“สติธร” อ่านศึก 3 ก๊ก พลังประชารัฐ แนะ “ประยุทธ์” ยุบสภา กำชัยชนะรอบสอง

สัมภาษณ์พิเศษ
ณัฐวุฒิ กรัณยโสภณ

ครบ 1 ปี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีสมัย 2 แต่อะไร ๆ ก็ต่างไปจากสมัยที่เป็นนายกฯจากการรัฐประหาร

ฐานกำลัง คือ “พรรคพลังประชารัฐ”(พปชร.) เปิดศึกในภาวะขบเหลี่ยม เฉือนคม เปิดเกมเกาเหลาแย่งเก้าอี้รัฐมนตรี หลังวิกฤตโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย

พระราชกำหนดสำคัญ 3 ฉบับ 1.9 ล้านล้านบาท ผ่านสภาฉลุย กรรมการบริหารพรรค 18 คน ประกาศลาออก เพื่อเขย่าขวดให้มีการปรับหัวหน้า-เลขาธิการพรรค ลามไปถึงปรับคณะรัฐมนตรี

“ประชาชาติธุรกิจ” ให้ “สติธร ธนานิธิโชติ” ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย วิเคราะห์กระดานการเมือง ความขัดแย้งใน พปชร. จะลงเอยอย่างไร

การเมืองในมือลุงตู่

“สติธร” เปิดสัมภาษณ์วิเคราะห์การเป็นนายกฯ 1 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ จริง ๆ คะแนนตกต่ำเรี่ยดิน แต่บุญพาวาสนาส่งยังมีโควิด-19 มาช่วย เพราะตอนหลังยุบพรรคอนาคตใหม่ ถึงขั้นมีกระแสเปลี่ยนตัวนายกฯ แต่พอโควิด-19มา พล.อ.ประยุทธ์ถอยฉากออกไปแล้วให้หมอมาว่าไป พูดให้น้อยลงสถานการณ์กลายเป็นดีไป

คะแนนความนิยม พล.อ.ประยุทธ์ก็ยังร่อแร่เหมือนเดิม แต่ยังไม่มีแรงที่จะเอาคนอื่นมาแทน แต่ถามว่าคนรักมากขึ้นไหมก็ไม่เชิง อาจจะเพิ่มขึ้นหน่อยหนึ่งจากการแจกเงิน อาจได้ประโยชน์บ้าง เกาะสถานการณ์ไปให้รอดไปเรื่อย และฝ่ายตรงข้ามไม่มีแรงพอ ไม่มีทั้งประเด็นสถานการณ์ไม่เอื้อ ดูแค่พรรคเพื่อไทยขณะนี้ว่ายังไง ฝ่ายคณะก้าวหน้าของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ รวมถึงพรรคก้าวไกลแรงก็มีประมาณหนึ่ง ถ้าพรรคเพื่อไทยไม่ช่วยกันหนุนก็ไม่มีแรงพอ

ตอนนี้รัฐบาลคิดว่า “ชนะ” ฟังจากอภิปราย พ.ร.ก. 3 ฉบับ ฝ่ายค้านจะด่าอะไรก็ด่ามา เหมือนกับมวยที่คะแนนทิ้งขาด ขอแค่การ์ดไม่ตก ฟุตเวิร์กอย่างเดียว ไม่ชกแล้ว สถานการณ์การเมืองจึงอยู่ในมือของ พล.อ.ประยุทธ์

เศรษฐกิจตัดสิน “บิ๊กตู่”

“ปัจจัย” ชี้ขาดการอยู่หรือไปของ “พล.อ.ประยุทธ์” เขามองว่าเป็นเรื่อง “เศรษฐกิจ” ที่บอกว่าเศรษฐกิจจะเจ๊ง จะอดตาย ถ้าไม่เป็นอย่างนั้น คะแนนจะกลับมา แต่ถ้าอัดเงินไปหมดแล้วเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นอันนี้อย่างไร คะแนนก็ไม่กลับ เดิมพันอยู่ที่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร ถ้าสมมุติฝ่ายค้านแบบพรรคก้าวไกลเล่นเป็น ตอนนี้ไม่ใช่เวลาถล่มรัฐบาล รอให้รัฐบาลล้มเหลวก่อน ค่อยไปถล่มตอนนั้นก็ยังทัน

เกาเหลา พปชร.ไม่สะเทือนลุงตู่

คลื่นใต้น้ำในพรรคพลังประชารัฐ ก๊ก-ก๊วนต่าง ๆ ออกมาเคลื่อนไหว ปล่อยข่าว แย่งชิงตำแหน่งกันนั้น side effect จะสะเทือน พล.อ.ประยุทธ์หรือไม่ คำตอบของ “สติธร” คือ

