โปรเจ็กต์พิสดารสูบ 4 แสนล้าน อตก.เข็น ข้าว-ผัก แลกโรงแรม 5 ดาว

อ.ต.ก.หน่วยงานในกำกับดูแลของ “ธรรมนัส”ผุดไอเดียพิสดารย้อนยุค “ไทยเที่ยวไทย ช่วยไทย” ใช้สินค้าเกษตร “ข้าว-ผัก/ผลไม้-หมอนยาง” แลกห้องพักโรงแรม 10 ล้านห้องแจกให้ประชาชนเข้ามาเที่ยว แถมอุดหนุนค่าตั๋วเครื่องบินให้อีกครึ่งหนึ่งของราคาเต็ม ทั้งโครงการวงเงิน 14,500 ล้านบาท ขอใช้งบฯฟื้นฟู 400,000 ล้านบาท อ้างเยียวยาเกษตรกร-โรงแรม-สายการบินจากผลกระทบโควิด-19 ส่วนผู้เข้าร่วมประชุมบอกยังไม่ชัดเจนทั้งรายละเอียดโครงการ-การจ่ายเงิน ระยะเวลาจะทำกันอย่างไร แต่เตรียมตั้งธงเสนอ ครม.พิจารณาขออนุมัติ

หลังจากที่กระบวนการออก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 พ.ศ. 2563 วงเงินไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท สิ้นสุดลง ดูเหมือนว่าทุกภาคส่วนของหน่วยงานรัฐบาลต่างพยายามที่จะเสนอโครงการภายใต้กรอบนโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 400,000 ล้านบาท เข้ามาเป็นจำนวนมาก โดยล่าสุด สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สคช.) ออกมาให้รายละเอียดว่า ปัจจุบันมีโครงการเสนอเข้ามาแล้วกว่า 28,425 โครงการ วงเงินประมาณ 590,000 ล้านบาท ท่ามกลางกระแสข่าวมีการรุมขอ “แบ่งเค้ก” จากฝ่ายการเมืองเข้ามาแบ่งผลประโยชน์จากเงินกู้ก้อนใหญ่นี้

บาร์เตอร์เทรดแลกห้องพัก

แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อวันที่ 4 มิถุนายนนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้บริหารกระทรวง พร้อมด้วยองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ซึ่งอยู่ในการกำกับดูแลของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านภาคท่องเที่ยว อาทิ ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมและสายการบินในประเทศหลายสายการบิน เข้าร่วมประชุมหารือถึงโครงการ “ไทยเที่ยวไทย ช่วยไทย” ซึ่งเป็นโครงการของ อ.ต.ก. โดยเตรียมที่จะเสนอให้ใช้สินค้าเกษตรแลกห้องพักในโรงแรม จำนวน 10 ล้านห้อง และจ่ายเงินเป็นค่า “ส่วนลด” ตั๋วเครื่องบินโดยสารให้กับประชาชนที่ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการนี้

ทั้งนี้ โครงการไทยเที่ยวไทย ช่วยไทย ตามข้อเสนอของ อ.ต.ก.จะใช้สินค้าเกษตรประเภท พืชผัก/ผลไม้/ผลไม้แปรรูป-ข้าวสาร-ที่นอน-หมอนยางพารา และสินค้า OTOP ตีราคาเป็นมูลค่าเพื่อแลกเปลี่ยนห้องพักในโรงแรมในอัตราครึ่งต่อครึ่ง กล่าวคือ อ.ต.ก.จะทำการเช่าห้องพักโรงแรมที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 10 ล้านห้องพัก จากผู้ประกอบกิจการโรงแรมทั่วประเทศ ด้วยเงื่อนไข 1) โรงแรมระดับ 2-3 ดาว ราคาห้องพักไม่เกิน 2,000 บาท/ห้อง/วัน อ.ต.ก.จ่ายเงินให้โรงแรม 1,000 บาท/ห้อง/วัน โดยจ่ายเป็นเงินสด 500 บาท และจ่ายเป็นสินค้าเกษตรมูลค่า 500 บาท โดยจำนวนห้องพักที่จะใช้อยู่ที่ 5 ล้านห้อง รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 5,000 ล้านบาท 2) โรงแรมระดับ 4-5 ดาว ราคาห้องพักไม่เกิน 2,000 บาท/ห้อง/วัน อ.ต.ก.จ่ายเงินให้โรงแรม 1,500 บาท/ห้อง/วัน จ่ายเป็นเงินสด 750 บาท และจ่ายเป็นสินค้าเกษตรมูลค่า 750 บาท โดยจำนวนห้องพักที่จะใช้อยู่ที่ 5 ล้านห้อง รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 7,500 ล้านบาท

“ผู้ประกอบการโรงแรมสามารถเลือกสินค้าเกษตร หรือสินค้า OTOP แต่ละชนิดที่มีมูลค่าเท่ากับจำนวนห้องพักที่นำมาแลกเปลี่ยน หรือคิดเป็นครึ่งหนึ่งของราคาค่าห้องหลังจากที่รับเงินสดไปแล้ว ซึ่งความจริงแล้วอาจกล่าวได้ว่า เป็นโครงการบาร์เตอร์เทรด (barter trade) สินค้าเกษตรแลกห้องพักก็ได้”

