“วิโรจน์” ส.ส.สายบู๊ “ก้าวไกล” จี้จุดตายรัฐบาล สอบตกเศรษฐกิจปากท้อง

สัมภาษณ์

โดย ณัฐวุฒิ กรัณยโสภณ

การอภิปรายพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) 3 ฉบับ ที่ใช้สู้ไวรัสโควิด-19 มูลค่า 1.9 ล้านล้าน เป็นเวทีแรกที่ขุนพล “พรรคก้าวไกล” ได้แสดงบทบาท ภายหลังแปลงร่างจากพรรคอนาคตใหม่ “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล คือ ขุนพล “สายบู๊” ที่ทำหน้าที่เปิดอภิปรายในนามพรรค หลัง “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรค ที่มีอาการบาดเจ็บ

“ประชาชาติธุรกิจ” สนทนากับ “วิโรจน์” ถึงการพลิกบทจากพรรคอนาคตใหม่ สู่ “ก้าวไกล” ในวันที่ขุนพล-ตัวเอกยุคเก่า ถูกตัดสิทธิทางการเมือง และการติดตาม-เกาะติดการใช้เงินกู้ 1 ล้านล้าน ที่ “ก้าวไกล” กัดไม่ปล่อย

พรรคใหม่ อุดมการณ์เดิม

วิโรจน์ยืนยันว่า ทุกอย่างเหมือนเดิม ทั้งอุดมการณ์ และความมุ่งมั่น เพียงแต่เพื่อนเราบางคนไม่อยู่กับเราแล้วเท่านั้น

“ทุกการอภิปรายของผมยังเหมือนเดิม ไม่ต้องการอภิปรายเพื่อตำหนิรัฐบาลสาดเสียเทเสีย แต่พยายามชี้ประเด็นอยากให้ประชาชนเห็นประเด็นเหมือนที่เรามี สะท้อนสิ่งที่รัฐบาลจงใจมองข้าม จัดลำดับความสำคัญผิดหรือไม่”

แม้ว่าในยุคพรรคอนาคตใหม่ มีชายที่ชื่อ “ปิยบุตร แสงกนกกุล” เป็นหัวหอกในสภา แต่นาทีนี้ไม่มี “ตัวเอก” คนนั้นแล้ว ก็ไม่กระทบกับ “ก้าวไกล”

“อาจารย์ปิยบุตรไม่ได้กำกับทุกอย่างนะพรรคเราใช้ที่ประชุม ส.ส.ในการกำกับ พอเรามีอุดมการณ์เป็นหลักยึด ก็เป็นกรอบใหญ่ ๆ ในการตัดสินใจของเรา หลายครั้งอาจารย์ปิยบุตรก็โหวตแพ้นะ น่าจะส่วนใหญ่โหวตแพ้ด้วยซ้ำไป พรรคก้าวไกลกลายเป็นพรรคที่เป็นระบบ ไม่ใช่เป็นพรรคที่ยึดตัวบุคคลไปแล้ว”

เปรียบ GOT มีตัวเอกหลายตัว

ในฐานะคนที่อยู่ข้างใน ยังรู้สึกว่าทุกคนยังมุ่งมั่นตั้งใจ ทีมกฎหมายก็ยังแข็งแกร่ง เมื่อก่อนอาจารย์ปิยบุตรเป็นตัวเอกที่เป็นคนถือธงนำ แต่เบื้องหลังมีความสำเร็จเป็นการช่วยกัน ทำงานเป็นทีมที่สูงมาก ไม่ได้เสียตรงนั้นไป

“เหมือน Game of Thrones ที่เสียแม่ทัพไปสักคน แต่หนังก็ยังดำเนินต่อไปได้ เพราะยังมีตัวเอก ตัวละครอยู่หลายตัว เรารู้ว่าในพรรคมีคนเก่ง คนมีความสามารถ”

