ศาลฎีกาสั่งจำคุก “แกนนำ นปช.” 2 ปี 8 เดือน ปิดฉากมหากาพย์ “คดีบุกบ้านป๋า”

ศาลฎีกา จำคุก 2 ปี 8 เดือน แกนนำ นปช. ปิดฉาก 13 ปี มหากาพย์ คดีบุกบ้านป๋า

วันที่ 26 มิถุนายน 2563 ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ที่ห้องพิจารณา 703 ศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีชุมนุมปิดล้อมบ้านพักสี่เสาเทเวศร์ ของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เมื่อปี 2550 หมายเลขดำ อ.3531/2552 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ฟ้อง 1. นายนพรุจ หรือนพรุฒ วรชิตวุฒิกุล อดีตแกนนำกลุ่มพิราบขาว 2006 2.นายวีระศักดิ์ เหมะธุลิน 3.นายวันชัย นาพุทธา 4.นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีตประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) 5.นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช. 6.นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท และ 7.นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช.เป็นจำเลยที่ 1 – 7 ในความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองฯ

โดยศาลตรวจสำนวนปรึกษาแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 1, 4-7 มีพฤติการณ์มั่วสุม ประทุษร้าย ต่อสู้ขัดขวางเจ้าหน้าที่ เกิดการปะทะบาดเจ็บทั้งสองฝ่าย ทำให้เกิดความวุ่นวายทำลายความสงบเรียบร้อย เป็นเหตุร้ายแรง ไม่มีเหตุรอการลงโทษ ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น ศาลฎีกาเห็นพ้องกับที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษ จึงพิพากษายืน ให้จำคุกจำเลยที่ 1, 4-7 คนละ 2 ปี 8 เดือน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีดังกล่าวเป็นกรณีที่แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) ที่ในภายหลังพัฒนามาเป็น แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)เดินเท้าจากท้องสนามหลวงบุกบ้านสี่เสาเทเวศร์ อันเป็นบ้านพักของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษในขณะนั้นช่วงบ่ายถึงค่ำของวันที่ 22 ก.ค.2550 เพราะเชื่อว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์รัฐประหาร 19 ก.ย.2549 พร้อมยื่นคำขาดจะปักหลักชุมนุมจนกว่า พล.อ.เปรม จะลาออกจากตำแหน่ง

ภายหลังเหตุการณ์สงบลง มีการต่อสู้คดีในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ยาวนานเป็นมหากาพย์ เกือบ 13 ปี โดยพนักงานอัยการคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายนพรุจ หรือนพรุฒ วรชิตวุฒิกุล แกนนำกลุ่มพิราบขาว 2006, นายวีระศักดิ์ เหมะธุลิน, นายวันชัย นาพุทธา, นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีตประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.), นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช., นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช. และ นพ.เหวง โตจิราการ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช. เป็นจำเลยที่ 1-7

ในข้อหามั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยมีอาวุธ โดยเป็นหัวหน้า หรือผู้มีหน้าที่สั่งการ, ร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยใช้กำลังขู่เข็ญ และเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้ผู้ที่มั่วสุมเลิกไปแล้วไม่เลิก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคสอง ,215 , 216 , 297 , 298ประกอบมาตรา 33 , 83 และ 91

โดยศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2558 ให้จำคุกนายนพรุจ จำเลยที่ 1 เป็นเวลา 2 ปี 8 เดือน ฐานทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติหน้าที่ฯ ส่วนนายวีระกานต์, นายณัฐวุฒิ, นายวิภูแถลง และ นพ.เหวง จำเลยที่ 4-7 ให้จำคุกคนละ 4 ปี 4 เดือน ฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายฯ และเป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานฯ และให้ยกฟ้อง นายวีระศักดิ์ และนายวันชัย จำเลยที่ 2-3 พร้อมให้ริบของกลางทั้งหมด ต่อมานายนพรุจ จำเลยที่ 1 ยื่นอุทธรณ์ว่าไม่อยู่ในวันที่เกิดเหตุ ส่วนจำเลยที่ 4 -7 ยื่นอุทธรณ์ต่อสู้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดเพียงกรรมเดียว และเป็นการกระทำเพื่อปกป้องการถูกคุกคาม

ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษาเมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2560 แก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานฯ ตามมาตรา 138 วรรคสอง ให้จำคุกคนละ 1 ปี และมีความผิดฐานมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ก่อให้เกิดความวุ่นวายโดยเป็นหัวหน้าสั่งการ ซึ่งเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแล้วไม่เลิก ตามมาตรา 215 วรรคหนึ่งและวรรคสาม, มาตรา 216 ประกอบมาตรา 83 ซึ่งเป็นการกระทำกรรมเดียว แต่ผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 215 วรรคสาม 1 กระทง ให้จำคุกคนละ 3 ปี รวมจำคุกคนละ 4 ปี แต่คำให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดีอยู่บ้าง ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยที่ 4-7 คนละ 2 ปี 8 เดือน นอกเหนือจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ซึ่งในส่วนของนายนพรุจ จำเลยที่ 1 คงจำคุก 2 ปี 8 เดือน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงเช้าก่อนฟังคำพิพากษา ปรากฏว่า จำเลยเดินทางมาถึงศาลครบทุกคนนเวลา 09.39 น.