรผสมผสาน เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับเกษตรกรรายย่อย และพัฒนาสินค้าชุมชน (OTOP) การท่องเที่ยวชุมชน และบริการที่เกี่ยวเนื่องบนแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยสนับสนุนปัจจัยการผลิต พัฒนากระบวนการผลิต การแปรรูป และการใช้นวัตกรรม ด้วยการสนับสนุนจากหน่วยงานและสถาบันการศึกษา รวมถึงการรวมกลุ่มกันดำเนินกิจกรรมของชุมชน เพื่อนำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มและรายได้อย่างยั่งยืน

2.2) พัฒนาการตลาดและสิ่งอำนวยความสะดวก โดยส่งเสริมพัฒนาการตลาดตามแนวทางความปกติใหม่ (New Normal) ที่มีการรักษาระยะห่าง การรักษาความสะอาด และการป้องกันโรคติดต่ออย่างเคร่งครัด และส่งเสริมการเปิดตลาดสู่ภายนอกโดยใช้ระบบการตลาดออนไลน์ รวมทั้งการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นเพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจของชุมชนและเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน (Sharing Economy)

2.3) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและส่งเสริมสาธารณประโยชน์ระดับชุมชน ได้แก่ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในชุมชนเพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน รวมทั้งเป็นแหล่งจ้างแรงงาน

2.4) ส่งเสริมและพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน โดยให้หน่วยงาน องค์กร และสถาบันการศึกษาสนับสนุนการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายและชุมชน

2.5) เกิดการฟื้นฟูและพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง โดยดึงดูดคนรุ่นใหม่ ผู้ประกอบการที่มีความรู้และศักยภาพกลับคืนถิ่นเพื่อไปประกอบกิจการในท้องถิ่นของตนเอง
ทั้งนี้ การดำเนินโครงการภายใต้แผนงานหรือโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน ควรให้ความสำคัญกับการดำเนินโครงการที่จะก่อให้เกิดการสร้างงานและสร้างอาชีพในท้องถิ่นและชุมชนในระยะยาว โดยเฉพาะผู้จบการศึกษาที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน เพื่อเพิ่มความเข็มแข็งของเศรษฐกิจระดับชุมชนและก่อให้เกิดการกระจายความเจริญสู่ชนบทได้อย่างยั่งยืน

แพ็กเกจภาษีกระตุ้นจับจ่าย

3) แผนงานหรือโครงการเพื่อส่งเสริมและกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือนและเอกชน: จัดทำมาตรการด้านภาษีและหรือมิใช่ภาษี เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนซื้อสินค้าและบริการจากผู้ประกอบการรายย่อย การใช้สินค้าที่ผลิตภายในประเทศเป็นหลักและการท่องเที่ยวภายในประเทศในช่วงหลังจากสถานการณ์การระบาดยุติแล้ว

4) แผนงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานผ่านการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมเพื่อสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน และสนับสนุนกระบวนการผลิตเพื่อการพัฒนาประเทศในระยะต่อไป : มุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ช่วยสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจทางด้านการค้า การลงทุน การผลิตและการบริการในสาขาเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ รวมถึงเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชนที่ได้ดำเนินการในข้อ 1) และข้อ 2) ให้เป็นไปอย่างสะดวก ปลอดภัย มีมาตรฐานบนต้นทุนที่แข่งขันได้ ได้แก่

4.1) การพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำและระบบชลประทาน โดยการพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำทั้งขนาดกลางและขนาดเล็ก น้ำบาดาลที่มีความพร้อมในการดำเนินการ ซึ่งนอกจากจะเป็นการช่วยภาคการเกษตรให้มีน้ำใช้เพียงพอต่อการเพาะปลูกแล้ว ยังเป็นการกระจายเม็ดเงินลงทุนไปในพื้นที่ต่าง ๆ และจะเป็นการช่วยเพิ่มปริมาณการกักเก็บน้ำของประเทศเพื่อรองรับในกรณีภัยแล้ง และอุทกภัยในอนาคตได้ด้วย

4.2) การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ โดยการพัฒนา/ปรับปรุงโครงข่ายคมนาคมในรูปแบบต่างๆ ให้สามารถเชื่อมโยงการเดินทางและขนส่งสินค้าจากชุมชน/ท้องถิ่นสู่ประตูการค้าหรือจุดต้นทางการเดินทางที่สำคัญของประเทศได้อย่างสะดวก ปลอดภัย และมีต้นทุนลดลง การพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ อาทิ ศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้า โดยให้ความสำคัญกับโครงการที่ช่วยสนับสนุนให้สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ของภาครัฐได้อย่างเป็นรูปธรรม