เหมือนเคราะห์ซ้ำ กรรมซัด “ก้าวไกล” พิธา-หัวหน้าพรรค ดันบาดเจ็บ ต้องเข้ารับการผ่าตัด ผู้แสดงนำของก้าวไกล ต้อง “ยุติบทบาทชั่วคราว” สถานการณ์นี้เป็นการพิสูจน์ว่า ทุกคนสามารถทดแทนกันได้ เรายังเชื่อมั่นการทำงานเป็นทีม มากกว่าการมีตัวชูโรง ก้าวไกลทำงานเป็นทีมมากขึ้น จากคุณพิธาที่มีปัญหาสุขภาพ การเปิดให้เห็นภาพรวมของพรรคก้าวไกล แม้บอกไม่ได้ว่าได้คะแนนดีมาก แต่ก็ไม่สอบตก

“คุณพิธา 2 เดือนก็เจอกัน ซึ่งจริง ๆ เขาอยากมาทำกิจกรรมกับพรรค แต่ถ้ายังฝืนอาการอาจลุกลาม ให้เขารักษาหาย แล้วกลับมาทำงานอย่างเต็มที่ ดีกว่าทำวันหนึ่ง เจ็บวันหนึ่ง ไม่ดีกับตัวเขา”

กับบทบาท “คณะก้าวหน้า” ที่มี 3 ประสานแนวรุก “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ-ปิยบุตร-พรรณิการ์ วานิช” แกนนำอนาคตใหม่เดิม เป็นหัวหอกขับเคลื่อนกิจกรรมมวลชน ทำให้รัศมีไปบดบัง “ก้าวไกล” หรือไม่

วิโรจน์ สวนว่า “ตรงโน้นคือสนามโอลด์แทรฟฟอร์ดของทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ส่วนเวทีสภาเป็นเหมือนสนามแอนฟิลด์ของทีมลิเวอร์พูล เมื่อสภายังปิดอยู่ เรายังไม่มีโอกาส ตอนนี้สภาเปิดแล้ว ก้าวไกลจะแสดงบทบาทให้เต็มที่”

ตั้ง กมธ. X-ray ใช้เงินกู้

โอกาสแรกในการประเดิมสนามของ ก้าวไกล “วิโรจน์” อภิปราย พ.ร.ก. 3 ฉบับ 1.9 ล้านล้าน แก้ไขสถานการณ์โควิด เริ่มต้นจากการเยียวยา “เราไม่ทิ้งกัน” เขาคิดค้นวลีเชิงเปรียบเทียบ “เราไม่ทิ้งกัน ส่วนพวกมันก็ให้ทิ้งไป-เอไอกำมะลอ”

แต่สิ่งที่กังวล คือ เม็ดเงิน 4 แสนล้าน จากยอดรวมเงินกู้ 1 ล้านล้าน ที่ใช้ฟื้นเศรษฐกิจ เขาบอกว่า แม้นายกรัฐมนนตรีอภิปราย แต่ยังไม่มีรายละเอียด กรอบการใช้จ่ายที่ชัดเจน ใช้งบฯไม่คุ้มค่า “ก้าวไกล” จึงขอใช้สิทธิ “ผู้แทนราษฎร” ชงตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ ตรวจสอบการใช้เงิน-งบประมาณที่ใช้สู้กับไวรัสโควิดทั้งหมด

ดังนั้น การตั้ง กมธ.วิสามัญ ตามตรวจสอบกำกับการใช้งบประมาณ และมาตรการการควบคุมการระบาด และวิกฤตโควิด เป็นทางออกที่ดี เพราะ ส.ส. เป็นตัวแทนประชาชน ซึ่งเป็น ส.ส.ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน รวมถึงมีตัวแทนของ คณะรัฐมนตรี (ครม.) มาร่วม กมธ. การใช้จ่ายงบฯ จะมีความโปร่งใส ข้อสงสัยของประชาชนก็จะถูกติดตามตรวจสอบก่อนการใช้งบประมาณ

“มิติการตรวจสอบไม่ได้ติดตามคอร์รัปชั่นอย่างเดียว แต่มองถึงความจำเป็นในการใช้เงิน กระบวนการใช้งบฯ มีเส้นทางที่เวิ่นเว้อ พิสูจน์ความจนอีกหรือเปล่า ก้าวไกลธงชัดเจนมาก ท่าทีของรัฐบาลต่อการตั้ง กมธ.ชุดนี้สำคัญต่อการโหวตของเรามาก