ตอนแรกเหมือนจะสะเทือน ตอนหลังก็ไม่สะเทือน ใน พปชร.ถ้าลุงตู่เคลียร์กับลุงป้อม (พล.อ.ประวิตร) ได้ก็จบ จะมีปัญหาต่อเมื่อไปเสี้ยมจน 2 คนนี้เห็นไม่ตรงกัน ซึ่งน่าจะยาก อยู่ ๆ 2 คนนี้จะมาแตกหักกันก็คงยาก เพราะเขาเป็นพี่น้องกันมากี่สิบปี อย่างกรณีวิรัช รัตนเศรษฐ อยู่ ๆ ป.ป.ช.ก็ชี้มูลเรื่องทุจริตสร้างสนามฟุตซอล เพราะแรก ๆ ดีลมาเรื่องคดีความ พอมีปัญหาปุ๊บก็เอาคดีไปกดก็หยุด คนอื่นรอไปก่อน

“คลื่นใต้น้ำมันมี แต่ไม่มีพลังเพราะถ้าหือได้นิด ๆ หน่อย ๆ พอถูกกดก็จบ จนกว่าลุงตู่ ลุงป้อมจะหมดหน้าตัก ตราบใดที่มีเงินจ่ายให้ทุกเดือน แถมยังมีเครื่องมือองค์กรอิสระไปบีบได้อีก การจะต่อรองก็ยาก”

แล้ว “พล.อ.ประยุทธ์” จะบริหารจัดการภาวะแบบนี้อย่างไร ? “สติธร” ตอบว่า อาจต้องสะเทือนบ้าง เช่น สลับเก้าอี้รัฐมนตรี เพื่อลดแรงกดดัน แต่สถานการณ์แบบนี้เก้าอี้ที่ พปชร.ถืออยู่ในมือเป็นกระทรวงสำคัญทั้งหมด อยู่ ๆ จะสลับเอาใครขึ้นมาก็ได้…ไม่ไหว เพราะจะเอาสันติ พร้อมพัฒน์ มาเป็นรมว.คลัง แทน อุตตม สาวนายนก็ไม่ทำให้ภาพลักษณ์รัฐบาลดีขึ้น เอาแฮงค์ชัยนาท (อนุชา นาคาศัย ส.ส.ชัยนาท พปชร.) หรือเฮ้งชลบุรี (สุชาติ ชมกลิ่น ส.ส.ชลบุรี ประธาน ส.ส.พปชร.) มาเป็นรัฐมนตรี ก็ไม่ได้ทำให้ภาพลักษณ์รัฐบาลดูดีขึ้น

“ถ้าเขย่าไปเขย่ามา พล.อ.ประยุทธ์อาจปรับ ครม.ก็ได้ แต่ไปเอาบุคคลที่นายทุนส่งมาเป็นรัฐมนตรีแทน เตะหมูเข้าปากหมา ระวังให้ดี เพราะแคนดิเดตใน พปชร.มาเทียบกันแล้วรัฐบาลไม่ได้ดูให้ดีขึ้น สู้ไปเอาเทคโนแครตมานั่งไม่ดีกว่าเหรอ หรือเอาบุคคลภาคเอกชนที่ประสบความสำเร็จที่ทุนใหญ่ส่งมาไม่ดีกว่าเหรอ เพราะต้องฟื้นเศรษฐกิจ”

งูเห่าอาจแว้งกัด

หรือทางออกอีกทาง รอให้ พปชร.ไปยึดเก้าอี้รัฐมนตรีมาจากพรรคร่วมรัฐบาลที่มีปัญหา เช่น ยอมหักกับพรรคประชาธิปัตย์ เอาเก้าอี้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้ แต่กระทรวงที่มีหน้ามีตาให้ไม่ได้อยู่แล้ว

“ถ้าเรามองแบบว่าเราเป็น พล.อ.ประยุทธ์หรือประวิตร ถ้าให้กระทรวงใหญ่พวกนี้ไป แล้วไปหาประโยชน์ วันดีคืนดีที่ปีกกล้าขาแข็ง พวกนี้อาจจะกลับมาแทงเราอีกที พวกนี้ไว้ใจไม่ได้ เพราะเรายังไปซื้อมาจากฝ่ายตรงข้ามเลย ขืนให้ไปมีผลประโยชน์จนหน้าตักมันเต็ม ไม่ต้องพึ่งเงินเราแล้ว จะยิ่งไปสร้างอำนาจมาต่อรองเราหนักขึ้น สู้กดไว้แบบนี้ดีกว่า แต่ถึงเวลาก็ต้องใช้ ยังต้องเก็บไว้”

หนุน “บิ๊กป้อม” นั่งหัวหน้าพรรค

ส่วนโอกาสที่ “พล.อ.ประวิตร” จะเป็นหัวหน้าพรรคแทน “อุตตม” มีหรือไม่ “สติธร” คิดเชิงกลยุทธ์ว่า “มีโอกาส”

“ถ้าคิดเชิงกลยุทธ์ก็ควร เพื่อลดกระแสต่อรองตำแหน่งในพรรค เพราะถ้าอุตตมยังเป็นหัวหน้าพรรค ยังมีเป้าให้ถูกโจมตี เพราะหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค ไม่ดูแล พล.อ.ประวิตร ควรมานั่งเองเพื่อลดแรงต่อรอง”

