20 พรรค ลากรัฐบาลขึ้นปีที่ 2 ฝ่ายค้านแพ้ภัย สนิมในเนื้อ 212 เสียง

22 พ.ค. 2563 นี้ รัฐสภา 750 ผู้ทรงเกียรติ ทั้งสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ซึ่งจะกลับมาปฏิบัติหน้าที่ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติอีกครั้ง หลังเปิดสภาครบ 1 ปีมีเรื่องร้อนจ่อคิวให้พิจารณามากมาย ทั้งการอนุมัติ พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้าน พ่วงกับ พ.ร.ก.ที่ใช้กู้เศรษฐกิจอีก 2 ฉบับใช้เงินในคลังอีก 9 แสนล้าน รวมถึงพิจารณากฎหมายโอนงบประมาณปี”63 อีก 8 หมื่นล้านไม่นับรวมประเด็นการเมืองอื่น ๆ ที่ตกค้างมาจาก season ก่อน อย่างการศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ ติดตามการปฏิรูปกองทัพ และการใช้งบประมาณ

ทว่าเหตุการณ์ใน season ที่ 1 มีหลายเรื่องราวที่ดุเดือด เผ็ดร้อน ชิงไหวชิงพริบ ระหว่างฝ่ายค้าน-ฝ่ายรัฐบาลมากมายก่อนขึ้น season ที่ 2 ของฝ่ายนิติบัญญัติ ต่อไปนี้ คือ recap เหตุการณ์สำคัญ ๆ ที่เกิดขึ้นในสภา season แรก

โหวตบิ๊กตู่ท่วมท้น 500 เสียง

อาจกล่าวได้ว่า “งานแรก” อย่างเป็นทางการของรัฐสภา ชุดที่ 25 เมื่อ 5 มิถุนายน 2562 คือ การเลือก “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ในฐานะแคนดิเดตนายกฯของพรรคพลังประชารัฐ เป็นนายกฯอีกสมัย โดยได้เสียงท่วมท้นจาก ส.ส.และ ส.ว. รวมกัน 500 ต่อ 244 เสียง ซึ่งเป็นเสียงของขั้วตรงข้ามที่เรียกว่า ฝ่ายประชาธิปไตย 7 พรรค และมีสมาชิกรัฐสภางดออกเสียงทั้งหมด 3 คน คือ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา นายพรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา และนายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส.ศรีสะเกษ เขต 1 พรรคภูมิใจไทย

โดยในการประชุมรัฐสภาครั้งนี้มีสมาชิกเข้าประชุมทั้งหมด 747 คน ซึ่งในเช้าวันโหวตนายกฯ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ได้ทำหน้าที่ ส.ส.ในสภาเพียงแค่ 3 นาที เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว จากพิษถือหุ้นสื่อ

สภาหุ้นสื่อ รอศาลเชือด 64 ชีวิต

หลังเปิดสภาได้ไม่นาน สภาก็ชุลมุนด้วย “ปมหุ้นสื่อ” ฟ้องศาลรัฐธรรมนูญกันนัวเนีย ต้นเหตุจาก ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ 80 คน เข้าชื่อต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้เสนอไปยังศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบคุณสมบัติของ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล 41 คน เทียบเคียงกับกรณีของ “ธนาธร”

จากปมถือในบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการทำสื่อ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องไว้ตัดสิน แต่ไม่ได้สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.เหมือนกรณีของ “ธนาธร” ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องเมื่อ 26 มิ.ย. 2562 ไว้ 32 คน รอตัดสิน เช่นเดียวกับ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ปฏิบัติการ “ย้อนศร” ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้เอาผิด “33 ส.ส.ฝ่ายค้าน” เรื่องถือหุ้นสื่อเช่นกัน โดยศาลรับคำร้องไว้ตรวจสอบ 32 คน เมื่อ 4 ก.ย. 2562 จนถึงขณะนี้ เรื่อง “ถือหุ้นสื่อ” ของ ส.ส.ฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาล รวมกัน 64 ชีวิต ยังอยู่ในกระบวนการของศาลรัฐธรรมนูญ