“อยู่ดี ๆ ฉันจะกู้เงิน แต่ไม่ให้ตรวจสอบ เชื่อในความบริสุทธิ์ใจของฉันเถอะ ปัญหาก็เหมือนเดิม รัฐบาลพยายามทำอย่างนี้มาตลอด คือรับประกันตัวเอง แต่ที่สุดเป็นไง ไปตรวจแผงลอตเตอรี่ แล้วบอกว่าไม่มีขายเกินราคา ตรวจสถานบันเทิงก็ไม่พบการค้าประเวณีใด ๆ”

ถ้าเป็นรัฐบาล ยอมให้ตรวจสอบหลายครั้งที่ฝ่ายค้านเสนอตั้ง กมธ.วิสามัญ แต่ถูกเสียงข้างมากฟากรัฐบาลลงมติคว่ำญัตติ เช่น ศึกษาผลกระทบรัฐประหาร มาครั้งนี้มั่นใจว่าจะฝ่าด่านเสียงข้างมากหรือไม่?

“ถ้าก้าวไกลเป็นรัฐบาล ก้าวไกลยินดี เพราะต้องการให้ประชาชนสบายใจว่าเงินที่เป็นภาระของพวกเขา เราดูแลและทำอย่างดีที่สุด รอบคอบที่สุด คิดถึงประชาชนที่สุด โปร่งใสที่สุด ตรวจสอบได้ที่สุด รัฐบาลควรจะทำอย่างนั้น”

“รัฐบาลจะกลัวอะไร เพราะมีเสียงของ ส.ส.พรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล มีตัวแทนคณะรัฐมนตรีมาร่วมอีก เป็นเสียงข้างมากอยู่แล้ว ต่อให้มี กมธ.ชุดนี้ โหวตก็ชนะอยู่แล้ว เพียงแต่เอกสารทางราชการจะถูกดึงมาตรวจสอบมากขึ้นเท่านั้น เรื่องนี้ไม่ใช่ประเด็นการเมือง แต่เป็นเรื่องความจริงใจ”

“พรรคก้าวไกลไม่เคยตีรวน คนบอกว่าพรรคก้าวไกลเล่นการเมืองไม่เป็น ก็ยอมรับว่าเล่นการเมืองไม่เป็นจริง ๆ ตรงไปตรงมา ทำงาน ไม่ได้คิดเล่ห์สนกลใน ไม่ต้องกลัวเราเลย”

กันงบฯ 1 แสน ล.ช่วย SMEs

วิโรจน์-ก้าวไกล ชงไอเดียเพิ่มเติมต่อรัฐบาลว่า สิ่งที่รัฐบาลต้องทำไม่ใช่แค่การเยียวยา เพราะการเยียวยาเป็นการคิดชั้นเดียว เยียวยาอย่างมากคือ 1-3 เดือน แต่สิ่งที่ทุกคนต้องการคืองาน เช่น เรามีเงิน แต่เราตกงาน คนรายล้อมเราทุกคนตกงาน เรากล้าใช้จ่ายไหม ดังนั้น สิ่งที่สำคัญมากกว่าการเยียวยา คือ การทำให้ประชาชนมั่นใจว่า เขาจะมีงานทำ และรัฐบาลปกป้องงานเขาอย่างสุดความสามารถ และพร้อมที่จะเอางบฯฟื้นฟู และสร้างงานใหม่ให้ประชาชนบางคนที่ต้องตกงาน

“รัฐบาลต้องตีโจทย์ให้ออกว่า คำว่างานคือศัตรูของรัฐบาลที่กำลังเผชิญหน้าอยู่ ไม่ใช่รัฐบาลบอกว่า นายจ้างที่หยุดกิจการด้วยเหตุสุดวิสัย ลูกจ้างสามารถมารับเงินได้ที่ประกันสังคม อย่างนั้นเท่ากับจูงใจให้หยุดกิจการ”

