“บิ๊กตู่”ปลื้ม อันดับแข่งขันศก.ไทยดีขึ้น 2 ลำดับ รั้ง 32 โลก ลุยเดินหน้าไทยแลนด์ 4.0 ต่อไป

เมื่อเวลา 20.15 น. วันที่ 29 กันยายน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวผ่านรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ตอนหนึ่งว่า “ผมมีเรื่องที่น่ายินดี มาเล่าให้พี่น้องประชาชนฟัง เกี่ยวกับการประกาศผลการจัดอันดับ ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ของสภาเศรษฐกิจโลก ล่าสุดประเทศไทยได้รับการจัดให้อยู่ในอันดับที่ 32 จาก 137 ประเทศ ทั่วโลก หรือ ดีขึ้น 2 อันดับ จากปีที่แล้ว ทั้งนี้มีหลายประเด็นที่น่าสนใจผมขอยกตัวอย่าง ดังนี้

1.ในภาพรวม ประเทศไทยมีคะแนนดีขึ้นใน 8 ด้านหลัก และอีก 4 ด้านหลักมีคะแนนเท่าเดิม โดยไม่มีด้านหลักใด ที่คะแนนลดลงเลยนะครับ ทั้งนี้ ในส่วนที่ดีขึ้นมีในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน, ประสิทธิภาพตลาดแรงงาน, การอุดมศึกษาและการฝึกอบรม รวมทั้งนวัตกรรม ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งไปสู่ ไทยแลนด์ 4.0 และการพัฒนาต่างๆ เพื่อรองรับยุคดิจิทัลของประเทศในอนาคตด้วย

2.ด้านเศรษฐกิจมหภาค ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 9 ของโลก ซึ่งเป็นด้านเดียว ที่อยู่ใน 10 อันดับแรกของโลก โดยมีปัจจัยส่งเสริมในหลายด้าน อาทิ การใช้จ่ายภาครัฐที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งมีกลไกในการปกป้องนักลงทุนที่ดีขึ้น, ความ สามารถในการสร้างนวัตกรรมมากขึ้น ภาคเอกชนมีการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา รวมทั้งมีการจดสิทธิบัตรเพิ่มขึ้น มีการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เช่น ตลาดทุนและสินเชื่อ ทำได้ง่ายขึ้น, ความพร้อมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศขยายตัวดีขึ้น อันเป็นผลมาจากโครงการ เน็ตประชารัฐ ที่ส่งเสริมให้มีการเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ ของทุกภาคส่วน, นอกจากนี้ตลาดต่างประเทศ และการส่งออก สามารถเติบโตอย่างต่อเนื่อง ไปพร้อมกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเป็นต้น

3.ในนโยบายยกระดับการให้บริการของภาครัฐหลายมาตรการ โดยเฉพาะเรื่อง Ease of doing business มุ่งเน้นการลดระยะเวลาในการเริ่มก่อตั้งธุรกิจลงนั้น นับว่าเป็นปัจจัยแรกๆ ที่บ่งชี้ให้เห็นถึงขีดความ สามารถในการแข่งขันของประเทศ ผลการดำเนินการที่ผ่านมา ส่งผลให้คะแนนในส่วนนี้ ปรับดีขึ้น และคาดว่าในปีต่อไป จะดีขึ้นได้อีก

นายกฯ กล่าวอีกว่า เนื่องจากรัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายที่จะลดจำนวนวัน ในกระบวนการต่างๆ ลง10 เท่า คือ จาก 25 วันครึ่ง ให้เหลือเพียง 2 วันครึ่ง และต้องให้ความ สำคัญกับธุรกิจ SMEs Startups สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน รวมทั้งบริษัทประชารัฐรู้รักสามัคคี จำกัด ทั่วประเทศด้วย เพราะว่าเป็นกลไก เครื่องมือ ที่สำคัญในการยกระดับรายได้ของประเทศด้วยการส่งออก โดยสรุปแล้วผลการจัดอันดับดังกล่าวนั้นก็เป็นมุมมองจากภายนอกที่มีต่อประเทศไทย สะท้อนให้เห็นศักยภาพและความท้าทายของเรา ในอนาคตในหลายๆ ด้านได้แก่ (1)คือความแข็งแกร่งและประสิทธิภาพของตลาดการเงิน (2)การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง และ(3)การเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรในการสร้างนวัตกรรม อีกทั้ง (4)การเพิ่มขนาดของตลาดภายในประเทศและลดการพึ่งพาการส่งออก

 


ที่มา มติชนออนไลน์