“แต่ปัญหาคือเรื่องสุขภาพของ พล.อ.ประวิตร จะอยู่ในพรรคได้อีกกี่ปี เป็นความท้าทายของ พล.อ.ประยุทธ์ ถ้าไม่มี พล.อ.ประวิตร ใครจะช่วยดีลลิงฝูงใหญ่ หากไม่มีพี่ใหญ่จะแบ่งเป็นขั้ว ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า กับขั้วสามมิตรที่ผนึกกลุ่มวิรัชและกลุ่ม กทม. ตีกันตาย ไม่มีพี่ใหญ่คอยตบ ต้องมองไปยาว ๆ”

“ส่วนทีมเศรษฐกิจของสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อาจจะต้องอยู่ แต่หากจะต้องเปลี่ยนก็ต้องใช้คนที่ expert กว่าทีมสมคิดไม่เปลี่ยนไปขั้วการเมืองที่ผนึกกับกลุ่มสามมิตร เพราะไม่มีตัว และไม่มีการไปใช้พวกนักการเมืองใน พปชร.อยู่แล้ว หากเทียบตัวต่อตัวทีมสมคิดยังดูดีกว่า”

ส่วนการใช้บริการพิเศษอย่าง “กรณ์ จาติกวณิช” หัวหน้าพรรคกล้า มาเป็น รมว.คลังแทนอุตตม “สติธร” บอกว่า ก็เป็นไปได้ ก็มีการเสนอตัวแต่ขึ้นอยู่กับจะคุยกับสมคิดรู้เรื่องหรือไม่

“สมคิด” อาจจะสั่งกรณ์ได้ไม่เหมือนสั่งอุตตม แต่ถ้าถอยให้กันบ้าง ก็พอได้ แต่สมคิดยังเสียงดังสุด ก็อาจจะยอม “พปชร.ก็ต้องอยู่กันแบบนี้ต่อไป เพราะต่อให้เป็นแบบนี้ก็ไม่เสียหาย เพราะพรรคเพื่อไทยยังไม่ดี เพื่อไทยกับก้าวไกลแยกขากันออกไป ห่างกันมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงเข้าทาง พปชร.”

แนะทิ้งไพ่ยุบสภา

“วันนี้ทิ้งไพ่ยุบสภายังกล้าเลย เพราะขั้วฝ่ายค้านเพื่อไทยไม่มีอะไร ถ้าใน พปชร.ยุ่งกันมาก ก็ล้างไพ่ยุบสภา ถ้าใครจงรักภักดี ก็ทำงานเต็มที่ เสียงก็ไม่ต้องเอาเยอะ เอาเท่าเดิม 120 เสียง พอแล้ว เพราะฝ่ายตรงข้ามมีแต่จะลดลง เพื่อไทยอาจจะไม่ได้ 140-150 เสียงอาจมีพรรคอื่นแย่งคะแนนไปอีก เผลอ ๆ พปชร.จะเป็นพรรคอันดับ 1 ทั้งคะแนนเสียงและที่นั่งในสภา ในจังหวะที่ฝ่ายตรงข้ามแตกมาก และอ่อนกำลังมาก ไม่ว่าเลือกไพ่ไหนมาเล่นก็ดูไม่เจ็บ”

“และนักการเมืองใน พปชร.ก็รู้ งอแงไปอย่างนั้น ขอให้ได้มีพื้นที่ ปั่นราคาให้ พล.อ.ประยุทธ์ได้เห็น”

ทีม CARE ขายไม่ออก

ส่วนขั้วตรงข้าม ขุนพลไทยรักไทยเก่า รวบรวมกำลังพลฟอร์มทีมใหม่ ภายใต้กลุ่ม CARE จะไปไหวหรือไม่ “สติธร” ดูชื่อที่เปิดออกมาแล้วเปรียบเทียบว่า ถ้าสร้างพรรคใหม่ มีอะไรที่จะเหนือกว่าตอนทำพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) มีโมเดลอะไรที่จะไปไกลกว่า ทษช. ถ้ายังก็ไม่มีประโยชน์ ทุนก็ไม่มี จะไปฝันแบบไทยรักไทยอีกครั้งหนึ่ง ต้องดูด้วยว่า ไทยรักไทยสำเร็จได้เพราะสถานการณ์อาจเอื้ออำนวย เพราะวิกฤตต้มยำกุ้ง แต่ที่ทักษิณ ชินวัตร ทำได้ เพราะเป็นทุนใหญ่ที่รวยมาก ทุนอำนาจนิยมเก่าดรอปลง ทุนภูมิภาคก็เลยไหลเข้าหาทักษิณหมด พรรคจึงใหญ่

แต่ตอนนี้ถามว่าทุนใหญ่คือใคร เฮียเพ้ง (พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล อดีต รมว.พลังงาน) หรือจะไปดึงใครมา เพราะทุนใหญ่กอดกันแน่นกับฝ่ายลุงตู่หมดแล้ว กอดกันแน่นด้วย เพื่อไทยแค่รักษาคนด้วยกันเองยังยากเลย จะเอาใครมาใหม่ได้ โจทย์ใหญ่คือตั้งพรรคขึ้นมาใหม่แล้วจะทำอย่างไรให้ดีกว่า ทษช.