แพลตฟอร์มดิจิทัลในครัวเรือน-วิสาหกิจชุมชน

4.3) การพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์ม ส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาครัฐและภาคเอกชนเกิดการวิจัยและพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มภายในประเทศในลักษณะบูรณาการ ทั้งในส่วนของการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต การประกอบอาชีพของประชาชนทั้งในระดับครัวเรือน วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม รวมถึงรองรับการประกอบธุรกิจในภาคการผลิตและภาคบริการในรูปแบบใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นจากการพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสาร 5G เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตในอนาคต ตอบสนองต่อความต้องการใช้งานของทุกภาคส่วน ครอบคลุมและทั่วถึง โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบการค้าออนไลน์ภายในประเทศที่สามารถเชื่อมโยงกับระบบโลจิสติกส์ภายในประเทศ เพื่อให้ประชาชน ผู้ประกอบการ ชุมชนหรือวิสาหกิจชุมชนสามารถใช้ประโยชน์ในการเข้าถึงผู้บริโภคได้โดยตรงและสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากผลผลิตของชุมชน

ปี63 เศรษฐกิจโลกหดตัวร้อยละ 2-3

ทั้งนี้ยังสรุปสถานการณ์และปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

1.1 สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ณ เดือนเมษายน 2563 มีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมทั่วโลกอย่างน้อย 3.348 ล้านคน กระจายตัวอยู่ใน 212 ประเทศและเขตปกครองตนเอง โดยการระบาดในภูมิภาคต่าง ๆ ยังคงมีแนวโน้มการระบาดอย่างต่อเนื่อง และเริ่มมีการระบาดรุนแรงขึ้นในทวีปอเมริกาใต้ ทำให้หลายประเทศยังคงมาตรการจำกัดการเคลื่อนที่ของประชาชน และการป้องกันหรือห้ามการเดินทางระหว่างประเทศ แม้ว่าบางประเทศจะสามารถควบคุมการระบาดได้ในระดับหนึ่ง และเริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการภายในประเทศ เพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศสามารถดำเนินการไปได้ แต่การเดินทางระหว่างประเทศก็ยังคงอยู่ในวงจำกัด เนื่องจากประเทศอื่นๆ ส่วนใหญ่ยังคงไม่สามารถควบคุมการระบาดได้

สำหรับประเทศไทย ภายหลังจากรัฐบาลเริ่มบังคับใช้มาตรการต่าง ๆ อาทิ การจำกัดการเดินทาง ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศและการงดกิจกรรมบางประเภท ทำให้สถานการณ์การระบาดในช่วงเดือนเมษายนมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นโดยเริ่มพบผู้ติดเชื้อลดลงอย่างต่อเนื่อง และรัฐบาลมีแนวโน้มที่จะผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศสามารถขับเคลื่อนได้เป็นลำดับ

1.2 ปัจจัยสำคัญที่ยังคงส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยปี 2563 สรุปได้ดังนี้ 1) ความไม่แน่นอนของการสิ้นสุดการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 : ปัจจัยที่จะยุติการระบาดในขณะนี้มีเพียงปัจจัยเดียว คือ การค้นพบวัคซีนที่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น คาดว่าการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จะคงอยู่ต่อไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในระยะต่อไปโดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวและบริการ

2) แนวโน้มการหดตัวของเศรษฐกิจโลก : จากการประมาณการของหน่วยงานระหว่างประเทศ ณ เดือนเมษายน 2563 คาดว่า เศรษฐกิจโลกจะมีแนวโน้มหดตัวประมาณร้อยละ 2 – 3 ในปี 2563 ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจสำคัญของไทยไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวการลงทุนและการบริโภคของภาคเอกชนภายในประเทศ การผลิตในภาคอุตสาหกรรม และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ แม้ว่าการส่งออกของไทยในเดือนมีนาคม 2563 จะขยายตัวในระดับร้อยละ 4.17 ก็ตาม ทำให้ทางเลือกในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในด้านต่าง ๆ ของปี 2563 และในระยะถัดไป จึงมีอยู่อย่างจำกัด และจำเป็นต้องมุ่งเน้นการกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในท้องถิ่นเพื่อลดผลกระทบจากการหดตัวของภาคเศรษฐกิจสำคัญ รวมทั้งจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรของภาครัฐในการลงทุนเพื่อพยุงเศรษฐกิจและเกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นหลัก

3) การจ้างงานภายในประเทศ : การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลโดยตรงต่อการจ้างงานในสาขาการท่องเที่ยวและกิจการเกี่ยวเนื่องอื่น ๆ ที่มีแรงงานกว่า 4 ล้านตำแหน่ง โดยในกรณีที่ประเทศไทยสามารถควบคุมการระบาดภายในประเทศให้อยู่ในวงจำกัด แต่ประเทศอื่น ๆ ยังไม่สามารถควบคุมการระบาดได้ คาดว่าจะมีผลกระทบต่อการจ้างงานภายในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลกระทบทางเศรษฐกิจจะขยายตัวจากภาคท่องเที่ยวและบริการไปสู่ภาคอุตสาหกรรม

