วีรกรรม “ประยุทธ์” 6 ปี ยึดทรัพย์ “ยิ่งลักษณ์” ตัดตอนพรรคคู่แข่ง

เหตุการณ์วันที่ 22 พ.ค. 2557 เป็นวันที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก นำกำลังเข้าควบคุมอำนาจการบริหารประเทศ จากรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ผ่านมาครบ 6 ปี “พล.อ.ประยุทธ์” สถาปนาอำนาจเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 จาก “รัฐบาลลายพราง” อุดมไปด้วยเทคโนแครต+ขุนทหาร สู่ “รัฐบาลจากการเลือกตั้ง” ลูกผสมระหว่างทหาร+นักการเมือง สานต่ออำนาจแบบไร้รอยต่อ ! แต่ระหว่างทางบนบัลลังก์อำนาจของ “พล.อ.ประยุทธ์” ถูกเขย่าด้วยปมร้อนตลอดเวลาทางการเมือง

2557 ปีแรก ในตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เจอแรงเสียดทานจากกลุ่มต้านมากมายจนต้อง “งัดกฎหมายพิเศษ” ขึ้นมาจัดการกับ “ผู้เห็นต่าง” จากรายงานการตั้งข้อหาทางการเมืองหลังรัฐประหาร 2557 ของ iLaw (โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน) รวบรวมข้อมูลจนถึง 23 กันยายน 2562 มีการตั้งข้อหาที่เกี่ยวข้องด้านความมั่นคง เกือบ 700 คดี

ข้อหาก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 61 วรรค 2 รวม 41 คดี ข้อหาชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 หรือฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 รวม 421 คดี

ข้อหาปลุกปั่นยุยง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 รวม 119 คดี ข้อหาไม่มารายงานตัวตามกำหนด ฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 41/2557 รวม 14 คดี คดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อีก 98 คดี

นอกจากนี้ในขวบปีแรก “พล.อ.ประยุทธ์” ยังคลอดรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 หลังการรัฐประหาร 2 เดือน ซึ่งฝังกฎหมายพิเศษสารพัดนึก “มาตรา 44” เอาไว้ออกคำสั่ง “พิเศษ” มีผลเหนือนิติบัญญัติ และตุลาการ ผ่านคำสั่งหัวหน้า คสช. คำสั่ง คสช. ประกาศต่าง ๆ ของ คสช. 6 ปี รวม 559 คำสั่ง

กระทั่งคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับสุดท้ายประกาศใช้เมื่อ 9 ก.ค. 2562 เรื่อง การยกเลิกประกาศ คสช. คำสั่ง คสช.และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติบางฉบับที่หมดความจำเป็น

ปี 2558 ไม่มีอะไรโดดเด่นไปกว่าเหตุการณ์ แม่น้ำสายสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ลงมติ “คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ” ฉบับ “บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” ฉีกโรดแมปเลือกตั้ง ส่งผลสะเทือนโรดแมปเลือกตั้ง ที่ “พล.อ.ประยุทธ์” ประกาศไว้ต่อประชาคมโลก เดิมที “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี หมอกฎหมายประจำรัฐบาล คาดการณ์ว่า หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ผ่านประชามติ การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในเดือน ส.ค. 2559

แต่ปรากฏว่า 24 ชั่วโมงก่อนลงมติ มีการล็อบบี้กันอย่างหนักในหมู่ สปช. อ้าง “สัญญาณลับ” จากผู้มีอำนาจใน คสช.ให้คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ และเมื่อวันลงมติมาถึง 6 ก.ย. 2558 ร่างรัฐธรรมนูญบวรศักดิ์ ก็ถูกคว่ำด้วยเสียง 135 ต่อ 105 เสียง

ปี 2559 เป็นปีแห่งการทำประชามติรัฐธรรมนูญฉบับ “มีชัย ฤชุพันธุ์” หลังจากรัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์ถูกคว่ำ คสช.ก็ตั้งคณะร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ขึ้นมาชื่อว่า “คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ” หรือ กรธ.ทันทีทันใด ซึ่ง “มีชัย ฤชุพันธุ์” เป็นประธาน ใช้เวลาร่างรัฐธรรมนูญ 10 เดือน

7 ส.ค. 2559 คือวันลงประชามติ พร้อม “คำถามพ่วง” ให้ ส.ว.ช่วงเปลี่ยนผ่าน 250 คน มีส่วนร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีหลังเลือกตั้ง ซึ่งผลปรากฏว่า เห็นชอบรับร่างรัฐธรรมนูญ 16,820,402 คะแนน คิดเป็น 61.35% ไม่เห็นชอบ 10,598,037 คะแนน คิดเป็น 38.65% และเห็นชอบคำถามพ่วง 15,132,050 คะแนน คิดเป็น 58.07% ไม่เห็นชอบ 10,926,648 คะแนน คิดเป็น 41.93%