ก้าวไกลเสนอว่า เราเยียวยานายจ้างถ้าไม่เลิกจ้าง ช่วยค่าจ้าง 50% วิธีการนี้ อังกฤษ สิงคโปร์ แคนาดา นิวซีแลนด์ ออสเตรเลียก็ทำ แต่ประเทศไทยไม่ทำ แรงงาน 1.2 ล้านคน อาจมีผู้ประกอบการจริง ๆ แค่หลักหมื่น หลักแสนราย เช่น SMEs 1 ราย จ้างงาน 10 คน เท่ากับรัฐบาลทำรายการแค่ 1.2 แสนรายการ ดีกว่าปล่อยให้แรงงาน 1.2 ล้านราย มารุมอยู่ที่ประกันสังคม แทนที่รัฐจะอุดหนุนให้มีการจ้างงานแต่รัฐกลับอุดหนุนให้มีการเลิกจ้าง ซึ่งไม่ถูกต้อง

“ก้าวไกลพยายามผลักดันให้เกิด กมธ.วิสามัญให้ได้ สังเกตไหม ก้าวไกลไม่ฟุ้ง จี้จุดนี้อย่างเดียว นี่คือจุดตัดสินใจ ถ้ารัฐบาลไม่มีท่าทีที่จะทำให้เงินกู้ก้อนนี้มีความโปร่งใส เราก็พร้อมที่จะชัดเจนกับรัฐบาลเหมือนกัน พรรคเพื่อไทยเห็นด้วยกับเรื่องนี้เหมือนกัน”

รัฐการ์ดตกแก้เศรษฐกิจ

ธรรมชาติของการระบาดของโรค จะต้องมีระลอกที่ 2 และ 3 แล้วระลอกที่ 3 จะไม่เยียวยาประชาชน จะไม่สมทบการจ้างงานเลยหรือ ทุกวันนี้รัฐบาลบอกว่า การ์ดอย่าตก แต่มันผิดหลัก

“รัฐบาลการ์ดตกมาตรการเศรษฐกิจ ชุดความคิดของรัฐบาลมองความสำเร็จมิติเดียว คือ ควบคุมการแพร่ระบาดของโรคให้ได้ แต่จะแลกมาด้วยปัญหาปากท้องอย่างไร ไม่สนใจ ดูแค่มิติเดียว เหมือนกับเรียนหนังสือ ฉันจะเอาวิชานี้วิชาเดียว ที่เหลือยอมติด F ติด 0 โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจปากท้องเป็นวิชาสำคัญ มันไม่ใช่แค่ 3 หน่วยกิต แต่เป็น 6 หน่วยกิตด้วยซ้ำหรือระดับ 24 หน่วยกิต เป็นวิทยานิพนธ์ ดังนั้น รัฐบาลต้องรีบอัดเงิน ช่วยเหลือ”

เศรษฐกิจเป็นพิษ ตายผ่อนส่ง

วิโรจน์ขมวดประเด็นปิดท้ายว่า “ก้าวไกล” ดูกราฟอัตราการดิ่งเหวของเศรษฐกิจพบว่า ขณะนี้กำลังการผลิตต่ำที่สุดในรอบ 100 เดือน ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลงไประดับ 40 กว่า ๆ ตอบไม่ได้ว่า ครั้งสุดท้ายที่ต่ำกว่านี้ลงไปถึงปี 2554 ก็ยังไม่มีต่ำกว่านี้

“ปัญหาครั้งนี้ไม่ใช่เป็นปัญหาช็อก แต่เศรษฐกิจกำลังถูกวางยาพิษ ตายผ่อนส่งไปเรื่อย ๆ ไม่เหมือนวิกฤตค่าเงินที่มันวูบ พอเศรษฐกิจดีก็วูบขึ้นมา แต่นี่พังที่ฐานราก หากปล่อยให้ SMEs ตาย มันยิ่งลำบาก ทุกวิกฤตมีคนรวยขึ้น นายทุนใหญ่ก็กว้านซื้อของถูก ทรัพย์สินต่าง ๆ ของ SMEs นายทุนใหญ่ยิ่งอยู่บนยอดพีระมิด ความเหลื่อมล้ำจะมากขึ้น คือสิ่งที่ไม่อยากให้เกิด”