1.3 แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 นอกจากจะส่งผลกระทบต่อชีวิตของประชาชนในประเทศ และการหดตัวของเศรษฐกิจโลกแล้ว ยังส่งผลกระทบในด้านอื่น ๆ เช่น การหยุดชะงักของห่วงโซ่การผลิตในระดับโลก (Global Supply Chain Disruption) ซึ่งส่งผลต่อการผลิตสินค้าขั้นสุดท้าย การขาดแคลนสินค้าจำเป็น (เวชภัณฑ์ ยา อาหาร) การเดินทางระหว่างประเทศ และวิถีชีวิตของประชาชนทำให้ประเทศต่าง ๆ เริ่มตระหนักถึงการกลับมาสร้างความมั่นคงและขีดความสามารถในการรองรับวิกฤตของประเทศ ซึ่งจากวิกฤตการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในเบื้องต้นคาดว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่จะนำไปสู่ความปกติใหม่ (New Normal) ดังนี้

กระแสโลภิวัตน์หยุดชะงัก

1) การเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่การผลิต จากเดิมที่ประเทศต่าง ๆ ได้ใช้กลยุทธ์ในการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในภาคการผลิตกระจายฐานการผลิตไปยังต่างประเทศ เพื่อลดต้นทุนของสินค้าขั้นสุดท้าย คาดว่าจะมีการกระจายฐานการผลิตไปในประเทศอื่น ๆ ที่มีศักยภาพในการผลิตใกล้เคียงกัน เพื่อลดความเสี่ยงของการหยุดชะงักของห่วงโซ่การผลิตและอุตสาหกรรมบางประเภทที่เป็นความมั่นคงของประเทศ อาทิ ยา เวชภัณฑ์ มีแนวโน้มที่จะกลับไปผลิตภายในประเทศ เพื่อลดความเสี่ยงของการขาดแคลนในช่วงวิกฤต และอาจมีการกำหนดมาตรการห้ามส่งออกสินค้าบางประเภทที่จะส่งผลต่อความมั่นคงของประเทศ ซึ่งอาจทำให้กระแสโลกาภิวัตน์ (Globalization) ที่เกิดขึ้นในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาเปลี่ยนแปลงไปสู่การปกป้องผลประโยชน์ของประเทศมากขึ้น และสร้างความสามารถในการพึ่งพาตัวเองและความยืดหยุ่นในระบบเศรษฐกิจเพื่อให้สามารถรองรับผลกระทบในกรณีที่เกิดวิกฤตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

2) การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดิจิทัลจะเร่งตัวขึ้นและมีบทบาทมากขึ้นทั้งในด้านการดำเนินธุรกิจ การค้า การบริการ และวิถีชีวิตของประชาชนที่จะใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในชีวิตประจำวันมากขึ้นทั้งในด้านการซื้อขายสินค้าและบริการ นันทนาการ การศึกษา และแม้กระทั่งรูปแบบการจ้างงานและวิธีการทำงานทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งจำเป็นต้องเร่งสร้างความรู้ให้แก่ประชาชนให้สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในการหาความรู้และสร้างรายได้

3) การเดินทางระหว่างประเทศภายหลังการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 คาดว่าจะไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากความเชื่อมั่นของประชาชน ประกอบกับประเทศต่าง ๆ มีแนวโน้มที่จะกำหนดมาตรการด้านสุขภาพของผู้ที่จะเดินทางระหว่างประเทศทั้งในส่วนของประเทศต้นทางและประเทศปลายทาง เพื่อป้องกันการระบาดซ้ำของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และอาจเกิดโรคติดต่ออุบัติใหม่ได้ ซึ่งแม้ว่าจะสามารถค้นพบวัคซีนที่สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้แต่คาดว่าประเทศต่าง ๆ อาจจะไม่สามารถจัดหาวัคซีนให้เพียงพอกับประชากรภายในประเทศได้ในระยะเวลาอันสั้น

ลดเพิ่งพาการส่งออก-ท่องเที่ยว

1.4 ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ยังมีความไม่แน่นอนของการสิ้นสุดการระบาดและแนวโน้มการหดตัวของเศรษฐกิจโลก ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจของไทย และได้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างโดยเฉพาะการจ้างงาน การประกอบอาชีพของประชาชน และการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ ทำให้จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรของภาครัฐและความสามารถในการจัดหาทรัพยากรในการพยุงเศรษฐกิจเพื่อลดผลกระทบของประชาชนในภาคส่วนต่าง ๆ และให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ เพื่อรักษาการจ้างงานในภาพรวมของประเทศ

นอกจากนี้ จากแนวโน้มความปกติใหม่ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลให้ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับโครงสร้างเพื่อลดการพึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างประเทศในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ มาสู่การสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจภายในประเทศโดยประกอบการอย่างมีเหตุผล พอประมาณและมีภูมิคุ้มกันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อสร้างความเข้มแข็งของประเทศจากภายในอันจะช่วยให้มีความสามารถในการต้านทานผลกระทบ (Resilient) จากวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตด้วย