เปิดสภา ฝ่ายค้านจองอภิปราย “ตีเช็คเปล่า” เงินกู้ 1.9 ล้านล้าน

22 พฤษภาคม นอกจากครบ 6 ปี รัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

ยังเป็นวันที่รัฐสภา “เปิดทำการ” เปิดเทอมใหญ่ครั้งที่ 2

ตามคิว หลังเปิดสภา ต้องเริ่มต้นด้วย “วาระด่วน” คือ พ.ร.ก.กู้ภัยโควิด 3 ฉบับ ที่มียอดวงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท บวก พ.ร.ก.ว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ อีก 1 ฉบับ รวมเป็น 4 ฉบับ ที่สภาจะต้องพิจารณาต่อเนื่อง

ทว่า คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) เคาะเวลาอภิปราย 3 วัน วันละ 10 ชั่วโมง รวม 30 ชั่วโมง แบ่งเวลาให้ฝ่ายค้าน – ฝ่ายรัฐบาล ครึ่ง – ครึ่ง

ถ้าถัวเฉลี่ยอภิปรายคนละ 10 นาที 3 วัน ถ้าฝ่ายค้านรักษาเวลาเป๊ะๆ ก็จะสามารถอภิปรายได้ 90 คน ซึ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้

แถมมีการต่ออายุการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 5 ทุ่ม – ตี 4 คลุมไว้อีก ยิ่งเป็นอุปสรรคต่อการอภิปราย

6 พรรคฝ่ายค้านนำโดยพรรคเพื่อไทย ออกมาตำหนิ ท่าทีฝ่ายรัฐบาลว่า “ใจแคบ” แทบจะเป็นไปไม่ได้ ที่ให้เวลา 3 วัน อภิปรายเรื่องสำคัญ

@ โวย 3 วัน ได้เวลา 30 ชั่วโมงไม่พอ

“น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ” เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยไม่เห็นด้วย เนื่องจากเวลาพิจารณาน้อยเกินไป โดยจะเหลือเวลาอภิปรายเพียงวันละ 10 ชั่วโมง เพราะรัฐบาลยังไม่ยกเลิกเคอร์ฟิว ดังนั้นทั้ง 3 วัน จึงมีเวลาแค่ 30 ชั่วโมงเท่านั้น หากรัฐบาลแบ่งให้ฝ่ายค้านครึ่งหนึ่งก็จะมีเวลาเหลือแค่ 15 ชั่วโมง สำหรับพิจารณา พ.ร.ก.กู้เงิน 3 ฉบับ ที่มียอดเงินสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ คือ 1.9 ล้านล้านบาท แถมยังต้องพิจารณา พ.ร.ก.ว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ อีกด้วย ซึ่งเวลาเพียงเท่านี้ไม่สามารถตรวจสอบและพิจารณาได้อย่างละเอียดรอบคอบแน่นอน

ตามแผนฝ่ายค้าน จองกฐินใช้เวทีพิจารณา พ.ร.ก. 3 ฉบับ เป็นเวทีซักฟอกย่อยๆ หลังจากฝ่ายค้านพลาดท่าเสียที ในศึกใหญ่อภิปรายไม่ไว้วางใจในการประชุมสมัยที่แล้ว หากครั้งนี้จึงหวังแก้มือ

ปูพื้น – เนื้อเรื่อง ช่องโหว่ของกฎหมายแก้วิกฤตโควิด “เยียวยาไร้ประสิทธิภาพ – อุ้มคนรวยมากกว่าช่วยคนจน” จัดใหญ่ – จัดเต็มผ่านไลฟ์สด หลายครั้ง นำโดยเจ้าแม่ กทม. หัวหน้าทีมยุทธศาสตร์ “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์”

@ เปิดสาระ พ.ร.ก.ร้อน 3 ฉบับ

พ.ร.ก. 3 ฉบับ ประกอบด้วย 1. พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 พ.ศ.2563 (พ.ร.ก. เงินกู้ 1 ล้านล้าน)

ไฮไลต์สำคัญอยู่ที่มาตรา 5 เงินกู้ตามพระราชกำหนดนี้ จะนำไปใช้เพื่อการอื่นนอกจากการดังต่อไปนี้มิได้ (1) เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (2) เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้แก่ภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (3) เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019

มาตรา 6 การกู้เงินตามพระราชกำหนดนี้ ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติเท่าที่จำเป็น โดยคำนึงถึงขีดความสามารถของรัฐในการชำระหนี้คืนประกอบด้วย ทังนี้ การกู้เงินเพื่อไขปัญหาการระบาดของโรคโควิด -19 และช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้แก่ภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ รวมมูลค่าไม่เกิน 6 แสนล้านบาท และเพื่อการตามมาตรา เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคโควิด -19 เยียวยา และชดเชยให้แก่ภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ ไม่เกิน 4 แสนล้านบาท

