“ถาวร” เปิดเบื้องหลังกู้ซากบินไทย ตีกันทีมฟื้นฟู…ต้องปลอดการเมือง

รายงาน

ผนึกกำลังกันชั่วคราวระหว่าง “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รมว.คมนาคม “ถาวร เสนเนียม” รมช.คมนาคม

2 ราชรถในกระทรวงคมนาคม ช่วยกัน “ผ่าตัดการบินไทย” ซึ่งมีหนี้บักโกรกรายได้ตัวแดงถึงขั้นเหลือเงินจ่ายให้พนักงานแค่เดือนสองเดือน

ช่วยกันพลิกมติคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เมื่อ 29 เม.ย.ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีมติเห็นชอบในหลักการให้การบินไทยกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องขององค์กร โดยให้กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้ วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องระยะสั้นให้กับบริษัท

แต่สุดท้ายทั้ง “ศักดิ์สยาม-ถาวร” กลับมาถกกันที่กระทรวง พร้อมด้วยความเห็นชอบของ “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข ในฐานะกำกับกระทรวงคมนาคม

“ถาวร” ใช้บริการทีมกฎหมายส่วนตัวพลิกตำรากฎหมาย เชิญผู้แทนสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสิร์ฟข้อมูล-ผลดี-ผลเสียจนเห็นตรงกันว่า การให้การบินไทยกู้เสริมสภาพคล่องมีแต่สูญเปล่า มีทางออกเดียวคือ “เข้าสู่การฟื้นฟูตามกฎหมายล้มละลาย”

กระทั่งมีวลีหล่นจากวงหารือว่า “ทำอย่างนี้เราจะไม่ติดคุก” เพราะถ้าขืนเติมเงินให้การบินไทยลูกเดียว อาจมี “นักร้องมือดี” ฝ่ายตรงข้ามยื่นร้องเรียนต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เรื่องปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเอาผิดทางการเมือง

ผลลัพธ์จึงยกขบวนไปพบ “พล.อ.ประยุทธ์” ที่ทำเนียบ พลิกมติ คนร.ของเดิม นำมาสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 19 พ.ค. อนุมัติให้ “การบินไทยเข้าสู่การฟื้นฟูตามกฎหมายล้มละลาย”

เพียง 24 ชั่วโมงที่ ครม.อนุมัติ “ศักดิ์สยาม” เรียกคณะกรรมการ (บอร์ด) ผู้บริหารการบินไทยเกี่ยวกับการยื่นขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พร้อมเตรียมเคาะ 30 รายชื่อผู้จัดแผนฟื้นฟูให้ “พล.อ.ประยุทธ์” เลือกก่อนจะเข้าสู่ขั้นตอนต่อ ๆ ไป

“ถาวร” ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากนี้ ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงคมนาคม ศึกษาเชิงลึกทั้งหมด พร้อมตั้งคณะกรรมการจัดทำแผนฟื้นฟู ซึ่งเป็นอำนาจของนายกฯ และเมื่อมีการโอนหุ้นโดยกระทรวงการคลังลดการถือหุ้นเหลือน้อยกว่า 51% แล้ว อาจจะมีการประชุมลูกหนี้ หรืออาจเรียกประชุมผู้ถือหุ้นวิสามัญเพื่อตัดสินใจ หรือให้คณะทำงานจัดทำแผนฟื้นฟู 15 คน เพื่อตรวจแผนฟื้นฟู

“หลักเกณฑ์การยื่นการฟื้นฟูนั้น ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ไม่สามารถชำระหนี้ได้ กิจการของลูกหนี้พร้อมที่จะเดินต่อไปได้ รักษาสภาพการจ้างได้ ก่อนยื่นต่อศาลล้มละลาย เพราะลูกหนี้มีความคล่องตัวมากกว่าเจ้าหนี้”

“ถาวร” บอกว่า องค์ประกอบที่สำคัญพอ ๆ กับแผนฟื้นฟูคือ “ผู้บริหารแผน” ที่จะเข้ามาทำหน้าที่ บริหารแผนฟื้นฟูในอนาคต ควรจะให้ “พล.อ.ประยุทธ์” แต่งตั้งมากกว่าที่จะเป็น “คนของนักการเมือง” ภายหลังปรากฏข่าวลือหนาหูว่า “ฝ่ายการเมือง” กำลังต่อรอง วางตำแหน่งให้เครือข่าย

“ความคิดผมอยากให้นายกฯแต่งตั้งผู้บริหารแผนเพราะจะเป็นที่น่าเชื่อถือได้ หรือมีคณะทำงานบริหารแผน 3-5 คน แต่อย่าให้มากไป และบุคคลที่นายกฯจะแต่งตั้งต้องออกสื่อสาธารณะหยั่งเสียง ฟังเสียงจากประชาชนด้วยว่าน่าไว้วางใจหรือไม่ หรือถามผู้ถือหุ้นโดยจัดประชุมผู้ถือหุ้น ไม่ใช่ให้การเมืองท็อปดาวน์ เพราะการบินไทยคือบริษัท ไม่ใช่บริษัทของคนใดคนหนึ่ง”

“ในการคัดเลือกผู้บริหารแผนอย่าให้มีตัวแทนของพรรคการเมือง ซึ่งมีความสำคัญมากต่อความสำเร็จในการฟื้นฟูการบินไทย และกราบเรียนถึงนายกฯ ต้องรอบคอบมาก กระบวนการสรรหาคนดีคนเก่งต้องเปิดกว้าง”

