“พลังประชารัฐ” ในหม้อน้ำเดือด 250 โหวตเตอร์ชี้ชะตา “สี่กุมาร-บิ๊กป้อม”

‘พลังประชารัฐ’ในหม้อน้ำเดือด-การเมือง

รายงานพิเศษ

พรรคพลังประชารัฐ “ปักธง” วันประชุมใหญ่ “ดีเดย์” วันที่ 11 กรกฎาคม 2563 หรือ 12 กรกฎาคม 2563 ก่อนถึง “เดดไลน์” วันที่ 15 กรกฎาคม 2563

45 วันอันตราย ก่อน “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี-ประธานยุทธศาสตร์พรรค “ถึงเส้นชัย” เป็น “หัวหน้าพรรค” นอกจากจะต้อง “ชนะทุกยก” แล้ว ยังต้องฝ่ามรสุม “พรรคแตก”

แม้ “ลูกหาบบิ๊กป้อม” จะหยอดคำหวาน3 เวลา หลังอาหาร ว่า หาก พล.อ.ประวิตร “เป็นใหญ่” ในพลังประชารัฐ พรรคจะไม่แตก-มีแต่โต ทว่าหนทางของ พล.อ.ประวิตร “เส้นทางยังต้องรอการพิสูจน์ม้า-กาลเวลายังรอวันพิสูจน์คน”

คนดีอยู่การเมืองไม่ได้

ขณะที่ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี ออกอาการกลับไม่ได้-ไปไม่ถึง ได้แต่เดินยุทธศาสตร์ “อยู่เหมือนไม่อยู่-ไม่อยู่เหมือนอยู่”

“คนดีมีเยอะในเมืองไทย และอยากให้เขาเข้ามา ถ้าเข้ามาได้ก็เชิญเข้ามาเลย คนที่อายุมากแล้วจะได้ถอยไป”

“คนดี ๆ เราต้องการให้เข้ามาช่วยทำงานการเมืองใช่หรือไม่ เราเห็นตั้งแต่วันแรกแล้ว รัฐมนตรีอย่าง เช่น กอบศักดิ์ ภูตระกูล อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี คนดี คนเก่ง ซื่อสัตย์สุจริต เขาก็อยู่การเมืองไม่ได้ แล้วถ้าทยอยไปทีละคน”

ขณะที่กลุ่มสี่กุมาร “สุวิทย์ เมษินทรีย์” รองหัวหน้าพรรค ขอ “political distancing” – เว้นระยะห่างจากพรรคการเมือง แต่ระยะห่างจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ยังเป็น “สิทธิขาด” ของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา”หัวหน้ารัฐบาล

“สุวิทย์” ยกบทคัมภีร์ลัทธิเต๋า “เต้าเต๋อจิง” ของ “เหลาจื่อ” ปราชญ์ชาวจีน ส่งสัญญาณ “ถอนตัวออก” จากความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐ-ปล่อยวางจากตำแหน่งรัฐมนตรี

ทีมสมคิด อยู่จนวินาทีสุดท้าย

“สุวิทย์” เปิดหน้า-อัดเสียงการเมืองในทำเนียบรัฐบาลเป็นครั้งแรกว่า วันนี้ยังทำงานอยู่ ตอนนี้ทุกคนต้องช่วยกันทำงาน โดยเฉพาะช่วยท่านนายกฯในการนำวิสัยทัศน์ของประเทศไปข้างหน้าหลังโควิด-19

“แทนที่จะมองในแนวลบให้เป็นแนวบวก มองวิกฤตเป็นโอกาสเศรษฐกิจ BCG เป็นรูปธรรมหนึ่งในการมองวิกฤตให้เป็นโอกาส หน้าที่ของพวกผมในฐานะรัฐมนตรี”

“ตัวผมเองแม้จะเป็นสมาชิกพรรค แม้จะเป็นรองหัวหน้าพรรค แต่เราไม่ค่อยคุ้นชินงานการเมือง พอมาเป็นรมว.อว. ก็มาช่วยท่านนายกฯ ขับเคลื่อน เช่น เรื่องไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งวันนี้ยังมีโจทย์ให้ตอบอีกหลายเรื่อง”

“เราทำงาน ๆ ทุกอย่างอย่างที่เรียน ทำงานจนวินาทีสุดท้าย”

“จริง ๆ มันต้องมาคุยกันว่า การเมืองหลังโควิด-19 ควรจะเป็นอย่างไร รูปแบบเดิม ๆ ตอบโจทย์หรือไม่ เพราะภารกิจท่านนายกฯหลังโควิด-19 หนักหน่วงมาก”

“การปรับ ครม.เป็นเรื่องของท่านนายกฯ จะตัดสินใจอย่างไรก็ตาม ต้องเคารพท่านนายกฯ ต้องหารือท่านนายกฯ ต้องให้เกียรติท่านนายก ฯ เพราะท่านนายกฯ เป็นคนเลือกเรามา”

นายกฯชี้ชะตาอยู่ต่อ

“สุวิทย์” ตกตะกอนในวงวนของอำนาจ-ปล่อยวาง ว่า ถือว่าภารกิจเราจบสิ้นแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ไว้วางใจให้มาตั้งกระทรวงใหม่ ตั้งไข่มาระดับหนึ่ง เราฟูมฟักมาได้เกือบปีแล้ว พอแล้ว เราสร้างฐานรากพอสมควร เป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีใหม่ ส่วนจะให้อยู่ต่อหรือไม่ ก็อยู่ที่ดุลพินิจของ พล.อ.ประยุทธ์