ขณะที่มาตรา 7 ให้มีคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ประกอบด้วย เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธานกรรมการ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงการคลัง ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งจำนวนไม่เกิน 5 คน เป็นกรรมการ ให้รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติคนหนึ่งซึ่งเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมอบหมาย เป็นเลขานุการ

2. พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 พ.ศ. 2563 (พ.ร.ก. Softloan 500,000 ล้าน ให้กับ SEMs)

มีทั้งหมด 15 มาตรา สาระสำคัญ อาทิ มาตรา 4 เพื่อบรรเทาผลกระทบอันเกิดจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือจากมาตรการที่รัฐกำหนดให้ประชาชนต้องปฏิบัติอันเป็นการระงับ ยับยั้ง และแก้ไขปัญหาอันเกิดจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสดังกล่าว ให้ดำเนินการช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในพระราชกำหนดนี้

มาตรา 6 นอกเหนือจากการให้กู้ยืมเงินตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยธนาคารแห่งประเทศไทย ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจให้กู้ยืมเงินแก่สถาบันการเงินเป็นการเฉพาะคราว ภายในวงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท เพื่อให้สถาบันการเงินให้กู้ยืมเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ตามที่กำหนดในพระราชกำหนดนี้ อัตราดอกเบี้ยในการให้กู้ยืมเงินแก่สถาบันการเงินตามวรรคหนึ่ง ให้คิดในอัตราร้อยละ 0.01 ต่อปี

และ 3. พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563 (พ.ร.ก.ตั้งกองทุนรักษาเสถียรภาพของตราสารหนี้บริษัทเอกชน 400,000 ล้าน) มีด้วยกัน 21 มาตรา
โดยมีสาระสำคัญ อาทิ มาตรา 4 เพื่อบรรเทาผลกระทบอันเนื่องมาจากการระบาดของโรคตดิเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 และเพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจโดยรวม ให้ดำเนินการ เพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนตามวิธีการที่บัญญัติไว้ใน พระราชกำหนดนี้ให้เป็นหน้าที่และอำนาจของกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยร่วมกันดำเนินการ

มาตรา 7 ให้จัดตั้งกองทุนรวมขึ้นกองทุนหนึ่ง เรียกว่า “กองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่อง ของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้” มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาเสถียรภาพและสภาพคล่อง ของตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน ที่ได้รับผลกระทบอันเนื่องมาจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ด้วยวิธีการลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนที่ออกใหม่

มาตรา 8 ให้กองทุนเป็นนิติบุคคล และให้ถือว่าเป็นกองทุนรวมที่จัดตั้งและดำเนินการ ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ในระยะเริ่มแรกให้กองทุนมีวงเงินไม่เกิน 4 แสนล้านบาท ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจซื้อหน่วยลงทุนภายในวงเงินไม่เกิน 4 แสนล้านบาท ภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการกำกับกองทุนกำหนด

มาตรา 9 ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการกำกับกองทุนเพื่อรักษา สภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้” ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานกรรมการ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นรองประธานกรรมการ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหาร หนี้สาธารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้ง โดยคำแนะนำของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยจากผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านตลาดทุน ด้านตลาดตราสารหนี้ หรือด้านกฎหมาย จำนวนไม่เกิน 3 คน เป็นกรรมการ ให้ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยแต่งตั้งพนักงานธนาคารแห่งประเทศไทยคนหนึ่งเป็นเลขานุการ

@ ตีเช็คเปล่า ไม่มีรายละเอียด

“สมพงษ์ อมรวิวัฒน์” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ตั้งข้อสังเกตว่า การตรวจสอบ พ.ร.ก.กู้เงิน ทั้ง 3 ฉบับ แบ่งออกเป็น 3 จุดใหญ่ ๆ คือ การเยียวยาช่วยเหลือพี่น้องประชาชนด้านสาธารณสุข การช่วยเหลือพี่น้องประชาชนเกษตรกร ผู้ประกอบการ SMEs และการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งเราเห็นด้วยกับการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน

แต่การออก พ.ร.ก. ในลักษณะที่ไม่มีรายละเอียด ไม่มียุทธศาสตร์ ไม่มีข้อมูลต่าง ๆ ให้กับพี่น้องประชาชนได้รับทราบ และรวมถึงการตรวจสอบ อาจก่อให้เกิดความเสียหายในอนาคต อีกทั้งเม็ดเงินในส่วนนี้จะเกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพของระบบการเงินและความมั่นคงของเศรษฐกิจประเทศ ควรจะมีการตรวจสอบและสอบถามถึงการนำไปใช้ได้ ซึ่งนายกรัฐมนตรี ควรจะมีความรับผิดชอบในเรื่องนี้ด้วย เพราะอาจเกิดความเสียหายในอนาคต