“เพราะคือปัจจัยที่สำคัญที่สุดของการฟื้นฟูจะสำเร็จได้ และให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม ตั้งแต่กระทรวง ผู้ถือหุ้นทั้งรายเล็ก รายใหญ่ พนักงานการบินไทย สหภาพการบินไทย รวมถึงลูกค้าและประชาชนทั่วไปต้องเปิดเผยให้คนได้รับทราบว่าเสนอใคร และวิธีการคัดเลือกเอาใครมาทำหน้าที่บริหาร ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจะได้รับรู้รับทราบ ให้วิพากษ์วิจารณ์ได้ และต้องบอกล่วงหน้าเพราะข่าวสารไม่สามารถปิดได้

ขอให้ทุกคนช่วยกันฟื้นฟูกิจการการบินไทย โดยการรับฟังความคิดเห็นต้องทำให้เร็วที่สุด

ส่วนสเป็กของผู้บริหารแผน “ถาวร” บอกว่า จะต้องมีความเชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมการบิน ส่วนความเชี่ยวชาญด้านการเงิน ด้านกฎหมาย ด้านปรับปรุงโครงสร้างองค์กรจ้างได้ และสัดส่วนต้องมาจากทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ฝ่ายละ 1 คนถึงจะสวย

“ผู้สื่อข่าวอาจจะไปเห็น3 ชื่อ (นายเทวินทร์ วงศ์วานิช อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. นายจรัมพร โชติกเสถียร อดีตกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.การบินไทย และนายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน) แต่ความจริงยังไม่ใช่ ที่บอกเช่นนี้เพราะผมรู้ว่าประวัติ 1 ใน 3 คน ผมรับไม่ได้ บางคนเคยอยู่ในรัฐวิสาหกิจ บางคนเคยทำงานในการบินไทย เพราะโปร่งใส มีความสามารถจริงหรือไม่ ใครเก่งไม่เก่งในเรื่องอุตสาหกรรมการบิน แล้วถ้าเจ้าหนี้ไม่เอาด้วย เจ้าหนี้ไปร้องคัดค้านในศาลมีการส่งประวัติยาวเหยียดในศาล เสียคนทั้งคนตั้งคนเสนอและคนที่อยากจะเป็น มีผู้เข้ามาเกี่ยวข้องเยอะ”

“อย่าคิดว่ากระทรวงการคลัง กองทุนวายุภักษ์ ออมสินถือหุ้นข้างมากจะเอาใครมาเป็นผู้ทำแผน-ผู้บริหารแผนก็ได้ แต่ต้องคำนึงถึงนักลงทุน เพราะนักลงทุนจะเป็นตัววิพากษ์วิจารณ์ในโซเชียลมีเดียถึงความเหมาะสมไม่เหมาะสมได้”

การเสนอแผนฟื้นฟูจะต้องทำให้เสร็จภายใน 3 เดือน และขยายได้ครั้งละ 1 เดือน แต่ไม่เกิน 2 ครั้ง สูตร 3+1+1 ส่วนการฟื้นฟูทำให้เสร็จภายใน 5 ปี

“ดังนั้น เมื่อมีผู้บริหารแผนจะทำให้บอร์ดการบินไทยชุดปัจจุบันสิ้นสุดโดยอัตโนมัติ บอร์ดเอาไว้ดูแลขับเคลื่อนในช่วงที่ไม่มีผู้บริหารแผน เพราะผู้บริหารแผนจะต้องผ่านการเห็นชอบทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ และกฎหมายเขียนว่า ผู้บริหารแผนเป็นอิสระ”

“ดูเหมือนง่าย อยากจะช่วยพรรคพวกคนนู้นคนนี้ แต่เอาเข้าจริงมันไม่ใช่”

ทั้งศักดิ์สยาม-ถาวรดูเหมือนผนึกกำลังลบล้างชามเกาเหลาที่เคยขบเหลี่ยมกัน บางครั้งคราว สมัยที่ 2 ราชรถเคยอยู่ถ้ำเดียวกันในกระทรวงคลองหลอด (มหาดไทย) ในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

แต่พอถึงทีเด็ด-ทีขาด หลัง ครม.มีมติเรื่องการบินไทยเมื่อ 19 พ.ค. “ศักดิ์สยาม” กลับมาแถลงข่าวครั้งสำคัญ แต่ไม่มีการเรียก “ถาวร” เข้าไปร่วมซีน

กว่าอีกฝ่ายจะรู้ตัว การแถลงข่าวจะเริ่มต้นในอีก 1 ชั่วโมง แขกที่ถูกรับเชิญระดับรัฐมนตรีมานั่งแทนคือ “มนัญญา ไทยเศรษฐ์” รมช.เกษตรและสหกรณ์ แห่งค่ายภูมิใจไทย

“ถาวร” บอกความแตกต่างระหว่างสมัยบริหารมหาดไทย-คมนาคมว่า คนละวัฒนธรรม ตั้งแต่ “วัฒนธรรมองค์กร-ผู้สื่อข่าว ยันข้าราชการ”

“การทำงานในกระทรวงคมนาคมไม่ยากและไม่ง่าย”

แต่ที่รู้มือ-รู้เหลี่ยมก็คือ คนที่เป็น “นักการเมือง” ด้วยกัน

ที่รู้ไส้รู้พุงกันดี ทั้งคู่ต่างไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่ ความรู้สึกเก็บไว้ในใจ แต่ไม่แสดงออก