ปี 2560 เมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้ วันที่ 6 เม.ย. จึงเข้าสู่กระบวนการจัดทำกฎหมายลูก 240 วัน หรือ 8 เดือน แต่ในปีเดียวกันนี้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุก “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ฐานปล่อยปละละเลย ไม่ระงับยับยั้ง จนทำให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว ศาลลงโทษจำคุก 5 ปี ไม่รอลงอาญา แต่ในวันฟังคำพิพากษา “ยิ่งลักษณ์” มิได้ปรากฏตัว แต่หนีออกช่องทางธรรมชาติไปอยู่ต่างประเทศ ท่ามกลางครหาว่า “ผู้มีอำนาจ” ปล่อยผ่านไป

ปี 2561 ฤดูการเมืองเริ่มเข้าสู่ช่วงปลดล็อก มีการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นมา กำเนิด “พลังประชารัฐ” ซึ่งเป็นฐานสำคัญของรัฐบาล คสช. และการประกาศตัวของ “พรรคอนาคตใหม่” ที่ปักหมุด “หยุดสืบทอดอำนาจ คสช.”

ปี 2562 ไม่มีอะไรใหญ่ไปกว่าการเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 ที่พรรคพลังประชารัฐ รวมเสียงจัดตั้งเป็นรัฐบาลได้สำเร็จ แม้ไม่ใช่พรรคที่ได้ ส.ส.มากที่สุดในสภา แต่สามารถจัดตั้งรัฐบาล “เสียงปริ่มน้ำ” ได้สำเร็จ และทำให้ “พล.อ.ประยุทธ์” ในฐานะแคนดิเดตนายกฯ กลับมาเป็นนายกฯ รอบ 2

รองมาเป็นเหตุการณ์ “แผ่นดินไหวทางการเมือง” ก่อนการเลือกตั้ง เมื่อพรรคไทยรักษาชาติ ซึ่งเป็นแผนปฏิบัติการของ “ทักษิณ ชินวัตร” แก้กับดักรัฐธรรมนูญ แตกพรรคออกจาก “เพื่อไทย” แต่กลับต้องถูกยุบพรรค เมื่อเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ที่ “มิบังควร”

ยังมีเหตุการณ์อีกสารพัดเหตุการณ์ที่สอดแทรกขึ้นมา ทั้งการที่ “ศรีสุวรรณ จรรยา” เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ร้องต่อ กกต. เรื่อง “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ถือหุ้นในบริษัทสื่อ กระทั่ง กกต.ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และให้ “ธนาธร” พ้นสภาพจากการเป็น ส.ส. และแกนนำ “อนาคตใหม่” ถูกร้องดำเนินคดีรวมกันกว่า 25 คดี หนึ่งในนั้นคือกรณีที่ “ธนาธร”ให้พรรคกู้เงิน 191.2 ล้านบาท ขัดกับกฎหมายพรรคการเมืองหรือไม่

ส.ส.ฝ่ายค้าน-รัฐบาล ผลัดกันร้องเอาผิดเรื่อง ส.ส.ถือหุ้นสื่อ ขณะนี้อยู่ในการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญฝ่ายละ 32 คน มีการ “ยึดทรัพย์-ขายทอดตลาด” ของ “ยิ่งลักษณ์” อดีตนายกฯ ซึ่งกรมบังคับคดี ใช้มาตรการบังคับทางปกครองกรณีจำนำข้าว เพราะกระทรวงการคลังมีคำสั่งที่ 1351/2559 ให้ “ยิ่งลักษณ์” รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 35,717,273,028.23 บาท และคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 56/2559 ที่ให้ดำเนินการต่อผู้ต้องรับผิด

เจ้าตัวระบายความรู้สึกผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ตอนหนึ่งว่า “ทรัพย์สมบัติส่วนตัวที่ตนเองหามาตั้งแต่ครั้งยังไม่ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจนมาเป็นนายกรัฐมนตรี และสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ตอบแทนดิฉัน”

ปี 2563 ผ่านมาเพียง 1 เดือน แผ่นดินไหวทางการเมืองเกิดอีกรอบ ศาลรัฐธรรมนูญตัดสิินยุบ “พรรคอนาคตใหม่”ตัดสิทธิ “11 กรรมการบริหารพรรค” พิษคดีเงินกู้ 191.2 ล้านบาท สะเทือนทางการเมืองทั้งวงการเมื่อเกิดปฏิกิริยาแฟลชม็อบนิสิต-นักศึกษา เคลื่อนไหวมากที่สุดนับแต่พฤษภาทมิฬ ถูกขัดจังหวะด้วยพิษโควิด-19

จาก 22 พ.ค. 57-22 พ.ค. 63 ผ่านมาแล้ว 6 ปี พล.อ.ประยุทธ์ ลุยไฟการเมืองมาแล้วอย่างโชกโชน