โดยเฉพาะมาตรการในการดูแลเม็ดเงินที่รัฐบาลได้ดำเนินการโดยได้ตั้งคณะกรรมการมา 1 ชุดนั้นพรรคฝ่ายค้านเป็นห่วงว่าอาจไม่เพียงพอ ดังนั้นในนามพรรคร่วมฝ่ายค้าน

@ ตั้ง กมธ.วิสามัญตรวจสอบงบ

จึงเสนอตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อตรวจสอบการใช้เงิน ตาม พ.ร.ก.กู้เงิน ให้ถ่องแท้ อย่างไรก็ตามเมื่อมีการบรรจุวาระของการพิจารณาให้ตั้งคณะกรรมาธิการ อาจจะล่าช้าหรือตั้งไม่ได้ก็อาจจะใช้คณะกรรมาธิการติดตามงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร ที่มีอยู่แล้วให้มาดูแลเรื่องนี้ เพื่อตรวจสอบการทำงานของคณะกรรมการที่รัฐบาลตั้งขึ้นว่าจะเป็นไปด้วยความโปร่งใสหรือไม่

ด้าน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เตรียมข้อมูลสำคัญในการ “ซักฟอก” แผนแก้โควิด – 19 ของรัฐบาล ที่เขาบอกว่า รัฐบาลชนะ แต่ประชาชนแพ้ “รัฐบาลชนะ แต่ประชาชนแพ้แน่นอน คนแพ้เยอะกว่าคนชนะ คนที่ตกหล่นจากการเยียวยาของรัฐบาลอย่างจงใจ ไม่สามารถเข้าถึงได้ โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำทางเทคโนโลยี ต้องลาออกจากการปิดกิจการโดยภาครัฐ หรือ โดนไล่ออกจากบ้าน จากการลงพื้นที่ชาวบ้านชูโทรศัพท์ขึ้นมายังเป็นโทรศัพท์ที่ไม่สามารถเข้าอินเตอร์เน็ตได้ ไทยแลนด์ 4.0 ยัง 0.4 อยู่ จะต้องพูดกันในอนาคตแน่นอน”

@ แนะรัฐกันเงิน 1 แสนล้านช่วย SMEs

“พรรคก้าวไกล คิดกันว่าในจำนวนเงิน 4 แสนล้านที่จะเอามาฟื้นเศรษฐกิจ จะกัน 1 แสนล้านบาท ไปช่วยธุรกิจที่ตั้งใจจะอุ้มพนักงาน ด้วยการสมทบค่าจ้าง 50% ไม่เกิน 5,000 บาท/ราย โดยตั้งใจให้พาธุรกิจไปต่อสามารถพาธุรกิจไปต่อได้ เป็นเรื่องของพรรคก้าวไกลที่จะไปพูดในสภา โดยเฉพาะเงินกู้รอบใหม่ที่ช่วย Soft loan วงเงิน 5 แสนล้าน แต่สามารถช่วย SMEs ได้แค่ 5 พันเจ้า จากจำนวน SMEs ทั้งหมด 3.4 หมื่นล้านราย ที่เหลือปล่อยให้ล้มละลาย อาจจะเป็นโดมิโนระบบการเงิน”

@ จ่อชำแหละ พ.ร.บ.โอนงบ 63

นอกจากนี้ พ่วงด้วยวาระ ร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 วงเงิน 88,452.5979 ล้านบาท ทั้งที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติกรอบวงเงินไว้ที่ จำนวน 100,395 ล้านบาท แต่พอส่งกลับให้กระทรวงต่าง ๆ ไปรีดไขมัน กลับได้แค่ 8.8 หมื่นล้าน

“น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล” รองหัวหน้าพรรคฝ่ายนโยบาย พรรคก้าวไกล ระบุว่า หน่วยงานต่าง ๆ ไม่มีความพยายามโอนงบเลย ถ้าไม่นับเงินชำระหนี้ เท่ากับโอนกลับมาได้แค่ 50,000 ล้านบาท ทั้งที่มีมติ ครม.ให้เริ่มทำการจัดงบประมาณใหม่ของปี 2563 มาตั้งแต่ 10 มี.ค. ผ่านมา 2 เดือนก็ยังไม่เสร็จสิ้น ส่วนการเบิกจ่ายงบปี 63 ก็ยังไม่ไปถึงไหน โดยเฉพาะในส่วนของรายจ่ายลงทุนที่เบิกจ่ายไปได้เพียง 12% เพราะเพิ่งจะเริ่มเบิกจ่ายได้หลังจากที่ผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณไปเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ กลับตัดลดงบประมาณไปได้ไม่มากเท่าที่ควร

เปิดสภามา รัฐบาลก็น่วมแล้ว