ติดหล่มปมถวายสัตย์ฯไม่ครบ

ภายหลังการตั้งรัฐบาลล่าช้าหลายเดือน กว่ารัฐบาลประยุทธ์จะได้ปฏิบัติหน้าที่ ล่วงเลยถึง ก.ค. 2562 แต่แล้วก็เกิดปัญหาทางเทคนิคเรื่องที่ “พล.อ.ประยุทธ์” นำคณะรัฐมนตรีถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ด้วยถ้อยคำไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 กลายเป็นปมร้อนทางการเมือง กระทั่งสภาต้องเปิด “อภิปราย” โดยไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 เพื่อหาทางออก

ที่สุดแล้วเรื่องต้องถึงมือศาลรัฐธรรมนูญ 11 ก.ย. 2552 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์เป็นการกระทำทางการเมือง (political issue) ของคณะรัฐมนตรี ในฐานะที่เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญฝ่ายบริหารในความสัมพันธ์เฉพาะกับพระมหากษัตริย์ อันอยู่ในความหมายของการกระทำของรัฐบาล (act of government) ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 47 (1) ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญไม่อาจรับคำร้องไว้พิจารณาได้ ตามมาตรา 46 วรรคสาม

งูเห่าโผล่ ปิดฉากรัฐบาลปริ่มน้ำ

ตอนต้นของการจัดตั้งรัฐบาล เสียงของขั้วรัฐบาลพลังประชารัฐ 19 พรรค อยู่ข่าย “รัฐบาลปริ่มน้ำ” 254 เสียง ขณะที่ฝ่ายค้านมีเสียงถึง 246 เสียง ขี่กันอยู่แค่ 8 เสียงเท่านั้น แต่สรุปไป ๆ มา ๆ ด้วยเหตุยุบพรรคอนาคตใหม่ และเกิดการช็อปตัว ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎร จากเสียงรัฐบาลที่เคย “ปริ่มน้ำ” ตอนนี้โผล่หายใจพ้นน้ำ

ปัจจุบัน ส.ส.เท่าที่มีอยู่ในสภาทั้งหมด 487 คน (ตัดกรุงศรีวิไล สุทินเผือกส.ส.สมุทรปราการ พปชร. หยุดปฏิบัติหน้าที่-อิทธิรัตน์ จันทรสุรินทร์ ลำปาง เพื่อไทย เขต 4 เสียชีวิต และ ส.ส.อนาคตใหม่ถูกตัดสิทธิคดียุบพรรค 11 คน)

พรรครัฐบาล 20 พรรค 275 เสียง พรรคพลังประชารัฐ 118 เสียง พรรคภูมิใจไทย 61 เสียง พรรคประชาธิปัตย์ 52 เสียง ชาติไทยพัฒนา 12 เสียง รวมพลังประชาชาติไทย 5 เสียง พลังท้องถิ่นไท 5 เสียง ชาติพัฒนา 4 เสียง พรรคเศรษฐกิจใหม่ 5 เสียง พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย 2 เสียง ส่วนพรรคพลังชาติไทย พรรคประชาภิวัฒน์ พรรคพลังไทยรักไทย พรรคครูไทยเพื่อประชาชน พรรคประชานิยม พรรคพลเมืองไทย พรรคประชาธิปไตยใหม่ พรรคพลังธรรมใหม่ พรรคไทยศรีวิไลย์ พรรคประชาธรรมไทย พรรคไทรักธรรม ซึ่งมีพรรคละ 1 เสียง

6 พรรคฝ่ายค้าน 212 เสียง โดยพรรคเพื่อไทย เหลือ 134 เสียง (รวมกรณีอิทธิรัตน์ จันทรสุรินทร์ ลำปาง เขต 4 เสียชีวิต) พรรคก้าวไกล 54 เสียง มาจากอนาคตใหม่เดิม ซึ่งถูกดูด 2 ครั้ง จำนวน 9 คน ย้ายซบภูมิใจไทย และพลังท้องถิ่นไท และอีก 2 ส.ส.ย้ายไปพรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคชาติพัฒนา บวกกับ 11 ส.ส.บัญชีรายชื่อที่ถูกตัดสิทธิจากศาล รธน.ยุบพรรคอนาคตใหม่ พรรคเสรีรวมไทย 10 เสียง พรรคประชาชาติ 7 เสียง (อนุมัติ ซูสารอ ยังไม่โดนขับ ไปอยู่ พปชร.) พรรคเพื่อชาติ 5 เสียง พรรคพลังปวงชนไทย 1 เสียง และ “มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์” จากพรรคเศรษฐกิจใหม่ 1 เสียง

โหวต พ.ร.ก.ร้อนจุดเปลี่ยน อนค.

ผู้สันทัดกรณีทางการเมืองไม่ว่าฝ่ายรัฐบาล-ฝ่ายค้าน มองว่า คือจุดเปลี่ยนของพรรคอนาคตใหม่ ก็เพราะผลักดันวาระ “แหลมคม” ที่สุด หลังทำงานในสภาผู้แทนราษฎร คือ กรณีที่ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ 70 เสียง ลงมติโหวตไม่รับร่างพระราชกำหนดโอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ. 2562 เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2562 อันเป็นไปตามมติของพรรคนำมาสู่การปรากฏตัวของ “งูเห่า” อนาคตใหม่ เป็นครั้งแรก 4 คน คือ กลุ่มที่โหวต “เห็นชอบ” คือ น.ส.กวินนาถ ตาคีย์ ส.ส.ชลบุรี พรรคอนาคตใหม่ นายจารึก ศรีอ่อน ส.ส.จันทบุรี พรรคอนาคตใหม่, พ.ต.ท.ฐนภัทร กิตติวงศา ส.ส.จันทบุรี พรรคอนาคตใหม่ ส่วนคนที่งดออกเสียง “น.ส.ศรีนวล บุญลือ” ส.ส.เชียงใหม่ พรรคอนาคตใหม่และกลายเป็น “วิกฤต” แพแตก 10 วันถัดมา จนมีสมาชิกพรรคและอดีตผู้สมัครทยอยลาออกหลายสิบคน ท่ามกลางคดีการเมืองต่าง ๆ ที่รุมเร้า และเร่งเครื่องเร็วจี๋ จนถูกยุบพรรคในที่สุด

งบฯ”63 ส่อแท้งพิษเสียบบัตรแทน

ผลจากการตั้งรัฐบาล “ล่าช้า” กระทบถึงการจัดทำกฎหมายงบประมาณปี”63 ล่าช้าตามไปด้วย แต่ยังไม่วาย การพิจารณาการผ่านงบฯปี”63 กลับเกิดเรื่องขึ้นมา เมื่อมีปมเสียบบัตรแทนกัน

เรื่องของเรื่อง เริ่มต้นจาก “นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ” รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งรับผิดชอบการเลือกตั้งภาคใต้ ออกโรงแฉว่า ในการโหวตร่าง พ.ร.บ.งบประมาณดังกล่าว มีการเสียบบัตรแทนกัน โดยกล่าวหา “ฉลอง เทอดวีระพงศ์” ส.ส.พัทลุง จากพรรคภูมิใจไทย ลงคะแนนโหวตงบฯทั้งที่ไม่อยู่ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร แฉซ้ำอีกว่า “นาที รัชกิจประการ” ส.ส.บัญชีรายชื่อ แม่ทัพ-นายทุนใหญ่ เลือกตั้งภาคใต้ของพรรคภูมิใจไทย ออกทริปท่องเมืองจีน แต่มีชื่อลงคะแนนตอนโหวตกฎหมายงบประมาณ !

เรื่องบานปลายต้องให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ กระทั่ง 7 ก.พ. 2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 5 ต่อ 4 สั่งโหวต พ.ร.บ.งบประมาณ 63 วาระ 2-3 และข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการใหม่อีกรอบ

ซักฟอกรัฐบาล/หักหลังกันเอง

ก่อนปิดสมัยประชุมสภาครั้งที่ 1 การอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ฝ่ายค้านปูทางไว้หลายเดือน ตั้งแต่ปลายปี 2562 เลื่อนแล้ว-เลื่อนอีก จนเข้าสู่เดือน ก.พ. ตามรัฐธรรมนูญกำหนดให้ฝ่ายรัฐบาล เป็นผู้ “กำหนด” วันซักฟอก-ไม่ไว้วางใจ
รัฐบาลจึงเลือกเอาช่วงท้ายของสมัยประชุม ให้ฝ่ายค้านได้เปิดศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ 4 วันรวด

ฝ่ายค้านนำโดยพรรคเพื่อไทย ประกาศตั้ง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง มาเป็นหัวหน้าทีมคณะกิจการพิเศษ ลุยศึกซักฟอกแยกจากทีมยุทธศาสตร์ ที่มี “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” เจ้าแม่ กทม. เป็นประธานที่สุดแล้ว การอภิปรายไม่ไว้วางใจถูกวิจารณ์ว่าเป็นมวยล้ม

เมื่อจู่ ๆ “เพื่อไทย” ในฐานะแกนนำฝ่ายค้าน บริหารจัดการเวลาไม่ดี กระทั่งไม่เหลือเวลาให้อดีต ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ (ที่เวลานั้นถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคไปแล้ว) ได้อภิปรายในชั่วโมงสุดท้าย เหลือเวลาของฝ่ายค้านแค่ 3 นาที ! แถมรัฐมนตรีที่อยู่ในลิสต์ซักฟอก อย่าง “พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา” รมว.มหาดไทย ยังไม่ได้เผชิญหน้ากับการถูกอภิปรายด้วยซ้ำ บางรายถูกอภิปรายแค่เฉี่ยว ๆ อย่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ และวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ หัวหน้าฝ่ายกฎหมายรัฐบาล

“ปิยบุตร แสงกนกกุล” อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ จึงระบายความในใจผ่านเฟซบุ๊กตอนหนึ่งว่า “หรือแท้จริงแล้ว ไม่คิดจะเอาชนะเผด็จการ เพราะจะเป็นแค่มวยล้ม ต้มคนดู พวกเราพยายามใช้พื้นที่ของสภาผู้แทนราษฎรอย่างเต็มที่ เพื่ออย่างน้อยจะลดความโกรธของประชาชน ลดความไม่พอใจของประชาชน และมาแสดงออกกันที่สภา ผ่านผู้แทนฯของเขา”

ปิดฉากอภิปรายไม่ไว้วางใจ ฝ่ายรัฐบาลเอาตัวรอดไปได้ แต่ฝ่ายค้านโดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ต้องแบกหน้ารับคำครหาว่า “มวยล้ม ต้มคนดู” ผ่านกฎหมาย 3 ฉบับ ปิดท้ายด้วยในขวบปีแรก 1 ขวบปีที่เปิดสมัยประชุมสภา 22 พ.ค. 2562 จนถึงปัจจุบัน เพียงแค่ 3 ฉบับเท่านั้น ที่ผ่านการเห็นชอบของ ส.ว. และบังคับใช้เป็นกฎหมาย คือ พระราชบัญญัติ งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 พระราชบัญญัติเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 10 พ.ศ. 2562 พระราชบัญญัติเหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 10พ.ศ. 2562

บริหารงูเห่าให้ถูกวิธี

“วิรัช รัตนเศรษฐ” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานวิปรัฐบาล สรุปผลงานของฝ่ายรัฐบาลไว้อย่างน่าสนใจว่า จากรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ ใกล้จมน้ำ เราก็บริหารโดยใช้ทักษะต่าง ๆ กว่าจะผ่านมาได้แต่ละอย่าง มีบ้างที่บริหารแล้วแพ้ แต่ไม่ได้หมายความว่า แพ้แล้วไม่ชนะ แพ้อาทิตย์นี้ แต่อาทิตย์หน้าเราก็ชนะ

“บริหารได้อย่างเต็มที่ ไม่ต้องห่วง 1 ปีที่ผ่านมาเพิ่มความชำนาญได้นิดหนึ่ง ที่รัฐบาลได้เสียงพ้นน้ำ เป็นเพราะฝ่ายค้านถูกยุบพรรค และหายไปจากอะไรไปก็เรื่องของเขา แต่ฝ่ายรัฐบาลได้คนมาก็บริหารให้ถูกวิธีก็แค่นั้น สมัยหน้าค่อย ๆ ว่ากัน”