“ทั้ง 3 คนเงื่อนไขต่างกัน ท่านอุตตม ท่านสนธิรัตน์ ด้วยการที่ตำแหน่งเป็นทั้งหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรค ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง วันนี้ทำงานให้เต็มที่ ด้วยสปิริตมาด้วยกัน แต่จะตัดสินใจอย่างไร ต้องหารือกับท่านนายกฯ”

โฟกัสงาน ไม่แยแสข่าวลือ

ส่วน “อุตตม สาวนายน” หัวหน้าพรรคและ “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” เลขาธิการพรรค ผู้ถูกกระทำทางตรง ยังคง “รักษาสิทธิ” ของฝ่าย “ถูกกระทำทางตรง” และผู้ที่ยอมเสี่ยงเป็น-เสี่ยงตายออกมาตั้งไข่พรรคพลังประชารัฐ-นั่งร้าน คสช.

“อุตตม” ยังคง “เดินหน้าทำงาน” เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่าน “มหันตภัยโควิด” ผ่านงบเงินกู้ 4 แสนล้านบาท โดย”ไม่ขอตอบ” เรื่องการเมือง

“หัวใจของความมั่นใจไม่ใช่เรื่องการเมือง ไม่ใช่ข่าวลือ เราโฟกัสที่งาน”

เดินสายพบโหวตเตอร์

“สนธิรัตน์” ยังคง “เดินสาย” พบสมาชิกพรรค เพื่อ “กำเสียงโหวต” ไว้ “ต่อขา” เก้าอี้แม่บ้านพรรค “สมัยที่สอง”

สำหรับโหวตเตอร์ในการเลือก กก.บห.ชุดใหม่ ประกอบด้วย 1.กก.บห. ไม่น้อยกึ่งหนึ่ง 2.ตัวแทนสาขาพรรคไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง (มี 4 ไม่น้อยกว่า 2 ) 3.ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง หรือ 38 คน จาก 76 จังหวัด และ 4.สมาชิกพรรค องค์ประชุมในที่ประชุมใหญ่ต้องไม่น้อยกว่า 250 คน

ภาพ 4 กุมารเดินขึ้นตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เพื่อขอลาออกจากรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลประยุทธ์ 1- คสช. เพื่อไปตั้งพรรคพลังประชารัฐ อาจจะวนมาฉายซ้ำ เหมือนอย่างที่ “สุวิทย์” เปล่งคำสัญญา “มาด้วยกันไปด้วยกัน”

ไม่เกิน 45 วันหลังจากนี้ สมคิด + 4 กุมาร อาจจะถึงวาระต้องล้างมือในอ่างทองคำ-พลังประชารัฐก็เป็นได้

ที่มา “ทีมสมคิด-4 กุมาร”

ย้อนกลับไปเกือบ 4 ปีที่แล้ว 20 ส.ค. 2558 ทีมเศรษฐกิจของ “สมคิด” เข้ามาประจำการในรัฐบาลแทนที่ทีมเศรษฐกิจหม่อมอุ๋ย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกฯ ที่ถูกถอดยกแผง

เมื่อ “พล.อ.ประยุทธ์” ปรับ ครม.แบบ “หักเหลี่ยมโหด” ภายหลังเกิดเรื่อง “ตึงเครียด” ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์กับทีมเศรษฐกิจหม่อมอุ๋ย หลังมีข่าวลอยมาว่า เขาไปพูดในงาน CEO FORUM ของสมาคมธนาคารไทยว่า “นายกฯไม่เข้าใจเรื่องเศรษฐกิจ”

ทั้ง “สมหมาย ภาษี” รมว.คลัง “จักรมณฑ์ ผาสุกวนิช” รมว.อุตสาหกรรม ปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตร “อำนวย ปะติเส” รมช.เกษตร

19 ส.ค. 24 ชั่วโมงก่อนการปรับ ครม. ดีกรีการเมืองเดือดทะลุปรอท ไม่ต่างกับสถานการณ์ ณ วันนี้ ร้อนแรงถึงขนาดมีมือดีปล่อยโผ ครม.ชุดใหม่ว่อนโซเชียลมีเดียส่งทุกกรุ๊ปแชตข่าวในไลน์ ว่าทีม “หม่อมอุ๋ย”หลุดยกแผง แทนที่ด้วยทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ของ “สมคิด”

“อำนวย ปะติเส” รมช.เกษตร ยอมรับในนาทีนั้นว่า “เราเข้ามายกแผง ก็ต้องหลุดยกแผง”

ไม่กี่ชั่วโมงต่อมา 20 ส.ค. “สมคิด” ซึ่งเป็นคณะที่ปรึกษา คสช. ก็มีตำแหน่งเป็นรองนายกฯ ดูแลเศรษฐกิจ – อุตตม เป็น รมว.ไอซีที – สุวิทย์ เป็น รมช.พาณิชย์ ขณะที่ “สนธิรัตน์” เข้ามาเสริมทัพในตำแหน่ง รมช.พาณิชย์ ในการปรับ ครม.อีก 1 ปีถัดมา

เป็นจุดเริ่มต้นของทีม 4 กุมาร แทนที่ทีมหม่อมอุ๋ย ซึ่งวันนี้กำลังถูกเขย่าอย่างแรง