นอกจากจะใช้สินค้าเกษตรแลกห้องพักในมูลค่าครึ่งหนึ่งของราคาห้องพักแล้ว อ.ต.ก.ยังจะทำความร่วมมือกับสายการบินภายในประเทศทุกสายการบิน เพื่อจัดส่งเสริมให้ประชาชนเข้าร่วมโครงการนี้ด้วยการออกค่าใช้จ่ายค่าตั๋วเครื่องบินโดยสารให้กับสายการบินที่เข้าร่วมโครงการ ในอัตราร้อยละ 50 ของราคาค่าตั๋วเครื่องบินด้วย โดยระยะเวลาของโครงการไทยเที่ยวไทย ช่วยไทย กำหนดไว้ระหว่างเดือนกรกฎาคมจนถึงเดือนตุลาคม เบื้องต้นเฉพาะเดือนกรกฎาคมจะต้องใช้เงินช่วยอุดหนุนค่าตั๋วเครื่องบินตั้งไว้ที่จำนวน 2,000 ล้านบาท

พ่วงวันหยุดสงกรานต์

โครงการไทยเที่ยวไทย ช่วยไทย จะแจกให้กับประชาชนร่วมเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ ระหว่างวันที่ 1-31 กรกฎาคม รวมถึงวันหยุดชดเชยช่วงสงกรานต์อีก 3 วัน โดยใช้วงเงินรวม 14,500 ล้านบาท โดยเงินจำนวนนี้จะมาจากโครงการภายใต้กรอบนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 400,000 ล้านบาท โดย อ.ต.ก.ผู้เสนอโครงการหวังว่าจะช่วยเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ให้กับคน 3 กลุ่ม คือ เกษตรกร เจ้าของสินค้าเกษตรที่จะมาบาร์เตอร์เทรดผ่าน อ.ต.ก., ผู้ประกอบการโรงแรมทั่วประเทศ และผู้ประกอบการสายการบินภายในประเทศ

“ระยะเวลาในการดำเนินโครงการ อ.ต.ก.จะเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อเพิ่มวันหยุดยาวในเดือนกรกฎาคม (ในวันจันทร์ที่ 13, 20, 27 ก.ค.) เป็นวันหยุดเพิ่มเติม เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยให้นำวันหยุดช่วงสงกรานต์จำนวน 3 วัน ที่รัฐบาลประกาศหยุดไว้ก่อนมาชดเชยคืนให้กับประชาชน ซึ่งในเดือนกรกฎาคมจะมีวันหยุดติดต่อกัน 4 วัน 3 คืน และ 3 วัน 2 คืน ดังนี้ 4-7 ก.ค. (4 วัน 3 คืน) 11-13 ก.ค. (3 วัน 2 คืน) 18-20 ก.ค. (3 วัน 2 คืน) และ 25-28 ก.ค. (4 วัน 3 คืน) เป็นทางเลือกให้ประชาชนเข้าร่วมโครงการนี้”

ธรรมนัสยังไม่รู้เรื่อง

ด้าน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะผู้กำกับดูแล อ.ต.ก.โดยตรง ได้กล่าวถึงกรณีที่ อ.ต.ก.จะเสนอโครงการไทยเที่ยวไทย ช่วยไทย เพื่อเสนอขออนุมัติงบประมาณจำนวน 14,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณวงเงินกู้ 400,000 ล้านบาท ว่า “ผมยังไม่ได้รับรายงานโครงการดังกล่าวจาก อ.ต.ก. และไม่เห็นด้วยกับการเสนอขอใช้งบประมาณ” โดยมองว่า อ.ต.ก.ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เพราะในส่วนดังกล่าวภาคการท่องเที่ยวก็มีแนวคิดและมาตรการในการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวอยู่แล้ว การที่จะให้เกษตรกรนำผลไม้ไปแลกที่พักหรือตั๋วเครื่องบิน เห็นว่า “ไม่เหมาะสม เหมือนเอาเงินไปโยนทิ้ง แต่ถ้าเป็นโครงการที่ต้องการช่วยเหลือเรื่องกระจายสินค้า หรือหาตลาดใหม่ ๆ จะเป็นแนวคิดที่ดีกว่า” ร.อ.ธรรมนัสกล่าว

สำหรับงบประมาณวงเงินกู้ 400,000 ล้านบาทนั้น ได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัด (กรมพัฒนาที่ดิน-สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม-กรมฝนหลวง) เสนอโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร โดยจะเน้นการสร้างแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร

ยังไม่เคยมีใครทำกันมาก่อน

ด้าน น.ส.ศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ นายกสมาคมโรงแรมไทย (THA) กล่าวว่า ทางสมาคมโรงแรมได้เข้าร่วมประชุมเพื่อหารือโครงการไทยเที่ยวไทย ช่วยไทย ในระดับหนึ่งเท่านั้น ตัวโครงการยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจน แต่ทางสมาคมต้องประเมินถึงความพร้อมของกลุ่มผู้ประกอบการโรงแรมอีกครั้ง ถ้าโครงการนี้ผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และเห็นรายละเอียดที่ชัดเจนกว่านี้ ในเบื้องต้นนี้มองว่าน่าจะส่งผลดีกับภาคธุรกิจโรงแรม โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการที่เป็นโลคอล ส่วนจะมากน้อยแค่ไหนนั้นยังประเมินยาก เนื่องจากรูปแบบของการดำเนินการแบบนี้ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

“ในหลักการ ทางเจ้าภาพใหญ่ (อ.ต.ก.) จะจ่ายค่าห้องเป็นเงินสด 50% และเป็นสินค้าเกษตรอีก 50% ซึ่งหากดำเนินการจริงคงต้องทำข้อตกลงร่วมกันว่า สินค้าที่จะนำมาจ่ายเป็นค่าห้องพักนั้นมีอะไรบ้าง เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มผู้ประกอบการโรงแรมหรือไม่ และสินค้าเกษตรที่ว่านี้จะมีปริมาณที่เพียงพอไหม” นางสาวศุภวรรณกล่าว

สายการบินเตรียมตัวไม่ทัน

จากการสอบถามสายการบินภายในประเทศที่เข้าร่วมประชุมกับ อ.ต.ก. ในโครงการนี้ส่วนใหญ่ยังเต็มไปด้วยคำถาม เนื่องจากวิธีการบาร์เตอร์เทรดสินค้าเกษตรแลกห้องพักเป็นเรื่องตกยุคตกสมัย เฉพาะในส่วนของการ “อุดหนุน” ค่าตั๋วเครื่องบินครึ่งหนึ่งจะต้องมาคำนึงถึงจำนวนที่นั่งโดยสาร ซึ่งปัจจุบันจะต้องเว้นระยะห่างเหลือจำนวนผู้โดยสารครึ่งหนึ่งในแต่ละลำ “วิธีการจองตั๋วในโครงการเชื่อมต่อกับโรงแรมที่พักจะเป็นอย่างไร ประชาชนจะเข้าร่วมอย่างไร จำนวนนักท่องเที่ยวยังไม่มาในเดือนกรกฎาคม การอุดหนุนค่าตั๋วครึ่งหนึ่งจะเพียงพอหรือไม่ หรือขออุดหนุนมากกว่านั้น ระยะเวลาก็กระชั้นชิดเกินไป เพราะจะเริ่มโครงการกันในเดือนหน้านี้ แต่ยังไม่มีการโปรโมตเส้นทางท่องเที่ยว ระยะเวลาที่จะเข้าพัก อาทิ ช่วงวันหยุดเพิ่มเติม 4 วัน 3 คืน หรือ 3 วัน 2 คืน ก็จะต้องเตรียมไฟลต์บินให้สอดคล้องกัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ”

นายกฯการันตีไม่มีโกง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงเรื่องที่ทุกคนเป็นห่วงและจับตามองในงบฯฟื้นฟู 400,000 ล้านบาทว่า ขอยืนยันในฐานะหัวหน้ารัฐบาลจะดำเนินการให้โปร่งใส มีประสิทธิภาพ ตรวจสอบได้ ได้กำชับ ครม.แล้วว่า งบประมาณจำนวนนี้มีความสำคัญที่จะสานต่อในไตรมาส 3 ระหว่างเดือน ก.ค.-ก.ย. เพื่อส่งไปถึงไตรมาส 1 ของงบประมาณปี 2564 สำคัญที่สุดคือ ตรงความต้องการของประชาชนและผู้เดือดร้อนมากบ้าง น้อยบ้าง ตามเหตุผลและความจำเป็น ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการได้ต้นเดือน ก.ค.เป็นต้นไป


“ขอให้มั่นใจว่า ในกรอบนโยบายนายกรัฐมนตรี ผมในฐานะหัวหน้ารัฐบาล จะป้องกันการทุจริตอย่างเด็ดขาด เพราะฉะนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถตรวจสอบได้โดยทันที ทั้งการตรวจสอบภายในและภายนอก องค์กรอิสระสามารถตรวจสอบได้โดยทันที ฉะนั้น ทุกคนต้องให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้ ไม่ให้มันกลับมาที่เก่า ไม่อย่างนั้นต้องหาวิธีการและแนวทางการปฏิบัติที่ดี ข้อสำคัญคือประชาชนต้องมีส่วนร่วม โดยให้ประชาชนเสนอความต้องการขึ้นมา และส่วนราชการต้องไปพิจารณาร่วม เพื่อให้ตรงกับความต้องการของประชาชน ไม่เช่นนั้นถ้าทำออกมาไม่ตรงก็จะกลายเป็นปัญหา และทำให้ตรวจสอบยาก” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว